|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"หอการค้า -สภาอุตฯ" ประสานเสียงปี 2550 ส่งออกกระอักเลือด หากค่าเงินบาทยังแข็งคาดโตอย่างมากไม่เกิน 11 % เศรษฐกิจคู่ค้าอย่าง "สหรัฐ - ยุโรป - ญี่ปุ่น" มีแนวโน้มชะลอตัว เตือนให้ระวัง "จีน -เวียดนาม" แย่งตลาดไปครอง ด้านนักวิชาการชี้ ปัจจัยเสี่ยงค่าเงินผันผวนทั่วโลกโจทย์ใหญ่รัฐบาล แนะผู้ประกอบการส่งออก ต้องปรับตัวยกระดับมาตรฐานสินค้าไม่ต้องพึ่งอัตราการแลกเปลี่ยน พร้อมเชื่อเศรษฐกิจปีหมูทอง จะดีกว่าปี 2549
ปีจอกำลังจะผ่านไปนับถอยหลังก้าวเข้าสู่ปีหมูทองนั้น ภาคเอกชนได้วิเคราะห์เศรษฐกิจปี2550ซึ่งสะท้อนให้ปัจจัยหนุนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ และในทางตรงกันข้ามปัจจัยอะไรบ้างที่จะฉุดเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย และธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถมีกำไรอยู่ในระดับดาวรุ่ง หรือธุรกิจอะไรที่ควรระวังไว้เพราะอาจจะเป็นดาวร่วงได้โดยไม่ทันตั้งตัว
ปี 50 ไม่ต่างจากปีจอ
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจในปี 2550 ว่าหากมองภาพรวมเศรษฐกิจปี 2549 กับปี 2550 จะไม่แตกต่างกันมากเพราะ มีปัจจัยลบกับปัจจัยหนุนพอ ๆ กันหากมองตัวเลขเป้าหมายจีดีพีที่ 4.5 -5 % ก็แทบจะไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ก็คาดว่าจะลดลงเรื่อยๆในปี50 อีกทั้งงบประมาณปี 2550 ที่ออกมาในเดือนมกราคมนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้น
ส่วนในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะจะกระทบต่อการส่งออกของไทยต่อเนื่องจากปลายปี 2549 ที่ผ่านมาเพราะค่าเงินบาทไม่มีเสถียรภาพ ภาคการส่งออกที่เติบโตถึง 15 -16 % ในปี 2549 แต่ปี 2550 การส่งออกอาจจะสะดุดจนทำให้ยอดการส่งออกทั้งปีไม่เกิน 10 % ก็อาจจะเป็นไปได้
บาทแข็งปัญหาใหญ่ส่งออก !
ดังนั้นหากค่าเงินบาทแข็งค่าไม่หยุด หรือ อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์จะทำให้ผู้ส่งออกของไทยมีโอกาสรอดน้อยมากอีกทั้งสิ่งที่น่าจับตาในปี 2550 คือสถานการณ์ทางการเมืองหากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพย่อมส่งผลวงกว้างในเรื่องการค้า -การลงทุนของประเทศ แต่เท่าที่เขาได้ติดตามรัฐบาลชุดดังกล่าวก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่
"อสังหาริมทรัพย์อาจจะชะลอตัวในปี 2550 เพราะความลังเลของผู้ประกอบการเห็นว่ากำลังซื้อในประเทศมีไม่มากเท่าที่ควร ยิ่งมีเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์มีปัญหาการจากสะกัดค่าเงินบาทของธปท.ทำให้หุ้นรูดลงไปกำลังซื้อลดลงแน่นอนจะเอากำลังซื้อมาจากไหน"ประมนต์ สุธีวงศ์ ระบุ
ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตได้ดีมาตลอดในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา และมียอดส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ 40% ของยอดการผลิตทั้งหมดซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศของประชาชนทั่วๆไป ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากปี2549 ซึ่งจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยบางสำนักที่ผ่านมา การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็อยู่ในระดับที่สูง หรือมีแนวโน้มจะใช้จ่ายมากขึ้นด้วย
เชื่อบาทแข็งกระทบถึงปี 50
ขณะที่ สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2550 ว่า ปีที่แล้ว(2549)ในช่วงแรกมีปัจจัยเข้ามาเยอะมาสมควร คือ ตั้งแต่ต้นปีก็ไม่มีรัฐบาลในช่วงหลายเดือน พอมีรัฐบาลแล้วราคาน้ำมันกลับสูงขึ้นจนน่าตกใจ พอราคาน้ำมันทรงตัว ก็เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ต่อจากนั้นก็เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล และเมื่อมีรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีปัญหาค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นจนผู้ประกอบการส่งออกต่าง ๆโอดครวญกันมาก ล่าสุดก็มีเรื่องมาตรการของธปท.