|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) หรือ บัตรไทยแลนด์อีลิท เจ้าของสมญานาม “บัตรเทวดา” ที่เป็นอีกหนึ่งในโปรเจคสร้างของรัฐบาล “ทักษิณ” ที่กำลังลุ้นอยู่ว่าจะอยู่หรือจะไป เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ในขั้นตอนรอการถูกตรวจสอบ เพราะใช้เงินจำนวนมากแต่กลับไม่เกิดผลเท่าที่ควร
ขณะเดียวกันการกำหนดหาจุดยืนของโครงการก็ถูกเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดเกือบ 3 ปี หลังจากที่กุลีกุจอตั้งบริษัทสนองแนวคิดนาย จนลืมศึกษาให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสีย ก็ต้องมาเกิดความระส่ำระส่ายอีกครั้ง เพราะรัฐบาลชุดนี้ที่มี ดร.สุวิทย์ ยอดมณี เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคอยกำกับดูแลด้วยแล้วคงจะไม่ปล่อยให้โครงการแบบนี้ต้องลอยนวลง่ายๆ
งานนี้ร้อนตัวถึงผู้แทนจำหน่ายที่ไม่สามารถขายบัตรสมาชิกได้ จนต้องออกมาขู่สร้างกระแส ว่าหากล้มโครงการนี้รัฐบาลต้องเตรียมเงินเป็นหมื่นหมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชย และค่าฟ้องร้อง ซึ่งยังไม่รวมภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่จะต้องเกิดความเสียหายตามมา
ทางเลือกของรัฐบาลชุดนี้จึงมีอยู่ 2 แนวทางคือ หนึ่งยุบโครงการทิ้ง หรือสองให้มีการเดินหน้าต่อไป...
ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้เลือกใช้ทางออกข้อสองเพื่อมาสานต่อโครงการอีลิท การ์ดทันที แต่การเข้ามาสานต่อโครงการครั้งนี้ดูจะไม่ธรรมดาเพราะจะมีการปรับโฉมขนานใหญ่ พร้อมตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดขึ้นมาเพื่อเก็บรายละเอียดของโครงการอีลิททั้งหมดนำไปพัฒนาปรับปรุงบริการและการบริหารงานให้เป็นประโยชน์สูงสุดและให้มีทิศทางการดำเนินงานไปในทิศทางที่ถูกต้อง
โดยแนวนโยบายด้านการท่องเที่ยวไทย ในยุคดร.สุวิทย์ เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแล มีแผนงานการขับเคลื่อนในระดับอัตราเร่ง หวังผลทั้งการเพิ่มจำนวนทัวร์ริสต่างชาติ และกวาดเม็ดเงินเข้าประเทศหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ทว่าภายใต้โมเดลการบริหารงานที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง การส่งเสริมและสนับสนุนจึงเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับรัฐบาลชุดทักษิณอย่างสิ้นเชิง โดยจะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ขณะเดียวกัน ยังได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ หน่วยงานในสังกัด บริษัท ไทยแลนด์ พรีวิลเลจ การ์ด จำกัด (TPC)ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าว่า ยังควรให้คงสถานะเดิมต่อไปอีกหรือไม่ หลังใช้เงินงบประมาณในการจัดตั้งหลายร้อยล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นไปแบบสะเปะสะปะ และไร้ทิศทางรวมถึงขาดซึ่งประสิทธิภาพ
ล่าสุดการเคลื่อนไหวของ สุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคทีฟ จำกัด เอเย่นต์ใหญ่ที่ขายบัตรสมาชิกอีลิท การ์ด ที่ออกมากระทุ้งให้ภาครัฐบาลเห็นความสำคัญต่อโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท ครั้งนี้ดูจะประสบความสำเร็จเล็กๆ แต่ความสำเร็จครั้งนี้กลับจะเป็นดาบสองคมที่จะสร้างปัญหาสำหรับการทำตลาดต่อไปในอนาคตหรือไม่
เนื่องจากเป็นเอเย่นต์ที่มีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนทางการตลาดโดยเฉพาะ ช่องทางการลงทุนจากต่างชาติที่เป็นจุดเด่นในการขายสมาชิกจนสามารถดึงดูดให้กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆสนใจเข้ามาสมัครสมาชิกกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่นั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลแน่นอนสำหรับการขายสมาชิกในอนาคตต่อไป
“เรายังมีความเชื่อว่าโครงการนี้ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันผลักดันอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะเป็นกองหน้าโปรโมทให้ดีขึ้นกว่าเดิม” สุนทรี กล่าว
