|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผลการชี้ทิศนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของ ‘หม่อมอุ๋ย’ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ประเมินพบการลงทุนตลาดหุ้นแค่ 1 เดือนบอบช้ำหนัก ต่างชาติถอนเงินเทขายหุ้นทิ้งแล้วกว่า 3 หมื่นล้าน พร้อมพามูลค่าตลาดรวมหายวับไป 6 แสนล้าน ดัชนีร่วงแล้วกว่า 84 จุด ด้านโบรกเกอร์หดหู่ ไม่มั่นใจเมื่อไหร่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจำได้ขึ้นใจมากที่สุด
จากความหวัง ความเชื่อมั่นว่าจะเป็นบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทิ้งภาระไว้ แต่การชี้ทิศเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาท พ.ร.บ.ต่างด้าว ที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับผิดชอบล้วนแล้วแต่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนให้เลวร้ายลงอีก
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คนนี้จึงกลายเป็นรัฐมนตรีที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจในผลงาน ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็จัดไว้ในกลุ่มรัฐมนตรีที่ต้องทบทวนการทำงาน
**ตลาดหุ้นอักเสบช้ำแล้วช้ำอีก
หากประเมินผลกระทบจากมาตรการและนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างเป็นรูปธรรม ตลาดหุ้นจะเป็นดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนโดย “ผู้จัดการรายวัน” ได้สำรวจพบว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา นับแต่ธปท.ประกาศมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยการหักเงินสำรองที่นำเข้าจากต่างประเทศ 30% จนเกิดเหตุการณ์ “อังคารทมิฬ” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ผนวกกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และล่าสุดการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าที่ ธปท. จะประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยดัชนีฯอยู่ที่ 730.55 จุด เทียบกับล่าสุด (12 ม.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 645.71 จุด พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 84.84 จุด หรือคิดเป็น 11.61%
ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ 5.45 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ 4.85 ล้านบาท หรือมาร์เกตแคปหายไปเกือบ 6 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 11.00%
ดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงดังกล่าว สืบเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศกังวัลกับมาตรการของธปท. บวกกับปัจจัยเรื่องเหตุการณ์ลอบวางระเบิด และการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จึงได้กระหน่ำเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 ธันวามคม 2550 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 28,617.87 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 7,946.82 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 20,671.04 ล้านบาท
**ความเสียหายที่มีไม่มีใครรับผิดชอบ?
แปลกแต่จริง ความเสียหายของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยเฉพาะความผิดพลาดที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยของต่างชาติ อย่างมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กลับปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างคาใจนักลงทุน
ทั้งนี้ทราบกันดีว่า มาตรการดังกล่าวประกาศใช้แล้วถูกแก้ไขในภายหลังชั่วระยะเวลาวันเดียวจนหุ้นผันผวนขึ้นลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และ เสียหายมากที่สุดภายในวันเดียว
หลังจากวันนั้นมาถึงวันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่เคยจะตอบให้ชัดเจน กระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนจากเหตุป่วนเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า และ การเข็นกฎหมายนอมินี แก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าวที่ต่างชาติยิ่งกังวลหนัก ความเสียหายในตลาดหุ้นยิ่งถูกถามมากขึ้นว่า ใครต้องรับผิดชอบ?
ประเด็นสำคัญ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อสังคมถึงรองนายกฯและรมว.คลังคนนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร เพิกเฉยไม่สนใจสั่งการให้ตรวจสอบว่า มีใครได้ประโยชน์จากการออกมาตรการที่พลิกไปพลิกมา
“ วันนี้คุณชายอุ๋ยยังไม่มีการตรวจสอบ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านไม่ได้สั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ลงไปตรวจสอบว่าใครได้กำไรบ้างในการรู้ข้อมูลอันนี้ในการซื้อขายหุ้นในวันนั้น”นายสนธิ กล่าว(อ่าน 12 คำถามถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล้าตอบไหม? หน้า 10)
**ต่างชาติไปแล้วไปลับไม่รู้เมื่อไหร่กลับ
นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีความชัดเจน หลังจากที่ได้มีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องจากความกังวลมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรของธปท. และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน
นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศ ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนยังไม่มากนัก บวกกับยังคงไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งนี้หากนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนอย่างได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องมี สัญญานที่ชัดเจนเรื่องมาตรการต่างๆ จากทางภาครัฐ และการลอบวางระเบิด ซึ่งขึ้นอยู่ กับความคืบหน้าและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทางภาครัฐบาล
" เรามองว่ามุมมองของนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับเข้ามาลงทุน เพราะยังคงรอปัจจัยบวกใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน ขณะเดียวกันปัจจัยเดิมๆ เองก็ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นต่างชาติจึงได้ชะลอการลงทุนจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเรียบร้อยก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง "
นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศ ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณการเข้ามาลงทุนนักลงทุนต่างชาติเริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากมาตรการกันเงินสำรองเงินนำเข้า 30% อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากจนเกินไป ขณะที่ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเอง คาดว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขสถานการณ์ได้ ซึ่งภายใน 1 - 2 เดือนนี้จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
"เราคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะขายไม่มากแล้ว เพราะว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนตัวลง และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากทางภาครัฐให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับแนวต้านที่ 700 จุด"นายพงศ์พันธุ์กล่าว
**ความหวังเดียวการเมืองนิ่ง
นายเกียรติก้อง เดโช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยบ้างแล้ว แต่ต้องติดตามว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องหรือไม่ จากก่อนหน้าที่มีแรงขายออกมาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติจะหยุดซื้อ หลังจากที่มีแรงซื้อเข้ามาอย่างเต็มที่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง รวมทั้งยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการลงทุน
" ปัจจัยที่ดึงให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ หุ้นขนาดใหญ่ปรับลดลงมามากแล้ว จึงเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นๆ และปัจจัยที่ 2 คือ เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืน หลังจากที่ทิ้งหุ้นออกมามากแล้ว" นายเกียรติก้อง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 นี้ แรงขายของนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มลดลงและการลงทุนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบการลงทุนไม่ว่า สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศจะเริ่มคลี่คลายและชัดเจนขึ้น รวมถึงการเข้ามาเก็งกำไรจากการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
|
|
|
|
|