การทำงานอยู่ในตำแหน่งใดด้วยระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อเป็นตำแหน่งที่เป็นระดับสูงสุดในหน่วยงานนั้น
ที่สามารถควบคุมทิศทางขององค์กรนั้นได้ด้วยแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องจากตำแหน่งนั้นด้วยความไม่เสียดายหรืออาลัยเลยนั้น
ปุถุชนทั่วไปคงทำได้ยากยิ่ง
จรัญ บุรพรัตน์ กับการดำรงเป็นตำแหน่งผู้ว่าการทางฯ ถึง 14 ปีนั้น ก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเช่นกัน
การตัดสินใจลาออกจากการทางฯ เป็นสิ่งที่จรัญทำใจได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญ
แม้ว่าตลอด 14 ปีเต็มที่นั่งในตำแหน่งที่ถูกกระแสทางการเมืองบีบบังคับให้เดินตามตลอดเวลา
จรัญถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถประสานประโยชน์ของแต่ละฝ่ายได้อย่างดีเยี่ยม
เพราะนักการเมืองหลายต่อหลายคนที่ขึ้นมาดูแลการทางฯ หรือภาคเอกชนที่ต้องมาทำงานด้วย
ไม่เคยมีเรื่องระหองระแหงจนต้องเกิดวิกฤตการณ์ที่ยากจะประนีประนอมดังเช่นคราวนี้
แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ที่จรัญขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งใหม่นี้นั้น เขาจะมาด้วยการสนับสนุนของพรรคการเมืองระดับใหญ่ในขณะนั้น
แต่จรัญก็มีความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอื่นได้อย่างลงตัว
ดังนั้นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่จรัญอยู่ในตำแหน่งนี้นั้น ทุกพรรคการเมืองจึงเห็นด้วยกับนโยบาย
"บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น" ของจรัญเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งมีผู้คาดหวังว่าจรัญน่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งเกษียณอย่างแน่นอน
ในช่วงที่วิกฤตการณ์ทางด่วนมาจนถึงทางตันของปัญหา มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย
โดยเฉพาะจากประธานกรรมาธิการคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎร ให้เรียกตัวจรัญมาให้ปากคำถึงข้อผิดพลาดในอดีตเกี่ยวกับสัญญาทางด่วน
ในฐานะผู้อยู่ใกล้ชิดปัญหาที่สุดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีเสียงตอบจากจรัญ ว่าจะมาให้การได้เมื่อใด
ว่ากันว่าเหตุที่จรัญสามารถไปจำศีลภาวนา อย่างสงบเสงี่ยมโดยไม่มีใครสามารถไปวอแวได้นั้น
เป็นเพราะอานิสงส์การทำตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลายของตนเอง ในอดีตกับบรรดาพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงสามารถรอดตัวมาได้
หลังจากพ้นตำแหน่งผู้ว่าการทางฯ มา จรัญก็เก็บตัวนิ่งเงียบไม่ยอมเป็นข่าวแต่อย่างใด
จนกระทั่งได้มีการเปิดเผยในที่สุดว่าเขาได้ไปนั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทไทยอะโรเมติกส์
ด้วยการสนับสนุนอย่างแรงของเลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.) โดยอาศัยที่ ปตท. มีหุ้นอยู่ในไทยอะโรเมติกส์ถึง 100%
ความแตกต่างของงานที่ไทยอะโรเมติกส์กับที่การทางฯ คงไม่แตกต่างกันมากนัก
เพราะจรัญยังอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมได้เช่นเดิม การทำงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้นของเอกชน
และการไม่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง คงทำให้จรัญมีความสุขมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จรัญจะได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของไทยอะโรเมติกส์
เมื่อกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันของไทยอะโรเมติกส์ต้องเกษียณอายุในต้นปีหน้านี้
คงจะช่วยเยียวยาความรู้สึกได้เป็นอย่างดี
การเข้ามาสู่ตำแหน่งผู้ว่าการทางฯ ของสุขวิช รังสิตพลนั้น ค่อนข้างจะตรงข้ามกับจรัญ
เพราะเป็นความตั้งใจของสุขวิชเองที่หวังจะเข้ามาสร้างชื่อเสียงในการเข้ามาแก้ไขปัญหาในองค์กรที่ตัวเองไม่เคยมีความรู้พื้นฐานมาก่อนเลย
ด้วยความสนิทและคุ้นเคยกับ "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธจากการที่เคยร่วมทำโครงการอีสานเขียวมาด้วยกัน
ผนวกกับความสนิทของสุขวิชกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหาร
0143 หรือ จปร. 5 ซึ่งมี พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นประธานกลุ่มนั้น สุขวิชก็มีความสัมพันธ์เป็นอย่างดี
จากความสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มอำนาจต่าง ๆ นี้เอง ทำให้สุขวิชไม่ค่อยมีปัญหาในด้านธุรกิจ
ในช่วงที่มีปัญหาระหว่างเชลล์กับคาลเท็กซ์ กลุ่มทหารสาย จปร. 5 ก็เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการไกล่เกลี่ยปัญหานี้
ด้วยความเป็นนักรัฐศาสตร์จากรั้วเหลืองแดง และไต่เต้าจากการเป็นเซลล์แมนประจำเขต
ขึ้นมาจนเป็นคนไทยคนแรกในตำแหน่ง NO. 1 ของคาลเท็กซ์ได้นั้น สุขวิชได้ตั้งความหวังไว้ว่า
จะอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการทางฯ นี้เพียง 3 ปีเท่านั้นให้พอดีกับการเกษียณของตัวเอง
และแน่นอนว่าหลังจากนั้น การเมืองก็เป็นเส้นทางที่สุขวิชคาดหวังว่าจะก้าวไปสู่
โดยมีเป้าหมายขั้นต้นคือ การเป็น ส.ส. ของพรรคความหวังใหม่