85% ของปริมาณสารตะกั่วในเขตกทม. ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมลภาวะมาจากการใช้น้ำมันเบนซินชนิดที่มีสารตะกั่ว
และการลดลงของปริมาณก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศเกิดจากการใช้สาร CFC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความเย็น
วิธีที่จะช่วยลดมลพิษของโลกได้ก็ด้วยการใช้สารทดแทนอื่นๆ คือ เบนซินไร้สารตะกั่ว
HCFC-123 และ HFC-134a
มลสารที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
โดยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และซัลไฟไดออกไซด์ เป็นสาเหตุของการเกิดฝนกรดซึ่งเป็นผลเสียต่อป่าไม้
ดิน น้ำ และอาคารบ้านเรือน รวมทั้งระบบทางเดินหายใจ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ไฮโดรคาร์บอนและการลดลงของโอโซน เป็นสาเหตุของการเกิดรูรั่วในชั้นบรรยากาศ
และปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่เกิดจากอุณหภูมิที่พื้นผิวโลกร้อนขึ้น
สารตะกั่วเป็นสาเหตุของอาการสติปัญญาเสื่อม สมองอักเสบ กล้ามเนื้ออัมพาต
และไตอักเสบได้
จากสภาพปัญหาและผลเสียของมลภาวะทางอากาศข้างต้น จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขและลดมลสารเหล่านี้ลง
ด้วยการดำเนินงานของรัฐบาลและการร่วมมือของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง
การรณรงค์ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว การออกประกาศและสนับสนุนให้รถจักรยานยนต์ใช้น้ำมันเครื่องที่ช่วยลดควันขาว
การปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันดีเซลและการบังคับการติดตั้งอุปกรณ์กรองไอเสีย
(Catalytic Converter) ในรถยนต์เบนซินที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1600 ซีซี
เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อติดอุปกรณ์กรองไอเสียแล้วจะต้องใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีความพยายามลดปริมาณการใช้สาร CFC ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนผู้บริโภคเองก็มีความตื่นตัวต่อปัญหามลพิษด้วยเช่นกัน
ด้วยการพยายามเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดมลพิษ หรือช่วยลดมลพิษ การให้ความห่วงในสุขภาพของผู้บริโภคเอง
ดังจะพบว่ามีใช้ผลิตที่จะลดหรือการป้องกันมลพิษที่ตนจะต้องสัมผัสโดยตรง เช่น
มีความนิยมใช้เครื่องฟอกอากาศทั้งในรถยนต์ และในที่ทำงานหรือในบ้าน เป็นต้น
น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว (Unleaded Gasoline : ULG)
ความพยายามที่จะลดระดับสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินลง ด้วยการกำหนดปริมาณสารตะกั่วที่ผสมในน้ำมันเบนซินให้ลดลง
โดยแต่ละประเทศจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันว่าระดับสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินจะมีสูงสุดได้เท่าไร
ประเทศไทยได้กำหนดปริมาณสารตะกั่ว กรัม/ลิตร ในน้ำมันเบนซินธรรมดาและเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่วไม่เกิน
0.15 และในน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วไม่เกิน 0.013 ก่อนวันที่ 1 ม.ค.38
และหลังวันที่ 1 ม.ค.38 แล้วน้ำมันเบนซินธรรมดาจะปรับปริมาณสารตะกั่วเป็น
0.13 กรัม/ลิตร
การลดระดับสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินหมายถึงระดับความต้องการค่า OCTANE ของเครื่องยนต์ต้องลดลง
ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนี้ หากแต่จะมีแนวโน้มที่เครื่องยนต์ต้องการค่า
OCTANE ที่สูงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น หรือกระบวนการกลั่นน้ำมันต้องได้รับการปรับปรุงให้สามารถผลิตน้ำมันที่มี
OCTANE NUMBER สูงขึ้นโดยการลดสารตะกั่วลง ซึ่งการกลั่นดังกล่าวต้องใช้พลังงานในการกลั่นสูงขึ้น
หรือต้องมีการพัฒนาสารเพิ่มคุณภาพประเภทอื่นทดแทนเพื่อรักษาระดับค่า OCTANE
ในน้ำมันไว้
ดังนั้น คำว่าน้ำมันไร้สารตะกั่วจึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารตะกัวเจือปนอยู่เลย
เพียงแต่มีอยู่ในระดับที่ต่ำมากหรือไม่มีอยู่เลย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประกาศให้ปริมาณสารตะกั่วเป็นศูนย์
ขณะที่อเมริกากำหนดค่าสารตะกั่วสูงสุดในน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วไม่เกิน
0.01 กรัม/ลิตร ในยุโรปมีได้ 0.013 กรัม/ลิตร เป็นต้น
การที่ยังคงมีสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินเพราะมีการทดสอบเกี่ยวกับผลของสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินในปริมาณต่างๆ
กันอัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์ พบว่าปริมาณสารตะกั่วในระดับ 0.13 กรัม/ลิตร
มีความเหมาะสมที่สุดเนื่องจากจะเกิดการสึกหรอของเครื่องยนต์ต่ำสุด
การเพิ่มค่า OCTANE ในน้ำมันเบนซินด้วยการลดการใช้ปริมาณสารตะกั่วลง แต่ใช้สารไฮโดรคาร์บอนบางประเภทที่สามารถเพิ่มค่า
OCTANE โดยไม่มีสารตะกั่ว เช่น สาร MTBF (Methyl Tertiary Butyl Ether) หรือ
Reformate/Platforming จะเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดมลพิษลง
ในปี 2463 มีการค้นพบว่าการเติมสารที่มีตะกั่วเป็นตัวประกอบในน้ำมันเบนซินแล้วจะสามารถช่วยแก้อาการน็อก
(Antiknock) ของเครื่องยนต์ได้ซึ่งก็คือการเพิ่มค่า OCTANE NUMBER ของน้ำมันเบนซินนั่นเอง
จึงได้มีการใช้สารที่มีตะกั่วเป็นตัวประกอบเติมในน้ำมันเบนซินมาโดยตลอด
OCTANE NUMBER เฉลี่ยก่อนผสมสารประกอบโลหะตะกั่วและองค์ประกอบอื่นเพื่อให้เป็นน้ำมันเบนซินธรรมดาจะเท่ากับ
75 และถ้าผสมให้เป็นน้ำมันเบนซินพิเศษจะมีค่าเฉลี่ย 90 แต่เมื่อเติมสารตะกั่ว
