Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2536
"กองทุนรวม ขาใหญ่ ตลาดหุ้น!?"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข จิตติมา คุปตานนท์
 

 
Charts & Figures

ตารางแสดงส่วนแบ่งตลาดของแต่ละกองทุน ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2536
ตารางเปรียบเทียบทรัพย์สินสุทธิ เฉพาะกองทุนที่มีอายุครบ 1 ปี

   
related stories

"กองทุนรวม…18 ปี 8 บริษัท"
"ธุรกิจจัดการกองทุนรวม…มือปืนรับจ้าง (มืออาชีพ)"
"หน่วยลงทุน..ทางเลือกใหม่ (ที่ดี)ในการลงทุน"

   
www resources

โฮมเพจ บลจ. เอ็มเอฟซี

   
search resources

เอ็มเอฟซี, บลจ.
Stock Exchange




ศักราชใหม่ของกองทุนรวมกำลังเฟื่องสุดขีดภายใต้สภาพคล่องและปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ เมื่อคนไทยได้โยกย้ายเงินออมหนีดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์มาสู่อ้อมอกสถาบันลงทุนแบบใหม่นี้ถึง 64,714 ล้านบาท แนวโน้มบทบาทของกองทุนรวมจึงกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งถูกอ้างสร้างข่าวลือทุกครั้งที่ภาวะผันผวนเกิดขึ้นในตลาดหุ้น แต่ก็มีเสียงโต้แย้งจากผู้บริหารหนุ่มสาวไฟแรงว่า เสถียรภาพของตลาดหุ้นยุคกองทุนรวมจะมีดุลยภาพของความเป็นธรรม สภาพคล่อง และแข็งแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต!!

แม้ว่าคนไทยเราจะรู้จักคำว่า "กองทุนรวม" มาตั้งแต่ปี 2518 ที่มีการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์(บล.) กองทุนรวม โดยกระทรวงการคลัง บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ และธนาคารออมสินถือหุ้น แต่ไม่มียุคสมัยใดที่ "กองทุนรวม" จะใกล้ตัวใกล้ใจผู้ลงทุนรายย่อยมากเท่าทุกวันนี้

ทั้งนี้เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) รายใหม่ 7 รายที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อปีที่แล้ว คือ บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. บัวหลวง บลจ. ออมสิน บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ บลจ. ไทยเอเซีย และ บลจ. บริหารทุนไทย ได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดสร้างแรงจูงใจบนความเสี่ยงที่ให้ผู้มีเงินออมได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินธนาคารถึง 20-30%

แม้ว่าในระยะแรก ทุกโครงการกองทุนของ บลจ. จะประสบความยากลำบากมาก ๆ ในการขายหน่วยลงทุนก็ตาม แต่อาศัยเจาะตลาดลูกค้าแบงก์ โดยผ่านเครือข่ายสาขาธนาคารซึ่งมีอยู่นับร้อย ๆ แห่ง ประกอบกับแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ที่ให้แก่พนักงานแบงก์จึงทำให้หลายโครงการสามารถจำหน่ายหน่วยลงทุนได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

เช่น กองทุนรวมบัวหลวง ซึ่งเป็นโครงการกองทุนแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดถึง 3,000 ล้านบาท ได้ใช้กลยุทธ์ขายหน่วยลงทุนโดยสายงายบริหารธนาคารกรุงเทพ ได้มีคำสั่งขอความร่วมมือช่วยจำหน่ายกองทุน โดยจัดสรรสัดส่วนการขายตามระดับชั้นของพนักงาน เช่น พนักงานระดับ 1-2 จะมีเป้าหมายต้องขายให้ได้คนละ 40,000 บาท ขณะที่ระดับผู้บริหารระดับสูง เช่น ระดับ EVP ต้องขายให้ได้คนละ 1 ล้านบาท

แต่ ณ วันนี้ เมื่อผลงานที่ผ่านมาในรอบหนึ่งปี แสดงถึงผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากธนาคารถึง 20-30% และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเล่นหุ้นเอง ได้จุดประกายดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านเข้าสู่กองทุนรวมรายใหม่ทั้งเจ็ดแห่ง

นอกจากนี้ โครงการกองทุนใหม่ ๆ ยังได้รับการต้อนรับจากมหาชนอย่างคาดไม่ถึง กรณีของ บลจ. ออมสิน ซึ่งเป็น "ม้ามืดมาแรง" เจาะตลาดรายย่อย แค่หนึ่งพันบาทก็เป็นเจ้าของหน่วยลงทุนได้แล้ว ขณะที่กองทุนอื่น ๆ กำหนดขั้นต่ำ 5,000 - 10,000 บาท ทำให้ออมสินขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยอดผู้จองที่เกินกำลังรับในกองทุนออมสินอุดมทรัพย์มูลค่า 4,000 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ จนกระทั่งออกกองทุน "ออมสินอุดมทรัพย์" ในเดือนถัดมาด้วยขนาดกองทุน 4,000 บาทเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ท่ามกลางความตื่นตัวของผู้ลงทุนรายย่อย น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าผลตอบแทนที่ได้รับนั้นมีความเสี่ยงสูงปนอยู่ด้วย โดยเฉพาะความเข้าใจในความหมายของนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละโครงการยังไม่เป็นที่ใส่ใจมากเท่ากับคำว่า "เงินปันผล"

