- ไอดีซี วิเคราะห์ตลาดไอซีทีไทยปีหมูทองยังโต 17% มูลค่าแตะ 2.4 แสนล้าน
- ตลาดโทรคมนาคมไทยครองสัดส่วนเม็ดเงินถึง 1.4 แสนล้าน ขณะที่ตลาดโน้ตบุ๊กพยุงตลาดพีซีโตต่อเนื่อง
- ไร้ปัจจัยลบกระทบอุตสาหกรรมโดยรวม "การเมือง-ราคาน้ำมัน" ไม่ได้แอ้ม
เป็นธรรมเนียมช่วงปลายปีต่อต้นปีของอุตสาหกรรมไอทีไทยที่บริษัทวิจัยตลาดจะต้องออกโรงมาสรุปภาพรวมในปีที่ผ่านมากับวิเคราะห์แนวโน้มตลาดในปีต่อๆ ไปว่าเป็นอย่างไร
บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยตลาดไอซีทีที่มีสำนักงานในประเทศไทยได้จัดการประมวลทิศทางไอซีที ปี 2550 ขึ้นมา โดยที่ทาง เจฟฟี่ แซ่อึ้ง ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์ตลาดด้านไอทีในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกปีหน้าว่า จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.6% ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อสร้างตลาดใหม่ โดยอุปกรณ์สื่อสารประเภทสมาร์ท แฮนด์เฮลด์ ดีไวซ์ (เอสเอชดี) เป็นตัวผลักดันตลาดเนื่องจากราคาเครื่องลูกข่ายลดลงทำให้เป็นแรงจูงใจผู้บริโภค
"ซอฟต์แวร์ยังเป็นตัวผลักดันให้ตลาดในปีหน้า ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% ตามด้วยฮาร์ดแวร์ประมาณ 6.5% และบริการไอทีจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่เปลี่ยนแปลง จากปีที่ผ่านมา คือ อยู่ที่ประมาณ 6% โดยเฉพาะการออกระบบปฎิบัติการใหม่ที่ชื่อว่า "วิสต้า" จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อพีซีในปี 2550 สำหรับประเทศไทย ไอดีซีเชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตด้านไอซีทีประมาณ 17% โดยบริการด้านไอทียังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ตามด้วยตลาดฮาร์ดแวร์ประมาณ 15.4% และตลาดซอฟต์แวร์ประมาณ 11%"
ส่วนปัญหาราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมา เจฟฟี่ มองว่า เป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งทางไอดีซีอาจจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2550 เพื่อตรวจทานผลวิจัยว่า จะมีผลกระทบต่อการคาดการณ์หรือไม่
"สำหรับตลาดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ภาพโดยรวมในปี 2550 จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ตลาดรวมมีอัตราการเติบโต 10% จะมีมูลค่าตลาดเติบโตถึง 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีอัตราการเติบโต 8.4%"
ทรัพย์ทวี ไชยสมบูรณ์ นักวิเคราะห์ตลาดส่วนฮาร์ดแวร์มองถึงตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือพีซีโดยรวมในปี 2549 ณ ไตรมาสที่ 3 ถือว่ายังคงมีการเติบโต แม้ว่าจะมีสถานการณ์ภายนอกมากระทบต่อยอดการซื้อก็ตาม ทั้งนี้ได้แรงซื้อจากตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ช่วยทำให้มียอดการขายเติบโต ขณะที่ตลาดคอมเมอร์เชียล เดสก์ท็อปยังคงเดินหน้าจากโครงการภาครัฐบางส่วน ตลาดพีซีโดยรวมในปี 2549 โตขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 24% คิดเป็นจำนวน1,500,000 เครื่อง
"คาดว่า ในปี 2550 ตลาดพีซีคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝั่งผู้บริโภคที่ยังคงมีความต้องการสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ขณะที่ภาครัฐบาลและเอกชนยังคงมีการขยายตัวเช่น กลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคาร
ทรัพย์ทวี ยังบอกว่า ปี 2550 ในส่วนของตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือประมาณ 1,700,000 เครื่อง และในปี 2551 จะเติบโต 32% เนื่องจากการลดราคาของสินค้าและความต้องการของผู้บริโภคมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น
