คันทรี่แผ่นดินทอง เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันเมื่อประมาณต้นปี
2537 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาในการฟันฝ่ากฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ของกลต. ประมาณ 2-3
ปี และเมื่อเข้าไปแล้วก็สร้างความใจหายใจคว่าให้กับผู้ถือหุ้นอยู่เกือบตลอดเวลาด้วยราคาหุ้นที่ปักหัวลงต่ำกว่าราคาจองมาเกือบตลอด
แม้จะเป็นบริษัทที่มีความพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัยที่กำลังเข้มข้น
งานนี้สดาวุธ เตชะอุบล และคุณหญิงศิศิมา ศรีวิกรม์ ไม่มีเกมการตลาดที่เหนือชั้นกว่ากลุ่มอื่น
เห็นที่จะต้องเหนื่อยกันอีกนาน
บนกระดานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์เมือ่สามารถผ่ากฎเหล็กของกลต
ไปได้ เมือต้นปลายปี 2536-2537 มีอยู่หลายบริษัท และในหลาย ๆ บริษัทนั้นผลประกอบการไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์
ส่งผลให้ราคาหุ้นต่ำลงมากว่าราคาจองอย่างน่ากลัว คันทรี่ และแผ่นดินทอง ก็เช่นเดียวกัน
แต่ 2 บริษัท นี้ยังน่าสนใจตรงที่ว่า มีการปรับองค์กร และเร่งสร้างโครงการใหม่
ๆ เพื่อทำรายได้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ในวันนี้ธุรกิจสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย ไม่ได้เป็นแค่ของกลุ่มยักษ์ใหญ่อย่างเช่น
บางกอกแลนด์ ธนายง แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ สมประสงค์หรือกฤษดา มหานคร เท่านั้นเสียแล้ว
แต่ได้มีกลุ่มบริษัทขนาดกลางน้องใหม่ขึ้นมาอีกหลายบริษัท ซึ่งมีผลประกอบการที่มาแรงมาก
จนสามารถสร้างยอดขายเพิ่มสูงขึ้นจนเบียดแชมป์รุ่นเก่า ๆ ตกอันดับ
บริษัทเหล่านั้น ได้ขยายทำเล ขยายโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง และสร้างยอดขายล้ำหน้าไปหลายช่วงตัว
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงตลาดของคันทรี และแผ่นดินทองในคราวนี้คงไม่ง่ายเป็นแน่
การวางหมากเกมเพื่อการรุกครั้งนี้ มันต้องมีอะไรที่เหนือชั้นกว่ามาก
สดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริษัทคันทรี ( ประเทศไทย) ได้ยื่นเรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อปลายปี
2524 โดยที่คาดหวังไว้ว่า โครงการคันทรีคอมเพล้กซ์โครงการโมเดิร์นแฟคตอรี่
และโครงการคันทรี่มารีน่า จะเป็นตัวทำรายได้ที่งดงามให้บริษัท แต่ความหวังในเรื่องนี้กลับพลิกคว่ำอย่างไม่เป็นท่า
การประเมินความต้องการที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานของสดาวุธ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู
ธุรกิจที่ดินเบิกบาน นั้นผิดพลาด เช่นเดียวกับนักลงทุนอีกหลายรายกำลังเจ็บปวด
ในเมื่อตัวเลขของความต้องการทีแท้จริง ณ วันนี้พิสูจน์ออกมาแล้วว่าไม่ได้สูงมากอย่างที่คาดการณ์กันไว้
ผลการดำเนินงานมในปี 2534 คันทรี่มีรายได้จาการขายและรายได้อื่น ๆ รวมประมาณ
775 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 585 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 170 ล้านบาท ปลายปี
2535 กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 277 ล้านบาท และในปี 2536 แม้ผลกำไรจะลดลงเหลือเพียง
168 ล้านบาท แต่นับว่าเป็นตัวเลขที่ยังสูงมากอยู่ดี ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะในระยะเวลานั้น
