|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เอกชนเริ่มรู้ หวังภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ กกร.เตรียมพบหอการค้าต่างประเทศ 10 ม.ค.นี้ ปลุกสมาชิกร่วมมือแจงนักลงทุนต่างชาติไม่ให้หนีออกไป ลงมติให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ "ปูนใหญ่-สหพัฒน์-โตโยต้า" นำร่องทำแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาเร่งด่วน พร้อมขอให้สมาคมโรงแรมอธิบายการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวเป็นภาษาต่างชาติให้หลากหลาย ด้านหอการค้าต่างประเทศผนึกกำลังต้านแก้ไขกฎหมายต่างด้าว ขู่หาก ครม.อนุมัติ เตรียมถอนการลงทุนด้าน “เกริกไกร” ยันเดินหน้า
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยวานนี้ (8 ม.ค.) ว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของสมาชิกเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยของแต่ละองค์กรและการชี้แจงปัญหาดังกล่าวต่อสมาชิกและนักลงทุนต่างชาติ โดยในส่วนของสภาหอฯ จะพบหอการค้าต่างประเทศวันที่ 10 ม.ค.เพื่อเร่งชี้แจงปัญหาและรับทราบแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน และหลังจากนั้นวันที่ 15 ม.ค.จะพบกับสมาคมผู้แทนเอกชนไทยแต่ละสาขา
“ขอให้สมาชิกได้ออกหนังสือเวียนที่จะขอความร่วมมือในการซักซ้อมการดูแลความปลอดภัยเบื้องต้น ซึ่งเราคงไม่ประเมินความเสียหายว่าจะเป็นเม็ดเงินเท่าใดเพราะสิ่งนี้คงไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัย และผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทุกคอยสอดส่องทุกอย่างก็จะคลี่คลายได้โดยเร็ว ซึ่งหากถามว่าเวลาใดที่จะไม่ดีคงตอบไม่ได้แต่ทุกฝ่ายคงอยากให้จบโดยเร็ว”
สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายประมนต์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวที่ภาครัฐดำเนินการมา ทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะต้องมีมาตรการช่วยตัวเอง ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการวันที่ 18 ม.ค.นี้ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะไม่ควรจะรอจากมาตรการรัฐเข้าช่วยเหลือแต่เพียงฝ่ายเดียว
ดึง 3 บ.ยักษ์ประชาสัมพันธ์
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุม กกร.ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สมาชิกของ กกร.แต่ละองค์กรจะไปเจรจาขอความร่วมมือกับสมาชิกที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ชั้นแนวหน้าของประเทศ ได้แก่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทโตโยต้า และบริษัทในเครือสหพัฒน์ เป็นแกนนำในการเร่งระดมแผนการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และประชาสัมพันธ์เพื่อกู้ภาพพจน์ของประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ในส่วนของสภาอุตฯ จะมีการชี้แจงต่อนักลงทุนต่างประเทศในวันที่ 12 ม.ค.นี้
“บริษัทใหญ่ๆ คงจะนำร่องในระยะแรกก่อนเพื่อกู้ภาพพจน์และชื่อเสียงประเทศไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้เกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายในเมืองหลวงของประเทศเหมือนในหลายๆ ประเทศ เพียงแต่เป็นสถานการณ์เหนือความคาดหมายในระยะสั้นๆที่รัฐบาลจะคลี่คลายได้โดยเร็ว” นายสันติกล่าวและคาดว่า ภาคเอกชนรายอื่นๆ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเช่นกัน โดยหากเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าดังกล่าวแล้วคงไม่จำเป็นต้องมีงบประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพราะแต่ละ บริษัทก็มีแผนการใช้งบด้านนี้ในแต่ละปีอยู่แล้วเพียงแต่ปรับให้เข้าสถานการณ์เพื่อฟื้นฟูภาพพจน์ประเทศไทยในสายตาชาวโลกซึ่งผลที่จะตามมาคือการลงทุนการท่องเที่ยว ก็จะกลับสู่ปกติได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กกร.ยังขอความร่วมมือให้สมาคมโรงแรมไทย ให้ช่วยเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเตือนภัยเรื่องระเบิดเป็นภาษาต่างชาติหลายๆภาษาเพื่อเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบและเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปีคิดเป็น5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
แบงก์คลอด 3 มาตรการดูแลสาขา
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คณะทำงานของสมาคมฯ ได้ออกมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การรักษาความปลอดภัยสาขาแบงก์ต่างๆ ซึ่งจะต้องติดตั้งทีวีวงจรปิด การฝึกอบรมเบื้องต้นต่อพนักงาน 2. สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับชุมชนโดยได้มอบให้ผู้จัดการสาขาธนาคารต่างๆ ไปเร่งดำเนินการและ 3. การแนะนำและประชาสัมพันธ์ที่จุดรับแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้จักการรักษาความปลอดภัยให้กับตนเองเบื้องต้น ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% ของธปท.นั้น สมาคมฯ จะไม่เสนอยกเลิก แต่จะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการส่งออกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และประเทศอื่นก็เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ภาคเอกชนควรมีแผนปรับตัวเตรียมไว้เช่นกัน
