|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลาดหุ้นยังไม่หมดเคราะห์รับผลกระทบจากการอนุมัติแก้พ.ร.บ.ต่างชาติฉุดดัชนีรูดต่อ 17 จุด นักลงทุนต่างชาติยังกระหน่ำขายไม่หยุด ตลท.เร่งแจงข้อมูลเชื่อกระทบบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน 15 บริษัท เตือนนักลงทุนอย่าตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นจนเกินไป ขณะที่ก้องเกียรติ ระบุเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการปิดประตูตอนรับต่างประเทศ หวั่นโดนตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกั้นการส่งออก ด้านโบรกฯเตือนข่าวร้ายยังไม่จบหาก S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (ม.ค.) ตลอดช่วงเช้าดัชนียังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆก่อนจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงหลังคณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติการแก้ไขพรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยดัชนีปิดที่ระดับ 616.75 จุด ลดลง 17.07 จุด หรือ 2.69% โดยระหว่างวันจุดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 636.59 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 615.66 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,808.91 ล้านบาท
นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 273.94 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 406.27 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 680.20 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจต่างด้าว พ.ศ.2542 พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขพรบ.ต่างด้าวไม่เกิน 15 บริษัท โดยอยู่ในธุรกิจสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ต้องมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ แต่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะอยู่ในบัญชีที่ 3 ซึ่งไม่ต้องมีการดำเนินการใด
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ทางบริษัทจดทะเบียนมีการทำความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขนิยามดังกล่าว ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนแห่งใดต้องการชี้แจงว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบหรือต้องการชี้แจงข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวที่มีการระบุในพ.ร.บต่างด้าว
“การที่ดัชนีฯมีการปรับตัวลดลง เกิดจากนักลงทุนมีความกังวล ซึ่งปกติแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามก็จะทำให้นักลงทุนมีความกังวล ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลจะมีการชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจได้”นางภัทรียา กล่าว
สำหรับการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าว จึงมีการขายหุ้นออกมาก่อน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากนัก อย่างไรก็ตามนักลงทุนในประเทศไม่ควรที่จะกังวลในเรื่องดังกล่าวมากนัก
นางภัทรียา กล่าวอีกว่า การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้กับคืนมาจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับภาครัฐบาลว่าจะมีการชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าใจรวมถึงการอธิบายรายละเอียดของพ.ร.บ.ที่มีการแก้ไขให้นักลงทุนเข้าใจมากที่สุด
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สธท.) กล่าวว่า จากการที่ครม.อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เรื่องดังกล่าวบ่งชัดว่าเป็นการไม่ต้อนรับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติคงจะไม่มีการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยในประเทศก็ไม่มั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งบริษัทใดที่จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 49 ตามที่กฎหมายกำหนดด้วยการหานักลงทุนไทยเข้ามาถือหุ้นให้เกิน 51% น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะมีนักลงทุนไทยเพียงไม่กี่รายที่มีเงินที่มากพอที่จะรองรับการปรับโครงสร้างดังกล่าว
นอกจากนี้ เชื่อว่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้นักลงทุนต่างชาติจะไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีก และจะมีการถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องซึ่งก็จะทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมา โดยกลุ่มธุรกิจทีได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ และธุรกิจโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นก่อนหน้าทยอยถอนเงินออกจากไทย เพราะนโยบายภาครัฐไม่สนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนที่เตรียมที่เข้ามาลงทุนก็จะยกเลิกการเข้ามาลงทุน
“ผมเตือนหลายครั้งแล้วว่าหากผ่าน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เท่ากับเป็นการไม่ต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนต่างชาติอยู่ ดังนั้นเท่ากับเป็นการกีดกันต่างชาติ ซึ่งไม่มั่นใจว่าต่างชาติจะมีมาตรการตอบโต้ประเทศไทยด้วยการกีดกันการส่งออกหรือไม่” นายก้องเกียรติกล่าว
เศรษฐกิจพลอยได้รับผลกระทบ
นายอมฤต ศุขะวนิช กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการจำกัดในเรื่องการลงทุนซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีการลดการลงทุนในประเทศไทยลง
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงจากนี้จะยังแกว่งตัวในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวลดลงได้ต่อเพราะยังมีแรงเทขายทยอยขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การขายหุ้นออกมาในช่วงนี้อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักเพราะไม่มีนักลงทุนในประเทศที่สามารถเข้ารองรับการขายหุ้นได้ทั้งหมด
"ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศที่ไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้วเชื่อว่าจะมีการขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่การที่นักลงทุนต่างประเทศจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นลดลงนั้นก็สามารถทำได้ลำบาก เพราะติดปัญหาอยู่ที่อยากขายแต่มีใครเข้ามารับซื้อ "นายอมฤต กล่าว
S&Pอาจลดความน่าเชื่อถือไทย
นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สถาบันจัดอันดับความน่าลงทุนแสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส หรือ S&P อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ BBB+ มุมมองมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ จากเรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้ในช่วงสั้นๆจะยังมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง เพราะปัจจัยลบก่อนหน้าทั้งเรื่องมารตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ การแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าน (นอมินี) ที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังเป็นปัจจัยหลักๆที่กระทบต่อการลงทุน
จ่อหลุด600จุดสัปดาห์นี้
นายชัย จีระเสรีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็มีการปรับตัวลดลงทันทีหลังการอนุมัติแก้ไขพ.ร.บ. โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นไทยให้มีการแกว่งตัวในกรอบแคบๆไปอีก 1 -3 เดือนข้างหน้า
สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง จากนักลงทุนกังวลของนักลงทุนว ซึ่งจะต้องติดคาดว่าทางการจะมีการชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวเชื่อว่าดัชนีมีโอกาสสูงที่จะหลุด 600 จุด ในสัปดาห์นี้ โดยบริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 605-600 จุด แนวต้านที่ระดับ 625 จุด
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห็ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้บริษัทแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไร เพื่อรอประเมินสถานการณ์ภายในประเทศก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงต่อได้ โดยประเมินแนวรับที่ 600 จุด และแนวต้านที่ 621-625 จุด
“แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเราวางเป้าหมายตลาดหุ้น 6 เดือนข้างหน้าดัชนีอยู่ที่ระดับ 585 –560 จุด”นายวิวัฒน์กล่าว
|
|
|
|
|