Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์8 มกราคม 2550
เจาะไฮไลท์ประเด็นสื่อปีจอ             
 


   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

   
search resources

ไอทีวี, บมจ.
News & Media




ผ่านปีแห่งความยากลำบากปีหนึ่งของคนไทย มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2549 ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศ แต่ในธุรกิจสื่อ หลากเรื่องราวที่เกิดขึ้น "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ประมวญ 3 เหตุการณ์สำคัญในรอบปีจอ ที่ต้องจารึกไว้ประวัติศาสตร์วงการสื่อ

แฟชั่นใหม่วงการวิทยุ ขาใหญ่ "คืนคลื่น"

การตลาดไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว บางครั้งการมีสินค้ามากกว่า หมายถึงแต้มต่อของเครื่องมือแสวงหารายได้ที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่ในบางเวลาเครื่องมือที่มีมากกว่าคู่แข่ง กลับกลายเป็นตัวถ่วงการเติบโตขององค์กร เป็นภาพที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสื่อวิทยุในปีนี้

ย้อนเวลากลับไป 2-3 ปี สื่อวิทยุเป็นดาวเด่นที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คลื่นวิทยุถูกจัดสรร แบ่งกลุ่มผู้ฟัง คลื่นเพลงวัยรุ่น คลื่นเพลงสบาย คลื่นข่าว คลื่นกีฬา ฯลฯ สร้างกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ดึงดูดให้สินค้า และบริการหันมาเทงบลงสปอตวิทยุอย่างคึกคัก องค์กรใหญ่ในวงการบันเทิง ทั้งจีเอ็มเอ็ม อาร์เอส บีอีซี ต่างขยับขึ้นสู่กลุ่มผู้นำในธุรกิจ ผ่านบริษัทลูกอย่าง เอ-ไทม์ มีเดีย สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค และเวอร์จิ้น วิ่งเข้าจับจองคลื่นความถี่วิทยุจากหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของ ชิงความเป็นเจ้าตรงที่ใครถือครองคลื่นมากกว่า

แต่ดูเหมือนตลาดทุนนิยมสุดโต่งของวงการวิทยุจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อสภาพเศรษฐกิจเริ่มถดถอย สื่อส่งสัญญาณหดตัว ปลายปี 2548 เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) เจ้าของสัมปทานคลื่น Smooth FM 105 MHz ก็ประกาศยุบคลื่นคืนให้กับกรมประชาสัมพันธ์ เชษฐ มังคโลดม กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงเหตุผลสั้น ๆ ว่า "วิทยุวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน การมีสัมปทานมากเป็นภาระ"

ตลาดที่ประกอบด้วยผู้แข่งขันมากหน้าหลายตา รายใหญ่ เงินทุนหนา และรายเล็ก ๆ อีกนับสิบ กระจายกันบริหารคลื่นวิทยุกว่า 40 คลื่น เมื่อถึงวันที่ตลาดรวมเติบโตลดลง การแข่งขันเพื่อแย่งชิงผู้ฟังจึงรุนแรงขึ้น ผู้ฟังที่เคยร่วมสนุกกับโปรโมชั่นของรายการวิทยุ ได้รางวัลเป็นบัตรชมภาพยนตร์ ของที่ระลึก บัตรชมคอนเสิร์ตรอบพิเศษ กลายเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวเอ็กซ์คลูซีฟ เติบโตเป็นรถยนต์ และกลายเป็นเจ้าของห้องพักคอนโดหรู จนถึงบ้านเดี่ยวหลังโต และสุดท้ายกลายเป็นภาระการแข่งขันที่เจ้าของคลื่นวิทยุแบกรับไว้ไม่ไหว

เข้าสู่ปี 2549 จีเอ็มเอ็ม มีเดีย หรือในชื่อเดิม เอ-ไทม์ มีเดีย ยักษ์ใหญ่ของวงการวิทยุ แม้จะเปิดตัวด้วยความก้าวหน้า โดยนำคลื่น Peak FM 88 MHz ที่มีอยู่ในมือ เข้าร่วมโครงการกับพันธมิตร อาร์.เอ็น.ที เทเลวิชั่น ของ รวมนคร ทับทิมธงไชย เชื่อมต่อสู่การบริการวิทยุบนรถประจำทางในชื่อ Buzz FM แต่ยังไม่ทันที่บริการจะสมบูรณ์เต็มที่ ผ่านไปเพียง 2 เดือน สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เอ็มดี จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ก็ประกาศยุติความร่วมมือ พร้อมคืนคลื่นความถี่ 88 MHz กลับให้กับกรมประชาสัมพันธ์ก่อนหมดสัญญา โดยให้เหตุผลที่ดูเด็ดขาดในการทำธุรกิจ คือ อาร์.เอ็น.ที.ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์บนรถเมล์ได้ครบ 7 พันคันตามกำหนด ทั้งที่ความจริงคือ ฝ่ายโฆษณาหาลูกค้าไม่ได้