หอการค้าต่างชาติขู่ถอนลงทุน
นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และสถานทูตประเทศสมาชิกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ที่กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันนี้ (9ม.ค.) โดยเฉพาะการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าวใหม่ ที่ให้พิจารณาเงื่อนไขสิทธิในการออกเสียงของคนไทยที่จะต้องเกิน 50% หากต่างด้าวในบริษัทมีสิทธิออกเสียงเกินกว่าก็ให้ถือว่าบริษัทนั้นเป็นต่างด้าวทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิมที่พิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว ที่จะต้องไม่เกิน 49%
“เป็นการกีดกั้นการลงทุน และจำกัดสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศในไทย ขณะเดียวกันจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในไทยเสีย ทำให้ต่างนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย และอาจถอนการลงทุน หากครม.ผ่านความเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะเกิดผลกระทบกับนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นการบังคับให้นักลงทุนขายหุ้นของตนเองออก เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่”
ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในไทย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทย เพราะทำให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย เกิดรายได้จากการเสียภาษี ซึ่งเป็นส่วนค้ำจุนอาณาจักรไทย อีกทั้งยังทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ และผู้บริโภคได้รับประโยชน์
นายปีเตอร์ กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศในไทยยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่การเปิดเสรีมากขึ้น แต่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการจำกัดจำนวนของกิจกรรมทางธุรกิจภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะในบัญชีแนบท้าย 3 (ธุรกิจที่คนไทยมีศักยภาพ หากต่างชาติจะประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตก่อน) จึงต้องการให้ยกเลิกบัญชีแนบท้าย 3 ด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนในไทย ซึ่งหอการค้าฯ หวังว่า รัฐบาลไทยจะไม่ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย และจะเดินหน้าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป
ดังนั้น จึงอยากเสนอแนะให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการนำการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของครม.ออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากขณะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมสำหรับการแก้ไข เพราะเกิดความวุ่นวายหลายอย่างในไทย เช่น การระเบิดสถานที่ต่างๆ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่น และในระหว่างนั้นให้กระทรวงพาณิชย์เริ่มต้นกระบวนการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยต้องศึกษาผลดีผลเสีย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่จะถูกกฎหมายบังคับ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ไม่ต้องการให้มีการปิดบังเหมือนกับการแก้ไขครั้งนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา หอการค้าฯ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยขอให้รัฐบาลอย่านำเงื่อนไขสิทธิในการออกเสียงมาใช้พิจารณาความเป็นต่างด้าว และต้องการให้ใช้เฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขอให้ถอดบางธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 2 ออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนบัญชี 3 ให้ยกเลิกไปเลย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจแข่งขันกันมากขึ้น และผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันอย่างเต็มที่
ด้านนายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยืนยันที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาการแก้ไขกฎหมายในวันนี้ (9 ม.ค.) เช่นเดิม ส่วนใครจะค้านก็ค้านไป และคนที่ค้านก็ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ได้มีการแก้ไข จะรู้ได้อย่างไรว่ากระทบตรงไหนบ้าง และขอยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในไทยแน่
|
|
|
|
|