|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โบรกเกอร์ต่างชาติ จี้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการกันเงิน 30% ด่วน ระบุแค่ผ่อนปรนไม่เพียงพอ ทำมาร์เกตแคปหายไปแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท เตือนนักลงทุนไทยระวังต่างชาติใช้จังหวะหุ้นขึ้นขายทิ้ง ซ้ำเติมดัชนีหลุด 600 จุด ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทยคาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ สรุปผลกระทบจากสมาชิกก่อนเสนอให้ ธปท.-คลัง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจเลื่อนโรดโชว์ต่างชาติ รอดูท่าทีธปท.อีกครั้ง ส่วนสมาคมบจ.เร่งรวบรวมข้อมูลเม็ดเงินการระดมทุนของบจ.ที่ได้รับผลกระทบ
วานนี้ (8 ม.ค.) สมาชิกสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และชมรมโบรกเกอร์ต่างประเทศ ร่วมหารือผลกระทบจากมาตรการการสกัดกั้นการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผลกระทบจากสถานการณ์ระเบิดทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สมาชิกสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเห็นฟ้องว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์รวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทซึ่งมากกว่าสินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้รวมกันอยู่ที่ 9 เสนล้านบาท
สำหรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อมูลค่าหลักทรัพย์รวม หรือมาร์เกตแคปของตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 7 แสนล้านบาท
นายอาจดนัย สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานชมรมโบรกเกอร์ต่างประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติคือการยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในเรื่องดังกล่าวการผ่อนปรนมาตรการถือว่าไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ
โดยการประชุมร่วมกับสมาชิกสภาธุรกิจตลาดทุนไทยวานนี้ ที่ประชุมต้องการตัวเลขผลกระทบในเรื่องการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อรวมรวบข้อมูลก่อนนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมคือการขายสุทธิออกมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ประกาศใช้มาตรการ และเชื่อว่าขณะนี้เงินจำนวนดังกล่าวถูกโยกออกไปจากประเทศไทยแล้ว โดยในช่วงปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากถึงประมาณ 3 พันล้านเหรียญ
สำหรับตลาดหุ้นเชื่อว่าหากยังไม่มีการยกเลิกมาตรการของธปท.โดยเร็ว จะทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่องและจะทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 600 จุดได้ ขณะเดียวกันจังหวะที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างวานนี้ (8 ม.ค.) อาจจะเป็นจังหวะที่นักลงทุนต่างชาติเตรียมที่จะขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง
"ตอนนี้มุมมองของต่างชาติเค้าแย่มากแล้ว คงไม่มีอะไรที่เค้าคิดว่าจะแย่เท่าตอนนี้ เราหวังว่าการเสนอให้ยกเลิกมาตรการของธปท. เราจะได้รับข่าวดี โดยข่าวดีที่สุดคือการยกเลิกมาตรการไม่ใช่การผ่อนปรนมาตรการ" นายอาจดนัยกล่าว
นายอาจดนัย กล่าวอีกว่า ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศควรจะมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทางบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศจะได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับนักลงทุน
"เราไม่ควรจะลืมไปว่าต่างชาติสามารถย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ ได้ ที่มีผลตอบแทนดีไม่ถูกควบคุมเงินที่เข้าไปลงทุน ขณะที่นักลงทุนไทยไม่มีตัวเลือกในการลงทุนมากนัก ซึ่งเราต้องตอบให้ได้ว่ามาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการดูแลผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่"นายอาจดนัยกล่าว
**เสนอคลัง-ธปท.ใน2สัปดาห์
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นนอกเหนือจากเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทภาคเอกชนแล้วยังถือว่าเป็นแหล่งสะสมเงินออมที่สำคัญของผู้ออมในประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทยต้องเร่งสำรวจผลกระทบมากมายต่อภาคตลาดทุน เช่น การจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือการกำหนดแผนการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เนื่องจากทำให้การออกตราสารหนี้ หรือการออกหุ้นกู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากสมาคมต่างๆรวมถึงผลกระทบของชมรมโบรกเกอร์ต่างประเทศเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการเสนอต่อธปท. และกระทรวงการคลังต่อไป
"นโยบายของประเทศควรที่จะเป็นมิตรกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ แต่มาตรการของแบงก์ชาติทำให้หลายคนได้รับผลเดือดร้อน แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวก็ตาม"นายก้องเกียรติกล่าว
**ตลท.อาจเลื่อนโรดโชว์รอดูทีท่าธปท.
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะมีการเลื่อนการจัดงานนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่นักลงทุนต่างประเทศออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะจัดในช่วงปลายไตรมาส 1/2550 เพื่อรอความชัดเจนในเรื่องนโยบายของธปท. ในมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของนักลงทุนต่างประเทศ จากที่ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะมีการเสนอข้อมูลในเรื่องผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
**เตรียมสำรวจเม็ดเงินระดมทุนบจ.ปีนี้
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน กล่าวว่า ทางสมาคมบจ.จะเร่งสำรวจบริษัทจดทะเบียนต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีจำนวนกว่า 500 บริษัทในเรื่องการระดมทุนทั้งการออกหุ้นเพิ่มทุน และตราสารหนี้ เพื่อสรุปผลกระทบของบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องระดมทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อนำเงินไปลงทุนขยายกิจการว่ามีจำนวนเท่าไร
ทั้งนี้ การประเมินถึงผลกระทบเบื้องต้นที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของธปท. ทำให้เชื่อว่าการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนจะทำได้ลำบากมากขึ้น และโครงการลงทุนต่างๆอาจจะต้องมีการเลื่อนออกไป โดยมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวส่งให้กับทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อให้เสนอต่อกระทรางการคลัง และ ธปท.ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาประเมินตัวเลขดังกล่าว 2-3 สัปดาห์
"ตลาดทุนถือเป็นแหล่งสำคัญในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน ทั้งออกหุ้นทุน และตราสารหนี้ ซึ่งทางสมาคมบจ.จะมีการสำรวจในเรื่องการระดมทุนในปีนี้ของ บจ.ว่าจะระดมทุนเท่าไร และจากมาตรการกันเงินสำรอง 30% จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนได้ลำบากขึ้น และทำให้โครงการขยายการลงทุนของบจ.ต่างๆต้องมีการเลื่อนออกไปหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวให้ทางสภาธุรกิจตลาดทุนเสนอต่อกระทรวงการคลัง และธปท.ต่อไป "นายชนินท์ กล่าว
**เชื่อบจ.เลื่อนระดมทุนผ่านกองอสังหาฯ
นายมาริษ ท่าราบ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กล่าวว่า ตนเชื่อว่าในอนาคตหากธปท.ไม่มีการผ่อนผันการระดมทุนผ่านกองทุนอสังหริมทรัพย์ จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆที่มีแผนที่จะระดมทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการเลื่อนออกไป หรือต้องไประดมทุนผ่านช่องทางอื่น ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมบลจ.ได้มีการเสนอผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงการคลังและธปท.แล้ว ซึ่งในครั้งนี้ทางสมาคมบลจ.จะร่วมกับทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีการเสนอเรื่องดังกล่าวอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างประเทศถือหน่วยกองทุนต่างๆเฉลี่ย 35-40% โดยทางสมาคมคาดว่าปีนี้ขนาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ล้านบาท จากปี2549 ที่มีขนาดกองทุน 44,000 ล้านบาท โดยคาดว่าไตรมาส1 /2550 จะมีมูลค่าการออกกองทุนจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกองทุนเดิมที่มีการเพิ่มทุน และการจัดตั้งกองทุนใหม่
|
|
|
|
|