ที่ออกมาสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดีปีที่แล้วการส่งออกถือว่าเป็นพระเอกเพราะมีการเติบโต 15 -16 % ถือว่าเยอะมากแม้จะถูกกระทบจากค่าเงินบาทในช่วงปลายปี แต่เพราะออเดอร์ที่มีอยู่เดิมจึงทำให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อัตราดอกเบื้ย -GSP กระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยบวกที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในปี2550 นั้นก็จะมีงบประมาณ 2550 ที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นปี ส่วนภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ดี ดอกเบี้ยน่าจะลดลง ราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวหรือมีแนวโน้มราคาจะลดลงก็ถือว่ามีเสถียรภาพไม่น่าห่วงเหมือนปีที่แล้ว และในเรื่อง GSP ของสหรัฐที่ให้กับประเทศไทย ก็ได้ต่ออายุไปอีก 2 ปี จึงน่าจะทำให้ผู้ส่งออกหายใจได้โล่งอกมากขึ้นสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น
ในด้านปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากปีที่แล้วคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากผู้ประกอบการส่งออกจะได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งคาดว่าปี2550 การส่งออกของไทยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 10 -11 % เท่านั้น อีกปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเหลี่ยงได้คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยจะชะลอตัวลงในปี2550 จะกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน และราคาน้ำมันอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้และส่งผลกระทบด้านลบได้เช่นกัน
ระวัง " จีน-เวียดนาม " แย่งลูกค้า
อย่างไรก็ดีจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการคนไทยลดลงซึ่งปีหน้าคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยคือ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย ทำให้ผู้ประกอบต้องปรับตัวเน้นที่มาตรฐานสินค้า ไม่ใช่แข่งขันกันที่การลดราคา
ประธาน ส.อ.ท. ยังแนะนำผู้ประกอบการเอาตัวรอดจากค่าเงินบาทในปี2550 ว่า ให้ผู้ส่งออกไทยไปคุยกับคู่ค้าในต่างประเทศเพราะอัตราการแลกเปลี่ยนไม่แน่นอน เสนอเขาว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิน 5% เราก็จะซื้อขายกันในอัตราเดิม แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิน 5 % คู่ค้าของเราก็พร้อมจะช่วยเราด้วยได้หรือไหม อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่มุ่งแต่เอากำไรเพียงอย่างเดียว
"รถยนต์ - อิเล็กฯ -ไก่สดแช่แข็ง" เติบโตได้ดี
สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้ดีในปี 2550 สันติ วิลาสศักดานนท์ ระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบยังมีโอกาสเติบโตได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ , สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีโอกาสเติบโตได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้แล้วยังมีอาหารกระป๋องต่างๆ และอาหารแช่เยือกแข็ง นอกจากนี้แล้วไก่สดแช่แข็งที่มีแรงซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศสูงมากก็จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอนาคต
ขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปี2549 คือ ธุรกิจเสื้อผ้าเพราะจะได้รับผลกระทบจากยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ที่ราคาต้นทุนถูกกว่าไทย เครื่องจักรการเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบเพราะแรงซื้อมีไม่มาก ส่วนข้าวต้องดูว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามจะมีผลิตมากหรือไม่ ซึ่งหากเขามีผลผลิตมากกว่าไทย เราจะขายในราคาต่ำกว่าได้ แต่หากผลผลิตน้อยกว่าไทย การส่งออกข้าวก็ไม่น่าจะมีผลกระทบ ขณะที่ด้านแรงงานในปีหน้ายังขาดอีกมากโดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง และเทคนิค และ วิศวกรรม
ระวัง ! ค่าเงินผันผวนทั่วโลก