0.4 กรัม/ลิตร สามารถเพิ่มค่า OCTANE NUMBER ได้ 6 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นเป็น
81 สำหรับน้ำมันเบนซินธรรมดา และ 96 สำหรับน้ำมันเบนซินพิเศษ
การผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วเริ่มจากขบวนการกลั่นน้ำมันดิบ จากนั้นจึงเป็นขบวนการเพิ่มค่า
OCTANE ในน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยจะมีความแตกต่างกันที่ค่าใช้จ่ายของแต่ละวิธี
จึงมีผูนิยมใช้วิธีเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มค่า OCTANE เพราะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีอื่น
แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษจึงมีการผลิตน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยการใช้สารไฮโดรคาร์บอนบางชนิดที่สามารถช่วยเพิ่มค่า
OCTANE ได้แทน เช่น MTBE, ETBE หรือแอลกอฮอล์
แต่การใช้สารเหล่านี้จะมีระดับราคาที่สูงและมีข้อจำกัดในการใช้ ดังนั้นเพื่อผลิตน้ำมันเบนซินที่มีค่า
OCTANE สูงโดยไม่เติมสารตะกั่ว จึงมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตของหน่วยเพิ่มค่า
OCTANE ที่มีประสทิธิภาพสูงในการเพิ่ม OCTANE ด้วยกระบวนการ Platforming/Reformer
กระบวนการนี้อาศัยสารเร่งปฏิกิริยาพลาตินัมในการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน
ซึ่งมีค่า OCTANE ต่ำให้เป็นโมเลกุลของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีค่า OCTANE
ต่ำให้เป็นโมเลกุลชนิดที่มีค่า OCTANE สูงขึ้น ซึ่งจะมีค่า OCTANE ระหว่าง
92-102 สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปที่มีคุณสมบัติตามต้องการ
ปัจจุบันการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วภายในประเทศของบริษัทไทยออยล์เป็นการใช้กระบวนการผลิตที่เรียกว่า
Continuous Catalytic Regeneration Platformer หรือ CCR Platformer ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถเพิ่มค่า
OCTANE ในน้ำมันได้ถึง 100-102 และได้สาร Platformate ที่มีค่า OCTANE สูง
102 และนอกจากนำไปผลิตเป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้อีกด้วย
การผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่ว และน้ำมันที่มีสารตะกั่วไม่ได้มีความแตกต่างกันในส่วนของขั้นตอนการผลิต
แต่จะแตกต่างกันในขั้นตอนการผลิต แต่จะแตกต่างกันในขั้นตอนของการเพิ่มค่า
OCTANE คือน้ำมันที่มีสารตะกั่วจะใช้สารตะกั่วเป็นตัวเพิ่มค่า OCTANE ขณะที่น้ำมันไร้สารตะกั่วจะไม่ใช้สารตะกั่วแต่ใช้สารที่ไม่มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเหมือนสารตะกั่วแทน
เช่น MTBE, ETBE, ETAE หรือ TAME แต่สารที่นิยมใช้จะเป็น MTBE
น้ำมันไร้สารตะกั่วของประเทศในช่วงแรกเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์
การนำเข้าอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก ทั้งนี้เพราะกำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่น้อยมาก
โดยมีเพียงโรงกลั่นของบริษัทบางจากที่สามารถผลิตได้เพียงแห่งเดียว และมีกำลังการผลิตเฉลี่ย
1-2 ล้านลิตรต่อเดือน ขณะที่ปริมาณความต้องการยังคงมีอยู่สูง
ในส่วนของโรงกลั่นไทยออยล์ได้เริ่มผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วได้เมื่อเดือนสิงหาคม
2535 ที่ผ่านมาและมีกำลังการผลิตที่สูงมากเพราะได้ก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่เสร็จ
(TOC4) ดูตารางปริมาณการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วระหว่างม.ค.-ต.ค.35 แม้ว่าจะสามารถผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณความต้องการอยู่
ในอนาคตที่จะมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันในประเทศของบริษัท CALTEX และ SHELL
ซึ่งก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วได้อีกระดับหนึ่ง
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2534 เริ่มมีการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาจำหน่ายตามนโยบายการลดมลพิษในอากาศของรัฐ
ในช่วงแรกบริษัทที่จำหน่ายได้แก่ ปตท.,เชลล์ และเอสโซ่ ต่อมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
คาลเท็กซ์ บีพี โมบิล และ Q8 ได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วบ้าง
ในช่วงแรกปริมาณน้ำมันไร้สารตะกั่วที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว
และมีอัตราส่วนต่อปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมดเฉลี่ย 22.33%
ต่อเดือน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2534 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2535ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วได้อยู่ในอัตราที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคมีความไม่แน่ใจในการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วด้วยเหตุผลต่างๆ
เช่น กำลังเครื่องยนต์ตกหรือเร่งไม่ขึ้น เครื่องยนต์กระตุก เป็นต้น ทั้งที่ระดับราคาน้ำมันไร้สารตะกั่วต่ำกว่าน้ำมันเบนซินพิเศษ
และสามารถช่วยลดสารตะกั่วในอากาศได้กลับไม่ได้เป็นสิ่งจูงใจผู้บริโภค
ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเพียงพิจารณาเฉพาะสิ่งแวดล้อมแต่อย่างเดียวหรือระดับราคาที่ต่ำกว่า
ถ้าใช้แล้วอาจมีผลเสียต่อเครื่องยนต์ก็คงไม่เลือกบริโภค ขณะเดียวกันจำนวนปั๊มน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วในระยะแรกมีอยู่ไม่มาก
และกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
และยังได้มีผู้สำรวจไว้ว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วทั่วประเทศกว่า
50% อยู่ในเขตกรุงเทพฯ (ดูตารางอัตราส่วนการจำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษทั่วประเทศเดือนกันยายน
