หุ้นกลุ่มแบงก์เตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานการเงินใหม่ IAS 39 ต้องกันเงินสำรอง NPL เพิ่ม ส่งผลเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตาม หวั่นกระเทือนถึงกำไรปลายปีได้ แต่เอื้อประโยชน์ธุรกิจเช่าซื้อ-ลูกหนี้ให้เช่าแบบลิสซิ่ง BBL - SCB - KBANK กันสำรองไปเยอะแล้วอุ่นใจได้
ในช่วง 3 เดือนก่อนอังคารทมิฬ 19 ธันวาคมราวปลายปี 2549 จะสังเกตเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ฉายแววได้โดดเด่นมาจากการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลดลง และเป้าสินเชื่อที่คาดว่าจะมีการขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา หุ้นแบงก์หลายตัวราคาขึ้นเกินเป้าหมายพื้นฐาน แต่ปัจจุบันร่องรอยเช่นนั้นคือรองเท้าแก้วแห่งซินเดอเรล่า ทว่าชุดราตรีอันสวยสวยงามและรถม้าได้จางหายไปจาก ฤทธิ์มนต์ แห่ง IAS 39 เป็นสำคัญ
ขณะนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มและช่วงเปลี่ยนผ่านในเรื่องของเกณฑ์มาตรการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39)ที่คาดว่าจะผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2551 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้วและมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ก่อนปฏิบัติการตามเกณฑ์มาตรการบัญชีระหว่างประเทศ IAS 39 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทยอยกันเงินสำรองสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วน 100% ตามหลักเกณฑ์การกันสำรองแบบใหม่โดยการกันสำรองตามเกณฑ์ใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะแรก เริ่มตั้งแต่สิ้นงวดบัญชีของเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา สำหรับลูกหนี้ค้างการชำระหนี้เกิน 3เดือน ที่เป็นNPL ให้กันเงินสำรอง 100% โดยเริ่มจากลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หรืออยู่ระหว่างบังคับคดี และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี
ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่สิ้นงวดบัญชีของเดือนมิถุนายน 2550 สำหรับลูกหนี้ค้างชำระ 6เดือน ให้กันเงินสำรอง 100% จากเดิมที่เคยกันเงินสำรองร้อยละ 50 และลูกหนี้ค้างชำระ 12 เดือน ให้กันเงินสำรอง 100 % ซึ่งในส่วนของลูกหนี้ค้างชำระ12 เดือน กันสำรอง 100 %เช่นเดิม
ส่วนระยะสุดท้าย เริ่มตั้งแต่งวดบัญชีของเดือนธันวาคม 2550 สำหรับลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ให้กันเงินสำรอง 100% จากเดิมที่เคยกันเงินสำรองร้อยละ 20
ที่สำคัญ คือ การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องกันเงินสำรองเพิ่มสูงขึ้นตามเกณฑ์มาตรการบัญชีระหว่างประเทศ IAS 39 ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองสูงขึ้นตาม จนกระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS)ด้วย
บทวิเคราะห์ของ บล.บีที ประเมินว่า เกณฑ์การสำรองใหม่จะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ 7 แห่ง ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 4.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารที่ต้องกันสำรองมากสุด ได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำนวน 1.69 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 1.67 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 9.9 พันล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ 3.3 พันล้านบาท ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารนครหลวงไทย อาจไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม
นอกจากนี้ หากแบงก์ตั้งสำรองไม่ครบและมีขนาดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ต่ำกว่า 9% ก็อาจจะจ่ายปันผลไม่ได้ โดย บล.สินเอเชีย คาดว่า ธนาคารกรุงไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และอาจทำให้ผลกำไรปี 2550 ลดลงได้
ด้าน บล.สินเอเชีย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เกณฑ์ใหม่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเช่าซื้อและลูกหนี้ให้เช่าแบบลิสซิ่ง จากเดิมต้องสำรองของหนี้แต่ละชั้นโดยไม่สามารถนับมูลค่ารถยนต์ เครื่องจักรที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการทำสัญญาเช่าซื้อและลิสซิ่งมาหักกับจำนวนสินเชื่อเพื่อคำนวณสำรองได้ เปลี่ยนเป็นให้สามารถนำมูลค่าของรถยนต์ และเครื่องจักร มาหักจากสินเชื่อก่อนคำนวณปริมาณสำรอง การเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวเป็นผลบวกต่อหุ้น บริษัททุนธนชาติ(TCAP),ธนาคารธนชาติ(TBANK) ,ธนาคารทิสโก้(TISCO) และ ธนาคารเกียรตินาคิน(KK) เพราะจะทำให้สำรองส่วนเกินที่มีอยู่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะใน TISCO และ TCAP-TBANK
นอกจากเกณฑ์คำนวณสำรองที่เปลี่ยนไปแล้ว ธปท.ยังห้ามธนาคารที่กันสำรองไม่ครบตามกำหนดเวลาแต่ละงวดบัญชีจ่ายปันผลด้วย คาดว่าในประเด็นนี้น่าจะมีผลกระทบต่อหุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) เพราะผลการคำนวณสำรองส่วนเพิ่มตาม IAS 39 มีอยู่สูงจนอาจจะทำให้ผลกำไรในปีหน้าลดลงอย่างน่าใจหายได้
จากการคำนวณจำนวนสำรองส่วนเพิ่มจากเกณฑ์ IAS 39 เบื้องต้นโดยเป็นการคำนวณจากมูลค่าหลักประกันเดิมปรับลดลงด้วยอัตราส่วน 62% และหักลบจากสำรองปัจจุบันที่มีอยู่ หลังจากนั้นก็นำไปหักออกจากสำรองส่วนเกินในแต่ละธนาคารอีกครั้งจึงเป็นสำรองส่วนเพิ่มในปี 50 ในแถวสุดท้าย โดยหากติดลบหมายถึงสำรองปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่าสำรองใหม่ตามเกณฑ์ IAS 39 ซึ่งมีเพียง 2 ธนาคาร คือธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) และ ธนาคารไทยธนาคาร (BT)
ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า"เท่าที่ดูราคาหุ้นได้สะท้อนเรื่องการตั้งสำรองไปแล้ว แต่ถ้าเลวร้ายกว่าที่คาดไว้ มองว่า แบงก์ขนาดใหญ่ คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) มีการตั้งสำรองมากอยู่แล้ว แนะนำให้ลงทุนหุ้นแบงก์ใหญ่ยกเว้น KTB "
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนของปี 49 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเฉลี่ยระบบแล้ว 64% , โดย BBL ตั้งสำรองไปแล้ว 71% , SCB ตั้งสำรอง 79% , KBANK ตั้งสำรอง 69%, KTB ตั้งสำรอง 40%
นอกจาก IAS 39 แล้วเหล่าบรรดาสถาบันการเงินคงต้องเร่งทำการบ้านอย่างหนักเร่งลด NPL ลงเพื่อเตรียมรับ BASEL2 ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการเงินอีกฉบับ และหากมองยาวไปอีกถึงในปี 2551 หุ้นกลุ่มแบงก์ยังอาจจะต้องเผชิญกับฝันร้ายในเรื่องการเปิดเสรีทางการเงิน FTA กับสหรัฐฯอีกด้วย
|