Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์8 มกราคม 543
ปตท.แตะมือภาครัฐการันตีแปรรูปโปร่งใสมั่นใจแจงได้ทุกเม็ด-ชี้NGOจี้พ้นตลาดหุ้นเศรษฐกิจพังแน่!             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ปตท., บมจ.
Oil and gas




องค์กรรัฐ ร่วมหนุนปตท.แปรรูปโปร่งใสทุกขั้นตอน เชื่อไม่มีทางซ้ำรอยคดีแปรรูปกฟผ.เหตุไม่มีส่วนใดคล้ายกันแม้แต่น้อย การันตีสิทธิผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ รวมถึงสิทธิในการเวนคืน สิทธิในการยกเว้นภาษีปตท.มีความชอบธรรมเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ ชี้ผลกระทบรุนแรง นักลงทุนต่างชาติกระเจิงแน่หากยกเลิกปตท. ออกจากตลท. รัฐต้องหาเงินกว่า 5 แสนล้านซื้อหุ้นคืน ทั้งส่งผลต่อความสามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ เชื่อผลสุดท้ายประเทศชาติจะเสียหายยับ

ปี 2549 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเป็นปีทองขององค์กรภาคประชาชนรุกคืบทวงคืนรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปในตลาดหลักทรัพย์จนนำไปสู่ชัยชนะ โดยเฉพาะคดีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ให้ยกเลิกการแปรรูปกฟผ.ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ต่อจากนั้นองค์กรภาคประชาชนยังเดินหน้าไม่หยุดและได้ยื่นฟ้องให้ยกเลิกการแปรรูปปตท. ในเวลาต่อมา ซึ่งจากกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 ก.ย. 2549 ให้รับคำฟ้องที่มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคเป็นโจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิฯและน.ส.รสนา โตสิตระกูล โดยในคำฟ้องระบุว่ากระบวนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่การจัดการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน (1.)พระราชกฤษฎีกา ( พ.ร.ฏ. ) กำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน) พ.ศ. 2544 ( 2.) พ.ร.ฏ. กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 โดยศาลกำหนดให้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 47 / 2549 มีคำสั่งลงวันที่ 6 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา

กล่าวกันว่าชัยชนะจากการฟ้องยกเลิกแปรรูปกฟผ.จะถูกนำไปเป็นบรรทัดฐานของคดีอื่นๆ เพราะมีแนวโน้มในอนาคตว่า บริษัท กสท.โทรคมนาคม , องค์การโทรศัพท์ อาจจะถูกยื่นต่อศาลปกครองภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่หากดูเฉพาะคดีที่อยู่ในชั้นศาลในตอนนี้ยังมีอยู่ 2 บริษัทคือ อสมท และ ปตท. ที่ค้างอยู่ในชั้นพิจารณา โดยเฉพาะคดีแปรรูปปตท. ได้รับการจับตาอย่างกว้างขวางจากสังคมหากมีการยกเลิกแปรรูปซ้ำรอยกฟผ.ขึ้นมาจริงๆ ย่อมจะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพราะปัจจุบันหุ้นของปตท.และบริษัทในเครือมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 20 % ของ Market Cap มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 500, 000 ล้านบาทแต่ปัญหาคือปตท.จะต้องชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งหมดในประเด็นต่าง ๆที่ถูกกล่าวหา

ตั้งแต่ขั้นตอนการแปรรูปถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ , เรื่องโอนสิทธิประโยชน์อำนาจของรัฐให้แก่บริษัทเอกชน เช่น สิทธิในการผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ , สิทธิในการเวนคืน , สิทธิในการยกเว้นภาษีต่างๆ , การขายหุ้น IPO ที่หลายฝ่ายคลางแคลงในความไม่ปกติว่า หุ้นทั้งหมดถูกจองภายในเวลา 1.17นาที และเกิดการกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม และที่สำคัญปตท.ยังคงยืนยันสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่หรือไม่

ปตท.มั่นใจพิสูจน์ได้ชัดเจน

รายงานข่าวจาก ระบุว่า ปัจจุบันการต่อสู้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างที่ปตท.กำลังทำคำชี้แจงประเด็นที่มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคยื่นเพิ่มเติมในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งปตท.มีเวลา1 เดือน ( ถึงวันที่ 19 มกราคม 2550 ) ที่จะต้องทำคำชี้แจงกลับไปยังศาลปกครองเพื่อต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว และคาดว่าศาลปกครองจะสามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้ภายใน 3เดือนนับจากนี้ เพราะประเด็นที่โต้แย้งกันไปมาก็เป็นประเด็นเก่าๆ

"หากพิจารณาคำฟ้องดีๆ จะพบว่าคำฟ้องนี้ดัดแปลงมาจากคดีฟ้องการแปรรูปกฟผ.มาเป็นบรรทัดฐาน แต่ในทางปฏิบัติการแปรรูปปตท.ไม่มีส่วนใดที่คล้ายกับแปรรูปกฟผ. ผู้บริหารปตท.จึงมั่นใจว่าคดีดังกล่าวปตท.ต่อสู้ได้ทุกประเด็นกล่าวหา"

อย่างไรก็ดีในกระบวนการแปรรูปของปตท.นั้น ถูกต้องทุกขั้นตอนของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพราะ ปตท.ได้รับโอนอำนาจ สิทธิ และ ประโยชน์พิเศษที่มีอยู่ตามกฎหมายเดิม มายังบริษัทใหม่เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมตาม พ.ร.บ.ทุนฯ ซึ่งสิทธิส่วนนี้จะหมดไปเมื่อปตท.มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ( รัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50 % ) แต่ปัจจุบันรัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มากกว่า 51% ซึ่งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกชุดของปตท.ยืนยันว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ , คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และ คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งมติครม.ออกมารองรับการแปรรูปตั้งแต่ต้น

"คุณมนู เลียวไพโรจน์ และคุณวิเศษ จูภิบาล ต่างเป็นคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท.จึงได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ทุนฯ มาตรา 12 และมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุผลที่การแปรรูปปตท.จะมิชอบด้วยกฎหมาย"

IPOโปร่งใส/กลต.การันตีเมื่อปี2545

ส่วนประเด็นปัญหาในการกระจายหุ้นในราคา IPO ที่ใช้เวลาเพียง 1.17 นาทีนั้น เป็นเรื่องที่ปตท.จะต้องชี้แจงต่อศาลปกครองให้เห็นว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใดโดยเฉพาะ เนื่องจากได้มีการกระจายหุ้นตาม หลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการจองซื้อจะต้องผ่านตัวแทนจำหน่ายที่เป็นธนาคาร หรือจองผ่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ตนเป็นลูกค้าอยู่ในราคา IPO ที่ 35 บาทต่อหุ้น และการกระจายหุ้นดังกล่าวได้มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในปี2545 และราคาหุ้นก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดในช่วงนั้น ( SET Index = 305 จุด ) ซึ่งพิสูจน์ได้จากราคาหุ้นปตท.ที่ขึ้นลงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาจองซื้ออยู่ถึงเกือบปี และบางช่วงก็มีระดับต่ำสุดถึง 29 บาท ดังนั้นหากนักลงทุนที่จองซื้อ IPO ไม่ได้ ก็สามารถซื้อในตลาดหลักทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจองได้

"ตอนนั้นตลาดหุ้นไม่ดี คนที่ตัดสินใจลงทุนถือว่าเขาก็ต้องเสี่ยง เมื่อซื้อไปแล้วเข้าตลาดราคาตกก็ต้องยอมรับความผิดพลาด ส่วนคนที่จองซื้อไม่ได้ช่วงนั้นก็รู้สึกโล่งอกที่ไม่ต้องมาเสี่ยง ส่วนที่พูดกันว่ามีบิ๊กการเมืองได้หุ้นปตท.มากมาย หากไปเช็คดูกับโบรกเกอร์ช่วงนั้นอย่างละเอียดจะพบว่า คนพวกนี้เขาได้สิทธิ์ในฐานะเป็นลูกค้ารายใหญ่ ๆ ของหลักทรัพย์ต่าง ๆที่รับกระจายหุ้นอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

ยืนยันสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

ส่วนประเด็นในเรื่องสิทธิพิเศษต่างๆในการผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ , สิทธิในการเวนคืน , สิทธิในการยกเว้นภาษีต่างๆที่ปตท.ได้รับนั้นปตท.ยังคงยืนยันสถานะตนเองว่า เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เอกชน จะเห็นได้จากการภายหลังการแปรรูปปตท.ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอดตามติ

ครม.เมื่อปลายปี 2544 ที่กำหนดให้ภาครัฐถือหุ้นในบมจ.ปตท.มากกว่า 51% รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ( กระทรวงการคลัง 52 % , กองทุนวายุภักษ์ 16 % ) และเมื่อรวมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทต่างๆ อีกประมาณกว่า 12%

" ยืนยันว่า รัฐและคนไทยยังถือครองสัดส่วนปตท.รวมกันกว่า 80% คิดเป็นจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนั้นสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆของปตท.ยังเป็นของชาติ และประชาชนชาวไทย "

ยันปตท.ไม่ได้ผูกขาดก๊าซ

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลจากการแปรรูปดังกล่าวทำให้ปตท.ผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯและทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นนั้น ปตท.เตรียมการที่จะต่อสู้ข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยการชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจก๊าซของปตท.ไม่มีการผูกขาด เพราะบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสามารถจำหน่ายก๊าซฯโดยตรง และ การวางท่อก๊าซก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทั้งยังไม่ได้เป็นผู้กำหนดโครงสร้างราคาขายก๊าซให้กฟผ. หรืออัตราผ่านท่อฯ ซึ่งอำนาจเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐมาตลอดทั้งก่อนและหลังแปรรูป

ส่วนในเรื่องที่ถูกกล่าวหาและประชาชนเริ่มคล้อยตามและเห็นว่าปตท.เป็นฝ่ายผิด เนื่องเพราะเป็นเรื่องที่เข้าถึงความรู้สึกประชาชนได้ง่าย ก็คือข้อกล่าวหาว่า ปตท. ฟันกำไรอย่างมหาศาลจากการขายก๊าซให้แก่กฟผ. ,โรงไฟฟ้า IPP, SPP และโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ปตท.ชี้แจงว่าราคาเนื้อก๊าซภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลราคา โดยมีสูตรการปรับราคาที่อิงน้ำมันเตาเพียง 30% ซึ่งราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 90% ของราคาก๊าซที่ขายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นรายได้ของกลุ่มผู้สำรวจและผลิตที่ได้รับสัมปทานทั้งหมด ปตท.ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงแต่อย่างใด และในการส่งผ่านราคาเนื้อก๊าซไปให้ผู้ผลิตฟ้าโดยตรงในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ยังได้เจรจาลดราคาก๊าซกับกลุ่มผู้ขายได้กว่า 14,000ล้านบาทและจะทยอยปรับลงอีกในอนาคตจึงไม่มีทางที่ปตท.จะได้กำไรมหาศาลจากการขายก๊าซดังกล่าว

อีกทั้งหลังการแปรรูปราคาก๊าซเพิ่มขึ้นเพียง 27 % ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 143 %เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านราคาก๊าซของไทยยังถูกกว่าอีกหลายประเทศ ทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำโดยในปี 2548 ปตท.ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันเตาได้ถึง 200, 000ล้านบาททั้งช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้กว่า 400,000 ล้านบาท

รับแยกธุรกิจท่อก๊าซฯไม่คืบแต่แยกบัญชีทรัพย์สินชัดเจน !

ประเด็นต่อมาคือการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯออกจากธุรกิจอื่นๆซึ่งปตท.ยอมรับยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ยืนยันได้ว่าจะเดินหน้าแยกกิจการท่อส่งก๊าซ ขณะเดียวกันก็ได้แบ่งแยกทรัพย์สินและผลดำเนินการทางบัญชีอยู่แล้วโดยจะนำเสนออนุมัติจากคณะกรรมการปตท. และผู้ถือหุ้นและประสานหน่วยงานของรัฐ คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง เพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตจะไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคและสามารถวางระบบท่อส่งก๊าซเพื่อรองรับความต้องใช้ก๊าซฯได้อย่างไม่หยุดชะงัก

อย่างไรก็ดีที่ตอนนี้ปตท.ยังไม่ได้แยกกิจการท่อก๊าซฯออกจากธุรกิจอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ภาครัฐ และ ประชาชนแต่อย่างใด เพราะค่าผ่านท่อและค่าตอบแทนการจัดหาก๊าซถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงายของรัฐก่อนและหลังแปรรูป เพราะแม้ปตท.จะแปรรูปไปแล้วก็ตามอัตราค่าผ่านท่อและค่าตอบแทนยังคงเดิม

"เรื่องนี้ปตท.ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อปิดจุดอ่อนก่อน อะไรทำได้ก็ต้องรีบทำเพื่อให้สังคมได้รับรู้ก่อนที่จะมีการยื่นคำชี้แจง เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นเจตนาดีของการแปรรูปปตท."

"ปตท." กำไรจากการลงทุน-ก๊าซแค่11%

ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท ปตท. แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจน้ำมัน 2. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ 3. ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดย 7 บริษัทในเครือคือ 1. ปตท. (PTT ) 2. ปตท.สำรวจ และ ผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3. ไทยออยส์ (TOP) 4. โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) 5. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) , 6. บมจ.ไออาร์พีซี (IRCP) , 7.อะไรเมติกศ์ (ATC) ซึ่งปตท.ยืนยันว่ากำไรของปตท.ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งได้จาการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีอย่างครบวงจร รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจ และ ต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยในปี 2548 กำไรของปตท.มาจากบริษัทที่ปตท.ลงทุนคิดเป็น 62 % และมาจากการทำธุรกิจโดยตรงของปตท.เองแค่ 38% ซึ่งในส่วนนี้มาจากธุรกิจท่อส่งก๊าซเพียง 11 % ( ดูตารางสัดส่วนผลกำไรปตท. )

ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 3 / 49 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ระบุว่า บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 24,320.20 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.69 กำไรเพิ่มขึ้น 298.27 ล้านบาท หรือ 1.24% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24,021.93 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.59 บาท สำหรับยอด9 เดือนผ่านไปบริษัทปตท.มีกำไรสุทธิ 79,701.14 ล้านบาทกำไรสุทธิต่อหุ้น 28.48 บาท กำไรเพิ่มขึ้น 11328.63 ล้านบาท หรือ16.56% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 68,372.51 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 24.44 บาท

อย่างไรก็ตามรายงานยังแจ้งว่า ในการต่อสู้คดีแปรรูปดังกล่าวได้มีการแบ่งกันหน้าที่กันชัดเจน กล่าวคือ ในเรื่องการต่อสู้ประเด็นแปรรูปถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จะให้ปตท.ยื่นหลักฐานทั้งหมดไปที่ศาลปกครอง ส่วนเรื่องการซื้อขายหุ้น IPO คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็นผู้ยื่นหลักฐานในส่วนนี้สนับสนุนว่ามีความโปร่งใสไม่มีการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มการเมืองตามที่ถูกกล่าว ขณะที่กระทรวงพลังงานจะชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าปตท.ผูกขาดเรื่องก๊าซในประเทศ ทั้งการขึ้นราคาน้ำมันปตท.ก็อิงตลาดต่างประเทศ จึงไม่มีกำไรมากมายอย่างที่ถูกกล่าวหามาตลอด

ส่วนในเรื่องของผลกระทบต่อตลาดหุ้นหากปตท.ต้องออกจากตลาดฯนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นจะเป็นผู้แสดงทรรศนะให้สังคมได้เห็นว่า จะเกิดผลกระทบในทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ในทุกภาคส่วน

ยกเลิกปตท.ต่างชาติกระเจิง

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจากบอร์ดปตท.ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการยกเลิกแปรรูปปตท.จะส่งผลกระทบกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลว่าจะมีความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเข้ามาลงทุนต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆมากขึ้น หากมีการถอน ปตท.ออกจะมีความยุ่งยากและจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แน่นอน ซึ่งผลกระทบจะไม่น้อยกว่ามาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)ที่ออกมาในการสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้วหากมีการถอดถอนปตท.ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะส่งผลกระทบในวงกว้างและร้ายแรงต่อตลาดหุ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากบริษัทปตท.เป็นหลักทรัพย์ที่สำคัญ เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ และจะมีผลต่อการเข้าจดทะเบียนของหลักทรัพย์รายอื่นๆ อีกด้วย

ต้องหาเงิน 5 แสนล้านซื้อคืน!

" หากศาลฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนหุ้นปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าปตท.จะต้องใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท จากมาร์เกตแคปตลาดรวมอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท และต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ในราคาหุ้นประมาณ 220 บาทขณะที่ตอนนำหุ้นเข้าตลาดปตท.ได้เงินเพียง 2.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น " แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ดีในเรื่องของการซื้อหุ้นคืนนั้นฝ่ายองค์กรภาคประชาชนที่ยื่นฟ้องให้ยกเลิกการแปรรูปปตทนั้น ได้เคยเสนอความเห็นว่า หากศาลชี้ขาดให้องค์กรภาคประชาชนเป็นฝ่ายชนะ จะต้องมีการซื้อหุ้นคืน แต่จะต้องเป็นการซื้อคืนในราคา IPO คือราคาหุ้นละ 35 บาทเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์จากหุ้นปตท.ที่ผ่านมาต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมแม้ราคาหุ้นปตท.ในตลาดฯปัจจุบันจะมีราคาหุ้นละ 212 บาท (ณ.วันที่ 25 ธค.49)

ส่วนประเด็นการแยกกิจการท่อก๊าซ นั้นได้แยกออกแล้วในในเชิง operation ( ปฎิบัติการ)ตั้งแต่ก่อนที่ปตท.จะแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพียงแต่ไม่ได้แยกในทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่งหากต้องการให้แยกท่อก๊าซออกมาเป็นบริษัท ทางบริษัท ปตท.ก็สามารถดำเนินการได้เลยเพียงแต่ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการแยกหรือไม่แยกท่อก๊าซออกเป็นบริษัทนั้น ถึงยังไรปตท.ก็ยังคงถือหุ้น 100% อยู่เพียงแต่จะเกิดภาระในส่วนของภาษีต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในระดับหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การไม่แยกท่อก๊าซทำให้ค่าไฟฟ้าแพงนั้นไม่เกี่ยวกัน เพราะการปรับขึ้นตามราคาเนื้อก๊าซฯที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ค่าผ่านท่อคิดเป็นต้นทุนไม่ถึง 10%ของเนื้อก๊าซ ที่สำคัญที่ผ่านมาปตท.ไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าผ่านท่อขึ้นแล้ว

สหภาพฯชี้กระทบต่อศก.ประเทศ

ด้านคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจปตท. ระบุว่า หากมีคำพิพากษาให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 และ ปตท. จะต้องกลับคืนเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะมีผลเสียหายหลายประการ เพราะ การนำปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงเนื่องจากปัจจุบัน ปตท.มีสัดส่วนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 14 % บริษัทในเครืออีก 15 % รวมเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายหุ้นทำให้ดัชนีหุ้นร่วง เป็นผลให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมากระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ

อีกทั้งรัฐบาลจะต้องหาเงินมาซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นประมาณ 5 แสนล้านบาท จะทำให้รัฐบาลขาดเงินในการบริหารประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนเพราะไม่มีเงินกระจายไปสู่ภาคประชาชนและในปีที่ผ่านมารายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากรัฐวิสาหกิจประมาณ 64% จะมาจากการดำเนินงานของกลุ่มปตท.ที่ส่งผลประโยชน์ให้รัฐมากกว่า 40% ซึ่งหากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องกลับคืนเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และประชาชนอาจต้องเสียภาษีมากขึ้นเนื่องจากรัฐขาดงบประมาณอุดหนุน

ล้มแปรรูปฯแข่งขันสู้ต่างชาติไม่ได้

สหภาพย้ำอีกว่าสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้คือปตท.จะอ่อนแอลงไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทพลังงานต่างชาติได้ เนื่องจากการบริหารจัดการไม่คล่องตัว เงินทุนหมุนเวียนลดลง แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนต่างๆ หยุดชะงัก ทำให้ประชาชนต้องบริโภคพลังงานในราคาแพง เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่ไม่มีบ่อน้ำมันเป็นของตนเอง และทำให้ขาดสภาพคล่อง หรือต้องกลับไปเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ย่อมมีผลต่อพนักงานของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน )จะได้รับความเสียหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และเกิดความไม่ชัดเจนในปัญหาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่อาจจะได้รับหากจะต้องกลับคืนไปเป็นพนักงานของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

สรุปขั้นตอนการแปรรูป ปตท. ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

1.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ
- กำหนดกิจการ / สิทธิ /หนี้สิน /ความรับผิดชอบ /สินทรัพย์/พนักงานที่จะโอน

-กำหนดทุนเรือนหุ้น/จดทะเบียน/จำนวนหุ้น/มูลค่าหุ้น

-กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน/จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ/ข้อบังคับของบริษัท

-จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

- ให้ภาครัฐถือหุ้นมากกว่า 51 % และคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

-ให้ยกเว้นภาษีปตท./บริษัทย่อยในการแปรรูปและแยกบริษัทท่อฯ

-จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาโอน/จำกัด อำนาจ สิทธิ ตามพ.ร.บ.เท่าที่จำเป็น

-หลักการ/แนวทางนำทุนเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท

-กำหนดรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลนโยบายของบริษัท

-เสนอเสนอแนะ/แก้ไข/เพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา

-กำกับดูแลให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน

3. คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ 10กรกฎาคม และ 21 สิงหาคม 2544

4.จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ. ปตท.

5.จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชน

6. คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 25 กันยายน 2544

7.จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

8.ออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ

-ยกเลิกพระราชบัญญัติปตท. พ.ศ. 2521

-โอน/จำกัด อำนาจ สิทธิ หรือ ประโยชน์เท่าที่จำเป็นให้ บมจ. ปตท.

9.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ผิดกฎหมาย

10.ศาลปกครองพิพากษา ปตท.สามารถวางท่อได้

สัดส่วนผลกำไรของ บมจ. ปตท.

บริษัทที่ปตท.ลงทุน 64 %
1.ธุรกิจการกลั่น 20
2.ปตท.สผ. 18 %
3. RCC 14%
-ปตท.ถือหุ้น 100% ชั่วคราว
-รวมกำไรพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้ 5,417ล้านบาท หรือ 6 %
4. ธุรกิจปิโตรเคมี 10%
5. การจำหน่ายน้ำมันภายในประเทศ 2%

ปตท. 38%
1.โรงแยกก๊าซ 17 %
- ก๊าซหุงต้มในประเทศ 6%
- วัตถุดิบปิโตรเคมี 8%
- ส่งออก 3 %

2.ท่อส่งก๊าซ 11%

3.จัดหาจำหน่ายก๊าซฯ 5 %

4. การค้าระหว่างประเทศ 3 %
- ค่าผ่านท่อ /ค่าตอบแทน จัดหาจากกฟผ. / IPP รวม 9 %   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us