"เงินทุนเพื่อที่จะเอามาใช้ในการลงทุนในประเทศไทย มันเกินความสามารถในการออมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ"
เป็นคำกล่าวของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติท่านหนึ่ง ที่กำลังมองถึงปัญหาการลงทุนของไทย
ยิ่งหากจะมองออกไปในวันข้างหน้า การกีดกันทางการค้าด้วยการแบ่งเป็นกลุ่มประเทศไม่ว่าจะเป็นเขตการค้าเสรียุโรป
เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือแม้แต่ในกลุ่มประเทศเอเชียเองก็ตาม นับวันจะเข้มข้นขึ้น
ประเทศไทยยิ่งต้องทวีความจำเป็นลงทุนผลิต สินค้าเพื่อการส่งออกใช้เป็นมาตรฐานในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของประเทศมากขึ้น
ความต้องการใช้เงินทุนที่มีราคาถูกในการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกจึงมีความสำคัญมาก
จะเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจากต่างประเทศอีกมากมาย
เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุน ราคาถูกมากกว่าร้อยละ 3-4% เมื่อเทียบกับแหล่งเงินบาทในประเทศ
เท่าที่ผ่านมาการไหลเข้ามาของแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศจึงมีมากมาย โดยเฉพาะเป็นเงินที่มากับโครงการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา
ญี่ปุ่น หรือประเทศในประชาคมยุโรป
แหล่งเงินจากต่างประเทศเหล่านั้นไหลเข้ามาใน 2 รูปแบบคือ
หนึ่ง ในรูปของการช่วยเหลือแบบให้เปล่าประเทศกำลังพัฒนาระหว่างภาครัฐบาลต่อรัฐบาล
เช่นเงินให้เปล่าที่ให้ผ่านมาทางกรมวิเทศสหการของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการต่างๆ
สอง แหล่งเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือผ่านมาทางสถาบันการเงินของรัฐ
เช่น แบงก์กรุงไทยเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐบาล
ซึ่งให้กู้โดยอัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) หรือจะเป็นสถาบันการเงินที่มีหน้าที่หาเงินราคาถูกจากต่างประเทศ
เช่น สถาบัน KfW ของเยอรมนี เพื่อนำมาส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศ
อย่างบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT)
ล่าสุด "ผู้จัดการ" ทราบว่าประชาคมยุโรป หรือ EC ก็ได้เสนอโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอีกโครงการหนึ่งภายใต้ชื่อ
European Community Investment Partners (ECIP) โดยผ่าน IFCT
ECIP ได้ส่งคณะผู้แทนประกอบด้วย ทอม โร หัวหน้าฝ่ายกิจการผู้ร่วมลงทุนของประชาคมยุโรป
ดี.เดอกูตูร์ ที่ปรึกษาฝ่ายฯ กับเจ้าหน้าที่และตัวแทนของผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง
มาจัดสัมมนาร่วมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เพื่อให้ความรู้แก่บรรดานักธุรกิจนักลงทุนชาวไทย
ถึงการให้เงินช่วยเหลือของ ECIP เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2535
รายละเอียดของการสัมมนาดังกล่าวได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของ ECIP ว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง
ที่ประชาคมยุโรปให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งในละตินอเมริกา
เอเชีย หรือกลุ่มประเทศในเมดิเตอร์เรเนียน
โครงการ ECIP ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 มีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม และได้กระจายอำนาจการดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน หอการค้า