ยกตัวอย่างเช่น โครงการกองทุนรวมกำไรทวีที่มีขนาดกองทุน 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริหารโดย บลจ. ไทยเอเซีย จะมีลักษณะพิเศษเป็นแบบ DUAL FUND คือแบ่งนโยบายการลงทุนออกเป็นสองหน่วยคือ หน่วยลงทุน-กำไรทวี (KCAP) กับหน่วยลงทุนรายได้ทวี (KINC) ทั้งสองหน่วยจะมีความแตกต่างตรงที่ว่าผู้ลงทุนต้องการกำไรส่วนต่างจากการขายหุ้น (CAPITAL GAIN) หรือต้องการเงินปันผล ถ้าต้องการอย่างแรกก็ต้องเลือกหน่วยลงทุน KCAP หรือกรณีต้องการเงินปันผลหรือดอกเบี้ยก็เลือก KINC

แต่ปรากฏว่าส่วนหนึ่งของนักลงทุนที่เลือก KINC ต้องเจ็บปวดกับผลตอบแทนที่ต่ำ เนื่องจากในช่วงที่ตลาดหุ้นเติบโตสูงเช่นในปัจจุบัน ผู้ถือหน่วยลงทุน KCAP จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ CAPITAL GAIN สูงกว่าถือหน่วยลงทุน KINC ที่ได้รับเพียงเงินปันผล

ในช่วงที่ภาพลักษณ์กองทุนรวมยังเป็นสินค้าแปลกใหม่แต่ให้ความเร้าใจด้านผลตอบแทนสูง ผู้บริหารกองทุนหนุ่มสาวมือใหม่ไฟแรงต่างกำลังเล่นอยู่ในเกมที่เรียกกันว่า LOOSER GAMES เนื่องจากองค์ประกอบของผู้เล่นไม่ว่าจะเป็น กรรมการอย่าง กลต. ผู้บริหารกองทุน ประชาชนเอง ก็ยังใหม่ต่อเรื่องกองทุนรวมบางครั้งคู่แข่งตีแพ้เองก็เยอะ ตีพลาดก็มาก ทำให้ผู้บริหารกองทุนรวมส่วนใหญ่ได้แต้มชนะแบบไม่ต้องทำอะไรมากนัก

ยิ่งได้รับแรงเสริมจากเงินออมที่ไหลออกจากบัญชีเงินฝากประจำที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำต่ำเพียง 7-8% เพราะสภาพคล่องล้นหลามแบงก์พาณิชย์ไทยต้องปรับให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ลดต่ำลง ทำให้กองทุนรวมต่าง ๆ ที่ระดมเปิดกันครึกโครมถึงจำนวน 32 กองทุนในรอบปีนี้ก็สามารถระดมเงินออมทะลุเป้าถึงหลัก 64,173 ล้านบาท ณ วันที่ 7 ตุลาคมปีนี้ ยามปัจจัยเศรษฐกิจเป็นบวกดรรชนีตลาดหุ้นทะลุหลักถึงกว่า 1,200 จุด เพราะแรงฉุดของนักลงทุนสถาบันจากอเมริกาและยุโรปที่สนใจตลาดหุ้นไทยที่มี P/E ต่ำที่สุดในแถบประเทศเอเชียนี้และประสิทธิภาพตลาดเงินเรื่อง BIBF และ EURO CD ก็ทำให้ระดมเงินทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

นักบริหารกองทุนรวมหนุ่มสาวที่มีวัยสามสิบต้น ๆ ต่างก็ยินดีปรีดาทุ่มเทพลังสุดจิตสุดใจเพราะผลงานที่ปรากฏออกมาตอบแทนผู้ถือหน่วยลงทุนสูงกว่าที่คาดหมายไว้มาก

แต่วัฏจักรของตลาดหุ้นไม่แน่นอน วันนี้ได้ พรุ่งนี้อาจเสีย วิกฤตการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบันได้พิสูจน์สัจธรรมนี้ไว้ชัดเจนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ของดัชนีตลาดหุ้น

ในอดีต ความคิดที่จะให้ตลาดบูม เป็นความคิดที่อันตรายมาก ถ้าทุกคนคิดแต่จะทำให้ตลาดบูมโดยขาดพื้นฐานมีแต่การเก็งกำไรหรือปั่นหุ้น-หุ้นปั่น คนที่เดือดร้อนแสนสาหัสก็คือ แมงเม่าอย่างประชาชนที่ไม่รู้เรื่องราว

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ ทำอย่างไรให้ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง ยุติธรรมและมีเสถียรภาพ !!

เช้าวันอังคารที่ 12 ตุลาคม เวลา 10.39 น. เปรียบราวกับเกิดแผ่นดินไหวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญนักลงทุนถึงขั้น "ช็อก" กับดัชนีราคาหุ้นของตลาดหุ้นที่ผันผวนร่วงต่ำสุดถึง 28.54 จุดภายในห้านาทีแรกของช่วงเปิดตลาด ทำให้ดัชนี "ซวนเซ" จากที่ยืนอยู่ที่ 1132.10 จุด ตกลงไปเหลือ 1095.20 จุด

แรงฉุดสำคัญก็คือนักลงทุนรายย่อยที่ต่างตื่นตระหนกตกใจเทขายตาม พร้อมกระแสข่าวลือเกี่ยวกับ "ขาใหญ่" ที่ทุบราคาหุ้นร่วงน่าใจหายเช่นนี้?!!

