แบงก์ชาติเผยล่าสุดไตรมาส 3 ของปี 49ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนแค่ 500 ล้านเหรียญ โดยธุรกิจที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจสินเชื่อและการลงทุน บริการทางการแพทย์ ธุรกิจโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันธุรกิจของภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารหันมากู้ยืมจากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สกุลเงินบาทยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 35% จากปี 43 ถือเป็นปีแรกที่มีการสำรวจหนี้ประเภทนี้อยู่ที่ระดับ 8%
รายงานข่าวจากทีมหนี้ต่างประเทศ ส่วนสถิติดุลการชำระเงิน สำนักสถิติฝ่ายบริหารข้อมูล สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า หลังจากทีมหนี้ต่างประเทศของธปท.ได้ทำการสำรวจธุรกิจภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารจำนวน 3,538 ราย ในระหว่างวันที่ 3 ต.ค.-20 ธ.ค.49 ที่ผ่านมา และได้ออกเป็นรายงานผลการสำรวจหนี้ต่างประเทศภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน หรือไตรมาส 3 ของปี 49 ปรากฏว่า ธุรกิจภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารมีหนี้ต่างประเทศคงค้างทั้งสิ้น 27,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้หนี้ต่างประเทศภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มขึ้นถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดจาก ธุรกรรมการกู้ยืมสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินกู้ไม่นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการเพิ่มขึ้นของผลจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลารห์สหรัฐอีก 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันมีเพียงปัจจัยจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลดลงจำนวน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
นอกจากนี้ ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้ คือ หนี้สกุลเงินบาทที่เพิ่มขึ้น 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ลดลง 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยจากยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารจำนวน 27,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ของปี 49 แบ่งเป็นประเภทเงินกู้เงินตราต่างประเทศจำนวน 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 56.1%ของยอดหนี้คงค้างรวม รองลงมาหนี้เงินกู้และตราสารหนี้สกุลเงินบาทจำนวน 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 35% และตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศจำนวน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8.9% ทั้งนี้ หนี้สกุลเงินบาทยังคงมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากระดับ 8% เมื่อสิ้นปี 43 ถือเป็นปีแรกที่เริ่มมีการสำรวจหนี้ดังกล่าวเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ในไตรมาสนี้มาอยู่ที่ระดับสูงสุด 35% ในขณะที่หนี้ที่เป็นเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงจาก 77% ในปี 2543 ลดลงเหลือ 56% ในไตรมาสนี้ ส่วนตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7-15% ในช่วงปี 43 และลดลงเล็กน้อย ซึ่งในไตรมาสนี้ลดลงอยู่ที่ระดับ 9%
ขณะเดียวกันหากจำแนกยอดคงค้างของหนี้ดังกล่าวตามสกุลเงิน พบว่า เป็นในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดถึง 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 44.4%ของหนี้ต่างประเทศรวม รองลงมาเป็นสกุลเงินบาท เยนญี่ปุ่น และยูโร ในสัดส่วน 35% 14.8% และ 3.2% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 2.6% เป็นสกุลเงินอื่นๆ อีก 13 สกุลเงิน สำหรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศจำแนกตามสกุลเงินยังคงมีองค์ประกอบเป็นเงิน 4 สกุลหลัก คือ ดอลลาร์สหรัฐ บาท เยนญี่ปุ่น และยูโร ซึ่งมีสัดส่วนรวมเท่ากับ 97-98%ของหนี้ต่างประเทศรวมมาตั้งแต่ปี 43 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสัดส่วนหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 43 อยู่ที่ระดับ 76% ต่อ8% มาอยู่ที่ 44% ต่อ 35% ในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่หันมากู้ยืมจากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทมากขึ้น
และหากจำแนกตามประเทศก็จะพบว่า ยอดหนี้คงค้างที่เกิดขึ้นยังคงเป็นการกู้ยืมจากประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุดอยู่ที่ 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 23% รองลงมาประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมันนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งมีสัดส่วน 18.8% 15.5% 10.2% 6.2% และ 5.8% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นหนี้กับประเทศอื่นๆ รวมกันเป็นจำนวน 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 20.5% ทั้งนี้ประเทศเจ้าหนี้หลักของธุรกิจในประเทศไทยยังคงประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ สหรัฐ อเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมันนี และสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 43 จนถึงปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศรวมอยู่ในช่วง 76-81% มาโดยตลอด
ในด้านโครงสร้างหนี้จำแนกตามอายุ สัดส่วนของหนี้ระยะสั้นได้ปรับสูงขึ้นค่อนข้างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของหนี้ระยะยาว (รวมหนี้ที่ไม่กำหนดอายุการชำระคืน)ต่อหนี้ระยะสั้น(รวมหนี้ที่ชำระคืนเมื่อทวงถามและหนี้ที่ข้อมูลกำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่สมบูรณ์) ได้ปรับตัวจาก 88%ต่อ 22% ในปี 43 มาอยู่ที่ระดับ 79% ต่อ 21% ในไตรมาสนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ที่มีเงื่อนไขการชำระคืนเมื่อทวงถาม ซึ่งถือเป็นหนี้ระยะสั้นเป็นสำคัญ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของหนี้ต่างประเทศภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.87% ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสนี้ทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ยกเว้นอัตราดอกเบี้ย LIBOR และอื่นๆ ที่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
|