2535)
ผลของการจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในช่วงแรกไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
จึงมีการกำหนดการปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่วเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
ที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับน้ำมันไร้สารตะกั่ว และในส่วนของผู้ค้าน้ำมันก็ได้มีการแก้ไขปัญหาการเร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น
การเพิ่มจำนวนปั๊ม ตลอดจนการเติมสารเพิ่มคุณภาพต่างๆ
ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการติด Catalytic Converter แล้ว แนวโน้มของการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วย่อมสูงขึ้น
ถ้าบริษัทผู้จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วรายใดสามารถสร้างฐานการตลาดได้ในช่วงนี้
แล้วย่อมเป็นการได้เปรียบต่อคู่แข่งขันในอนาคตที่ความต้องการบริโภคน้ำมันไร้สารตะกั่วจะสูงขึ้น
กล่าวได้ว่าศักยภาพของตลาดน้ำมันไร้สารตะกั่วในอนาคต เป็นสิ่งจูงใจผู้ค้าน้ำมันในการปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่ว
และเพิ่มจำนวนปั๊ม ณ เดือนพฤศจิกายน 2535 มีจำนวนปั๊มจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วทั้งหมด
1,708 แห่ง และเมื่อพิจารณาจากพื้นที่แล้วเขตกรุงเทพฯ มีจำนวนปั๊มที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่ว
389 แห่ง คิดเป็น 23% ของจำนวนปั๊มที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วทั้งหมด
จำนวนปั๊มจำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลต่อการเลือกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วทั้งนี้
เพราะถ้ามีการกระจุกตัวอยู่ในบางเขตแล้วถ้าผู้ใช้ไปในเขตที่ไม่มีปั๊มที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วแล้วก็จะมีปัญหาต่อผู้บริโภค
ความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนปั๊มจึงเป็นสิ่งที่กำลังได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะในภาวะที่ความต้องการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วจะเพิ่มขึ้นนี้ รัฐได้พยายามให้มีการเพิ่มจำนวนปั๊มจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วโดยเร็วซึ่ง
ณ สิ้นปี 2535 ที่ผ่านมา รัฐได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีจำนวนปั๊ม 2,259
แห่งทั่วประเทศที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่ว คิดเป็น 60% ของจำนวนปั๊มทั้งหมด
ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่ว เนื่องขากระดับความต้องการยังต่ำอยู่
เพราะจำนวนยานยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่ใช้น้ำมันดีเซลก็ให้น้ำมันไร้สารตะกั่วไปจำหน่ายในปั๊มหลอดแก้ว
จากการสำรวจในส่วนของคาลเท็กซ์ ณ เดือนธันวาคม 2535 มีจำนวนปั๊มน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่ว
469 แห่งทั่วประเทศ จากจำนวน 521 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นกว่า 90% ของจำนวนปั๊มทั้งหมด
และเอสโซ่ก็มีจำนวนปั๊มที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วอยู่ทั่วประเทศประมาณ
400 แห่งและกำลังดำเนินการเพิ่มจำนวนปั๊มเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น
เชลล์ได้นำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วสูตรค่า OCTANE สูง และมีสารเพิ่มคุณภาพออกจำหน่ายในเดือนเมษายน
2535 เป็นบริษัทแรกภายใต้ชื่อ Shell Advanced ULG 9423 จุดขายอยู่ที่สามารถเพิ่มพลังให้เครื่องยนต์
และยังคงจำหน่ายควบกับน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรเดิม แต่มีระดับราคาที่สูงกว่าสูตรเดิม
คาลเท็กซ์เป็นบริษัทต่อมาที่จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรค่า OCTANE สูงโดยใช้ชื่อ
Techron จุดขายก็ยังอยู่ที่สามารถเพิ่มพลังให้เครื่องยนต์เช่นกัน ปตท.ได้นำ
PTT Performa 98ซึ่งเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่วที่มีค่า OCTANE สูงสุดในตลาดบริษัทบางจากปิโตรเลียม
ก็ได้พัฒนาน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตร EPA (Environmental Protection Additives)
ภายใต้ชื่อ Green Lite และเอสโซ่ ได้นำ Esso Superme Supper XCL มาจำหน่ายเช่นกัน
การนำน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรใหม่มาจำหน่ายมีส่วนต่อการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเป็นอย่างมาก
จากปริมาณการจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2535 อยู่ในระดับเฉลี่ย 37
ล้านลิตรต่อเดือน เพิ่มเป็นกว่า 40 ล้านลิตรต่อเดือนในช่วงครึ่งปีหลัง เดือนตุลาคม
ปริมาณการจำหน่ายสูงถึง 51 ล้านลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี
2534 ที่จำหน่ายได้เพียง 34 ล้านลิตร
เพิ่มศักดิ์ โกศลพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย)
จำกัด กล่าวถึงการนำน้ำมันไร้สารตะกั่ว Caltex Techron มาจำหน่ายว่า "ในช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีการนำน้ำมันไร้สารตะกั่วเข้ามาจำหน่าย
ทุกฝ่ายมัวคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและมลภาวะมากกว่าที่จะคำนึงถึงคุณภาพของน้ำมัน
เมื่อผู้ใช้เติมไปครั้งแรกก็เกิดความไม่ประทับใจ จนบางรายเลิกใช้ไปเลยก็มีจึงให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
Caltex จึงได้นำน้ำมัน Techron ไร้สารตะกั่วออกจำหน่าย โดยพยายามแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ
พร้อมกับได้ผสมสาร Techron เพื่อปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่วให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นภายหลังการเริ่มจำหน่ายน้ำมัน
Techron ไร้สารตะกั่วเมื่อสิงหาคม 2534 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วของ
Caltex ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจึงมั่นใจว่าในอนาคต Techron ไร้สารตะกั่วจะมีอัตราการขยายตัวที่ดี"
เพิ่มศักดิ์อธิบายต่อว่า "วิวัฒนาการต่างๆ ของเครื่องยนต์ได้ก้าวหน้าขึ้นมาก
โดยเฉพาะบ่าวาล์วที่จากชนิดโลหะอ่อนเป็นโลหะชนิดแข็ง ปัญหาการสึกของบ่าวาล์วก็ไม่เกิดขึ้น
จึงมีความมั่นใจว่ารถที่มีบ่าวาล์วอ่อนถ้าเติมน้ำมันไร้สารตะกั่วก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร
ยกเว้นรถคันนั้นวิ่งต่อด้วยความเร็วมากกว่า 80% ของ Maximum Efficency หรือประมาณ
180 กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป โดยบรรทุกของหนักและวิ่งติดต่อกันเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง
ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นบนถนนเมืองไทยคงจะเป็นไปไม่ได้"
เสน่ห์ ศรีสุวรรณ ผู้จัดการส่วนโฆษณาและส่งเสริมการขาย บริษัท เอสโซ่สแตนดาร์ด
ประเทศไทย จำกัด ได้อธบายเกี่ยวกับน้ำมันไร้สารตะกั่ว Esso Supreme Supper
XCL ว่า "Esso นำน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรผสมสารเพิ่มพลังออกจำหน่ายแทนสูตรเก่า
เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำมันไร้สารตะกั่วให้สูงขึ้น และเพื่อรองรับความต้องการของรถยนต์สมรรถนะสูง
และรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะติดตั้งเครื่องกรองไอเสียที่จะต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเท่านั้น
การเพิ่มคุณภาพน้ำมันไร้สารตะกั่วดังกล่าวยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพการใช้งานให้กับผู้บริโภคอีกด้วยในส่วนของจุดขาย
(Selling Point) ที่เปลี่ยนจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นคุณภาพที่สูงขึ้น
ก็เพราะในช่วงแรกต้องการให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจว่า การใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วก่อให้เกิดผลดีอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึงแล้ว
จึงได้เน้นจุดขายไปที่คุณภาพการใช้งาน ซึ่งจะให้ความแรงแก่เครื่องยนต์จากค่า
OCTANE ที่สูงขึ้น และสารเพิ่มคุณภาพพิเศษเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจและหันมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น"
ภาวะการแข่งขันของน้ำมันไร้สารตะกั่วนับตั้งแต่เริ่มจำหน่ายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
จากการแข่งขันในช่วงแรกที่จะใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่สามารถช่วยลดมลสารคือ
สารตะกั่วในอากาศลงได้ มีการพยายามสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคให้รู้จักกับน้ำมันไร้สารตะกั่วต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า
สามารถลดปัญหามลสารที่มาจากการใช้น้ำมันเบนซินของเครื่องยนต์ได้อย่างไร
เชลล์และ ปตท. เป็น 2 รายแรกที่นำน้ำมันไร้สารตะกั่วออกจำหน่ายเมื่อพฤษภาคม
2534 หลังจากนั้นอีกหลายบริษัทก็ได้นำน้ำมันไร้สารตะกั่วมาจำหน่ายเช่นกัน
ทั้งนี้นอกจากผลทางการตลาดแล้ว ยังมีผลต่อภาพพจน์ของบริษัทต่อความห่วงใยในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง
หรือต่อสังคมและยังสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นด้วย
ผลของการจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วในช่วงแรกมีอัตราการขยายตัวที่สูงและรวดเร็ว
แต่หลังจากนั้นได้ระยะหนึ่งปริมาณการจำหน่ายก็ไม่ได้มีการขยายตัวมากเหมือนช่วงแรก
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งจากประสิทธิภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่วต่อเครื่องยนต์ที่ทำให้กำลังเครื่องยนต์ลดลง
เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษที่ผสมสารตะกั่ว ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจที่จะเลือกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว
ดังนั้น เพื่อให้การจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วมีการขยายตัวขึ้น บริษัทผู้จำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วจึงปรับปรุงประสิทธิภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่วของแต่ละบริษัท
ถ้าพิจารณากลยุทธ์การแข่งขันในช่วงนี้ก็คือ การพยายามสร้างข้อแตกต่าง (Product
Differentation) ของน้ำมันไร้สารตะกั่วของแต่ละบริษัทขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้เกิด
Brand Loyalty
เมื่อน้ำมันไร้สารตะกั่วมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นและทดแทนน้ำมันที่มีสารตะกั่วแล้ว
Brand Loyalty จะทำให้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน การที่คู่แข่งขันสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ได้แล้ว
จึงทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงในการสร้างความแตกต่างของแต่ละบริษัทขึ้นมา
เชลล์ได้เริ่มนำน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรเพิ่มพลัง 9423 มาจำหน่ายเป็นรายแรก
โดยมีระดับราคาที่สูงกว่าน้ำมันไร้สารตะกั่วเดิม และบริษัทอื่นๆ เช่น คาลเท็กซ์
ปตท. บางจาก และเอสโซ่ ก็ได้นำน้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรเพิ่มพลังมาจำหน่ายเช่นกัน
ภาวะการแข่งขันในช่วงนี้จากจุดขายหรือ Selling Point ที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้กลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพของน้ำมันไร้สารตะกั่วต่อเครื่องยนต์