ท่ามกลางความโกลาหล ปรากฏว่า "ขาใหญ่" คือกองทุนกรุงไทย ซึ่งโบรกเกอร์เบอร์ 7 บงล. กรุงไทยธนกิจเป็นตัวแทนรับคำสั่งเทขายของลูกค้ารายนี้ได้แถลงแก้ข่าวอย่างฉุกเฉินว่าไม่ได้เกิดจากการผิดพลาดของคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แต่เป็นคำสั่งของลูกค้าที่ให้ขายหุ้นแบบบิ๊กล็อตจำนวนหนึ่งล้านหุ้นใน "ราคาตลาด" (MARKET PRICE) ทำให้โบรกเกอร์ต้องทยอยเทขาย แต่รายการซื้อขายบิ๊กล็อตนี้ส่งผลให้ดัชนีหุ้นร่วงทันทีจากการปล่อยหุ้นธนาคารกรุงเทพล็อตใหญ่ถึง 2 แสนหุ้นที่ราคา 138 บาทซึ่งเป็นราคาต่ำสุดติดฟลอร์ 10% และหุ้นปูนซิเมนต์ไทยจำนวน 3,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 640 บาท

"กองทุนกรุงไทยไม่ได้มีเจตนาจะทุบหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเราจะทำไปทำไม?! เราเห็นว่าโอกาสในช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่เราจะทยอยขาย อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ขณะที่คุณศรินทร์ นิมมานเหมินท์ประชุมอยู่ และได้ดูการซื้อขายหุ้นช่วงเช้าและพบว่ามีผลกระทบต่อการลงทุน คุณศิรินทร์จึงได้สั่งหยุดปล่อยหุ้นทันที" ดุสิต เต่งนิยม ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยแถลงข่าว

งานนี้กองทุนกรุงไทยพลาดอย่างหนัก เพราะเก็งตลาดผิด คิดว่าจะมีสภาพคล่องดูดซับกับแรงรับซื้อบิ๊กล็อตมากพอ แต่แล้วเหมือนเบรกความร้อนแรงของตลาดหุ้นให้มีการปรับตัวอย่างรุนแรง ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพซึ่งถือเป็นหุ้น "บลูชิพ" ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีที่สุดในสถาบันการเงินที่นิยมถือกันเปิดตลาดที่ระดับราคา 153 บาท แต่เพียงชั่วระยะเวลาสามนาที หุ้นทองคำตัวนี้ก็มีอันเป็นราคาไปไหลรูดลงที่ราคาต่ำสุดเพียง 138 บาท

แต่ราคาแกว่งตัวอย่างรุนแรงระหว่าง 140-153 ตั้งแต่เช้า 10.13 น.-10.22 น. ก็มีข่าวลือ "ขาใหญ่" เข้ามาประคับประคองโดยปิดตลาดภาคเช้าที่ 150 บาท ขณะที่ช่วงบ่ายราคาอ่อนตัวลงไปปิดที่ 148 บาทลดจากวันก่อน 5 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 339.98 ล้านบาท

"มีข่าวลือกันว่ากองทุนรวมบัวหลวงเข้าไปช้อนซื้อ ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ซื้อหุ้นแบงก์กรุงเทพสักหุ้นเดียวเพราะตอนนี้เราก็ถืออยู่เต็มพิกัด 4% แล้วเราจึงซื้อไม่ได้ ถ้าซื้อเพิ่มไปก็เกิน และผิดกฎหมาย" ธวัช อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวงเล่าให้ฟัง

ณ วันที่ 30 เมษายน พอร์ตโฟลิโอของกองทุนรวมบัวหลวงมีหุ้นแบงก์กรุงเทพอยู่ 13.81% แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 8.72% ปูนซิเมนต์ไทย 7.48% ธนาคารกสิกรไทย 6.30% บงล. ภัทรธนกิจ 4.54% อินเตอร์ฯ เอนจิเนียริ่งฯ 4.31% สินเอเชีย 4.04% เบอร์ลี่ยุคเกอร์ 3.13% อินเตอร์ฯ คอสเมติคส์ 3% และธนาคารไทยพาณิชย์ 2.89%

ดังนั้นผลกระทบรุนแรงได้เกิดขึ้น เมื่อมีการยุบ "กองทุนกรุงไทย" ที่เทออก ขายหุ้นในราคาติดฟลอร์ ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์จับใหญ่นักปั่นหุ้นราวเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จัดตั้งโดยธนาคารกรุงไทยมูลค่า 5,000 ล้านบาทและกองทุน "โบรกเกอร์" ที่ลงขันกันอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท กระจายสภาพคล่องให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้ง 7 แห่งบริหาร

เริ่มตั้งแต่ บลจ. บัวหลวง ตั้งโครงการกองทุนบัวหลวงพัฒนารับไป 1,400 ล้านบาท บลจ. ออมสิน เจ้าของกองทุนออมสินร่วมพัฒนา 1,500 ล้าน บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ ก็มีกองทุนเอกลงทุนหันพื้นฐาน 1,500 ล้านบาท บลจ. ไทยพาณิชย์ตั้งกองทุน ไทยพาณิชย์พัฒนารับไป 1,400 ล้านบาท บลจ. ไทยเอเชีย เจ้าของกองทุนทรัพย์โสภณ 1,400 ล้านบาท ส่วน บลจ. บริหารทุนไทย ตั้งกองทุนจำปี 1,400 ล้านบาท และ บลจ. กสิกรไทย เจ้าของกองทุนร่วมใจพัฒนารับไป 1,400 ล้านบาท