คันทรีได้ใช้ระบบการรับรู้รายได้ล้วงหน้าโดยลงบัญชีบันทึกเป็นยอดขายเต็มจำนวน
ในขณะที่ผู้ซื้อบ้านจ่ายเงินสดเข้ามาเพียง 10% ของราคาขายเท่านั้น ผลกำไรที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุนจึงเป็นเพียง
ตัวเลข ไม่ไม่มีเม็ดเงินจริง ๆ
ผลของการปรับเปลี่ยนวิธีการรับรู้ได้ตามกฏเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมีเนียมนั้น
กว่าจะลงบัญชีได้ ต้องรอให้รายได้เข้ามาถึง 40% ทำให้คันทรีต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โครงการส่วนใหญ่ที่คันทรีกำลังขายอยู่ในขณะนี้ เป็นคอนโดมีเนียม สินค้าอันตรายที่แทบทุกบริษัทไม่อยากมีเหลือไว้ในมือ
โดยเฉพาะคอนโดมีเนียมย่านชานเมือง
ตัวเลขที่คันทรีไม่อยากให้ใครต่อใคร ต้องรับรู้แต่ต้องแสดงออกมาในงบดุลก็คือ
ไตรมาส2 ในเดือนเมษายนถึงเมษายน 2537 หลังเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
คันทรีขาดทุนไปแล้ว 8 ล้านบาท เพราะขณะที่มีรายได้ทั้งหมดประมาณ 118 ล้านบาท
กลับมีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 126 ล้านบาท
ขณะนี้สดาวุธ ต้องเร่งระบายสินค้าในมืออกไปให้เร็วที่สุด
คันทรี่ คอมเพล็กซ์ เป็นโครงการแรกของเขาที่สร้างขึ้นในปี 2532 เป็นคอนโดมีเนียมที่อยู่อาศัย
และอาคารสำนักงานรวม 3 หลัง บนถนนสรรพาวุธ เขตประโขนง เป็นโครงการที่สดาวุธเคยกล่าวอย่างภาคภูมิใจนักหนาว่า
เขาเป็นกลุ่มแรกที่มองการณ์ไกลกล้าบุกเบิกทำโครงการอาคารสูงขนาดใหญ่ชานเมือง
แต่..จำนวนคอนโดมาเนียม และออฟฟิค สร้างในย่านชานเมือง ที่มีให้เห็นกันเกลื่อนตา
ในวันนี้ น่าจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกเจ็บในและเสียใจแทนว่า เขามองโลกในด้านดีเกินกว่าความเป็นจริงหรือเปล่า
คันทรี่ คอมเพล็กซ์ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2536 ฝ่ายการตลาดก็ต้องระดมสมองเร่งการขายในส่วนที่เหลืออย่างหนักเช่นกัน
โดยต้อวใช้กลยุทธ์การขายด้วยการแถมเฟอร์นิเจอร์และที่สำคัญประสบปัญหากับปัญหาร่วมสมัยที่เกิดเช่นเดียวกับโครงการอื่น
ๆ คือลูกค้าที่ไม่ยอมมาโอน
เช่นเดียวกับโมเดอร์นแฟคตอรี่ ซึ่งเป็นโครงการโรงงานสำเร็จรูปที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่ทำยอดขายไม่ดีนัก จนต้องปรับแผนทำโครงการให้เล็กลงกว่าเดิม
แม้แต่โครงการรอยัลบีช คอนโดมีเนียม และทาวเฮาส์ บนเนื้อที่ 6.5 ไร่ ริมหาดเจ้าสำราญ
ในจังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นเดียวกัน สดาวุธ เคยหวังไว้ว่า เป็นการลงทุนที่จะทำกำไรที่ดีกับคันทรี่
โดยได้เข้าไปถือหุ้นจำรวน 99.93%ในโครงการนี้เมื่อต้นปี 2533 ขณะนี้ สดาวุธ
ใช้เงินก่อสร้างโครงการจนเสร็จเรียบร้อยไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท แต่ยอดขายไม่ได้คืบหน้าเช่นเดียวกับงานก่อสร้าง
มิหนำซ้ำโครงการนี้เองที่ทำให้ผลกการดำเนินงานครึ่งปีแรก ของปี 2537 คันทรี่ต้องมีตัวเลขที่ขาดทุน
ซึ่งเกิดจากความล่าช้าในการโอน เพราะทางบริษัทจดทะเบียนในส่วนของคอนโดและทาวเฮ้าส์ไว้ด้วยกัน
ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนแยกกัน ลูกค้าก็เลยเพิ่งเข้ามาโอนได้เมือประมาณกลางปีนี้เอง
สดาวุธ อาจจะต้องเจ็บปวดอีกครั้งกับการมองการณ์ไกล ที่ผิดพลาดทั้ง ๆ ที่