แต่ละบริษัทได้นำสารเพิ่มประสิทธิภาพ (Additive) ที่วิจัยแล้วว่าสามารถแก้ปัญหาเครื่องยนต์กำลังตกจากการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วสูตรแรก
และการเพิ่มค่า OCTANE ที่สูงขึ้น
ถ้าจะพิจารณาภาวะการแข่งขันที่กลับมารุนแรงครั้งนี้แล้ว สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการบังคับติดอุปกรณ์ลดมลพิษ
(Catalytic Converter) ในรถยนต์ในปี 2536 ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้น
เพราะรถยนต์ที่ติดอุปกรณ์ลดมลพิษแล้วจะต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้การจะเลิกจำหน่ายน้ำมันที่มีสารตะกั่วในอนาคต ก็จะส่งผลต่อปริมาณความต้องการน้ำมันไร้สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การสร้างฐานความนิยมของผู้บริโภคในการเลือกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วในปัจจุบัน
จะมีผลต่อความนิยมที่จะเลือกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วของแต่ละบริษัทในอนาคตเมื่อน้ำมันไร้สารตะกั่วเข้ามาทดแทนน้ำมันเบนซินซูเปอร์ทั้งหมด
นโยบายการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วตั้งแต่เริ่มต้นรัฐได้กำหนดมาตรการด้านต่างๆ
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สอดคล้องกับการนำน้ำมันไร้สารตะกั่วมาใช้ในประเทศสามารถสรุปผลได้ดังนี้
1 พฤษภาคม 2534 มีการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาจำหน่ายครั้งแรกด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐบาลในขณะนั้น
รัฐได้กำหนดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วและที่มีสารตะกั่วให้แตกต่างกัน
ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจอีกประการหนึ่งในการรณรงค์ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว
มีการลดภาษีนำเข้าสาร MTBE ที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วลงจาก
30% เหลือ 1% ในส่วนของสาร Performate ให้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่คล้ายน้ำมันเบนซินจึงขอคืนภาษีสรรพสามิตได้เมื่อนำมาผสมเป้นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
ในส่วนของการจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนน้ำได้มีการปรับอัตราเงินกองทุนสำหรับน้ำมันเบนซินทุกประเภทเป็น
10 สตางค์/ลิตร เมื่อเดือนตุลาคม 2534 ส่งผลให้ราคาปลีกน้ำมันไร้สารตะกั่วลดลง
13 สตางค์/ลิตร ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2535 เงินกองทุนนี้ 7 สตางค์จะส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
อีก 3 สตางค์เป็นส่วนของกองทุนน้ำมัน
นอกจากนี้การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยการกำหนดในด้านของปริมาณออกซิเจน
Front End Octane Number, Motor Octane Number, Aromatic, Benzene และ PFI/IVDC
Detergent หรือการปรับปรุงข้อกำหนดคุณภาพให้เข้มงวดขึ้น เช่น อุณหภูมิการกลั่น
ยางเหนียว และเสถียรภาพต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
รวมทั้งการจะให้มีการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่ว ในปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบันและการลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินธรรมดา
มาตรการที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมนี้ ด้วยการให้รถยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบตั้งแต่
1600 ซีซี ติดตั้งอุปกรณ์กรองไอเสีย และในรถยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบต่ำกว่า
1600 ซีซี ในวันที่ 1 กันยายนนี้ และเพื่อป้องกันการนำเข้ารถยนต์ที่ติด Catalytic
Converter ซึ่งจะต้องใช้เฉพาะน้ำมันไร้สารตะกั่วไปเติมน้ำมันที่มีสารตะกั่ว
จึงมีการปรับขนาดหัวจ่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วให้มีขนาดเล็กลงจากขนาด 24.50
มิลลิเมตร เป็น 21.00 มิลลิเมตร โดยจะมีผลบังคับวันที่ 8 เมายนนี้แต่ได้มีบางบริษัทที่ได้เปลี่ยนขนาดหัวจ่ายน้ำมันขนาดนี้บ้างแล้ว
มาตรการลดมลพิษในอากาศที่เกิดจากรถยนต์ด้วยการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น
เพราะสามารถลดได้เพียงสารตะกั่ว แต่มลพิษในอากาศที่เป็นปัญหาจริงๆ แล้วอยู่ที่ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์
ไนโตรเจนออกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน ซึ่งสามารถจะลดมลสารเหล่านี้ได้ ด้วยการติดอุปกรณ์ลดมลพิษที่เรียกว่า
Catalytic Converter ในรถยนต์
เมื่อติดอุปกรณ์นี้แล้วต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเท่านั้น เพราะสารตะกั่วในน้ำมันจะไปเกาะผิวและอุดตันทำให้
Catalytic Converter เสียหายหรือเสื่อมสภาพได้ ดังนั้นการรณรงค์ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วจึงเป็นมาตรการเบื้องต้น
ที่มีความสัมพันธ์ต่อการลดมลพิษที่ถูกปล่อยจากรถยนต์เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษแล้ว
Catalytic Converter เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดมลพิษที่มีการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมากว่า
20 ปี มีรูปร่างลักษณะและการใช้งานที่แตกต่างกัน ตลอดจนราคาและประสิทธิภาพของแต่ละชนิดก็แตกต่างกันด้วย
ทั้งนี้ขึ้นกับแร่ธาตุที่นำมาผลิตอุปกรณ์ที่จะมีคุณสมบัติในการทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีและการสันดาป
ณ อุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ผลของปฏิกิริยานี้จะช่วยลดมลสารจากเครื่องยนต์ประเภทคาร์บอนมอนอกไซด์