"จากการที่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในช่วงที่หุ้นมีราคาถูก การเข้ามาซื้อของกองทุนหมื่นล้านนี้เองทำให้หยุดตก ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์เสี่ยสองหรือเอฟซีไอ เราไม่ได้มองว่าเป็นปัจจัยผลลบ แต่เป็นแค่ผลกระทบจิตวิทยาระยะสั้น เราจึงยังซื้ออยู่ในช่วงนั้น ทุกครั้งหุ้นราคาผันผวน นักลงทุนรายย่อยเทขาย กองทุนจะเข้าไปซื้อในระดับราคาที่น่าซื้อ เราไม่ได้ใช้อารมณ์หวั่นไหวไปตามหรือตกใจเทขาย" ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทยและนายกสมาคม บลจ. สตรีคนแรกเล่าให้ฟัง

การผนึกกำลังของคนหนุ่มสาววัยสามสิบต้น ๆ ก่อให้เกิดอำนาจต่อรอง ในนามของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 คนมาจากกองทุนรวม 8 แห่ง กับอีก 7 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร่วมใน บลจ. ประกอบด้วย บงล. ทิสโก้ ไอเอฟซีทีไฟแนนซ์ การทุนไทย ธนสยาม พัฒนสิน จีเอฟ และกรุงไทยธนกิจ จะเป็นตัวแปรสำคัญในอนาคต ที่อาจจะได้รับบทบาทเพิ่มขึ้นในฐานะบอร์ดตลาดหุ้นก็ได้

"ผลงานของสมาคม บลจ. ตั้งแต่ก่อตั้งมา เรายื่นขอทางแบงก์ชาติและ กลต. ขอให้ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนแก่ลูกค้าแบงก์ได้ เพราะสมัยก่อนแบงก์ขายหุ้นไม่ได้ และหน่วยลงทุนถูกตีความว่าหุ้นปรากฏว่าได้รับอนุมัติ กองทุนรวงข้าวเป็นกองทุนแรก" ดัยนา เล่าให้ฟัง

ผลงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสมาคม บลจ. ก็คือ การขอลดคอมมิชชั่นหน่วยลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวมจะจ่ายให้โบรกเกอร์ เพียง 0.3% ขณะที่นักลงทุนทั่วไปจ่าย 0.5%

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เข้าไปมีบทบาทร่วมกับ ก.ล.ต. ในการวางระบบและกำหนดกติกา เช่น คณะอนุกรรมการร่างกองทุนเปิด คณะกรรมการเรื่องตราสารหนี้และกองทุนผสม ก็มีดัยนา ธวัชและกิตติรัตน์ ส่วนอนุกรรมการกองทุนไพรเวทฟันด์ก็มีดัยนา จรัมพร ส่วนอนุกรรมการเกี่ยวกับเม็กซิกันทรัสต์ ฟันด์ คือซื้อในกระดานไทย แต่ไปจดทะเบียนให้รู้ว่าเป็นกองทุนต่างประเทศโดยไม่มีสิทธิโหวตเสียง ก็มีจรัมพรและผู้บริหารกองทุนรวม

คงยากที่จะปฏิเสธถึงบทบาทเฉพาะกิจในฐานะ LIFEBOAT ของกองทุนรวมต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทยว่ามีส่วนไม่น้อยในการเรียกขวัญและ กำลังใจจากนักลงทุนกลับคืนว่าตลาดมิได้ผันผวนเลวร้ายอย่างที่คิด

ณ วันนี้ ผลการบริหารกองทุนโบรกเกอร์หมื่นล้านของ บลจ. ทั้งเจ็ดแห่งเป็นที่คาดว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจในภาวะตลาดหุ้นโตวันโตคืนเช่นนี้ แต่ก็มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปปันผลมูลค่ารวมประมาณ 519 ล้านบาทเพียงครั้งเดียว

ในอนาคต หลังจากเมื่อครบสองปีในปี 2537 กองทุนโบรกเกอร์นี้จะยุบหรือเปลี่ยนแปลงเป็นกองทุนเปิดหรือไม่? ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้

แต่ถ้าหากนโยบายทางการบังคับให้ต้องยุบกองทุนโบรกเกอร์นี้ คิดดูแล้วกันว่า ขนาดของกองทุนหมื่นล้านเมื่อเทขายหุ้นออกมา จะทำให้เกิดการดัมพ์ราคาตลาดหุ้นขึ้นได้อย่างมากถ้าหากตลาดหุ้นตกอยู่ภายใต้สภาพคล่องที่ไม่ดีนัก

กรณีกองทุนโบรกเกอร์หมื่นล้านนี้อาจจะรุนแรงกว่ากรณีกองทุนกรุงไทยที่พลาดไปแล้วเสียอีก!!

