|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติลั่นขายทิ้งแน่ SCIB - BT กอด KTB ไว้แบงก์เดียว รอจังหวะเหมาะทยอยขายให้ได้ราคาเหมาะสมไม่เน้นกำไรมากเกินไป ระบุขายทั้งในกระดานและเจรจาขายพันธมิตร ขณะที่คลังระบุหากแบงก์แข็งแกร่งแล้วก็ควรหมดเวลาอุ้มเชื่อแม้ถือหุ้นแบงก์เดียวก็สามารถทำธุรกรรมได้ครบทุกด้าน
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามแผนการขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) SCIB และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) BT กองทุนฟื้นฟูฯ จะทยอยขายหุ้นธนาคารทั้ง 3 แห่งออกมาโดยจะให้เหลือหุ้นของธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียวที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ การขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ถือโดยกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น ยังไม่มีกำหนดเวลาและราคาขายที่แน่นอนออกมาแต่จากการประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านมาจะให้มีการทยอยขายหุ้นของธนาคารทั้ง 3 แห่งออกไปโดยเป็นการขายทั้งในกระดานซื้อขายของตลาดดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการเจรจาขายให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของไทยตลอดปี 2550 โดยจะขายในระดับราคาที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่ดีกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่อย่างไรก็ตามกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่ได้เน้นการทำกำไรจากการขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งมากนัก
"เรายังไม่ได้ตั้งราคาและระยะเวลาขายที่แน่นอนไว้เพราะหากมีการตั้งราคาขายขึ้นมาอาจกระทบต่อราคาหุ้นได้ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมกองทุนฟื้นฟูฯ จึงจะปล่อยหุ้นที่มีอยู่ออกขายในตลาด ซึ่งราคาที่ขายจะต้องได้กำไรในอัตราที่พอเหมาะพอควรสามารถชดเชยความเสียหายและภาระที่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้บางส่วนไม่ได้หวังจะให้ได้กำไรมากมายเกินไป" นางธาริษากล่าว
โดยแนวทางการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่ทางธปท.ต้องการเห็นเป็นรูปธรรมคือให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมทั้งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่เป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชนอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการบริหารงานอย่างโปร่งใสและปลอดจากการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้นเมื่อธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีแล้วจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องเข้าไปถือหุ้นในธนาคารดังกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตามหลักการแล้วการที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะทยอยขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ออกไปถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งการที่กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปถือหุ้นธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็เพื่อพยุงฐานะของธนาคารเหล่านั้นให้มีความเข้มแข็งและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศถือเป็นเรื่องที่ควรทำ และเมื่อธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีสถานะที่แข็งแกร่งแล้วก็ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะปล่อยให้ดำเนินธุรกิจตามแนวทางของภาคเอกชน
ทั้งนี้การลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่นั้น จะมีขั้นตอนในการลดสัดส่วนโดยจะพิจารณาระยะเวลาและราคาขายที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ต้องขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ให้เหลือธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้นอาจยังคงถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ไว้ 2 แห่งเพื่อเป็นเครื่องมือสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางด้วย
"การที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เกิดวิกฤติถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อธนาคารเหล่านั้นมีสถานะที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชนและพร้อมรับการเปิดเสรีทางการเงินแล้วก็ถึงเวลาที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ส่งผู้บริหารมืออาชีพเข้าไปสร้างความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชนได้อย่างเต็มตัวแล้ว"
โดยในปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยจำนวน 56.38% ถือหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจำนวน 47.58% ธนาคารไทยธนาคาร 48.98% และธนาคารทหารไทยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 31.2%.
|
|
 |
|
|