ไฮโดรคาร์บอน และไนโตรเจนออกไซด์ ลงได้ขึ้นกับชนิดของ Catalytic Converter
ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ได้อธิบายถึงลักษณะของ Catalytic Converter ที่ใช้ในรถเครื่องยนต์ Gasoline
ว่า "มีลักษณะเป็นกล่องโลหะที่ติดตั้งอยู่ในระบบท่อไอเสียระหว่างท่อไอเสียกับท่อเก็บเสียง
ภายใน Converter มีสารที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคลือบไว้บางๆ บนวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่เปรียบเสมือนเป็นโครงภายใน
Converter และผิวของวัสดุที่เป็นโครงจะมีลักษณะเป็นโครงจะมีลักษณะเป็นรูพรุน
เมื่อไอเสียผ่านเข้าไปใน Converter สารที่เคลือบไว้จะทำปฏิกิริยาที่ทำให้ลดมลสารลงได้"
ประเทศไทยประกาศให้มีการใช้อุปกรณ์ลดมลพิษชนิด Three Way Catalytic Catalytic
Converter (TWC) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการลดมลพิษ 3 ชนิด คือ CO, HC, NOx
ที่ออกมากับไอเสียของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่เข้มงวดมากได้
TWC เป็นอุปกรณ์ลดมลพิษที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ระดับราคาของ TWC มีราคาตั้งแต่
25,000-30,000 บาท และอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี หรือเท่ากับระยะทาง 80,000-100,000
กม. ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาในการใช้งานของอุปกรณ์ลดมลพิษที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ลดมลพิษลดลง
ซึ่งจะมากหรือน้อยเพียงไรขึ้นกับการระวังรักษาของผู้ใช้ เช่น ไม่ควรใช้ร่วมกับน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว
เป็นต้น
การทดแทนสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ (CFC)
สาร CFC (Chloro Fluord Carbon) เป็นสารที่ใช้ในระบบปรับอากาศของเครื่องปรับอากาศระบบทำความเย็นในตู้เย็น
ระบบดับเพลิงสารผลักดันในกระป๋องสเปรย์ สารเป่าโฟม ตลอดจนใช้เพื่อทำความสะอาดชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นต้น
สาร CFC มีส่วนประกอบของาตุ 3 ชนิด คือ Fuolorien, Carbon และ Chlorien
โดยเฉพาะคลอรีน (Chlorien) เป็นธาตุที่มีผลในการทำลายก๊าซ Ozone ในชั้นบรรยากาศ
ในระบบของเครื่องปรับอากาศสาร CFC จะเป็นส่วนของน้ำยาปรับอากาศ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศของรถยนต์
และอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ (เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้ภายในบ้านทั่วไปจะใช้สารทำความเย็น
HCFC-22 ซึ่งยังไม่มีการใช้สารทดแทนในปัจจุบัน
เมื่อสาร CFC กระจายออกมาในอากาศคลอรีนก็จะแตกตัวไปทำปฏิกิริยากับ Ozone
ด้วยการทำลายก๊าซ Ozone ในชั้นบรรยากาศระยะ 10-50 กม. จากผิวโลกให้ลดลง โดยเพียง
1 โมเลกุลของคลอรีนจะทำลายก๊าซ Ozone ลงได้นับแสนโมเลกุล ซึ่งปฏิกิริยานี้จะเกิดอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ในลักษณะของ Infinity Loop เนื่องจากคลอรีนจะเป็นสารที่มีคุณสมบัติสลายตัวได้ยากมาก
ผลกระทบของการลดลงของก๊าซ Ozone จากรายงานการวิจัยพบว่าก๊าซ Ozone ที่ลดลงจะทำให้ชั้นบรรยากาศเกิดรูรั่ว
(Ozone Hole) ซึ่งจะทำให้รังสี Ultraviolet (UV) ซึ่งปกติจะถูกดูดกลืนโดย
Ozone ไว้บางส่วนเพิ่มปริมาณขึ้นอันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง โรคตาต้อ
หรือผลผลิตทางการเกษตรลดลง สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำจำพวก Plankton ตายลง สภาพอากาศจะแปรปรวน
เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
เป็นต้น
ผลเสียของก๊าซ Ozone ที่ถูกทำลายจากการใช้สาร CFC จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นถ้ายังคงใช้สาร
CFC จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นถ้ายังคงใช้สาร CFC ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น อัตราการใช้สาร CFC จะกระจายสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะลดและยกเลิกการใช้สาร CFC
สาร CFC เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลาย Ozone ในชั้นบรรยากาศลงตั้งแต่ปี 2517
แต่ไม่ได้รับความสนใจถึงปัญหามากนัก จนในปี 2528 พบว่าเกิด Ozone Hole ขึ้นในบางบริเวณของโลก
เช่น บริเวณขั้วโลกเหนือ จึงก่อให้เกิดความตื่นตัวที่จะป้องกันการลดลงของก๊าซ
Ozone อย่างจริงจัง
ในปี 2530 มีการร่างอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการป้องกันชั้นบรรยากาศ Ozone
มีการแสดงความร่วมมือในการวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และมีการจัดตั้งพิธีสารมอลทรีออล
(Mortreal Protocol) ว่าด้วยการควบคุมสารที่ทำลายชั้น Ozone และรณรงค์เพื่อให้ลดปริมาณการใช้สาร
CFC โดยมีการกำหนดระยะเวลาของการลดใช้สารคือ CFC ในปี 2536 ให้ลดลง 20% และปี
2541 ลดลงเหลือ 50% เป็นการคิดจากปี ฐานคือปี 2529 โดยขั้นต้นนี้มีประเทศที่ร่วมในพีธีสารนี้
11 ประเทศ
ปี 2532 ได้มีการกำหนดการเลิกใช้สาร CFC ในปี 2543 และมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นรวมเป็น
44 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การลดและเลิกใช้สาร CFC จะเป็นการพิจารณาจากระดับความพร้อมด้านต่างๆ
เช่น ความพร้อมของผู้ใช้สาร CFC ผู้ผลิตสาร CFC เป็นต้น
ดังจะพบว่าในปี 2533 ได้มีการปรับระยะเวลาให้เร็วขึ้น โดยลดลง 50% และ 85%
ในปี 2538 และ 2540 ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะมีความพร้อมจากผู้ใช้แลผู้ผลิตสาร
CFC นั่นเอง และในปี 2533 ยังได้กล่าวถึงการลดและเลิกใช้สาร HCFC (Hydrochloro
Fluoro Carbon) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่เกิน 2583