คนที่มองโลกในแง่ดีอย่างกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ ก็คงคาดไม่ถึงกับภาวะผันผวนรุนแรงจากการเทขายของกองทุนกรุงไทยเช่นนี้ ดังนั้นคำพูดที่เคยกล่าวอย่างมั่นใจกับนิตยสาร "หุ้นไทย" ก่อนเหตุการณ์นี้เมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่า

"กองทุนกรุงไทยถึงแม้จะมีเงิน 5,000 ล้านบาทก็จริง แต่เท่าที่ทราบคือ เขาถือหุ้นเพียงประมาณ 500 ล้านบาท ซื้อขายกันหนึ่งชั่วโมงก็หมดแล้ว ฉะนั้นจะยุบเมื่อไร อย่างไร? ก็ไม่มีผลต่อตลาด ผมมั่นใจอย่างนั้น" จึงเป็นความมั่นใจที่ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตลาดหุ้นมีสภาพคล่องที่ดูดซับได้อย่างดี

แต่เมื่อกองทุนกรุงไทยพลาดก็พลอยทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล เช่นเดียวกับ "ดาบสองคม" ถ้าใช้ไม่เป็น ก็อันตรายในเชิงที่เกิดผลกระทบเกินขอบเขตที่ทำให้ผู้ลงทุนตื่นตระหนก แต่ถ้าไม่ใช้เลยก็ผิดความตั้งใจไป

ดังนั้น กองทุนรวมที่ถูกมองว่าเป็น "ขาใหญ่" ไปแล้วในการสร้างแรงกดดันให้กับราคาตลาดหุ้นเม็ดเงินนับหมื่น ๆ ล้านที่ไหลเข้ามาในตลาดก็ทำให้ผู้บริหารกองทุนต้องทนฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง "ขาใหญ่"

"เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงถูกอ้างชื่อเสมอ เช่น กรณีหุ้นสัมมากร ซึ่งตอนนั้นเรามีหุ้นจองเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีข่าวว่าเราไล่ราคา เช่นเดียวกับข่าวลือหุ้นสยามเจนเนอรัลที่มีข่าวว่าเราทุบให้ราคาตก ซึ่งมันเป็นข่าวไม่จริง" จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้จัดการ บลจ. ไทยพาณิชย์เล่าให้ฟัง

"ที่ผ่านมาเรามักโดนกล่าวว่าเป็นผู้ปั่นหุ้นอาจเป็นเพราะกองทุนเราใหญ่ ผลตอบแทนเราดีและเรามักเปลี่ยนแปลงหุ้นค่อนข้างบ่อย ผลคือพวกโบรกเกอร์พยายามปะติดปะต่อภาพต่าง ๆ แล้วดูการเคลื่อนไหวของเราก่อนที่จะปล่อยข่าว ซึ่งมักได้ผลเพราะนักลงทุนไทยเราค่อนข้างหวั่นไหวกับข่าวลือพวกนี้"

ว่าไปแล้วโดยธรรมชาติ กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวผู้บริหารกองทุนรวมย่อมต้องคาดการณ์เพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่าง ๆ (ASSET ALLOCATION) และเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละประเภท (ASSET SELECTION) ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ที่จะให้ผลการลงทุนสูงสุด

แต่การปรับกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น เกิดขึ้นได้ในตลาดหุ้นไทยขณะนี้ที่ดัชนีทะลุ 1500 จุดแล้วระดับราคาหุ้นสูงจนอาจจะมีมีการปรับตัวแรง ๆ อาจจะมีการเทขายเพื่อทำกำไรบ้างบางส่วน เพราะเวลากองทุนรวมบริหารเงินมาก ๆ จะไม่กล้าขายออกมามาก เพราะเกรงว่าจะซื้อเก็บมาไม่ได้ในราคาต่ำ

โดยนโยบายการลงทุนแบบ EQUITY FUND ของกองทุนรวมในปัจจุบัน บังคับให้ 90-95% ของกองทุนต้องเป็นหุ้น ส่วนการจะถือเงินสดมีเพียง 5-10% เท่านั้น ซึ่งก็นับว่ามากแล้ว

สิบหุ้นเด่นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีสภาพคล่องสูงที่กองทุนรวมทุกแห่งจะต้องมีอยู่ในพอร์ต ได้แก่ แบงก์กรุงเทพ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปูนซิเมนต์ไทย กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ บงล. ภัทรธนกิจ ธนชาติ ชินวัตรคอมพิวเตอร์ และแอดวานซ์อินโฟร์

ดังนั้นในรอบหนึ่งปี ถ้าเพียงแค่กองทุนรวมซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ขยับตัวซื้อหรือขายหุ้นปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้อย่างน้อยปีละสองครั้ง ก็อาจสร้างแรงกดดันด้านราคาในตลาดหุ้นได้ ด้วยเหตุผลสำคัญ ๆ สองประการ คือ หนึ่ง-ขายหุ้น เพื่อต้องการจะจ่ายปันผลผู้ถือหน่วยลงทุน โดยขายหุ้นเอากำไรสุทธิ (REALIZED PROFIT) มาจ่ายปันผล ทำให้กองทุนต้องพยายามถือเงินสดหรือถือหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงไว้เพื่อเปลี่ยนเงินสดได้ง่าย

สอง-ซื้อหรือขายเพื่อปรับฐานการลงทุนกลุ่มใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานที่จะกระทบต่อระดับราคาในอนาคต โดย ลด-เพิ่มหุ้นปรับสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ กองทุน "รวงข้าว" ซึ่งมีนโยบายการลงทุนเป็น EQUITY FUND ซึ่งมีสินทรัพย์โครงการราว 4,092.16 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้น 3,864.73 ล้านบาทหรือ 95% เงินฝากแบงก์และตัวสัญญาใช้เงิน 118.79 ล้านบาทและค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน 5.2 ล้านที่รอตัดบัญชี