และสถาบันส่งเสริมการลงทุนของแต่ละประเทศที่เป็นเครือข่าย ซึ่งมีอยู่ทั้งในกลุ่มประชาคมยุโรป
เอเชีย ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศในเมดิเตอร์เรเนียน
ในรายละเอียดภายใต้โครงการ ECIP กล่าวโดยสรุปนั้นมีหลักเกณฑ์คือว่า จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านการเงินกับโครงการ
หรือการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมระหว่างนักลงทุนชาวไทยกับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป
ในเงื่อนไขของการให้เงินช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นเงินอุดหนุนให้เปล่า เงินกู้ระยะยาวทั้งปลอดดอกเบี้ยและมีดอกเบี้ยต่ำ
ตลอดจนถึงร่วมลงทุน
โดยทั้งนี้จะแบ่งระยะของโครงการสนับสนุนทางการเงินออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน
โดยมีเงื่อนไขว่าเจ้าของโครงการต้องออกเงินเองส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของโครงการนั้นๆ
ระยะที่หนึ่งของโครงการคือ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดหารผู้ร่วมลงทุน
ชนิดของเงินที่จะให้การสนับสนุน คือเป็นเงินอุดหนุนให้เปล่า ซึ่งขั้นแรกนี้จะให้สิทธิเฉพาะสถาบันการเงิน
หอการค้า สมาคม และหน่วยงานของรัฐ
การสนับสนุนในขั้นตอนนี้มีวงเงินให้เปล่า ไม่เกิน 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
สูงสุดไม่เกิน 100,000 อี.ซี.ยู. (ประมาณ 3,00,000 บาท)
ระยะที่สองคือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ขั้นเตรียมการจนถึงการจัดตั้งโครงการร่วมทุน
ชนิดของเงินที่จะให้การสนับสนุนคือเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย
ผู้มีสิทธิขอการสนับสนุนคือบุคคลหรือกิจการที่สนใจจะลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนนั้นคือหลังจากสถาบันต่างๆ
ที่ได้มีการเลือกสรรอุตสาหกรรมหรือนักลงทุนแล้วหรือเป้นเอกชนที่ได้มีการติดต่อเจรจาที่จะร่วมลงทุนกัน
โดยลักษณะของการดำเนินงานที่เข้าข่ายการขอสนับสนุนกล่าวคือ
1) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาทางด้านการตลาดและการวางแผนุรกิจ
2) การจัดตั้งโครงการทดลองการผลิตสินค้าที่เรียกว่าไพล้อต โปรเจ็กต์ (Pilot
Production Unit)
สำหรับวงเงินให้การสนับสนุน คือ ไม่เกิน 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือสูงสุดไม่เกิน
250,000 อี.ซี.ยู. (ประมาณ 7,500,000 บาท) แต่หากว่าหลังจากการศึกษาโครงการไปแล้วนั้นไม่สัมฤทธิผลก็จะไม่เรียกเงินคืนแต่อย่างใด
แต่หากเป็นไปตามการศึกษาก็ต้องคืนให้แก่ ECIP เมื่อจะเข้าสู่ระยะที่สามของโครงการ
ลักษณะที่สามคือการเข้าร่วมทุน การช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการร่วมทุน
ชนิดของเงินให้การสนับสนุน เงินร่วมลงทุนหรือเงินกู้
ผู้มีสิทธิขอการสนับสนุนคือกิจการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทย และนักลงทุนจากประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปหรือกิจการที่มีการใช้
Licensing และ Technical Assistance จากบริษัทในกลุ่มประชาคมยุโรป
ลักษณะของการดำเนินงานที่เข้าข่ายการขอสนับสนุนคือ
1) การจัดตั้งโครงการร่วมลงทุนใหม่
2) การปรับปรุงหรือขยายงานสำหรับโครงการร่วมทุนที่ดำเนินการอยู่แล้ว
สำหรับวงเงินที่ให้การสนับสนุนคือ ไม่เกิน 20% ของทุนจดทะเบียนของโครงการร่วมทุหรือสูงสุดไม่เกิน
1,000,000 อี.ซี.ยู. (ประมาณ 30,000,000 บาท) เช่นเดียวกันซึ่งหลังจากการเข้าร่วมทุนประสบผลสำเร็จแล้วก็ทยอยคืนให้เมื่อได้เข้าสู่โครงการในระยะสุดท้าย
คือ การดำเนินงานของโครงการโดยจะให้ความช่วยเหลือด้านบริหารและการจัดการแก่โครงการร่วมทุน
ชนิดของเงินในการสนับสนุน เป็นเงินร่วมลงทุนหรือเงินให้กู้
ลักษณะของการดำเนินงานที่เข้าข่ายการขอสนับสนุนคือ
1) การฝึกอบรมช่างเทคนิคไทยและผู้จัดการในบริษัทร่วมทุนนั้น
2) การจัดหาผู้บริหารที่มีความสามารถจากประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปเพื่อเข้ามาจัดการและบริหารกิจการร่วมทุนนั้น
3) การว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือด้านการจัดการ
โดยมีวงเงินให้การสนับสนุนไม่เกิน 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือสูงสุดไม่เกิน
250,000 อี.ซี.ยู.(ประมาณ 7,500,000 บาท) การกำหนดคืนจะทยอยคืนเงินเมื่อธุรกิจดำเนินกิจการได้ผลกำไรแล้ว
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการช่วยเหลือทางการเงินของ ECIP เป็นที่ต้องการของการลงทุนทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา
และประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป โดยมีจำนวนโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก
ECIP มีเพิ่มขึ้นทุกปีคือจาก 285 โครงการ ในปี 2534 เพิ่มขึ้นเป็น 45 โครงการในปี
2535 โดยเป็นโครงการที่อยู่ในเอเชียถึง 170 โครงการ
สำหรับในประเทศไทยนั้นผู้ประกอบการที่สนใจขอความช่วยเหลือทางการเงินจำเป็นต้องดำเนินการผ่าน
IFCT ซึ่งเป็นสถาบันการเงินคู่สัญญา IFCT จะมีหน้าที่ในการพิจารณาธุรกิจที่จะขอเข้าร่วมโครงการ
และอนุมัติวงเงินตามเงื่อนไขของโครงการแก่นักลงทุนต่างๆ เหล่านั้น แต่การพิจารณาเงื่อนไขทางด้านการเงินดังกล่าวไปแล้วจะทำเป็นกรณีๆ
ไป ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินคู่สัญญา อย่างเช่นระยะเวลาของการชำระคืน หรือการอนุมัติวงเงิน
ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการของ ECIP ที่ผ่าน IFCT แล้วหนึ่งรายซึ่งได้ได้ดำเนินการผ่านระยะที่สองของโครงการไปแล้วและกำลังเข้าสู่โครงการในระยะที่สาม
คือเป็นบริษัทร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเซรามิก
และมีอีก 4 บริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการเสนอโครงการให้ IFCT พิจารณาเพื่อดำเนินการในขั้นที่สอง
แต่ยังไม่ได้เปิดเผยประเภทของอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม โครงการ ECIP หากจะมองให้ลึกแล้วนั้นกิจกรรมดังกล่าวก็คือเครื่องมือที่ประชาคมยุโรปหรือ
EC เล็งเห็นผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อมต่อตลาดไทย ซึ่งทางตรงก็คือผลตอบแทนที่
ECIP จะได้จากอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยเงินกู้สำหรับโครงการต่างๆ หรือผลตอบแทนในการร่วมลงทุน
ส่วนผลทางอ้อมนั้นประเทศที่เข้าร่วมในโครงการจะถือเป็นตลาดของประเทศใน EC
เพื่อที่จะใช้ระบายสินค้าหรือไม่ก็เป็นผู้ที่ซื้อเทคโนโลยีจากประเทศใน EC
เพราะหลังจากที่ยุโรปประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการส่งสินค้าออกมามากขึ้น
แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะประเทศใน EC เท่านั้น หลังจากการรวมตัวของยุโรป
ในปี 1992 ถูกมองว่าจะเป็นกำแพงการกีดกันทางการค้า โครงการ ECIP จึงถือเป็นโอกาสเปิดของนักลงทุนไทยที่จะสามารถเจาะเข้าตลาด
EC โดยใช้สะพานสินเชื่อจากการให้ความช่วยเหลือของ ECIP