|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เป็นธรรมเนียมไปแล้ว เมื่อย่างก้าวสู่ปีใหม่ จะต้องมองถึงแนวโน้มของนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ที่ทางฝั่งผู้ผลิตจะค้นคว้าและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ใช้งานเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
พีซีออกแบบตามการใช้งาน จะเป็นนวัตกรรมแรกที่จะเห็นในปีหมูทองนี้ ในปีที่แล้ว ผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ของโลกได้ผลักดันพีซีที่เป็นมีเดีย เซ็นเตอร์เข้าสู่ตลาด ใช้งานได้อเนกประสงค์ตั้งแต่เพื่อความบันเทิง เล่นเกมหรือใช้ทำงานประจำวันในเครื่องเดียว หรือการเปิดตัวพีซีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพการใช้งานตรงกับกลุ่มผู้ใช้งาน ใช้งานได้ครบทุกความต้องการ ซึ่งเริ่มวางตลาดให้เห็นในช่วงปลายปี
โดยพีซีที่เห็นในปีนี้จะมี 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง "อัลตร้าพอร์ตเทเบิล" หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ยูเอ็มพีซี เป็นนวัตกรรมพีซีที่จะมีน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม มีขนาดที่พกพาไปไหนมาไหนด้วยได้ง่าย แต่ประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่แพ้พีซีตั้งโต๊ะพลังสูง ซึ่งซัมซุงได้เผยโฉมออกมาแล้วในรุ่น คิว1 กับ สอง พีซีที่เรียกว่า สมอลฟอร์มแฟกเตอร์ที่ทางผู้ผลิตจัดสเปกเครื่องมาพร้อมกับดีไซน์แบบใหม่ที่จัดทำมาแล้วเรียบร้อยจากโรงงาน ไม่ต้องเสียเวลาสั่งประกอบสเปกตามที่ต้องการ เนื่องจากสเปกที่ออกมาจะมีหลากหลายให้เลือก ผู้ใช้งานเพียงแต่เลือกสเปกแล้วหิ้วออกจากร้านค้าได้ทันทีไม่ต้องเลือกชิ้นส่วนอุปกรณ์เหมือนในอดีต
ต้นปีนี้ ทางอินเทลเตรียมที่จะเปิดตัวโน้ตบุ๊กที่ใช้เทคโนโลยีเซนทริโนรุ่นที่ 4 โดยจะมีการเพิ่มหน่วยความจำแบบใหม่ที่เรียกว่า NAND Flash เพิ่มเข้ามา รวมถึงเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ "ไมโครซอฟต์ วิสต้า" ที่ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มส่วนแสดงผลเอาไว้ที่ฝาปิดได้ ภายใต้เทคโนโลยีที่เรียกว่า สไลด์โชว์
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นความสามารถของพีซีกระจายอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ แถมยังมีความสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ ได้ภายในเครื่องเดียว
ระบบปฏิบัติการ "วิสต้า" จะเป็นนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนวัตกรรมไอทีครั้งสำคัญในตลาด
ทางไมโครซอฟต์ได้พัฒนาสิ่งใหม่ๆ 3 เรื่องมาไว้ในวิสต้า เริ่มจากเรื่องของกราฟิกและการแสดงผล ซึ่งทางวิสต้าสามาถใช้กราฟิก โปรเซสซิ่ง ยูนิต หรือจีพียูในการประมวลผลพร้อมกันในหลายๆ งาน อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Aero Graphic User Interface ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถใช้งานกราฟิกระดับสูงกับการแสดงผลได้ แทนที่จะใช้เฉพาะภายในเกมเท่านั้น
ส่วนที่สอง วิสต้าจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ผู้ใช้จะไม่ประสบปัญหากับการเก็บข้อมูลที่เป็นรูปภาพจำนวนมาก เพียงใส่ tag หรือคีย์เวิร์ดให้กับรูปภาพต่างๆ จากนั้นวิสต้าจะทำการจัดเก็บให้เอง
สุดท้าย วิสต้าได้รวมความสามารถที่เรียกว่า Reliability monitor ที่จะคอยรายงานกราฟที่บอกว่า ระบบที่ใช้งานอยู่นั้นมีความเสถียรมากน้อยแค่ไหนตลอดเวลาในการทำงาน หากประสบปัญหากับการใช้งานในระบบ สามารถทำการตรวจสอบได้ว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง
นอกจากความเปลี่ยนแปลงในตัวซอฟต์แวร์เองแล้ว วิสต้าจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไอทีครั้งสำคัญ จะเห็นผู้ใช้แปลี่ยนแปลงสเปกอุปกรณ์ในเครื่องใหม่ ตั้งแต่ซีพียู ไปจนถึงจอมอนิเตอร์
"มัลติคอร์" จะเป็นประเด็นในการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางด้านซีพียูครั้งสำคัญ ซึ่งมีลางบอกเหตุให้เห็นแล้วในปีที่ผ่านมา ที่อินเทลประกาศนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ในซีพียูของตนเองหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การเปิดตัวสถาปัตยกรรมใหม่ "อินเทล คอร์ ไมโครอาร์คิเทกเจอร์" เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ซีพียูได้นำเทคโนโลยีมัลติคอร์มาใช้และได้แสดงพลังที่แท้จริงจากความสามารถในระดับเซิร์ฟเวอร์ เลื่อนราคาลงมายังเดสก์ท็อปพีซีประจำบ้านบนซีพียู "คอร์ ทู ดูโอ" ซีพียูที่มีแกนประมวลผล 2 แกนในตัวเดียว