เมื่อเปิดพอร์ตหุ้นมูลค่า 3,864.7 ล้านบาทของกองทุนรวงข้าวจะพบโครงสร้างการลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี กลุ่มแรก-การถือหุ้นกลุ่มธนาคารสูงถึง 29.3% โดยมีหุ้นธนาคารกรุงเทพมากที่สุด 369.1 ล้านบาท หุ้นกสิกรไทย 305.7 ล้านบาท หุ้นไทยพาณิชย์ 208.98 ล้านบาท หุ้นกรุงไทย 122.39 ล้านบาท และหุ้นนครหลวงไทย 75 ล้านบาท (คิดตามมูลค่าตลาด ณ 30 ก.ย. 2536)

กลุ่มที่สองรองลงมาคือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 25.4% ซึ่งถือมูลค่าหุ้น บงล. ภัทรธนกิจสูงสุด 271.08 ล้านบาท รองมาถือหุ้นธนชาติ 128.13 ล้านบาทและอันดับสามถือทิสโก้ 69.9 ล้านบาท

กลุ่มที่สามประเภท GROWTH STOCKS คือ หุ้นกลุ่มสื่อสาร ซึ่งกองทุนรวงข้าวถือเป็น 12% ของหุ้นทั้งหมด ได้แก่ หุ้นชินวัตรคอมพิวเตอร์มูลค่า 270.35 ล้านบาทและหุ้นแอดวานซ์อินโฟร์ฯ 191.68 ล้านบาท

ความเป็น "ขาใหญ่" ของนักลงทุนประเภทสถาบันอย่างกองทุนรวม ทำให้คาดว่าแต่ละ บลจ. จะมีเงินทุนที่ต้องบริหารเป็นหมื่น ๆ ล้านในอนาคต เนื่องจากความตื่นตัวของตลาดในปัจจุบัน รวมทั้งซัพพลายสภาพคล่องของหุ้น ซึ่งในปีหน้าจะมี 7 หุ้นใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนรวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทเข้าตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม เงินออมที่ถูกไหลเข้ามาในระบบบริหารแบบกองทุนรวม ปรากฏว่าวันที่ 7 ตุลาคม กองทุนรวมทั้งหมด 8 แห่งมีสินทรัพย์สุทธิประมาณ 64,173 ล้านบาท หรือ 2.9% ของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ไทย 2,200,000 ล้านบาท (ดูตาราง)

ส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนรวมทั้ง 8 แห่งปรากฏว่า บล. กองทุนรวมซึ่งเก่าแก่ที่สุดมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดถึง 28.3% มีขนาดสินทรัพย์กองทุนใหญ่ที่สุด 20,800 ล้านบาท รองมาเป็น บลจ. ออมสิน "ม้ามืดมาแรง" ที่มีขนาดกองทุนถึง 14,478 ล้านบาท ชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 19.75% อันดับสามคือ บลจ. ไทยพาณิชย์ "พลังสามหนุ่ม" ซึ่งมีขนาดกองทุน 11,572.84 ล้านบาท หรือประมาณ 15.79% และอันดับสี่คือ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ที่ "จิ๋วแต่แจ๋ว" ด้วยขนาดสินทรัพย์กองทุน 7,232.82 ล้านบาทหรือประมาณส่วนแบ่งการตลาด 9.87%

"เป้าหมายของบริษัทคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงสามปีถึงจะขนาด 10,000 ล้านแต่ตอนนี้มันเลยแล้วผมก็งงเหมือนกัน มันทะลุหมดแล้วเพียง 1 ปี 6 เดือน เงินปันผลและสินทรัพย์สุทธิก็เช่นกัน มากกว่าที่เราคาดไว้" จรัมพรเล่าให้ฟัง

ในภาวะที่ปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นเป็นบวก กองทุนรวมจึงเปรียบเสมือนปลาใหญ่ที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่เมื่อใดน้ำลดเร็ว ๆ ปลาใหญ่ก็อาจเกยตื้นได้ในวิกฤตการณ์หากออกตัวไม่ทัน

แต่อย่าลืมว่า กองทุนรวมยังเป็นของใหม่ที่มีบทบาทมาก ที่น่าจับตาถึงโอกาสที่จะบริหารกองทุนโดยมีผลประโยชน์อื่นเกี่ยวข้องได้มาก เช่นการโอนย้ายถ่ายเทหุ้น การลงทุนในหุ้นนอกตลาดซึ่งอยู่ในเครือพวกพ้อง การใช้เงินกองทุนรวมปั่นหุ้น/ทุบหุ้น เพื่อค่านายหน้าของโบรกเกอร์ในเครือ หรือการลงทุนในหุ้นที่ไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ภายในหนึ่งปีเศษ กองทุนรวมก็สามารถระดมเงินออมได้ภายในเวลาที่เร็วกว่าที่คาดคิด นับตั้งแต่กองทุนรวงข้าง เป็นแห่งแรกที่เปิดในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว แล้วอีก 6 แห่งตามมาคือ บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. บัวหลวง บลจ. ออมสิน บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ บลจ. บริหารทุนไทยและ บลจ. ไทยเอเชีย ทุกค่ายต่างโชว์ฝีมือ และโฆษณาผลงานที่ผ่านมาว่าให้ผลตอบแทนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 20-30% ทั้งนั้น

เปรียบเทียบการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมในรอบ 12 เดือนที่ผ่าน กองทุนเอกเพิ่มพูนปันผลสูงสุด 3.30 บาทหรือ 33% ของ 10 บาท อันดับสอง ไทยพาณิชย์มั่นคง 2 บาท ออมสินเพิ่มพูนทรัพย์ 2 บาท บัวหลวง 1.90 บาท รวงข้าว 1.80 บาท ปฐมไทยพาณิชย์ 1.50 บาทและกำไรทวี 1.02 บาท

การเกิดขึ้นของกองทุนรวมหรือบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม เป็นผลพวงจากการยกเครื่องโครงสร้างตลาดทุน ภายใต้ พรบ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือประการแรกในการสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพตลาดทุน ด้วยการเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบันในรูปของกองทุนรวม

กรณีที่ กลต. ประกาศดำเนินคดี "เสี่ยสอง" ในข้อหาปั่นหุ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 แล้วทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงอยู่ที่ระดับ 868.04 หรือลดลงกว่า 23.45 จุดเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้านี้ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 10,692.54 ล้านบาท ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องหรือกว่า 33.87 โดยปิดที่ระดับ 834.17 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6,492.54 ล้านบาท ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 หากเปรียบเทียบกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 963.03 ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 20,314.23 ล้านบาท

หมายถึงว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงถึง 105 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายมลายหายไปกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเพียง 10 กว่าวัน ซึ่งแน่นอนว่าแสดงถึงความเปราะบางของตลาดหุ้นไทยหรือ "อิทธิพล" ของขาใหญ่อย่างมิพักสงสัย??

เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐบาล หรือเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวหลายประการที่สำคัญ คือ "การจัดตั้งกองทุน" เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์

ขณะเดียวกันก็ตรงกับปรัชญาการลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องการซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดี แต่ต้นทุนราคาต่ำ ทำให้การไล่เก็บซื้อหุ้นในภาวะผันผวนระยะสั้นเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงในระยะยาวเมื่อตลาดหุ้นคืนสภาพปกติและปรับดัชนีหุ้นสูงขึ้นเมื่อปล่อยขายก็ทำกำไรมาก

นี่คือข้อดีของการบริหารความเสี่ยงแบบนักลงทุนสถาบันในรูปกองทุนรวม ที่มีความเป็นมืออาชีพพร้อมกับระบบข้อมูลที่ดี ทำให้การตัดสินใจแบบระยะยาวไม่หวือหวา เมื่อเจอดัชนีผันผวนเนื่องจากภาวะการเมืองในประเทศตอนข่าวปรับคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ดัชนีหุ้นตกมากในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ปรับตัวลดลงถึงระดับ 761.52 กองทุนรวมและกองทุนต่างประเทศก็นำตลาดด้วยการเข้าไปเลือกซื้อหุ้นที่น่าลงทุน ทำให้การปรับตัวดัชนีไต่ระดับ 900 จนทะลุหลักพันในวันที่ 20 กันยายน มีการลดต่ำของดัชนีหุ้นบ้างก่อนจะปรับฐานใหม่เป็นดัชนี 1037.54 จุดในวันที่ 6 ตุลาคมปีนี้ และไต่ดัชนี 1157 จุดในช่วงนี้ พร้อมมีการปรับพอร์ตของกองทุนรวมบางแห่ง ด้วยการขายหุ้นบางตัวที่ให้ผลกำไรสูงแล้วซื้อเก็บตัวอื่นที่น่าลงทุนเข้ามาในพอร์ต

การทำให้สุขภาพตลาดแข็งแรงประการที่สองคือ สร้างเสถียรภาพ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมนักลงทุนรายย่อยสู่รูปของการสร้างนักลงทุนสถาบันให้เกิดขึ้น ซึ่งทางการไม่เพียงให้ใบอนุญาตการจัดการกองทุนรวมแก่บริษัทใหม่ถึง 7 แห่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม เพียงแห่งเดียว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 ที่ประชุม กลต. ได้มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ (รวมสาขาธนาคารต่างประเทศ) และบริษัทเงินทุนสามารถดำเนินการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (PRIVATE FUND MANAGEMENT) ได้ นอกเหนือจากการรับประกันจำหน่ายตราสารหนี้ การให้ใบอนุญาตครบทั้ง 4 ประเภท คือการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ แก่บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ของทางการ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน นอกเหนือจากการลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันดำเนินกิจการ อันจะก่อให้เกิดตลาดการเงินที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพอย่างมิพักสงสัย

อย่างไรก็ตามบทบาทของ "กองทุน" ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิด กองทุนปิด กองทุนส่วนบุคคลหรือเม็กซิกันทรัสต์ฟันด์ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันที่ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพเท่านั้น เพราะ "การสร้างเงินออม" ก็เป็นอีกบทบาทที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะ "กองทุนบำเหน็จกลาง" ซึ่งจะเป็นสถาบันเงินออมภาครัฐ คาดว่าจะมีบทบาทไม่น้อยในอนาคต มติคณะรัฐมนตรีที่ว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนจาก บัญชีหนึ่งไปบัญชีสอง จะต้องผูกเอากองทุนบำเหน็จกลางไปด้วยอธิบายได้ชัดเจน

