|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
และแล้วคำพิพากษาชี้ชะตาสถานีโทรทัศน์ไอทีวีก็ออกมาแล้ว 13 ธ.ค. ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยมีสาระสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ให้ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ปีละ 1 พันล้านบาท ตามสัญญา และสอง ให้ปรับผังรายการเป็นข่าวสารและสาระประโยชน์ร้อยละ 70 และบันเทิงร้อยละ 30
แต่ประเด็นหัวใจคือเรื่อง "ค่าปรับ"
ไอทีวียังต้องเสียค่าปรับจากการเปลี่ยนแปลงผังรายการในช่วงที่ผ่านมาให้ สปน.ด้วย โดยต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าสัมปทานในแต่ละปีให้ สปน.ซึ่งหากคำนวณโดยบวกค่าปรับจนถึงขณะนี้รวมแล้ว
เกือบ 1 แสนล้านบาท!!! ผู้บริหารไอทีวีก็จำต้องรับสภาพ
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไอทีวี ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และพร้อมที่จะปรับผังรายการไปอยู่ในสัดส่วนเดิมตั้งแต่เริ่มสัญญาคือ รายการสาระร้อยละ 70 และรายการบันเทิงร้อยละ 30 รวมทั้งปรับผังรายการช่วงไพรม์ไทม์เป็นรายการประเภทข่าวและสารประโยชน์ โดยให้มีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 14ธ.ค. โดยช่วงรายการที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนคือเวลา 18.30-20.00 น. เป็นข่าวภาคค่ำไอทีวี และเวลา 20.00-20.10น. เป็นข่าวในพระราชสำนัก เวลา 20.10-20.40 น. รายการเศรษฐีความรู้ และเวลา 20.40-21.40 น. เป็นรายการไอทีวีฮอตนิวส์ ทั้งนี้จากผังรายการเดิมในช่วงเวลา20.30-21.40 น. จะเป็นช่วงละครหลังข่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าปรับที่ไอทีวีจะต้องจ่ายให้แก่ สปน. คิดเป็นเงินกว่า แสนล้านบาท ในเรื่องนี้จะต้องนำเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งตามกำหนดเดิมมีการนัดประชุมในวันที่ 29 ธ.ค.49 แต่เมื่อมีผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดออกแถลงการณ์มาแล้วนั้น ยังไม่ทราบว่าจะมีการเลื่อนกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้นให้เร็วขึ้นหรือไม่ สำหรับประเด็นที่กำหนดไว้ว่าจะประชุมในวันที่ 29 ธ.ค. 49 ที่ตั้งไว้เดิมคือการพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียน แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็จะต้องนำเรื่องค่าปรับที่ไอทีวีจะต้องเสียเข้าร่วมพิจารณาด้วย
ทางด้านพนักงานไอทีวีก็เคลื่อนไหว
ในส่วนของพนักงานไอทีวี ได้ออกแถลงการณ์ว่า พนักงานไอทีวีจำนวน 1,070 คน น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดด้วยความเคารพ ส่วนที่ผ่านมาที่พนักงานไอทีวีไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เพราะไม่ต้องการถูกนำไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างไรก็ตามเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับไอทีวี เป็นกรณีศึกษาซึ่งเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการจัดตั้งสื่อเสรีและปฎิรูปสื่อในอนาคต
บรรดานักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน เอ็นจีโอ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้มีการเสนอแนวทางในอนาคตสำหรับไอทีวีกันไว้หลายรูปแบบ
สมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรี เสนอว่า รัฐไม่จำเป็นต้องยึดสัมปทานไอทีวีคืน ถ้ายึดคืนทรัพย์สินที่ได้คืนอาจไม่มาก เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ มีเพียงกล้อง สายไฟนิดหน่อย รถยนต์เท่านั้น หรือบางทีรถยนต์และกล้อง อาจจะเช่าบริษัทของผู้ใกล้ชิด เพราะลักษณะของกิจการเหล่านี้ จะไม่ซื้อทรัพย์สินที่มีราคาแพงมาเป็นของบริษัท เนื่องจากเมื่อรัฐเลิกสัมปทาน จะต้องคืนรัฐ ดังนั้นจึงใช้การเช่าแทน และจากการตรวจสอบข้อมูลไอทีวีเช่าตึกชิน 3 ในการดำเนินกิจการ ส่วนสถานีลูกข่ายต่าง ๆ ก็เป็นสำนักงานเช่า และเสารับสัญญาณ ก็พ่วงกับเสาของช่อง 11 ถ้ากิจการล้มละลาย รัฐอาจไม่ได้ทรัพย์สินคุ้มเท่ากับการยอมให้ไอทีวียังคงดำเนินกิจการต่อ แล้วรัฐก็เรียกเก็บค่าสัมปทานในราคาปีละ 1 พันล้านบาทต่อ
"ถ้ารัฐอยากทำให้เมืองไทยมีทีวีที่เป็นทีวีเพื่อข่าวสาร และบริการข้อมูลความรู้ให้ประชาชนอย่างแท้จริง การอนุมัติคลื่นความถี่ใหม่เป็นเรื่องง่ายกว่า ทำได้โดยการให้ กทช.เป็นผู้อนุมัติคลื่นแทน กสช.ที่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น การตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 2-3 ร้อยล้านบาทเท่านั้น แต่ไม่ควรยึดสัมปทานคืนจากไอทีวี รัฐอยู่เฉย ๆ แล้วเรียกดอกเบี้ยจากค่าสัมปทานค้างจ่ายไปเรื่อย ๆ แล้วรอดูว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังจะอยากดำเนินการต่อไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันหากเทมาเสกไม่มีอำนาจในการจ่าย จนไอทีวีถูกฟ้องล้มละลาย เราจะไม่ได้อะไรเลย เมื่อนั้นต้องดูว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีสถานภาพเดียวกันกับไอทีวีหรือไม่ หากไม่ใช่เราก็ต้องฟ้องเอาทรัพย์สินจากคนเหล่านั้น เพราะเชื่อแน่ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ในไอทีวีไม่ใช่คนจน ๆ แน่นอน" อดีตผู้ช่วยกรรมการบริหารฝ่ายข่าวไอทีวี กล่าว
สุรพล ศรีวิทยา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอ 3ขั้นตอน ให้สปน.พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสร้างทีวีสาธารณะ กรณีถ้า"ไอทีวี" ไม่มีเงินจ่ายค่าสัมปทาน-ค่าปรับ ให้ฟ้องล้มละลาย ยึดเป็นของรัฐ พร้อมออกพ.ร.ก.ตั้ง"บรรษัทมหาชนแห่งชาติไอทีวี" ปลดผู้บริหารชุดชินนคอร์ปฯ แต่งตั้ง
ส่วนแนวทางอื่น ๆ เช่น ให้ไอทีวีทำหน้าที่เป็นเพียงสำนักข่าว หรือให้มีการเปิดประมูลใหม่ ฯลฯ ก็เป็นแนวทางที่มีการเสนอกันมา
อนาคตของไอทีวีจะเป็นอย่างไรต่อไป?
