|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
* ผ่ากลยุทธ์ "ไอ-โมบาย" ประกาศศักดิ์ศรีมือถือแบรนด์ไทย ยืนเหนือคู่แข่งระดับโลก
* เสี้ยนหนามใหญ่ที่ทุกค่ายมือถือไม่อาจมองข้าม หลังประสบความสำเร็จท่วมท้นในปี 49
* วางเป้าหมายสำคัญโลคัลแบรนด์อันดับหนึ่งในทุกประเทศที่ไอ-โมบายเข้าทำตลาด
* และนี่คือแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ตนใหม่แห่งวงการโทรศัพท์มือถือ
จากตัวเลขยอดขายโทรศัพท์มือถือเกิน 2 ล้านเครื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศประมาณ 1.6-1.7 ล้านเครื่อง ที่เหลือเป็นยอดขายในตลาดต่างประเทศ เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขายได้เพียง 9 แสนเครื่อง
ตัวเลขดังกล่าวคือบทพิสูจน์ความสำเร็จของแบรนด์มือถือไอ-โมบาย ที่ได้ประกาศศักดิ์ศรีแบรนด์ไทยเหนือคู่แข่งขันระดับโลก อย่างโมโตโรล่าและซัมซุง เพราะวันนี้ผู้บริหารของไอ-โมบายยืนยันว่าไอ-โมบาย คือผู้นำตลาดอันดับที่สองของเมืองไทย เป็นรองเพียง "โนเกีย" เท่านั้น
"วันนี้ไอ-โมบายเติบโตเร็วมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่เราเข้าไปทำตลาดไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ"
เป็นคำกล่าวของ ธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด(มหาชน)
การเติบโตอย่างรวดเร็วของไอ-โมบาย นั้น ธนานันท์ ถึงขนาดยกตัวอย่างที่ผู้นำตลาดมือถือไม่อยากให้ไอ-โมบายเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศลาว ซึ่งไอ-โมบายเป็นผู้นำตลาดอันดับที่สอง โนเกียถึงกับประกาศว่าหากตู้ขายโทรศัพท์มือถือไหนมีมือถือไอ-โมบายขาย จะไม่ขายโทรศัพท์มือถือโนเกียให้
ผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขัน ไม่ได้ทำให้ผู้บริหารของไอ-โมบายย่อท้อแต่อย่างไร แต่กับเดินหน้าทำตลาดในแนวทางและกลยุทธ์ที่จะส่งให้ไอ-โมบายยืนหยัดอยู่ในตลาดนี้ได้อย่างแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ที่ไอ-โมบายใช้ได้อย่างได้ผล ก็คือการออกผลิตภัณฑ์ที่โดนใจลูกค้าในราคาต่ำ โดยมีลูกค้าเป็นตัวสินใจเลือกซื้อสินค้า และมีบรรดาคู่ค้าของไอ-โมบายเป็นตัวผลักดันให้เกิดการขายมือถือไอ-โมบายอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลตอบรับมากในช่วงที่ผ่านมา
"เราทำให้คู่ค้ามีกำไรจากการขายมือถือมากกว่าขายมือถือยี่ห้ออื่น เพราะปัจจุบันนี้การขายมือถือโนเกียคนขายจะได้กำไรไม่เกิน 10% ที่สำคัญการขายมือถืออินเตอร์แบรนด์ทั้งหลาย ผู้ค้าต้องเสี่ยงกับการตัดราคา ลดราคาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาวะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงมาก"
สิ่งที่ไอ-โมบายกำลังทำการปรับปรุงมากขึ้นคือการพัฒนาคุณภาพและฟังก์ชั่นให้กับโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงแรกของการทำตลาดมือถือไอ-โมบาย มีการเลือกใช้โรงงานที่ผลิตให้หลากหลายแห่ง ส่งผลต่อคุณภาพสินค้า และเคยมีบางรุ่นที่มีเครื่องเสียสูงถึง 25% จนทำให้ลูกค้าไม่กล้าที่จะซื้อมือถือไอ-โมบาย
ธนานันท์ บอกว่าแม้ว่าแบรนด์ไอ-โมบายจะได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว แต่ไอ-โมบายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจะไม่ให้อภัยหากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น จึงต้องค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ และทำให้แบรนด์นี้แข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของคุณภาพ ในปัจจุบันนี้ไอ-โมบายได้เลือกโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิต จนทำให้มือถือไอ-โมบายไม่เสียมากเหมือนที่ผ่านมาในอดีต
"คนอื่นก็มีมือถือเสียเช่นกัน แต่ผู้บริโภคมักจะไม่สนใจและไม่จำ ไม่เหมือนกับเราที่จะบอกต่อถึงความไม่ดีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งทำให้ดีขึ้น"
เป้าหมายสำคัญที่ธนานันท์ได้วางไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจของไอ-โมบายคือโจทย์ที่ว่าต้องเป็นโลคัลแบรนด์อันดับหนึ่งในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้น ไอ-โมบายยังคงเน้นให้ความสำคัญ และรักษาระดับการเติบโต พร้อมมุ่งแข่งขันในแต่ละกลุ่มชนิดของผู้ใช้งาน หรือตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการหลากหลาย ไอ-โมบาย แบ่งกลุ่มมือถือตามไลฟ์สไตล์เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เบสิก มิวสิค มัลติมีเดีย คาเมร่าและเทรนด์เซ็ตเตอร์
และในช่วงปลายปีเช่นนี้ ไอ-โมบาย ยังโหมทำตลาดด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือพร้อมกันถึง 6 รุ่น ได้แก่ ไอ-โมบาย 100,313,512,513,611 และ 612 ซึ่งถือเป็นการเปิดเซกเมนต์ให้กับมือถือไอ-โมบาย โดยยังมีจุดเด่นเรื่องของราคาและเรื่องของเสียงเพลงเป็นจุดขายสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว I-Link ระบบดาวน์โหลดคอนเทนต์ผ่านมือถือแบบใหม่ ซึ่งไอ-โมบาย พัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่โลกของข่าวสาร ความบันเทิงได้ง่ายโดยให้บริการฟรี ประกอบด้วยข้อมูลความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ดาวน์โหลดวอลเปเปอร์ วิดีโอคลิป อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ ดาวน์โหลดริงโทน ทรูโทนและเสียงเรียกเข้า รายงานผลการแข่งขันกีฬา
และยังเปิดเว็บไซต์รูปแบบใหม่ www.i-mobilephone.com เพื่อให้ลูกค้าของไอ-โมบาย ได้ติดตามข่าวสาร และใช้บริการพิเศษ อาทิ เว็บเมลฟรี ผ่านทางเว็บไซต์นี้อีกด้วย
ที่สำคัญได้มีการเปิดตัวแบรนด์ แอมบาสเตอร์ "ทาทา ยัง" เพื่อเป็นแบรนด์พรีเซนเตอร์ของโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจะมีคอนเทนต์พิเศษของทาทา ยัง สำหรับโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้สนับสนุนคอนเสิร์ตในทุกๆ ที่ที่ทาทา ยังไปเปิดการแสดง
"ทาทา ยังจะช่วยให้เราเปิดตลาดในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งป็นตลาดที่เราจะเน้นในปีหน้าเช่นกัน ไอ-โมบายมองว่าตลาดต่างประเทศยังมีช่องว่างทางการตลาดสูงและผู้ใช้มีความต้องการสูง น่าจะทำให้เราทำตลาดได้ดียิ่งขึ้นกว่าในปีนี้"
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของไอ-โมบายในปี 2550 นั้น ไอ-โมบายต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25%และ 2% ในต่างประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และลาว รวมถึงการขยายตลาดในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท ทีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เอสดีเอ็น บีเอชดี หรือ TMI
และจะมีการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือสู่ 550 แห่ง แบ่งเป็น 405 แห่งในประเทศไทย และ 145 แห่งในต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ไอ-โมบาย ตามแนวคิด "Multimedia Society" โดยการเพิ่มมูลค่าให้แก่โทรศัพท์มือถือด้วยบริการคอนเทนต์มัลติมีเดีย
นอกจากนี้จะเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ และบริการของไอ-โมบาย มีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และพัฒนาการให้บริการและการดูแลลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ธนานันท์ มองถึงอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าของไอ-โมบาย ว่าต้องการทำให้แบรนด์ไอ-โมบายแข็งแรง มีส่งแบ่งทางการตลาดที่ดี และทำให้บริษัทแข็งแรงด้วยการขยายธุรกิจเพิ่มเติม เพราะในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เกิน 2-3 ปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจใหม่ของไอ-โมบายในอนาคตได้เป็นอย่างดี
|
|
|
|
|