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2550 ว่า เศรษฐกิจปี 2550 จะมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหลายประการด้วยกัน เรื่องแรกคือ การผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งมาจากความไม่สมดุลในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความอ่อนไหวของการเงินในประเทศสหรัฐฯ ทำให้เกิดการกระจายการลงทุนกว่า 20, 000ล้านเหรียญ ไปในประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดพันธบัตร ตลาดตราสารหนี้ หรือการเก็งกำไรค่าเงินตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก
อย่างไรก็ดีตัวเงินเหล่านั้นจะไหลเข้าตลาดเอเชียเป็นส่วนมาก และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบเกิดค่าเงินบาทจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการออกมาอย่างที่ทราบกันดี แต่ถ้าประเทศไหนมีระบบการเงินที่เข็มแข็งจะไม่ได้รับผลกระทบการจากเก็งกำไรค่าเงิน ภาครัฐที่เข้ามาดูแลต้องเข้าใจความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก ซึ่งทั้งธปท. และ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมันมีความเกี่ยวโยงกันทั่วโลก ซึ่งต้องมีนโยบายที่รัดกุม และมีความระมัดระวังเรื่องค่าเงินอย่างมาก
"ความน่าเชื่อถือก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อนักลงทุนต่างชาติที่มองเข้ามาในประเทศ รัฐบาล และ ธปท.ต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้ลงทุนให้ได้ " ดร.วรพล ระบุและย้ำว่า ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยคือ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 7-8 % ต่อ GDP ถือว่าสูงที่สุดในแถบเอเชียเพราะประเทศเราผลิตเองไม่ได้ต้องพึ่งพิงการเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมนำเข้าแค่ 20 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคามันพุ่งไปที่ 3 เท่ากว่าๆ เปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ รัฐบาลต้องหันมาคิดว่า มีนโยบายให้การสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนมากเพียงใด ที่ผ่านมารัฐบาลมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนโยบายด้านพลังงานหรือไม่ อาทิ รัฐต้องมีนโยบายปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานปรับให้ระบบขนส่งมวลชนไม่ต้องพึ่งพิงราคาน้ำ มีการกระจายความเจริญ ไปตามหัวเมืองต่างๆ ให้มากขึ้น
กระตุ้นการ "ออม"ประชาชน
ดร.วรพล ยังกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากให้ระวังปัจจัยต่อมาคือ เรื่องดอกเบี้ย เนื่องจากค่าเงินมีความผันผวน เชื่อว่าปีหน้าดอกเบี้ยจะลดลง เงินเฟ้อก็จะลงลดมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ "เงินออม" ของประชาชนอาจจะลดลงได้ รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายออกมากระตุ้นให้นักลงทุน และประชาชนหันมาออมมากขึ้น อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุน RMF ( กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ )
ขณะที่ภาคการส่งออกที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะได้รับผลกระทบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ซึ่งภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวไม่ให้การส่งออกผูกติดค่าเงินบาทจนเกินไป เพราะหากสินค้าที่ส่งออกมีมาตรฐาน แล้วค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็จะไม่มีผลกระทบ เพราะลูกค้าจะมั่นใจในสินค้าที่เขาซื้อไปว่ามีความคุ้มค่า คุ้มราคา ไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนกันอีก นอกจากนี้แล้วสิ่งที่จะตามหากการส่งออกมีปัญหา คือ ภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบจากขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีแหล่งกระจายสินค้า , แหล่งวัตถุดิบในประเทศประเทศ
ส่วนด้านการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศนั้น ต้องมีการโปรโมทมากกว่านี้ ไม่โปรโมทเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายทะเล แต่ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม - ประเพณีท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หากยังหวังรายได้จำนวนมากจากการท่องเที่ยวในประเทศ
รัฐต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน!
นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กำลังซื้อจากประชาชนในปี 2550 อาจจะไม่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการผันผวนค่าเงินบาท การส่งออกที่ลดลงทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งสนับสนุนให้เอกชนลงทุนควบคู่กันไป เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของประชาชน
" ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2550 มีแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นกว่าปี 2549 คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 4.7 - 5 % ในปี 2550 แต่รัฐบาล ต้องมีนโยบายด้านการเงินที่เข็งแข็ง มีความระมัดระวัง และเข้าใจความผันผวนของค่าเงินที่เชื่อมโยงทั่วโลก " ดร.วรพล ระบุ
ธุรกิจเอสเอ็มอี ส่อเค้าเจ๊ง "เหล็ก ไก่สดแช่แข็ง" ดาวรุ่งปี50
ส่องธุรกิจปี2550 ธุรกิจไหนดาวรุ่ง - ดาวร่วง " เหล็ก - ไก่สดแช่แข็ง - รถยนต์ " มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเพราะแรงซื้อภายในประเทศ ขณะที่ธุรกิจส่งออกกระอักต่อเนื่องจากค่าเงินบาท และคู่ค้าอย่างสหรัฐฯที่เศรษฐกิจชะลอตัวในปีหน้า ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี ส่อเค้าเจ๊ง
สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี2550 ธุรกิจขนาดใหญ่ยังอยู่ได้แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)จะมีปัญหาต้องปิดกิจการขณะที่การขยายตัวภาคอุตสาหกรรมโดยรวมคาดว่าไม่เกินร้อยละ 10 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีปัญหา เช่น สหรัฐ ที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนยุโรป มีปัญหาค่าเงินแข็งร้อยละ 10 - 11 ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจจะไม่เติบโตขึ้น ส่วนราคาน้ำมันไม่สามารถคาดเดาได้
ส่วนอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2550 เห็นว่า ประเทศไทยควรฉวยโอกาสลดดอกเบี้ยก่อนเพื่อชิงความได้เปรียบ โดยเห็นว่าต่างชาติจะยังคงเข้ามาลงทุนต่อไป เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยดีอยู่แล้ว แม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลงบ้างก็ตาม
ส่วนการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)เฉพาะการเจรจากับญี่ปุ่นควรเดินหน้าต่อไป ส่วนเอฟทีเอกับสหรัฐ รัฐบาลชุดนี้ควรทำเพียงการศึกษาข้อได้เปรียบเทียบเพี่อเตรียมตัวไว้ก่อน ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งกองทุนเอฟทีเอขึ้น เพื่อวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอ ดังนั้นจึงควรชะลอการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้แล้วปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมในปีหน้าการขยายตัวได้ดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากตลาดภายในประเทศที่ขยายตัวมากขึ้นซึ่งผู้บริโภคมีกำลังการจับจ่ายซื้อของกันมากเช่น
1อุตสาหกรรมเหล็กเส้นและเหล็ก โดยคาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะกระเตื้องขึ้น และ ในปีหน้าจะเริ่มมีการก่อสร้างในโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์จากภาครัฐ
2.ไก่สดแช่แข็งที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นสำคัญมากกว่า 70%
3. ด้านธุรกิจรถยนต์ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเพราะจะเกิดการฟื้นตัวจากการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ การบริโภคในประเทศก็จะขยายตัวดีขึ้นด้วยเพราะมีกำลังซื้อมากขึ้นจากที่ค่าครองชีพมีแนวโน้มลดต่ำลง และราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะทรงตัวถึงปรับตัวลด
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัวนั้นสันติ มองว่า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลักซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอย่างหลีกเหลี่ยงมาได้ โดยมีการส่งออกมากกว่า 60% ของการผลิตรวม เช่น โทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศ และสับปรดกระป๋อง ที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐมากถึง 60% ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวในปีหน้าจะได้รับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มเครื่องประดับเป็นอีกกลุ่มที่จะชะลอตัวลงเพราะปัจจุบันพึ่งตลาดส่งออกอย่างสหรัฐอเมริกาในสัดส่วน 25% ตลาดฮ่องกง 11% และตลาด อิสราเอล 9% ประกอบกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีความเสี่ยงสูงที่สหรัฐอเมริกาอาจจะได้รับผลกระทบจากที่ตลาดชะลอตัว
|
|
|
|
|