ตลาดโน้ตบุ๊กมีการขยายตัว และโครงการประมูลเครื่องพีซีรวมถึงงบเบิกจ่ายของภาครัฐ สำหรับโน้ตบุ๊กเองปี 2549 เติบโตขึ้น 21% มีจำนวน 550,000 เครื่องและจะเติบโตในปี 2550 ประมาณ 25% ส่วนปี 2551 จะเติบโต 32% เพราะผู้ใช้ยังมีความต้องการ เนื่องจากสะดวกสบายในความเป็นโมบิลิตี้
"ตลาดพรินเตอร์และอุปกรณ์มัลติฟังก์ชั่นในปี 2549 ที่ผ่านมานั้น ตลาดรวมปีนี้หากมองถึงขนาดของตลาดจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1,270,000 ยูนิต ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.5% เนื่องจากตลาดอิงก์เจ็ตพรินเตอร์เริ่มอิ่มตัวและแรงซื้อในส่วน เอ็นทรี เลเวล โมเดลที่ย้ายไปสู่อุปกรณ์ชนิดอื่นอย่างอิงก์เจ็ต มัลติฟังก์ชั่น แต่ถ้ามองถึงมูลค่าจะโตขึ้น 3.2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 187,300,000 ล้านบาท" วรเจตน์ เจริญนิช นักวิเคราะห์ตลาดส่วนฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ไอดีซีคาดการณ์ว่าในปี 2550 ตลาดโดยรวมจะกลับมาเติบโตอีกครั้งด้วยแรงส่งจากปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะตลาดในส่วนของอิงก์เจ็ต มัลติฟังก์ชั่นที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยคาดหมายว่าน่าจะเติบโตขึ้นมากถึง 29% หรือประมาณ 420,000 เครื่องเลยทีเดียว ด้วยแรงซื้อที่ย้ายมาจากตลาดอิงก์เจ็ตพรินเตอร์ ขณะที่เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นจะมีอัตราการเติบโตอยู่ 18% หรือประมาณ 29,000 เครื่อง
เวทจารี ภัทรปฏิการ นักวิเคราะห์ตลาดส่วนฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงตลาดอุปกรณ์พกพาให้ฟังว่า ในปี 2549 ภาพรวมตลาดคอมพิวเตอร์มือถือในประเทศไทยเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จากปีที่แล้วที่มองว่า จะมีการเติบโตสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 28.2% ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตและมีส่วนแบ่งภายในตลาดสูงสุด ส่วนตลาดคอมพิวเตอร์พกพาที่เน้นการใช้งานด้านเสียงเป็นหลักหรือวอยซ์ เซนทริก คอมพิวเตอร์พกพารุ่นใหม่ๆ มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เรียกว่า สมาร์ทโฟนรวมอยู่ด้วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนตลาดนี้สูงถึง 90.9% รองลงมาเป็นตลาดพีดีเอโฟนที่มุ่งใช้งานด้านข้อมูลหรือดาต้า-เซนทริกมีส่วนแบ่งประมาณ 8.0% ในส่วนของผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์มือถือที่ใช้ปากกาในการสั่งงานหรือเพนเบสมีการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้วโดยมีส่วนแบ่งในปีนี้อยู่ที่ 1.1%
"ตลาดคอมพิวเตอร์พกพาหรือแฮนด์เฮลด์ ดีไวซ์ในปี 2549 เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 1,688,096 เครื่อง โดยแนวโน้มกลุ่มคอมพิวเตอร์มือถือนี้จะมีการเติบโตโดยเฉลี่ย 5 ปีระหว่างปี 2548-2553 อยู่ที่ 16.1% หากคิดเป็นจำนวนเครื่องคาดว่าอาจมีสูงถึง 2,500,000 เครื่องภายในปี 2553 ส่วนกลุ่มคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้ส่งข้อมูลเป็นหลักในปี 2550 เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุด 26% หรือเกือบ 160,000 เครื่อง ขณะที่ปี 2549 มีอยู่ประมาณ 150,000 เครื่อง ส่วนคอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้ปากกาสั่งงานในปีนี้เชื่อว่าจะโตประมาณ 20.9% หรือประมาณ 12,000 เครื่อง และกลุ่มที่ใช้เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตน้อยที่สุด 8.1% แต่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานตลาดสูงสุดซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,500,000 เครื่อง