ยังไม่ทันผ่านครึ่งปีแรก "ดีเจพี่ฉอด" สายทิพย์ ก็ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวอีกรอบ ภายหลังความวุ่นวายจากกรณีปิดคลื่นข่าว Open Radio 94 MHz ที่ออกอากาศเพียง 5 เดือน หันไปทำคลื่นเพลง ด้วยเหตุผลรับภาระขาดทุนต่อเนื่องไม่ไหว สร้างความงุนงงให้กับคนวิทยุว่าเป็นปัญหาทางธุรกิจหรือปัญหาทางการเมือง แต่ไม่นานจากนั้น จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ก็เผยให้เห็นถึงสภาพที่เป็นจริงของสื่อวิทยุในปัจจุบัน เมื่อตัดสินใจคืนคลื่นความถี่ที่ 2 FM 93.5 MHz ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมโยกรูปแบบรายการ EFM มาไว้ที่คลื่น 94 MHz แทน

สายทิพย์ กล่าวในเวลานั้นว่า เป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรม ทั้งคลื่นเอนเตอร์เทนเมนท์ และคลื่นข่าว ที่มีรายได้จากโฆษณาลดลง ไม่เพียงแต่กับจีเอ็มเอ็มมีเดียเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกราย และครึ่งปีหลังก็ยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ธุรกิจสื่อวิทยุเติบโตได้

และก็คงเป็นจริงอย่างที่สายทิพย์ว่า ข้ามผ่านมาถึงครึ่งปีหลัง ค่ายวิทยุไฟแรง สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ในเครืออาร์เอส ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในรอบ 2 ปี จนสามารถประกาศความเป็นผู้นำในคลื่นเพลงฟังสบาย Cool FM 93 MHz ครองความเป็นผู้นำเหนือ Green Wave จากฝั่งจีเอ็มเอ็ม รวมไปถึงคลื่นอื่น ๆ อีก 3 คลื่นที่มีฐานผู้ฟังใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร สุรชาติ ตั้งตระกูล อำลาไป คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ หลานชาย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เข้ามานั่งแทนที่ งานแรก ๆ ที่หนุ่มกวง คมสันต์ ดำเนินการคือ การคืนคลื่น 90 MHz คืนแก่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยผู้บริหารหน้าใหม่รายนี้ ยอมรับโดยดีว่า 90 Mix FM ไม่มีรายได้ เรตติ้งไม่ดี แม้บริษัทจะพยายามทำการตลาดเพียงใด ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

"เฮียฮ้อ" สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส แสดงความเห็นพ้องในสิ่งที่หลานชายทำไปว่า เป็นการทำให้องค์กรฟิตและเฟิร์มขึ้น ไขมันน้อยลง การคืนคลื่น Mix FM ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และดีกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

แล้วการตลาดของธุรกิจสื่อวิทยุ ก็สลัดพ้นจากภาพทุนนิยมได้ในระดับหนึ่ง วาสนพงษ์ วิชัยยะ ผู้บริหารคลิก เรดิโอ มองว่า นี่คือภาพรวมของสื่อวิทยุที่กำลังเดินหน้า และน่าจะรวดเร็วกว่าสื่อโทรทัศน์ วิทยุไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเหมือนก่อน แต่มีการกระจายกลุ่มผู้ผลิตออกไปในแนวกว้าง แน่นอนว่า ธุรกิจนี้คงไม่ทำให้บริษัทใดร่ำรวยได้เหมือนอดีตที่มีอยู่เพียง 1 หรือ 2 ราย แต่ทุกคนเป็น 1 ใน 20 ราย รายได้น้อยลง แต่สนุกมากขึ้น และจะทำให้สื่อวิทยุพัฒนาไปได้มากขึ้น

ไอทีวี - อสมท. วิกฤตสื่ออิงธุรกิจการเมือง

แม้จะมีจุดก่อกำเนิดที่ต่างกัน แต่หากสื่อที่ถูกจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะ ถูกครอบงำโดยผลประโยชน์ทางธุรกิจ บทลงท้ายคือความล่มสลายของสถาบันสื่อเหมือน ๆ กัน