ถึงแม้ว่าสิทธิประโยชน์ที่ให้ใช้สปา กอล์ฟ โรงแรม ฟรีตลอดชีวิต จะนับว่าเกินคุ้มเมื่อเทียบกับราคาบัตร 1 ล้านบาท/ใบก็ตาม ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี บัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด หรือเรียกได้ว่า ปรับแผนแล้วพลิกแผนอีกก็ไม่เข้าเป้าสามารถดึงความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติรู้สึกดีขึ้นมาได้
นั่นเพราะตลอดระยะเวลาดำเนินการ โครงการนี้ไม่ยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงการทำงานสู่สาธารณชนเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นเงินลงทุนมาจากภาษีของประชาชนคนไทยร่วมลงขันด้วย
แต่ใช่ว่าโครงการนี้จะหาทางออกได้ง่ายนัก เนื่องจากบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ที่ผูกพันด้านสัญญาต่างๆ กับชาวต่างชาติไปแล้วกว่า 1,700 ชีวิต จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจนว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรและพัฒนาในรูปแบบไหน
เชื่อได้ว่าทั้งเอเย่นต์และพาร์ทเนอร์ขายบัตรสมาชิก รวมทั้งชาวต่างชาติที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกยังคงรอคำตอบ เพราะอย่าลืมว่ายิ่งช้าภาพลักษณ์ของบัตรอีลิท ไทยแลนด์ การ์ด จะยิ่งเสียหาย อีกทั้งพนักงานในบริษัท ทีพีซี เองที่ต่างอยู่ในอาการขวัญผวาว่าจะรับมือกับกระแสข่าวที่ซัดเข้ามาหลายระลอกอย่างไร จะให้โอกาสทำงานต่อหรือไม่ ขณะที่แผนการทำงานปี 2550 ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป...
กำเนิดบัตรเทวดา“อีลิท การ์ด”
หลังการจัดตั้งบริษัท ไทยแลนด์ พริวิลเลจ การ์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ส.ค.46 โดยมีเป้าประสงค์หลักให้หน่วยงานแห่งนี้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตลาดท่องเที่ยวไทย ภายใต้เครื่องมือที่ให้คำนิยามว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการท่องเที่ยว นั่นก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของ “อีลิท การ์ด” หรือ บัตรเทวดา ที่จะมอบอภิสิทธิ์หลากหลายประการให้กับผู้ถือบัตร
โครงการนี้คณะรัฐบาลชุดที่แล้วได้มอบหมายให้เป็นอีกหน่วยงานในสังกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดสรรงบลงทุนไว้สูงถึง 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้าท่องเที่ยว โรงแรม สปา หรือสนามกอล์ฟ ตลอดจนการมอบสิทธิพิเศษเรื่องภาษีและการลงทุน ไว้รองรับกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวระดับเฟิร์สคลาสทั่วโลก กำหนดราคาสมาชิกบัตรไว้ที่ 1 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าจะมีสมาชิก 1 แสนรายในปีแรก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านใบ ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี
แต่ผลจากการดำเนินงานในช่วงเวลากว่า 3 ปีที่แล้วมา กลับพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาพันธมิตรคู่ค้าสถานบริการด้านการท่องเที่ยวไม่ได้มาตรฐาน, ไม่สามารถมอบสิทธิประโยชน์ ทั้งการถือครองที่ดิน หรือภาษี ได้ตามที่โฆษณากล่าวอ้าง, การแอบอ้างเป็นเอเย่นต์จำหน่ายบัตร ทั้งๆที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากทีพีซี โดยเฉพาะการแต่งตั้งบริษัทเอกชน ที่มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายบัตร เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของบัตรจากสายตากลุ่มเป้าหมายต่างชาติลงไปโดยปริยาย
และเมื่อมองจากผลประกอบการที่ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด ซึ่งในปี 46 ขาดทุน 136 ล้านบาท ปี 47 ขาดทุน 251 ล้านบาท และปี 48 ขาดทุน 165 ล้านบาท รวมทั้งหมด 552 ล้านบาท ขณะที่ยอดสมาชิกบัตรล่าสุดมีเพียง 1,700-1,800 คนเท่านั้น ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ลิบลับแล้ว
ต้องถือว่าผลงานการปลุกตลาดท่องเที่ยวไทยในโครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกของโชคศิริ รอดบุญพา อดีตกรรมการผู้จัดการ ทีพีซี ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่าง ดร.สุวิทย์ ยอดมณี กลับไม่ลบทิ้งโครงการ อีลิท การ์ด ออกไป..ขณะเดียวกันกลับให้มีการปรับปรุงพัฒนาระบบบริการและบริหารจัดการใหม่...ซึ่งภาพของบัตรเทวดา อีลิท การ์ด จะออกมาภายใต้เงื่อนไขและรูปแบบใดเรื่องนี้จึงต้องติดตาม...
|
|
 |
|
|