ทั้งนี้ ไอดีซีได้คาดการณ์ว่า ในอนาคต ตลาดของพีดีเอจะหดตัวลงเพราะถูกกลืนจากโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างช้าๆ และหมดความนิยมลงเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ไอดีซีได้คาดการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์มือถือจะยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งไปจนถึงปี 2554 อยู่ในระดับ 16.1% โดยมีตลาดของวอยซ์ เซนทริกเป็นตัวผลักดันยอดขายให้ตลาดโดยรวมมีการเติบโต
แอชริยา คาพูร์ นักวิเคราะห์ตลาดซอฟต์แวร์ บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า สถานการณ์ตลาดซอฟต์แวร์ไทย 2 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตที่ใช้ได้ทีเดียว โดยในปี 2549 มีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 326.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 10% และโตขึ้นจากปี 2547 ถึง 28% สำหรับมูลค่าของตลาดในแต่ละส่วนนั้นแบ่งได้เป็นยอดของตลาดแอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ 40% แอปพลิเคชั่น ดิพลอยเมนต์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนต์ซอฟต์แวร์ 21% และซิสเต็มส์ อินฟราสตรักเจอร์ ซอฟต์แวร์ 39%
ส่วนการเติบโตในอนาคตนั้น ไอดีซี คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2549-2553 อยู่ที่ 12% และน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 508.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 ซึ่งแนวโน้มตลาดซอฟต์แวร์ที่จะเด่นชัดปีหน้า ในกลุ่มธนาคารและการเงินจะลงทุนเพื่อทำตามกฎระเบียบทั้งบาเซิล ทูและซาร์บานส์ ออกซ์เลย์
ขณะที่เทคโนโลยีที่มาแรงจะมุ่งลงทุนผลักดันการใช้งานสถาปัตยกรรมระบบซ็อกซ์หรือ sox โดยเจ้าของเทคโนโลยีจะสร้างการตื่นตัวให้รับรู้สินค้า การใช้อาร์เอฟไอดีที่เริ่มมีการนำไปใช้ในโครงการนำร่อง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ และการสื่อสารเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือวอยซ์โอเวอร์ไอพี ซึ่งคาดว่าจะมาแทนการใช้ระบบโทรศัพท์พื้นฐาน หรือพีเอสทีเอ็น
อรรถพล สาธิตคณิตกุล นักวิเคราะห์ตลาดส่วนงานบริการไอที บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์ตลาดบริการไอทีในปี 2549 ว่า มูลค่าตลาดบริการไอทีในปีนี้อยู่ที่ 26,040 ล้านบาท ประกอบด้วยบริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี 39% ตลาดบริการด้านบริการติดตั้งควบรวมระบบครบวงจร และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 38% และตลาดไอทีเอาต์ซอร์สซิ่ง 23%
"ปี 2549 เป็นปีที่บริการเอาต์ซอร์สซิ่ง เติบโตสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการจ้างบริการไอทีจากบริษัทภายนอกมากขึ้น แต่เน้นการพัฒนาเฉพาะส่วนงานจะมีมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อปี 2548 ตลาดเอาต์ซอร์สซิ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 5,000 ล้านบาท"
อรรถพล ยังคาดการณ์ตลาดในปี 2550 ไว้ว่า ตลาดบริการไอทีในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตกว่าปีที่แล้ว 24% มีมูลค่าตลาดโดยประมาณ 801.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2551 จะมีอัตราการเติบโตกว่าปี 2550 ประมาณ 13% คิดเป็นมูลค่าตลาดอยู่ที่ 911.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แนวโน้มตลาดบริการไอทีจะเริ่มเห็นรูปแบบการให้บริการด้านที่ปรึกษาโซลูชั่นความปลอดภัย ที่จะทำให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และบริษัทผู้ให้บริการด้านสื่อสาร จะเคลื่อนเข้าให้บริการเป็นไอซีที โซลูชั่น โพรไวเดอร์ให้กับลูกค้า รวมถึงกระแสของการคอนเวอร์เจนซ์ธุรกิจก็จะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ โดยเฉพาะโมบายแอปพลิเคชั่น