อภิมหาค่าปรับ 97,760 ล้านบาท ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ไอทีวี จ่ายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายในเหตุทำผิดสัญญาสัมปทาน เป็นเรื่องราวที่มีจุดกำเนินเมื่อราว 15 ปีก่อน ที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ทราบเรื่องราว หรือจดจำที่มาไม่ได้ จนดูตัวเลขค่าปรับที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ เป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับไอทีวีตามที่ผู้บริหาร และพนักงานไอทีวีบางส่วนพยายามดิ้นรน

ทีวีเสรี ไอทีวี เริ่มเดินออกนอกเส้นทางสื่อเสรี ตั้งแต่ประกาศผลการประมูลผู้ได้รับสัมปทานดำเนินการ เงื่อนไขการประมูลภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าผลตอบแทนสูงสุดเป็นหลัก กลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ที่มีแกนนำคือธนาคารไทยพาณิชย์ ยื่นเสนอในวงเงิน 25,200 ล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี คิดเป็นผลประโยชน์ที่ต้องจ่ายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) คู่สัญญา ปีละ 840 ล้านบาท มากกว่าเงินสัมปทานที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 จ่ายถึง 610 ล้านบาท ทั้งที่ไอทีวีจะต้องดำเนินการเป็นสถานีข่าวเป็นหลัก เน้นรายการข่าว และสาระ 70% โดยเฉพาะช่วงเวลาไพร์มไทม์ (19.00-21.30 น.)

เมื่อโครงสร้างของการบริหารทีวีเสรีผิดเพี้ยน ผลที่ตามมาคือผลขาดทุนสะสม เปิดดำเนินงาน 4 ปี มีขาดทุนสะสม 2,000 ล้านบาท และมีหนี้สินอยู่ 4,000 ล้านบาท ทั้งที่ทุนจดทะเบียนเพียง 1,000 ล้านบาท ท้ายที่สุดไอทีวี ก็เปลี่ยนมือเข้าสู่ธุรกิจในกลุ่มชินวัตร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น

ความผิดเพี้ยนเริ่มทวีความรุนแรง เมื่อกลุ่มชินวัตรมีนโยบายนำไอทีวีเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนครั้งนี้ การแต่งตัวปรับภาพไอทีวีจากบริษัทที่จมอยู่กับหนี้สิน กลายเป็นบริษัทที่เปี่ยมศักยภาพในการทำกำไรจึงเกิดขึ้น เมื่อไอทีวีร้องขอตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยปรับลดค่าตอบแทน จากปีละ 840 ล้านบาท เหลือเพียง 230 ล้านบาท เท่ากับช่อง 7 สี และขอปรับสัดส่วนการออกอากาศรายการข่าว และสาระ ต่อรายการบันเทิง เป็น 50 : 50 ผลการวินิจฉัยเป็นไปตามการร้องขอของไอทีวี ด้วยเหตุผลที่ว่า สปน.ผิดสัญญาที่ปล่อยให้สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 และยูบีซี มีโฆษณา อันกระทบกับการดำเนินงานของไอทีวี

ไอทีวี จึงกลายเป็นทีวีของไอ ที่จะกอบโกยผลประโยชน์จากการขายโฆษณาในรายการบันเทิง และการขึ้น-ลง ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่สร้างความร่ำรวยให้กับพวกพ้อง และการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยไม่สนใจต่อเจตนารมณ์การจัดตั้งทีวีเสรี ที่คนเดือนพฤษภาคมใช้เลือดเนื้อแลกมา

คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง จึงถือเป็นคำตัดสินที่นอกเหนือจากการลงโทษความฉ้อฉลในการใช้อำนาจหน้าที่ มาแก้ไขกฎระเบียบของรัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนแล้ว ยังเป็นคำตัดสินที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดสิ้นสุดของสื่อสาธารณะที่ผู้มีอำนาจพยายามผลักดันให้เป็นสื่อที่อิงธุรกิจและการเมือง

ไม่ต่างอะไรกับการแปรรูป นำคลื่นความถี่สาธารณะในการดูแลขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เข้าไปกระจายเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม รวมถึงพนักงาน อสมท. เมื่อศาลปกครองสูงสุด รับคำร้องขอยกเลิกการแปรรูป ของ บมจ.อสมท ไว้พิจารณา หมายถึงกระบวนการนำธุรกิจการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ในสื่อสาธารณะ กำลังเข้าสู่การพิจารณาโทษอีกครั้ง