"ประเด็นเรื่องการบริหารนั้นเราต้องดูละเอียดรอบคอบ โดยหลักเราจะยึดความมั่นคงไว้ก่อน เป็นสถาบันเงินออมมากกว่าเป็นสถาบันการลงทุนเพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด" รมว. คลัง ธารินทร์กล่าวถึงนโยบายกองทุนใหม่นี้
ประการที่สามคือ เสริมสร้างสภาพคล่องและพัฒนาตลาดรอง (SECONDARY MARKET) ของสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน การพัฒนาตลาดโอทีซีหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และการพัฒนาตราสารแห่งหนี้เอกชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการทำ CREDIT RATING ให้กับกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่จะสามารถออกพันธบัตรในต่างประเทศได้

ดังกรณีของเจ็ดหุ้นยักษ์ใหญ่ที่จะเสริมสภาพคล่องตลาดหุ้นไทยในปีหน้า ได้แก่ บริษัทเทเลคอมเอเชีย ซึ่งเพิ่มทุน 223 ล้านบาท บริษัททีทีแอนด์ที บริษัทน้ำมันบางจากซึ่งมีจุดทะเบียน 5,220 ล้านบาท แต่คาดว่าจะกระจายหุ้น 20% บริษัทปิโตรเคมี บริษัทผลิตไฟฟ้า(ระยอง) บริษัทชินวัตรแซทเทิลไลท์ ทุนจดทะเบียน 1,700 ล้านบาทแต่จะกระจายหุ้น 300 ล้านบาท และบริษัทไทยออยล์ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านบาท แต่จะกระจายหุ้น 25%

หลังจากแสงเงินแสงทองเริ่มเจิดจ้าจากนโยบายเปิดเสรีตลาดเงินตลาดทุน เสถียรภาพที่มุ่งสร้างนักลงทุนสถาบันมาก ๆ เพื่อให้ดุลยภาพ ทำให้ในปีหน้ากองทุนเปิด กองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวท์ ฟันด์) และการเปิดเสรีที่จะให้กองทุนไทยไปขายต่างประเทศได้ ก็จะทำให้ความมั่นใจของนักบริหารกองทุนรวมต่างก็พุ่งขึ้นสูง บ้างก็วาดหวังผลตอบแทนภายในระยะห้าปีว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 20% แน่นอน

จุดขายของแต่ละกองทุนจึงแข่งขันกัน จนกระทั่งในอนาคต ตลาดกองทุนรวมอาจจะทำการตลาดสินค้าเป็นแบบคอนซูเมอร์ โปรดักส์เหมือนที่เกิดขึ้นในอเมริกา ปัจจุบัน ยากที่จะปฏิเสธว่า บลจ. ที่มีแบงก์ใหญ่ถือหุ้นอยู่ไม่ว่าจะเป็น บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ จะได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน เนื่องจากมีเครือข่ายสาขาเป็นตัวแทนส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนมากกว่า บลจ. ที่มีแบงก์เล็กเป็นหุ้นส่วน

การมีแบงก์หนุนหลังยังมีข้อดีในแง่ที่มีโอกาสในการธุรกิจกับสถาบันต่างประเทศในอนาคตที่ทางรัฐบาลเปิดให้มีการขายให้ได้ นอกจากนี้ฐานข้อมูลวิจัยที่สมบูรณ์ถูกต้องจากในและต่างประเทศจะมีมาก

สำหรับกองทุนเล็กซึ่งได้เปรียบในแง่ความคล่องตัวเข้า-ออกได้เร็ว ส่วนกองทุนรวมที่ไม่มีเครือข่ายของแบงก์ช่วย จะเสียเปรียบเชิงการตลาดบ้าง แต่อาศัยจุดเสริมด้านอื่น ๆ ช่วยจูงใจ และลักษณะการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับธนาคารขนาดเล็กบางแห่งจะเกิดขึ้น เช่น บล. กองทุนรวมซึ่งจับมือกับธนาคารขนาดเล็กอย่างธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ออกกองทุนเปิดใหม่ชื่อ "สตางค์แดง" เมื่อ 26 ตุลาคมที่ผ่านมานี้

ขณะนี้ ผู้บริหารกองทุนต่างประเทศอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก กลต. ที่จะได้รับอนุญาตบริหารความเสี่ยงที่ถูกดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ ๆ เช่น กองทุนเปิด-ปิด กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นบลูชิพ กองทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ อันหลากหลายที่ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ยอมรับความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับมาก-น้อยต่างกัน

"แต่อย่างไรก็ตามกองทุนที่ขยายตัวเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้กองทุนรวมกลายเป็น MARKET MAKER ตลาดควรจะเป็นพหุนิยม เช่น บริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นสถาบันเงินออมระยะยาว การขยายตัวผมคิดว่าควรจะมีดุลยภาพด้านกำหนดราคาและชี้ขาดตลาด" ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ให้ความเห็น

เป็นที่คาดหวังว่า จากนี้ไปตลาดหุ้นไทยในมือกองทุนรวมซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน "ขาใหญ่" จะพัฒนาตลาดทุนอย่างมีเสถียรภาพ ความเป็นธรรมและแข็งแรงยิ่งกว่าที่เคยมีมาในอดีต มิใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โอนย้ายถ่ายหุ้น หรือลงทุนให้หุ้นนอกตลาดซึ่งอยู่ในเครือ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us