พรเทพ พรประภา ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
ที่เลื่อนชั้นขึ้นเป็นรองประธานกรรมการ บริษัทสยามกลการ ตามคำสั่งลงวันที่
4 ตุลาคม 2536 ลงนามโดยถาวร พรประภา ประธานกิติมศักดิ์ ผู้ก่อตั้งสยามกลการ
ดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในบริษัทได้ดี
อย่างน้อยใน 2 ประการคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในบริษัท ที่มีข่าวไม่ดีนักจากคำสั่งที่คุณหญิงพรทิพย์ลงนามสั่งย้ายพนักงานบางคนที่ทำให้คนของพรพินิจ
พรประภา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่สายตลาดหลายคนถูกย้าย
และประการที่สองก็คือ เป็นการกลับทิศของสยามกลการเอง
ทั้งนี้เพราะพรเทพกล่าวในวันเปิดตัวในตำแหน่งใหม่วันแรกว่า ทิศทางหลักของสยามกลการก็คือ
การขายรถ
ซึ่งดูจะเป็นทิศทางที่ต่างจากแนวคิดของคุณหญิงพรทิพย์ ที่ต้องการเห็นสยามกลการเติบโตในหลายธุรกิจ
ด้วยการก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เช่น บริษัททำธุรกิจไอที ธุรกิจอินฟอร์เมชั่น
ที่แม้ในวันนี้ยังไม่เห็นผล แต่ไม่ได้หมายถึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
"ผมถือว่า อดีตเป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ปัจจุบันและอนาคต
เราสามารถที่จะกำหนดได้" พรเทพกล่าวถึงแนวคิดของการทำงานของเขาเพื่อเสริมคำอธิบายว่าสยามกลการจะเน้นในเรื่องการขายรถยนต์
กรรมการผู้จัดการสยามกลการคนใหม่ยอมรับว่าปัญหาของสยามกลการก็คือ มีจุดอ่อนที่ฝ่ายการตลาด
ดังนั้น จากนี้ไปการทำตลาดของสยามกลการจะเป็นแบบ AGGRESSIVE มากขึ้นกว่าที่ผ่าน
ๆ มา เพื่อที่จะดึงส่วนแบ่งการตลาดคืนมา
พรเทพ ซึ่งยอมรับว่าเขาใช้เวลานานพอสมควร ในการตัดสินใจว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่
ได้เปิดเผยต่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ถาวรตัดสินใจเพื่อที่จะให้มีการร่วมมือกันมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จาก การเพิ่มบทบาทของพรพินิจ พรประภา กรรมการรองผู้จัดการอาวุโสและพรพงษ์
พรประภา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น
"พี่ถาวรต้องการให้ลูกหลานเข้ามาช่วยมากขึ้น" ปรีชา พรประภา
ประธานกรรมการสยามกลการ น้องชายของถาวรกล่าวเสริมถึงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งของคุณหญิงพรทิพย์ แต่บทบาทและอำนาจหน้าที่ของพรเทพ
พรประภา จะไม่เท่ากับคุณหญิงพรทิพย์ในอดีต เนื่องจากคณะกรรมการ ต้องการที่จะให้มีการดำเนินการด้วยการผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ
ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มบทบาทของพรพินิจและพรพงษ์มากขึ้น
"พรพงษ์จะดูโรงงาน ขณะที่พรพินิจจะดูตลาดเป็นหลัก" พรเทพกล่าวในเรื่องที่ปรีชาเรียกว่าเป็นการทำงานแบบ
"ทีมเวอร์ค"
นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากการทำงานเป็นระบบด้วยการร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นจริงตามฝันของถาวรแล้ว
โอกาสที่จะขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ขายรถยนต์อันดับต้น ๆ ของเมืองไทยของสยามกลการ
ไม่ได้เป็นเรื่องยากนัก เพราะเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า นิสสันมอเตอร์ส (ประเทศญี่ปุ่น)
มีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ มาก แต่ที่ผ่านมา สยามกลการไม่ได้นำรถใหม่เหล่านั้นเข้ามาเปิดตัวในไทยมากนัก
แต่หากทำงานใหญ่ในการไต่อันดับยอดขายไม่สำเร็จคราวนี้ คนของ "พรประภา"
ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปโวยวายใครต่อไปอีกแล้ว เพราะนับจากการลาออกของนุกูล ประจวบเหมาะ
อดีตประธานกรรมการเมื่อปี 2531 เป็นต้นมาแล้ว ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนของ "พรประภา"
มีอำนาจและสิทธิ์ขาดเท่าครั้งนี้
มิหนำซ้ำ ปัญหาเรื่อง "เส้นสาย" ที่เคยมีการกล่าวอ้างก็น่าที่จะหมดไปพร้อม
ๆ กับการลาออกของคนนอกที่มาจากบริษัทอื่น ๆ เช่น ณัฐวุฒิ จิตะสมบัติ รองผู้จัดการใหญ่
ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์ดึงมาจากไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ในวันที่คำสั่งดังกล่าวถูกประกาศ
นอกจากนั้น คนของณัฐวุฒิ ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์ เรียกใช้งานหลาย ๆ คนและเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว
เช่น วัชรพล ศรีนาคอ่อน วีระศักดิ์ วหาศาล ประพันธ์ พลธนะวิสุทธิ์ และคนอื่น
ๆ ก็ลาออกตามณัฐวุฒิในเวลาต่อมา
อันหมายความว่า สยามกลการจากนี้ เป็นของ "พรประภา" เต็มร้อย!!!
สำหรับปัญหาแรกที่พรเทพจะต้องเร่งแก้ไขก็คือปัญหาเรื่องภาพพจน์ของบริษัทที่เป็นบริษัทรถยนต์บริษัทเดียวที่เป็นของไทย
100% ที่ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของการทำตลาดมาก อย่างที่นักการตลาดกล่าวว่า
เมื่อฮอนด้าแนะนำซีวิค 3 ประตู ทุกคนจะถามกันว่าไปดูมาแล้วหรือยัง หรือจองหรือยัง
แต่เมื่อสยามกลการเปิดตัวรถ NV กลับมีคนถามว่าเรื่องคุณหญิงพรทิพย์ไปถึงไหนแล้ว?
"แต่เชื่อว่าคุณพรเทพก็น่าจะทำได้ดี อย่างที่แกทำเรื่อง THINK EARTH
ได้ผลมาแล้ว" นักการตลาดกล่าว
แม้อดีตพรเทพอาจจะล้มเหลวกับการทำตลาดซูบารุ แต่ในวันนี้ การกลับมาเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง
บวกกับการที่คนของตระกูล "พรประภา" มีบทบาทในสยามกลการมากกว่าที่ผ่าน
ๆ มา น่าจะเป็นเครื่องหมายว่า พวกเขากำลังเดินทางในทิศทางที่ถูกต้อง
และถาวร พรประภา คงจะมีความสุขในบั้นปลายอย่างแท้จริง !!!