ตลาดหลักที่มีการใช้บริการไอทีอันดับต้นๆ ยังเป็นกลุ่มสถาบันการเงินและธนาคารที่ต้องลงทุนปรับระบบให้รองรับระเบียบใหม่ๆ อย่างบริหารความเสี่ยง ซึ่งกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดรวม และตลาดภาครัฐที่ใช้จ่ายกว่า 1 ใน 6 ของตลาด ซึ่งคาดว่าตลาดภาครัฐในครึ่งปีหลัง อาจใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากอาจไม่มีโครงการรัฐใหม่ๆ ในปีงบประมาณ 2551
ทวีสิทธิ์ กุลองคณานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสส่วนโทรคมนาคม บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ตลาดบริการโทรคมนาคมในประเทศไทยปีที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 2.17 แสนล้านบาท โดยตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสัดส่วนประมาณ 65% และตลาดโทรศัพท์พื้นฐานหรือฟิกซ์ไลน์ประมาณ 35% โดยมูลค่าตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะสูงถึง 140,000 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้ใช้ประมาณ 30 ล้านรายปีนี้ ขณะที่มูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตจะอยู่ประมาณ 11,750 ล้านบาท ซึ่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์มีสัดส่วนมากถึง 69% และแนโรว์แบนด์ 32%
ในส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเติบโตจากปีที่ผ่านมา 6.5% และไอดีซีคาดว่าปี 2550 จะมีมูลค่า 7,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีอัตราเติบโต 7.2% และในปี 2551 จะมีมูลค่าราว 7,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังครองสัดส่วนสูงที่สุดมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายทั้งหมด
สำหรับงานบริการด้านโทรคมนาคม ในปี 2550 จะมีจำนวนผู้ใช้งานในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านเลขหมายจากปัจจุบันที่มีประมาณ 30 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีอัตราการเติบโต 16.2% เมื่อเทียบกับปี 2549 เป็นผลมาจากการออกโปรโมชั่นของโอเปอเรเตอร์ที่ให้ค่าบริการถูกลง และยังคงมีการหาลูกค้าในลักษณะแจกซิมการ์ดฟรีอยู่ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มอัตราผู้ถือ 2 เลขหมายเพิ่มขึ้น ไปจนปี 2553
สำหรับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้บริการผู้บริโภคอย่างครบวงจร
ทางด้านตลาดบริการโทรคมนาคมนั้นคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี 39% บริการติดตั้งควบรวมระบบครบวงจร และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 38% และการรับจ้างบริหารระบบงานไอที 23%
ขณะที่ประมาณการมูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2550 จะเติบโตขึ้น 24% เป็น 801.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวอีก 13% ในปี 2551 ด้วยมูลค่า 911.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตจากปีที่ผ่านมา 6.5% และไอดีซีคาดว่าปี 2550 จะมีมูลค่า 7,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโต 7.2% และในปี 2551 จะมีมูลค่าราว 7,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังครองสัดส่วนสูงที่สุดมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายทั้งหมด
ปี 2550 การใช้จ่ายตลาดไอทีไทยทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการ ไม่รวมสื่อสาร จะเติบโตจากปี 2549 ราว 17% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยถือเป็นอัตราเติบโตอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รองจากจีนที่เติบโต 32% และอินเดีย 23%
