การบินไทยแจงผู้ถือหุ้นเร่งแก้ปัญหาการให้บริการที่สุวรรณภูมิในม.ค.2550 นี้ ขยายเคาน์เตอร์เช็คอิน ดูแลความปลอดภัยพนักงาน ผู้ถือหุ้นข้องใจเบี้ยประชุมบอร์ด ยันจ่ายเงินโบนัสบอร์ด 0.5%ของเงินปันผลเท่าเดิม
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้อำนวยการโครงการลงทุนพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นการบินไทยวานนี้ (27 ธ.ค.) ได้มีการสอบถามถึงปัญหาการให้บริการของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งฝ่ายบริหารยืนยันว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือนม.ค.2550 นี้ เช่น 1.ขยายเคาน์เตอร์เช็คอินเพื่อทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น ขยายจุดรับรองผู้โดยสาร รวมทั้งแก้ปัญหาความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัยของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในอาคารผู้โดยสาร
โดยที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น ระบบสายพานลำเลียง การสูญหายของกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสาร ทำให้ผู้ถือหุ้นสับสนว่าปัญหาเหล่านี้เป็นความผิดของการบินไทย หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งฝ่ายบริหารได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบว่าความผิดพลาดแต่ละส่วนเกิดขึ้นจากทั้ง 2 หน่วยงาน แล้วแต่กรณี
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นได้สอบถามถึงการลงทุนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งฝ่ายบริหารได้แจ้งให้ทราบว่าการบินไทยได้ลงทุนในโครงการสำคัญ 5 กิจกรรมหลัก มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท โดยปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะทำให้การบินไทยคืนทุนภายใน 8 ปี ขณะที่ผลตอบแทนในการลงทุน (IRR) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 13% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การย้ายมาให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ทำให้การบินไทยมีค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้นด้วย
แหล่งข่าวจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกล่าวว่า ฝ่ายบริหารได้รายงานถึงค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมของกรรมการ การบินไทย พบว่ากรรมการได้รับค่าตอบแทนคนละ 20,000 ต่อเดือน เป็นประจำทุกเดือน และได้รับเบี้ยประชุมอีกคนละ 30,000 บาทต่อครั้ง และถ้าเดือนใดประชุมเกินกว่า 1 ครั้ง ก็จะไม่เพิ่มวงเงินเบี้ยประชุม โดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินไทย จะได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการคนอื่น 25% รองประธานได้รับสูงกว่ากรรมการ 12.5 %
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการบินไทยได้ออกมาชี้แจงว่าจะได้รับเบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น โดยอ้างว่าได้ปรับลดค่าเบี้ยประชุมลงมาแล้วจากเดิมกำหนดเบี้ยประชุมไว้ที่ 60,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่คณะกรรมการกลับเพิ่มค่าตอบแทนรายเดือนในวงเงินอีก 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้น ค่าตอบแทนที่กรรมการได้รับลดลงจากเดิมเพียง 10,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น
ส่วนคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งนั้น จะได้รับเบี้ยประชุม 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับเงินรางวัลประจำปีหรือโบนัสในปี 2550 ที่ต้องจ่ายให้กับคณะกรรมการยังคงคิดอัตราเดิมคือสัดส่วน 0.5% ของเงินปันผล โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของกำไรแต่อย่างใด
|