บทวิเคราะห์
อนาคตไอทีวีก็คือ ยังจะมีไอทีวีต่อไปในอนาคต แต่ไอทีวีจะไม่ใช่ภายใต้เงื้อมเงาเทมาเส็กต่อไป เพราะต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจทีวีได้อยู่แล้ว
แต่ทว่าจะเป็นไปในรูปไหน ยังไม่มีคำตอบ เพราะตอนนี้ต่างคนต่างไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากไอทีวีเป็นของร้อน ใครแตะเข้าไปก็จะมือพองเป็นแน่
กล่าวสำหรับเทมาเส็ก ไม่อยากได้ไอทีวีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่ต้องการจริงก็คือเอไอเอส แต่เนื่องจากถูกบังคับขายเป็นพวงก็จำเป็นต้องซื้อ
ในการวิเคราะห์ทางธุรกิจนั้น หากใช้ BCG Model เอไอเอสจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ แต่มีส่วนแบ่งตลาดมาก จึงจัดอยู่ในประเภท Cash Cow
ไอทีวีนั้น อัตราการเจริญเติบโตต่ำ และส่วนแบ่งตลาดน้อย วิธีคิดทางธุรกิจก็คือ ขายธุรกิจทิ้งไปโดยเร็วที่สุด เพราะอยู่ไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ในกรณีไอทีวี หนักกว่านั้นอีก เพราะจะทำให้เทมาเส็กตกเป็นเป้า เนื่องจากเป็นสิงคโปร์ และมีคดีกุหลาบแก้ว ดังนั้นโยนเผือกร้อนออกไปจะดีที่สุด
ผู้ที่วิตกกังวลนั้นก็น่าจะเป็นพนักงานไอทีวี เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะเข้ามาครอบครองไอทีวี เมื่อผู้ครอบครองเปลี่ยนมือ แน่นอนว่าย่อมเปลี่ยนนโยบาย และฝ่ายบริหาร ตนจะอยู่ในที่เดิม เงินเดือน จะเหมือนเดิมหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครรู้
ลำพังการหาเงินมาจ่ายค่าปรับ ไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับเทมาเส็กนั้นถือว่าเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว ถ้าอยากจะรักษาไว้ แต่ก็อย่างที่บอกเอาไว้แล้วว่าเรื่องอะไรจะรักษาเผือกร้อนเอาไว้ในมือ ในเมื่อผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่เสียไป
หลังจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดออกมา ไอทีวีต้องหาเงินมาจ่ายค่าสัมปทานปีละพันล้านที่จ่ายขาดไป รวมทั้งของเก่าด้วย แต่กลุ่มชินอาจจะตัดสินใจแล้วว่าไม่เอา จึงไม่ดำเนินการอะไรที่เป็นข่าวออกมาว่าจะหาเงินมาชำระค่าสัมปทาน
ค่าปรับแสนล้านอาจเป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผล เพราะตลอดอายุสัมปทาน ก็ยังไม่จ่ายมากเท่ากับค่าปรับ แต่ทว่าสปน.ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคิดค่าปรับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ขณะที่นายกฯและครม.ก็ไม่อยากตัดสินใจในเวลานี้ เพราะเป็นเผือกร้อนเหมือนกัน เพราะได้ไอทีวีกลับมาแล้วจะทำอย่างไรกับไอทีวีต่อไปให้ไอทีวีเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนอสมท. และหามืออาชีพมาบริหาร ก็อาจจะถูกข้อครหาว่ากลายเป็นช่องของรัฐอีกหนึ่งช่อง
นอกจากนี้ก็ยังต้องหาเงินมาอุดหนุนอีก งบประมาณตอนนี้ก็ขาดดุลอยู่แล้ว จะหาเงินที่ไหนมาอุดหนุนกันอีก อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจย่อมเป็นไปได้มากที่สุด
เพราะหนทางที่ดีที่สุดก็คือเทมาเส็กโอนหุ้นของตนให้รัฐบาล เพื่อตัดปัญหา ด้วยวิธีนี้ รัฐบาลจะหาสามารถรักษาพนักงานไอทีวีไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยผู้ถือหุ้นรายย่อยไว้ได้ด้วยในกรณีที่ไม่ถอนหุ้นจากตลาด
|
|
|
|
|