หลังจากนั้นอินเทลก็เริ่มจำหน่ายอินเทล คอร์ ทู ควอดคอร์โปรเซสเซอร์ ที่มีแกนประมวลผล 4 แกนในตัวเดียวบนเทคโนโลยีการผลิต 65 นาโนเมตร และเป็นครั้งแรกที่อินเทลชักชวนให้แอปเปิล คอมพิวเตอร์เปลี่ยนมาใช้ซีพียูอินเทลกับเครื่องแมคทุกผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เครื่องแมคมีราคาถูกลง ผู้บริโภคจับต้องได้มากขึ้น ขณะที่เครื่องแมคสามารถรันระบบปฏิบัติการ ไมโครซอฟต์ วินโดวส์ เอ็กซ์พีได้ควบคู่กับ แมค โอเอส 10 ไทเกอร์
ด้วยเหตุดังกล่าวในปีนี้ ผู้บริโภคจะได้พบกับเทคโนโลยี "ซีพียูควอดคอร์" ที่มีแกนประมวลผล 4 แกน หรือการเป็นเทคโนโลยีมัลติคอร์ที่มีแกนประมวลผลมากกว่า 4 แกน ขณะที่ทางด้านคู่แข่งสำคัญ เอเอ็มดี ที่แข็งแกร่งในตลาด 64 บิตมาก่อน ได้ควบรวมกับเอทีไอ เจ้าแห่งกราฟิกการ์ดระดับโลกเพื่อใช้ฟาดฟันในสงครามเทคโนโลยีมัลติคอร์ในปีนี้ นั่นหมายถึงว่า จะเป็นปีที่ซีพียูแบบแกนเดียวรุ่นเก่าในตลาดอาจเป็นบั้นปลายอายุขัย
ปีหมูทองเราจะเห็นจอภาพ "แอลซีดี" กลายเป็นเทคโนโลยีที่มาแรง โดยจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีความสว่างขึ้น แต่ราคากลับถูกลง ขณะที่ความละเอียดในการแสดงผลจะพัฒนาขึ้นตามขนาดหน้าจอที่เปลี่ยนไป จะเห็นขนาดจอภาพ 25 นิ้วเริ่มกลายเป็นขนาดมาตรฐาน แต่สำหรับในประเทศไทย ผู้ประกอบการบางท่านมองว่า จอ 21 นิ้วจะเป็นมาตรฐานในเมืองไทย
กราฟิกการ์ดจะเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตกราฟิกการ์ดจำเป็นต้องพัฒนาให้อุปกรณ์ของตนสามารถทำงานร่วมกับ DirectX 10 ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ไมโครซอฟต์นำมาใช้ในวิสต้า มีความเป็นไปได้ที่ทางผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น nVidaia หรือเอทีไอจะเปลี่ยนไปพัฒนาจีพียูที่มีสถาปัตยกรรมแบบ unified shader ที่มีคุณสมบัติใช้งานทั่วๆ ไป นอกจากนั้นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่จะเห็นในเทคโนโลยีกราฟิกการ์ดก็คือ การเป็นกราฟิกการ์ดอเนกประสงค์ที่การ์ดแสดงผลสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่เกมได้ด้วย
ความจุของฮาร์ดดิสก์จะทะลุระดับเทราไบต์ อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีของสื่อเก็บข้อมูลแบบออฟติคอลที่มีการเก็บข้อมูลในระดับ 10 กิกะไบต์ อันเป็นผลการแข่งขันของเทคโนโลยีบลู-เรย์ ดิสก์กับเอชดี ดีวีดี ที่ต่างช่วงชิงความเป็นผู้นำในตลาดกัน ในปี 2550 นี้ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ของโลกยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วที่มีความจุถึง 20 เทราไบต์ในปีนี้
บทบาทของเทคโนโลยี "ไอพี" จะเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการวอยซ์โอเวอร์ไอพี 2550 จะเป็นปีทองเมื่อโทรศัพท์ใช้ได้ทั้งเสียง เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเปิดไว-ไฟ ผู้ให้บริการทุกเจ้าจะเป็นทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตและคอนเทนต์ในตัวเดียว จะทำให้ภาพการใช้วอยซ์โอเวอร์ไอพีบนมือถือชัดขึ้น ในประเทศไทยเทรนด์นี้กำลังมาแรง ติดอยู่แค่คุณภาพสัญญาณและเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการ มีการมองกันว่าจะเห็นผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือที่รองรับเทคโนโลยีนี้เข้ามาอีกหลายรุ่น โดยต้องให้ผู้บริโภคลองใช้ดูว่า ลดต้นทุนค่าโทร.ทางไกลได้หรือไม่
ส่วนบริการสื่อสารในอนาคตอย่างไวแม็กซ์ คงจะต้องรอไปอีกปีสำหรับเมืองไทย เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเปิดไฟเขียวให้ไลเซนส์ออกมา แต่เทคโนโลยีนี้อินเทลเองหวังไว้มาก เพราะได้ลงทุนพัฒนาซีพียูที่รองรับไวแม็กซ์ไปมากในหลายอุปกรณ์ ในส่วนของเทคโนโลยี Radio Frequency Identification หรืออาร์เอฟไอดี ที่ขณะนี้ก็อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้งานมากที่สุด อาทิ ตั๋วรถไฟใต้ดิน ป้ายราคาในห้างสรรพสินค้า หรือบัตรเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในเมืองไทยยังติดปัญหาแอปพลิเคชั่นที่จะนำมาใช้ร่วมกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เชื่อว่า จะเห็นในปี 2550 นี้ หากแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งหมดน่าจะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผู้ใช้คนไทย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นวาระสำคัญที่จะต้องไล่ตามการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ทั้งหมด
|
|
|
|
|