ที่ปักกิ่ง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรีชวน
หลีกภัย หลี่ เผิง ผู้นำรัฐบาลจีนได้พูดคุยกับชวนถึงแผนการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งทะเลของจีน
นายกฯ จีนถามว่าไทยสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่เหล่านี้บ้างไหม เพราะเสฉวนและยูนนานนั้น
ก็อยู่ใกล้ไทยมากกว่าพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลที่ได้รับการพัฒนาแล้ว
หลี่ เผิง ให้คำมั่นว่า เขาจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ให้นักลงทุนไทยที่สนใจจะเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
ซึ่งไม่เคยได้รับความสนใจมากเป็นเวลานานมากแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นตลาดขนาดมหาศาล
มีประชากรมากกว่า 220 ล้านคน
ก่อนหน้านั้น 1 เดือนคือในเดือนกรกฎาคม ในการสัมมนาร่วมระหว่างนักธุรกิจไทยกับจีนที่ปักกิ่ง
เช่นเดียวกัน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงจำกัดความเป็นพันธมิตรการค้าไว้แค่ไทยกับจีนเท่านั้น
พลเอกชาติชายชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพม่าที่จะเป็นสะพานเชื่อม (LAND BRIDGE)
ทางการค้าระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับภูมิภาคชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
ในอดีตดินแดนแถบนี้เลื่องชื่อในความเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด เส้นทางเดินของหยกเถื่อนและไม้สัก
แต่ทุกวันนี้ พื้นที่ที่คาบเกี่ยวระหว่างดินแดนพม่า ไทย จีนและลาวนี้คือ
ศูนย์กลางของ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพแห่งความเจริญมั่งคั่ง
เป็นที่ที่ซึ่งการค้ารูปแบบใหม่อย่างถูกต้อง จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจเก่าที่ผิดกฎหมาย
พลเอกชาติชายเสนอ ให้ดึงพม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของเอเซีย
กลับเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน
ที่ฮานอย NGUUN XUAN OANH รู้สึกตกใจ เมื่อทราบว่า แต่ละสัปดาห์ สินค้าเถื่อนที่ผ่านเข้า-ออกพรมแดนจีน-เวียดนาม
มีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ย้อนหลังกลับไปในปี 1979 พื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นทางเดินของสินค้าเถื่อนนี้ก็คือสมรภูมิสู้รบระหว่างทหารจีนกับกองทัพเวียดนาม
ซึ่งชีวิตนับหมื่นต้องเซ่นสังเวยไปภายในเวลาเพียง 17 วันเท่านั้น
NGUUN XUAN OANH เคยรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิรูปตลาดสังคมนิยมให้กับรัฐบาลฮานอย
"มีทางเดียวที่จะเปลี่ยนการค้าที่ผิดกฎหมายนี้ให้กลายเป็นข้อได้เปรียบของเรา"
เขาบอกกับเพื่อนร่วมงานที่ฮานอย "นั่นก็คือทำให้ปักกิ่งเห็นด้วยและเข้าร่วมจัดตั้งเขตการค้าเสรี"
ช่วงสองเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี 1993 เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่
21 เป็นเวลาที่ยุทธศาสตร์สำหรับโลกในศตวรรษหน้าจะได้รับการพิจารณาและตัดสินใจ
กล่าวคือข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือหรือนาฟต้า จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรส
สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิคมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ซีแอตเติ้ล
หลังจากนี้ไม่นาน ก็ถึงการประชุมแกตต์
ในขณะที่บรรดาผู้นำของประเทศเอเซียยุ่งอยู่กับการประชุมเหล่านี้ นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็อยู่ในระหว่างการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในระดับอนุทวีปใหม่
เกือบทุกวันตลอดภาคพื้นเอเซียได้มีการทดลองใช้รูปแบบ วิธีการทางการค้าใหม่
ๆ
ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการสิ้นสุดลงของลัทธิอาณานิคมและการปิดฉากสงครามเย็น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าอาณานิคมในเอเซียอย่างเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส
เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ต่างก็หมดสิ้นอำนาจหรือไม่ก็เสื่อมอิทธิพลลง แต่สงครามเย็น
ทำให้การถอนตัวของชาติตะวันตกออกจากอินโดจีนต้องชะงักลง อย่างไรก็ตามอำนาจอิทธิพลเหล่านี้กำลังเหือดหายลงไป
พร้อม ๆ กับการสิ้นสุดของศตวรรษที่ 20
สหรัฐ ฯ กำลังจะยกเลิกการเอ็มบาร์โก้เวียดนาม คาดว่าจะเป็นปีหน้า อีก 3
ปีถัดจากนั้นอังกฤษก็จะถอนตัวออกจากฮ่องกง ในเดือนธันวาคม 1999 ธงโปรตุเกสก็จะถูกชักลงจากยอดเสาในมาเก๊า
และเมื่อรุ่งอรุณของวันที่ 1 มกราคม ปี 2000 มาถึง ดวงอาทิตย์ก็จะโผล่ขึ้นมาบนดินแดน
ซึ่งในที่สุดก็อยู่ภายใต้การปกครองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินที่แท้จริงโดยสมบูรณ์แบบ
เอเซียได้ก้าวมาถึงจุดซึ่งปรมาจารย์ทางการบริหาร เคนอิชิ โอมาเอะกล่าวเอาไว้ว่า
"เราเลิกหลงงมงายอยู่กับแนวความคิดของศตวรรษที่ 19 ในเรื่องรัฐชาติแล้ว"
ผลที่เกิดขึ้นประการหนึ่งก็คือ ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องพรมแดนประเทศที่แตกต่างไปจากเดิมในหมู่นักธุรกิจเอเซีย
รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาลด้านการค้าและการต่างประเทศ ซึ่งพรมแดนประเทศนี้ แท้ที่จริงแล้วถูกกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก
หลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ แนวความคิดเรื่อง "ไร้พรมแดน"
มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ รูปธรรมที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ
การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมดินแดนมากกว่าหนึ่งประเทศ
เช่น สามเหลี่ยมแห่งความจำเริญเติบโต (GROWTH TRIANGLE) สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ,
เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ความจริงแล้วควรจะเรียกว่าวงรอบหรือวงกลม
(CIRCLE) มากกว่า เพราะเป็นคำที่มีนัยถึงการเชื่อมต่อกันของดินแดน และการสอดประสานกันระหว่างสายสัมพันธ์ของนักธุรกิจ
NOORDIN SOPIEE ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาของมาเลเซีย
ระบุว่าพื้นที่ "ภูมิ-เศรษฐกิจ" แบบนี้มีอยู่ถึง 14 แห่งในเอเซียและจะมีเพิ่มมากขึ้นอีก
หากสันติภาพในระดับภูมิภาคยังคงอยู่ พื้นที่เหล่านี้คือศูนย์กลางธุรกิจใหม่
ๆ จำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง
นิตยสารเอเชีย อิงค์ได้ส่งนักเขียนอาวุโสวิลเลี่ยม เมลเลอร์พร้อมด้วยช่างภาพ
เดินทางตระเวณเป็นระยะทาง 20,000 กิโลเมตรทั่วเอเซีย เพื่อศึกษา "วงกลมแห่งความเจริญเติบโตใหม่"
(NEW GROWTH CIRCLES) นี้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ตอนด้วยกัน โดยเริ่มตอนที่หนึ่งในฉบับนี้
และเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เอเชีย อิงค์ร่วมกับมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุลจะร่วมกันจัดรายการสัมนาในเรื่องนี้ขึ้น
โดยการสัมนาครั้งแรกจะมีขึ้นที่เชียงใหม่ในเดือนมีนาคมปีหน้า และครั้งต่อ
ๆ ไปจะจัดขึ้นที่ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา