"ทวี ปิยะพัฒนา" เจ้าของยักษ์ใหญ่พีเอฟพีอวดยอดผลประกอบการธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำปี 2549 รวม 2.5 พันล้าน ตั้งเป้าปีหน้ายอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นแตะ 1,000 ล้านบาท ชิงมาร์เกตแชร์ 25% ของตลาดรวม ทำใจหากเงินบาทยังแข็งค่าประมาณการส่งออกโตเพียง 10% ร้องรัฐช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาท ตัดโอกาสผู้ส่งออกไทยแข่งขันในตลาดโลก
นายทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด (พีเอฟพี) เปิดเผยผลประกอบการของบริษัทภายหลังจากการฉลองครบรอบ 20 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ปี 2549 บริษัทมียอดจำหน่ายโดยรวมมีการเติบโตรวม 2,500 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการขาย 15,600 ตันซึ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 800 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 1,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเนื้อปลาบดแช่แข็ง 700 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้เนื้อปลาบด 1,000 ล้านบาท
สถานการณ์การค้าในปัจจุบันมีการทำตลาดในประเทศแข่งขันดุเดือด ทั้งคู่แข่งจากเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย ที่มีราคาวัตุดิบและค่าแรงที่ถูกกว่า ประกอบกับปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น ดังนั้นบริษัทจะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบและรสชาติใหม่ๆ ให้มากขึ้น เน้นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในประเภทเน้นสุขภาพ พร้อมรับประทานเหมาะกับชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มอาหารทะเลในประเทศที่มีอนาคตเติบโตเพิ่มขึ้น
ส่วนในปี 2550 ตั้งเป้าปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเป็น 17,400 ตัน มูลค่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นภายในประเทศ 1,000 ล้านบาท หรือ 25% ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมด โดยมาจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กว่า 45 รายการ ซึ่งปีนี้จะเน้นการทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายช่องการการจำหน่ายหลัก 4 ประเภทได้แก่ ตลาดสด โมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร-โรงแรม โดยตั้งเป้าหมายให้ครบ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณการตลาดและประชาสัมพันธ์กว่า 40 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แบรนด์
ขณะที่ยอดจำหน่ายต่างประเทศคาดว่าจะมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 10% แต่รวมมูลค่าเพียง 1,700 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งผลิตภัณฑ์มาจากเนื้อปลาบดแช่แข็ง 700 ล้านบาท (700 ตัน/เดือน หรือ 8,400 ตัน/ปี) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้เนื้อปลาบด 1,000 ล้านบาท (750 ตัน/เดือน หรือ 9,000 ตัน/ปี)
"ปัจจุบันค่าเงินบาทได้แข็งตัวขึ้นประมาณ 12% ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกประเทศที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เราสูญเสียการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกันประเทศอื่น และหากจะให้เหมาะสมแล้วนั้นค่าเงินบาทไม่ควรเกิน 38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบริษัทต้องปรับตัวด้านการบริหารความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถของการจัดการและขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ เช่น ยุโรปตะวันออก อินเดีย กลุ่มมุสลิมตะวันออกกลาง แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลคงจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเป็นผลกระทบของผู้ส่งออกทั่วประเทศ" นายทวีกล่าวต่อและว่า
นอกจากปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัวแล้ว ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาหลักเลยทีเดียว โดยเฉพาะซูริมิหรือเนื้อปลาบดที่จะส่งจำหน่ายต่างประเทศ ยกเว้นปูอัดที่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ เนื่องจากประมงในประเทศประสบปัญหาต้นทุนราคาน้ำมันแพง ขณะที่การทำประมงในประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ ประเทศอินโดนีเซียที่ต้องเอาปลาขึ้นฝั่งอย่างน้อย 30% เพื่อผ่านขั้นตอนการส่งออกทางด่านศุลกากรทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เป็นต้น
สำหรับนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนใต้นั้น นายทวีกล่าวว่า เงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนควรจะพิจารณาให้ 3 จังหวัดได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่หลัก ส่วนอีก 2 จังหวัด คือ จ.สงขลาและสตูล ก็ควรจะได้สิทธิพิเศษลดภาษี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้วยเช่นกัน แม้จะน้อยกว่าแต่ก็ขอให้ภาครัฐได้ให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลลบต่อภาพรวมธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยก่อนหน้านี้ตนได้เสนอ 8 แนวทางช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาลพิจารณาพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจโดยเร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ประกอบกิจการ นักลงทุน และลูกจ้างในระบบ
|