ธุรกิจ "การจัดการกองทุนรวม" เป็นการบริหารเงินที่ระดมจากประชาชนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
(บลจ.) ด้วยวิธีการจำหน่ายหน่วยลงทุนในแต่ละโครงการที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน
40 โครงการ และนำเงินที่ได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภทที่ได้กฎหมายอนุญาต
ทั้งนี้แล้วแต่นโยบายของแต่ละกองทุน เช่น ลงทุนเฉพาะในหุ้น(EQUITY FUND)
ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ (BALANCED FUND) หรือลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ (FIXED
INCOME FUND) ด้วยเงินจำนวนมากที่กองทุนรวมระดมได้ทำให้สามารถกระจายการลงทุน
(DIVERSIFIED) ไปในหุ้นหลาย ๆ กลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้มากกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารที่ผิดพลาด
ทางการจึงกำหนดให้ บลจ. นำเงินทุนหรือกองทุนรวมที่ระดมได้ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก
บลจ. และมีผู้ดูแลผลประโยชน์ (TRUSTEE หรือ CUSTODIAN) ควบคุมการบริหารกองทุน
ตลอดจนการกำกับและตรวจสอบการทำงานของ บลจ. โดย กลต.
ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ คือ 1. เงินปันผล 2. มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
เมื่อสิ้นสุดโครงการ (กรณีที่ถือครบอายุ) และ 3. กำไร/ขาดทุน ส่วนเกินทุน
(กรณีไถ่ถอนก่อนครบอายุ) ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการจะได้ค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน
โครงการกองทุนรวมที่จำหน่ายสำหรับนักลงทุนในประเทศในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น
2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามสภาพคล่อง ขนาด/อายุโครงการ และผลประโยชน์ ดังนี้ 1. กองทุนเปิด(CLOSED-END
FUND) 2. กองทุนเปิด (OPEN-END FUND) โดยกองทุนปิดจะมีสภาพคล่องน้อยกว่ากองทุนเปิด
ขณะที่มูลค่าและอายุโครงการจะมีการกำหนดไว้แน่นอน ต่างจากกองทุนเปิดที่ไม่สามารถกำหนดได้ขึ้นอยู่กับความสนใจของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา
(ดูตารางเปรียบเทียบลักษณะกองทุนเปิดกับกองทุนปิด)
บลจ. ที่จำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนปิดจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น ๆ
ก่อนครบอายุการไถ่ถอน แต่หากผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องการขายคืนก่อนครบอายุก็สามารถกระทำได้ในตลาดหลักทรัพย์
เพราะ บลจ. จะนำโครงการลงทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายหลังระดมทุนเรียบร้อยแล้วทันที
สำหรับราคาที่ทำการซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาดในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งตลอดเวลากว่า
1 ปีที่ผ่านมา ปรากฎชัดเจนว่าราคาหน่วยลงทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
(NAV)*ของกองทุนประมาณ 20%
คงไม่ผิดหากเปรียบว่าการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนปิดเปรียบเสมือนกับการฝากเงินประจำ
ขณะที่ บลจ. ก็จะทราบถึงจำนวนเงินและระยะเวลาที่แน่นอน ทำให้ง่ายต่อการบริหารเงิน
ต่างจากการบริหารกองทุนเปิดที่มีสภาพคล่องสูง การซื้อ/ขายหน่วยลงทุนกับทาง
บลจ. หรือสาขาตัวแทนได้ตลอดระยะเวลา จึงมีความยากในการบริหารเงินมากกว่า
เพราะไม่สามารถทราบถึงจำนวนเงินที่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งต้องสำรองเงินสดในอัตรา
10% ตามข้อกำหนดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้
ลักษณะของกองทุนเปิดที่มีสภาพคล่องสูงนี้เองที่ทำให้ทางการเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจของประชาชนยังมีไม่มาก ตลอดจนตลาดหลักทรัพย์เองก็ยังไม่มีการพัฒนาอย่างดีพอ
ทางการจึงไม่อนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุนเปิด (ยกเว้นกองทุนทรัพย์สมบูรณ์ที่ออกโดย
บล. กองทุนรวม จำกัด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2529) จนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม
2536 ที่ผ่านมา)
"ผมว่า..สถานการณ์ในปัจจุบันเราพร้อมที่จะมีกองทุนเปิดได้แล้ว เพราะนักลงทุนในปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น
ตลอดจนหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเราก็มีเพิ่มขึ้นกว่าก่อนมาก"
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการชื่อดังแสดงทัศนะ
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันกรณีเกิด "เหตุการณ์วิกฤต" แล้วประชาชนตื่นตระหนกนำหน่วยลงทุนมาขายคืนกับ
บลจ. เป็นจำนวนมากจนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ทางการจึงให้อำนาจแก่
กลต. ในการสั่งให้ บลจ. หยุดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นการชั่วคราวได้ทันทีหากมีวิกฤต