ล่าสุดเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2535 ได้ร่นระยะเวลาการเลิกใช้สาร CFC เข้ามาให้เร็วขึ้น
โดยลดลง 75% ในปี 2537 และเลิกใช้ในปี 2539 และสาร HCFC ก็ร่นระยะเวลาเช่นกัน
โดยการลดการใช้ลงเรื่อยๆ จนเลิกใช้ในปี 2537
ความพยายามที่จะลดและเลิกใช้สาร CFC ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Chiller)
ที่ใช้ในอาคารสำนักงานต่างๆ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องหาสารทำความเย็นชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้ทดแมนกันได้และไม่ทำลาย
Ozone ในชั้นบรรยากาศ ตลอดจนต้องมีประสิทธิภาพในการใช้งานทดแทนกันได้เป็นอย่างดีด้วย
สาร CFC ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่นี้ สาร CFC-11 และ CFC-12 เป็นสารทำความเย็นที่มีการใช้มากที่สุด
ความแตกต่างของการใช้สารทั้ง 2 นี้ขึ้นกับเทคโนโลยีในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่
หรือ Chiller ของแต่ละบริษัทโดยสารทำความเย็น CFC-11 จะมีความดันต่ำ และ
CFC-12 มีระดับความดันสูง การทดแทนสารทำความเย็นของสาร CFC-11 และ CFC-12
มีความจำเป็นต้องใช้สารที่แตกต่างกันด้วย โดย CFC-11 ทดแทนด้วย HCFC-123
และ CFC-12 ทดแทนด้วย HFC-134a
สารทดแทนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถลดอัตราการทำลายชั้นบรรยากาศ Ozone หรือที่เรียกว่า
Ozone Depletion Factors (ODF) ลงได้ โดย HFC-134a จะไม่ทำลายหรือมีผลต่อก๊าซ
Ozone เลย ทั้งนี้เพราะไม่มีปริมาณคลอรีนประกอบอยู่จึงทำให้ค่า ODF เท่ากับ
0 ขณะที่ HCFC-123 ยังคงมีค่า ODF เท่ากับ 0.02 อยู่ ทั้งนี้เพราะยังคงมีปริมาณคลอรีนประกอบอยู่
46.3% (CFC-11 มีคลอรีนเท่ากับ 77.4%) โดย CFC-11 มีค่า ODF เท่ากับ 1
เมื่อพิจารณาผลของสารทดแทนนี้ในการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือ Global
Warming Potencial (GWP) สาร HFC-134a จะมีค่า GWP สูงกว่า HCFC-123 ซึ่งถ้าพิจารณาเฉพาะผลของการทำลายก๊าซ
Ozone และตามวัตถุประสงค์ของพิธีสารมอลทรีออลที่พยายามลดและเลิกใช้สาร CFC
แล้ว ก็กล่าวได้ว่า HFC-134a เป็นสารที่สามารถใช้ทดแทนได้ดีและตรงตามวัตถุประสงค์ของพิธีสารมอลทรีออล
เพียงแต่มีค่า GWP สูงกว่าเท่านั้น
ในส่วนของการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นนี้ของ HFC-134a เกียรติวัฒน์ มณฑาพันธุ์
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พิโด้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้อธิบายว่า
"สาเหตุของการทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นจะเป็นผลทางตรง (Direct Effect)
จากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ผลของการใช้สาร CFC จะเป็นผลทางอ้อม
(Indirect Effect) ซึ่งระดับความรุนแรงของปัญหาไม่ได้มีมากเท่ากับผลทางตรง
ขณะเดียวกันปริมาณการแพร่กระจายของน้ำยาทำความเย็นในแต่ละระบบ ก็จะมีโอกาสการแพร่กระจายที่ต่างกัน
โดยสารทำความเย็นที่มีความดันต่ำ (CFC-11 หรือ HCFC-123) เมื่อรั่วออกสู่ภายนอกจะทำให้อากาศเข้าไปในเครื่อง
การจะใช้งานของเครื่องจะต้องดูดเอาอากาศที่เข้าไปออกมาก่อนซึ่งทำให้มีโอกาสที่สารทำความเย็นจะแพร่กระจายออกมาได้
ส่วนเครื่องที่ใช้สารทำความเย็นความดันสูง (CFC-12 หรือ HFC-123a) เมื่อเกิดการรั่วอากาศจากภายนอกจะไม่เข้าไปในเครื่อง
จึงไม่จำเป็นต้องดูดอากาศออก แต่ถ้ารั่วออกสู่ภายนอกเครื่องที่ใช้สารทำความเย็นที่มีความดันสูงจะมีวาล์วป้องกันการแพร่กระจายได้
โอกาสที่การแพร่กระจายของสารทำความเย็นจึงต่ำก่าสารทำความเย็นความดันต่ำ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากค่า GWP ของสาร HFC-134a ที่คำนวณค่าเป็นต่อหน่วยของสารทำความเย็นแล้วจะมีค่า
GWP สูง แต่ถ้าพิจารณาถึงโอกาสของการแพร่กระจายสู่ภายนอกแล้วมีโอกาสน้อยมาก"
ปัจจุบัน การนำสารทดแทนมาใช้แทนสารทำความเย็นเดิมในส่วนของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ได้มีการใช้แล้ว
สมเกียรติ ปณิธานธรรม ผู้จัดการแผนกเทคนิค บริษัท จาร์ดีน เทรน แอร์คอนดิชันนิ่ง
กล่าวว่า " Trane ได้นำเครื่อง Chiller ที่ใช้สารทำความเย็น HCFC-123
มาจำหน่ายตั้งแต่กลางปี 2535 ที่ผ่านมา และบางรุ่นของ Trane ที่จำหน่ายในบางประเทศก็ใช้สาร
HCFC-134a แต่สัดส่วนของเครื่องที่ใช้สาร HCFC-123 ของ Trane จะสูงกว่าการใช้สาร
HFC-134a
ระดับราคาของเครื่องที่ใช้สารทำความเย็น CFC-11 และ HCFC-123 ของ Trane
จะมีระดับราคาเท่ากัน ทั้งนี้เพราะระดับราคาของ CFC-11 และ HCFC-123 ไม่แตกต่างกันมาก
และเพื่อเป็นแรงจูงใจผู้บริโภคในการหันมาใช้สารทดแทนที่ช่วยลดมลพิษได้ ดังนั้นระดับราคาเครื่องของ
Trane จึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจของโครงการก่อสร้างที่จะเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นชนิดใดระหว่าง
CFC-11 และ HCFC-123
ขณะเดียวกันสาร CFC-11 และ HCFC-123 ซึ่งยังคงมีคลอรีนประกอบอยู่ก็จะถูกลดปริมาณการใช้
และจะเลิกใช้เกือบทั้งหมดในปี 2563 ซึ่งในส่วนนี้ยังคงเป็นผลกระทบในระยะยาว
เพราะอายุการใช้งานของเครื่อง Chiller เฉลี่ยประมาณ 20 ปี ดังนั้น เครื่อง
Chiller ที่ติดตั้งภายใน 10 ปีนี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเลิกใช้สาร HCFC-123
ในอนาคตอย่างไร"
ในส่วนของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ใช้สารทำความเย็น HFC-134a ซึ่งไม่มีผลเสียต่อการทำลาย
Ozone หรือมีค่า ODF เท่ากับ 0 จะมีระดับราคาของเครื่องสูงกว่าการใช้ CFC-12
ทั้งนี้เพราะสาร HFC-134a มีระดับราคาที่สูงกว่า CFC-12 ประมาณ 10 เท่า (แต่ก็มีแนวโน้มที่ระดับราคาจะลดลงในอนาคต)
การตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ของแต่ละโครงการ ความจำเป็นด้านงบประมาณจะมีส่วนในการตัดสินใจที่สำคัญ
แต่ขณะเดียวกันผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือความรับผิดชอบต่อสังคมอาจจะไม่ได้รับความสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับผลของค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี้
ซึ่งการที่ระดับราคาของการใช้สาร HFC-134a สูงกว่า HCFC-123 จึงทำให้เป็นอุปสรรคประการหนึ่งของการจำหน่ายเครื่องชนิดนี้
ตัวแปรที่สำคัญในการเลือกใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ จึงได้แก่ระดับราคาของสารทำความเย็น
การพิจารณา ณ ปัจจุบัน ระดับราคาของ HFC-134a ยังสูงกว่า HCFC-123 ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิต
HFC-134a ยังคงสูงอยู่ อันเนื่องมาจากปริมาณการใช้ยังต่ำอยู่ แต่ถ้าปริมาณการใช้ที่สูงขึ้นก็ควรที่จะมีระดับราคาที่ลดลง
ความพยายามลดและเลิกใช้สารทำความเย็นที่มีผลในการทำลายก๊าซ Ozone ด้วยมาตรการต่างๆ
ของแต่ละประเทศส่งผลให้ประมาณการภายในอนาคตว่า ระดับราคาของสาร CFC-11 และ
CFC-12 จะสูงขึ้น
ปี 2538 ระดับราคาของ CFC-12 และ HCF-134a จะเท่ากัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ตามการประมาณการแล้ว
ระดับราคาของสารทำความเย็น CFC-12 และ HCF-134a ก็จะไม่เป็นตัวแปรในการเลือกใช้อีกต่อไป
หากแต่ระดับราคาของ HFC-134a ก็จะมีแนวโน้มที่ลดลงไปอีก
ในส่วนของ CFC-11 และ HCFC-123 ก็มีแนวโน้มที่ระดับราคาจะเท่ากันในปี 2536
และ HCFC-123 ก็จะมีระดับราคาที่ลดลงอีก แต่ทั้งนี้ HCFC-123 ก็ยังจะถูกจำกัดและเลิกใช้ลง
ดังนั้น ถ้ายังไม่มีสารทดแทนชนิดอื่นนอกจาก HCFC-123 และ HFC-134a แล้ว
แนวโน้มในส่วนของผู้ผลิตสารทำความเย็น เช่น บริษัทดูปองท์ (Dupont) และบริษัท
ไอซีไอ (ICI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสารทำความเย็นที่สำคัญของดลกก็มีแนวโน้มที่จะผลิต
HFC-134a มากขึ้น
บริษัท ดูปองท์ มีดรงงานผลิตสาร HFC-134a อยู่ 3 แห่ง และผลิต HCFC-123
เพียง 1 แห่ง บริษัทไอซีไอ มีโรงงานผลิตแต่สาร HCF-134a ทั้งหมด 4 แห่ง ณ
ข้อมูลปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าภายในอนาคตสารทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้สาร
HFC-134a มากขึ้น
นอกจากนี้ สาร CFC ยังใช้ในเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ โดยใช้ CFC-12 ดังนั้นการทดแทนจึงต้องทดแทนด้วย
HFC-134a ซึ่งได้มีผู้ผลิตรถยนต์ในต่างประเทศได้เริ่มนำสาร HFC-134a มาใช้ทดแทนบ้างแล้ว
ในส่วนของตู้เย็น สาร CFC จะอยู่ในส่วนของคอมเพรสเซอร์ ซึ่งก็จะต้องใช้สารทดแทนเช่นกันโดยเป็นการใช้สาร
HCFC-123 ผู้ผลิตเครื่องคอมเพรสเซอร์บางรายในประเทศศ ได้ผลิตด้วยการใช้สารทดแทนแล้ว
เช่น SUNYO ขณะที่เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้ภายในบ้านยังคงใช้สารทำความเย็น
HCFC-22 ยังไม่มีการทดแทนเพราะยังไม่สามารถหาสารที่จะทดแทนได้ในปัจจุบัน
ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการลดและเลิกใช้สาร CFC สาเหตุหนึ่งคือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคยังน้อยอยู่
ในขณะที่หลายๆ ประเทศได้ให้ความสนใจในการนี้อย่างจริงจัง และประเทศสมาชิกในพิธีสารมอลทรีออลก็จะไม่นำเข้าสินค้าที่มีส่วนของ
CFC ประกอบอยู่ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยเริ่มต้นช้าก็จะเป็นข้อเสียเปรียบในทางการค้าระหว่างประเทศอีกประการหนึ่งด้วย
สำเร็จ โชติมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิโด้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ต้องการให้ความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องของการเลิกใช้สาร
CFC และขณะเดียวกันก็ต้องการมีส่วนในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ผมเคยจัดการสัมมนาเกี่ยวกับสาร
CFC มาแล้ว 2 ครั้ง โดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาร
CFC แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังได้อธิบายเกี่ยวกับอุปสรรคของการเลิกใช้
CFC ว่า การยกเลิกในทันทีจะทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคก่อน
การร่วมรณรงค์ที่ผ่านมาจะเป็นบทบาทของภาคเอกชนเป็นส่วนมาก ควรที่จะมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องและมีความเป็นกลาง
เพราะขณะที่ผู้บริโภคยังขาดความเข้าใจอยู่ ในอนาคตเมื่อมีการเลิกใช้สาร CFC
จะเป็นความสูญเปล่าที่เลือกใช้สารทดแทนที่ไม่ถูกต้อง
ผมคิดว่าแนวทางหนึ่งของการเลิกใช้ CFC อย่างมีประสิทธิภาพคือการใช้มาตรการด้านภาษี
ควรให้มีความแตกต่างของภาษีระหว่าง CFC และสารทดแทนมากๆ เพื่อที่จะจูงใจผู้บริโภคเลือกใช้สารทดแทน
ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้ใดจะคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนักเนื่องจากเป็นสิ่งที่ไกลตัว
จึงควรมีสิ่งจูงใจที่ผู้บริโภคจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง"
ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการเพื่อขอความสนับสนุนการยกเว้นอากรนำเข้า
สารทำความเย็นที่รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสมาชิก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเลิกใช้สาร
CFC สำหรับเครื่องปรับอากาศในรถยนต์เปลี่ยนมาใช้สาร HFC แทน และการที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันตามพิธีสารมอลทรีออล
ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในการลดและเลิกใช้สารทำลาย Ozone จากธนาคารโลก
ทั้งนี้เพื่อให้ความพยายามที่จะลดและเลิกใช้ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้