โฆษณาน้ำเมามึน ซวยส่งท้ายปี สแน็คผวาโดนหางเลข

ทำเอาสั่นสะเทือนไปทุกวงการ กับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ห้ามโฆษณาเครื่องแอลกอฮอล์ผ่านทางสื่อตลอด 24 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็เป็นโรคเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด ด้วยการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า อย. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้และต้องชะลอเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีการตีความอีกครั้งหนึ่ง แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาครัฐได้ออกคำสั่งควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้ออกกฎเหล็กห้ามโฆษณาเหล้าก่อน 4 ทุ่ม แต่มาคราวนี้ อย. ภายใต้การนำของนพ. มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จ้องจะปิดตายล้างบางการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ด้วยเหตุผลที่ว่าโฆษณาจะเป็นตัวกระตุ้นให้ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และผลที่ตามมาคืออุบัติเหตุและอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายให้แก่รัฐนับแสนล้านบาท

นั่นคือเหตุผลจากฟากรัฐบาลที่ต้องการยุติบทบาทของโฆษณาสื่อน้ำเมาที่ก่อผลกระทบในทางลบต่อประเทศ แต่ในหากมองในมุมฝั่งผู้ประกอบการและเหล่าเอเจนซี่ต่าง ๆ กลับมองต่างมุมออกไปว่า การห้ามโฆษณาไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับการป้องกันไม่ให้คนดื่มแอลกฮอล์มากขึ้น มิหนำซ้ำรายการทีวีที่มีสาระและสมโมสรกีฬา รวมไปถึงโครงการต่างๆ เพื่อสังคม ฯลฯ ที่ต้องพึ่งพาสปอนเซอร์จากผู้ประกอบการน้ำเมาทั้งหลาย จะได้รับแรงกระแทกมากที่สุด เพราะเม็ดเงินสนับสนุนรายการต่าง ๆ จะหายไปกับอากาศทันที

หากมองในมุมธุรกิจที่นักการตลาดแต่ละค่ายออกมาฟันธงก่อนหน้านี้ว่า หากคำสั่งของอย. นี้คลอดออกมาบังคับใช้จริง สิ่งที่ตามมาคือสงครามราคาที่ห้ำหั่นกันอย่างเลือดสาด เพราะราคาที่ถูกลงเป็นตัวล่อใจผู้บริโภคให้หันมาแห่บริโภคสินค้ามากกว่าแต่ก่อนแน่นอน ส่งผลให้ปริมาณคนดื่มแอลกฮอล์เพิ่มขึ้นสวนทางกับสิ่งที่ภาครัฐคำนวณไว้ นอกจากนี้ ผลกระทบในระดับสากลที่ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจน้ำเมามองการณ์ไกลไว้ก็คือ พระราชบัญญัติห้ามการโฆษณาน้ำเมาตลอด 24 ชั่วโมงนั้นจะเข้าข่ายการกีดกันการค้าทางอ้อมได้ ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับในวงการเอเจนซี่โฆษณาเองที่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากการห้ามโฆษณาแอลกฮอล์ครั้งนี้ คนในวงการทั้งหลายกลับไม่สะทกสะท้าน เพราะเม็ดเงินที่ได้จากการทำโฆษณาให้เหล้าเบียร์ต่อปีตกอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท จากเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีทั้งหมดกว่า 80,000 ล้านบาทในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ทางฟากผู้ประกอบการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ชี้วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดว่า ต้องทำให้สินค้ามีราคาแพง มีคุณภาพที่ดี และที่สำคัญที่สุดคือการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยรู้จักรักษ์สุขภาพของตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ไม่เพียงแค่ธุรกิจน้ำเมาเท่านั้นที่กำลังจะถูกแช่แข็งโฆษณาจากคำสั่งของภาครัฐ แต่สแน็คหรือขนมขบเคี้ยวก็ถูกหางเลขไปด้วย เพราะตัวเลขผลวิจัยจากการะทรวงศึกษาธิการพบว่า เด็กไทยได้จ่ายเงินค่าขนมรวมกันปีละกว่า 1.7 แสนล้านบาท คิดเป็นต่อหัวตกอยู่ที่หัวละประมาณ 9.8 พันบาทต่อคน และส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมดเป็นของคบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์และคุณค่าสารอาหารต่อร่างกายเลย ล่าสุดกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ทางอย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมขึ้นบัญชีดำเป็นสินค้าควบคุมในเรื่องการโฆษณา โดยเบื้องต้นทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเตรียมจะให้บรรดาผู้ประกอบการพิมพ์ฉลากแสดงสัญลักษณ์ของสินค้า รายละเอียดของโภชนาการและสารอาหารบนสินค้าด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us