ขณะที่ปีนี้คาดว่าการใช้จ่ายไอทีจะอยู่ที่ประมาณ 3.4 พันล้านดอลลาร์ โตจากปีที่ผ่านมา 12% ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากครึ่งปีหลัง ที่มีกำลังซื้อตลาดคอนซูเมอร์ และการใช้จ่ายงบประมาณปี 2549 ของภาครัฐที่ไม่ได้ปรับลดลง
ส่วนการเติบโตหลักปีหน้า จะมาจากอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และความต้องการหลักการจัดซื้ออุปกรณ์พกพาหรือแฮนด์เฮลด์ ดีไวซ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สามารถเป็นทั้งโทรศัพท์และส่งข้อมูลได้ในเครื่องเดียว ซึ่งคาดการณ์ตลาดรวมจะสูงกว่า 1.5 ล้านเครื่อง มีการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี ราว 16.1%
ตัวเลขมูลค่าตลาดดังกล่าว จัดทำเมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งไม่ได้รวมการเปลี่ยนแปลงปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน และการเมืองเข้ามา อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จะมีผลกระทบน้อยมาก และสภาพการเมืองที่รัฐบาลออกมาให้ความชัดเจนเรื่องจุดยืน และย้ำให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ยังมีการลงทุนในภาคเอกชนต่อเนื่องและราคาน้ำมันก็มีเสถียรภาพมากขึ้น
"ส่วนที่น่ากังวลก็คือ ในครึ่งปีหลังของปี 2550 อาจมีการชะลอการใช้จ่ายของรัฐ เพราะไม่ค่อยมีโครงการใหม่ๆ ออกมา เนื่องจากไม่มีโครงการประชานิยมเหมือนรัฐบาลที่แล้ว"
ขณะที่ในส่วนของตลาดสื่อสารไทยและทั่วโลกจะเติบโตไม่สูงมากนัก เนื่องจากจำนวนผู้ใช้มือถือต่อประชากรค่อนข้างสูงแล้ว หากมีการลงทุนเทคโนโลยี 3 จี พฤติกรรมประชากรก็จะใช้บริการเสียงมากกว่าบริการเสริมหรือนอนวอยซ์ ส่วนนโยบายอินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ และภาษีสรรพสามิต ก็เป็นต้นทุนที่ผู้ให้บริการรวมไว้อยู่แล้ว
ตลาดเอนเตอร์ไพรซ์ โมบิลิตี้ ปี 2549 มีมูลค่า 526.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2550 จะอยู่ที่ 645.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2551 จะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 754.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีเรื่องของโมบายอีเมลเป็นจุดขาย
ตลาดโมบายมิวสิกเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ไอดีซีประเมินว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการสูง โดยในปี 2549 มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 18.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีหน้า 21.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2551 อยู่ที่ 23.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีริงโทนและริงแบ็กโทนโตสูงสุด ขณะที่ฟูลแทร็ก มิวสิกเพิ่งเริ่ม
ส่วนตลาดเกมออนไลน์ ปีนี้ไอดีซีคาดว่าจะมีผู้เล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 19% จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 12.07 ล้านคน คิดเป็นมูลค่า 43.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2550 จะมีประมาณ 20% จากยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่คาดว่าจะมีประมาณ 13 ล้านราย และปี 2551 คาดว่าจะมีผู้เล่นเกมอยู่ที่ 21% จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็นมูลค่า 64.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยมาจากการพัฒนาเรื่องของโลคัลคอนเทนต์ และการคิดค้นเกมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
|