|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โตชิบาเดินเกม Emotional Marketing มัดใจลูกค้าหัวใจสีเขียว ผุดแคมเปญ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว" กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน เป็นการสกัดคู่แข่งที่ทำสงครามราคาแต่สินค้าคุณภาพต่ำ
โตชิบา เปิดตัวแคมเปญ นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว (Green Innovation for White World) เพื่อตอกย้ำคอนเซ็ปต์แบรนด์ที่ว่า "โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต" ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทตอบโจทย์ดังกล่าวด้วยการสร้าง Value Added ให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เริ่มตั้งแต่การทำตลาดโน้ตบุ๊ค เครื่องครัวดิจิตอลชิ้นเล็ก การเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์เอวีในประเทศไทย เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัยมากขึ้น หลังจากไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆมานานหลายปี ตลอดจนการเพิ่มไลน์อัพสินค้าใหม่ๆจากปกติที่ลอนช์ปีละ 80 รายการเพิ่มเป็น 100 รายการ และ 150 รายการในปี 2550 แต่การขับเคลื่อนดังกล่าวดูเหมือนยังไม่เพียงพอ เพราะคู่แข่งทั้งแบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลีมีการใช้งบการตลาดสูงถึงหลักพันล้านบาท ในขณะที่โตชิบามีการใช้เพียงปีละ 400 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้โตชิบาต้องเร่งเครื่องไล่คู่แข่งให้ทัน
รูปแบบการตลาดของโตชิบาที่ผ่านมาเป็นไปในแนวทางของ Functional Marketing คือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในขณะที่คู่แข่งหันไปเน้นในเรื่องของ Emotional Marketing มากกว่าเนื่องจากเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกและทำให้ผู้บริโภคคล้อยตามได้ดีกว่า
Emotional Marketing ถือเป็นการทำการตลาดแนวทางหนึ่งที่บริษัทใหญ่ๆมักให้ความสำคัญเนื่องจากส่งผลต่อยอดขาย โดยการตัดสินใจซื้อที่เกิดจากอารมณ์ในชั่วขณะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างออกไป ผู้บริโภคอาจตั้งใจมาซื้ออย่างหนึ่งแต่เมื่อถูก Emotional Marketing กระตุ้นก็อาจซื้ออีกอย่างหนึ่ง เช่น บรรยากาศในร้านที่เย็น เปิดเพลงสบาย กระตุ้นความอยากซื้อของผู้บริโภคได้มากกว่าร้านที่ร้านอบอ้าว
นอกจากนี้ Emotional Marketing ยังถูกใช้ในการสร้าง Brand Loyalty เพราะนอกจาก Emotional Marketing จะเร้าอารมณ์อยากซื้อแล้ว ยังสามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกลึกๆของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าใช้แบรนด์นั้นๆแล้วเกิดความภาคภูมิใจ มีความโดดเด่น สะท้อนความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้ เขาก็จะฝังแบรนด์นั้นในใจ และนึกถึงเป็นแบรนด์แรกเมื่อคิดจะซื้อสินค้านั้นๆ
รูปแบบ Emotional Marketing ที่นิยมใช้และให้ผลลัพธ์ที่ดีคืออารมณ์ที่เกี่ยวกับความรัก สถานภาพ ความภาคภูมิใจ การทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเมื่อซื้อหรือใช้สินค้านั้นแล้วตัวเองดูดี การสร้างกลุ่มสังคมขึ้นมา เรื่องของไลฟ์สไตล์ ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
โซนี่ถือเป็นแบบอย่างของการทำ Emotional Marketing ที่ดีเพราะโซนี่ก้าวข้าม Functional Marketing ไปสู่ Emotional Marketing โดยโซนี่ไม่ต้องมาอธิบายสรรพคุณว่าสินค้าของตัวเองทำอะไรได้บ้าง แต่โซนี่สื่อสารว่าผู้บริโภคที่ใช้โซนี่ได้มูลค่าเพิ่มอะไรบ้าง การมีสังคมของโซนี่เวิลด์ที่สามารถต่อเชื่อมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆได้เป็นการเข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยเช่นกัน ทุกอย่างที่โซนี่ทำล้วนเป็น Emotional Marketing แม้แต่โลกของเอชดีเวิลด์ที่โซนี่พยายามปลุกปั้นอยู่ทุกวันนี้ ดูเหมือนเป็นการบรรยายสรรพคุณของสัญญาณเอชดีแต่สุดท้ายแล้วคือการยกระดับไลฟ์สไตล์ในการชมรายการของผู้บริโภคซึ่งถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งของ Emotional Marketing
ขณะที่ซัมซุงเองซึ่งมีการคิดค้นนวัตกรรมมากมายแต่ก็ยังไม่สามารถแซงหน้าโซนี่ได้จึงเดินตามรอยโซนี่ด้วยการใช้ Emotional Marketing ในแบบของซัมซุงภายใต้ Key Word ที่ว่า Imagine เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์เทคโนโลยีที่มีสไตล์ ความล้ำหน้าของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของซัมซุงทั้งในเรื่องงานและไลฟ์สไตล์ส่วนตัวในบ้าน
ในส่วนของโตชิบาก็เคยมีการทำ Emotional Marketing ด้วยการดีไซน์เครื่องไฟฟ้าในครัวดิจิตอลให้เป็นคอลเล็กชั่นสีต่างๆ ตลอดจนการทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งแต่ก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก นอกจากนี้ยังมีการใช้ Emotional Marketing ในเชิง Security ด้วยการวางนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2534 แต่ก็ไม่ได้เป็นวาระหลักเหมือนอย่างเช่นในปี 2550 นี้ แม้ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากยังขาดการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก แต่โตชิบาก็เชื่อว่าการรณรงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้ภาคธุรกิจอื่นๆตลอดจนหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้กันว่าสินค้าราคาถูกจากจีนถูกโจมตีในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย การดำเนินแคมเปญ นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว แม้โตชิบาจะบอกว่าเป็นการตอบแทนคืนสู่สังคม แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนได้ และยังสามารถซื้อใจผู้บริโภคประเภทหัวใจสีเขียวได้ด้วย
แคมเปญ นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว นอกจากจะเป็นการใช้ Emotional Marketing ในการตอบโจทย์ "โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต" ซึ่งใช้มายาวนานนับสิบปีและเป็นการสกัดคู่แข่งจากจีนแล้ว ยังถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับการจับตามองในการทำธุรกิจระดับโลกโดยนิตยสาร Entrepreneur ในสหรัฐอเมริกาได้ระบุถึงแนวโน้มที่น่าจับต่างมองในปีหน้า โดยธุรกิจสีเขียวเป็นหัวข้อแรกที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งจากการสำรวจพบกลุ่มผู้บริโภคในอเมริกาพบว่ามีการซื้อสินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติในปี 2548 สูงถึง 744 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยยังไม่ได้นับรวมสินค้าประเภทอาหาร ก่อนหน้านี้สินค้าที่มีองค์ประกอบหลักจากธรรมชาติมักอยู่ในร้านเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมแพร่หลายไปสู่ช่องทางจำหน่ายอื่นๆมากมาย โดยหลายฝ่ายเชื่อว่านี่คือเทรนด์ของธุรกิจโลกที่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"ในต่างประเทศเขาเจรจาธุรกิจเฉพาะบริษัทที่เป็น Green Company เท่านั้น บริษัทใดที่ไม่เข้าข่ายก็จะทำธุรกิจลำบาก สำหรับเมืองไทยก็มีหลายบริษัทที่เริ่มให้ความสำคัญแต่บางรายก็ทำไปตามกระแส ขณะที่โตชิบาทำอย่างจริงจังมาตลอด" กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร โตชิบา ไทยแลนด์ กล่าว
ประกอบกับการที่สหภาพยุโรปออกมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ในการควบคุมการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าสินค้าใดไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวจะถูกห้ามนำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป หลายฝ่ายจึงหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้น แต่การจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แม้สินค้าจะมีราคาสูงกว่าปกติแต่โตชิบาก็เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจต่อการเลือกซื้อสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีคู่แข่งรายใดที่สร้างภาพลักษณ์ในการเป็น Green Product อย่างชัดเจน
โตชิบาได้วางนโยบายให้ผู้แทนจำหน่ายหลักที่มีกว่า 400 ราย ร่วมรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาซื้อสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพัฒนา TOSHIBA iSHOP ให้มีศักยภาพมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มจำนวนชอปตามจุดสำคัญโดยเน้นรูปแบบของการใช้สินค้าที่เชื่อมต่อกันเป็น Solution เพื่อสะท้อนถึงความเป็น Leading Innovation
ผลิตภัณฑ์ของโตชิบากว่า 150 รายการที่ลอนช์ออกมาในปีนี้ล้วนตอบโจทย์ความเป็น นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว โดยมีการร่วมกับดีลเลอร์เพื่อให้รณรงค์สร้างกระแสสีเขียว ขณะเดียวกันก็จะมีป้ายพีโอพี 2 ป้าย ณ จุดขาย อันหนึ่งคือป้ายบอกคุณสมบัติสินค้า ส่วนอีกป้ายจะเป็นการบอกกล่าวถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน RoHS โดยมีโลโก้ ทีจัง T-Chan เป็นสัญลักษณ์ของ Green Innovation ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สินค้านั้นๆอย่างถูกวิธีเพื่อยืดอายุการใช้งานและก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยการดีไซน์ที่เรียกว่า ECO Design เพื่อทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้โตชิบาตั้งเป้ายอดขายในปี 2550 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12% ในขณะที่ตลาดเครื่องไฟฟ้าโดยรวมมีการเติบโตเพียง 5-8% เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มไลน์อัพและการลอนช์นวัตกรรมใหม่เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ตลอดจนการสร้าง Emotional Marketing เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับแบรนด์โตชิบามากขึ้น ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ยอดขายเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มไอทีที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มจาก 25% เป็น 35% ขณะที่หมวดภาพและเสียงมีสัดส่วนลดจาก 15% เหลือ 10% ส่วนเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือนมีสัดส่วนลดจาก 60% มาเป็น 55% แต่ในแง่ของยอดขายทุกหมวดยังคงมีการเติบโตที่ดี
|
|
|
|
|