ในปี 2532-2533 นั้น คอนโดมีเนียมตากอากาศริมหาดเป็นโครงการที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ใครจะคาดคิดว่า โครงการเหล่านี้จะร้าง กลับกลายเป็นบ่วงรัดคอผู้ประกอบการเอง
โครงการที่น่ากลัวและเสี่ยงที่สุดของคันทรี่ก็คือ โครงการหมื่นล้าน คันทรี่มารินน่า
ซิตี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเนื้อที่ 150 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง บนถนนบางนาตราด
กม.ที่ 48 ที่มีแผนการไว้ว่า จะเป็นเมืองใหม่ริมแม่น้ำ
ในครึ่งปีแรก ของปี 2537 คันทรี่มีลูกหนี้การค้าในโครงการคันทรี่คอมเพล็กซ์
ประมาณ 700 ล้านบาท ในโครงการโมเดอร์น แฟคตอรี่ 779 ล้านบาท และในโครงการคันทรี่มารีน่าซิตี้
1,620 ล้านบาท และมีการกู้ยืมระยะยาวเพื่อการทำโครงการต่าง ๆ 2,369 ล้านบาท
ในขณะที่ มีรายได้จาการขายเพียง 350 ล้านบาทในครึ่งปีแรก
สดาวุธจำเป็นต้องปรับองค์กร และทิศทางการลงทุนอย่างเร่งรีบ ก่อนที่จะสายเกินแก้ไข
สดาวุธ ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเดือนพฤษภาคม 2531 ในนามบริาท คันทรีโอลดิ้ง
ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาและค้าอสังหาริมทรัพย์
เขามีผลงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครั้งแรก เมื่อปี 2537 ในโครงการคันทรี่วิลล่า
บ้านจัดสรรริมถนนบางนาตราด และหลังจากนั้นโครงการคันทรีแลนด์ คาสซึล ฮิล
แมนชั่น และโครงการซิตี้ ทาวโฮม ก็เป็นโครงการขนาดเล็ก และระดับกลาง มูลค่าการลงทุนประมาณ
100-200 ล้านบาท มีเพียงคันทรี่วิลลาเท่านั้น ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงขึ้นคือ
450 ล้านบาท
การก่อสร้างโครงการใหญ่เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นของใหม่ที่ดูแล้วเขายังอ่อนประสบการณ์อยู่มาก
และเมื่อโครงการเหล่านั้นมีปัญหา แผนการแก้เกมเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ของคันทรี่เลยเกิดขึ้น
โดยเมื่อประมาณ ปลายเดือนสิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา คันทรี่ได้มีการประกาศรายชี่อกรรมการชุดใหม่ประกอบไปด้วย
อาสา สารสิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
และรองประธานกรรมการบริษัทอีก 4 คน คือ เกียรติ เตชะอุบล ซึ่งเป็นบิดาของสดาวุธ
โชคชัย อักษรนันท์ ประฅธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และประธานคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพ จำกัด ( มหาชน)
สำหรับคณะกรรมการก็ประกอบไปด้วยเกษม วิศวพลานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สมบัติ จันทร์เจิรญสิน อดีตผู้ช่วยกรรมการู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ
จำกัด สุนทร เตชะอุบล พี่ชายของสดาวุธ และตัวสดาวุธ เอง เป็นกรรมการและประธานกรรมการบริหาร
คณะกรรมการชุดใหม่ ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจระดับแนวหน้า
ของประเทศ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของสดาวุธเป็นอย่างมากที่สามารถดึงเข้ามาเป็นกรรมบริษัทได้
"ท่านเหล่านี้จะช่วยผมได้มากทั้งในเรื่องการขายและภาพพจน์ของบริษัท"
สดาวุธ กล่าวอย่างมีความหวังเมื่อวันแนะนำตัวคณะกรรมการชุดใหม่
นอกจากการปรับทีมงานระดับกรรมการบริหารแล้ว การปรับรูปขบวนภายในบริษัทเองกลับยังไม่ชัดเจน
แต่เป็นสิ่งที่เขาบอกว่าจะรีบปรับทีมงานภายในให้เร็วที่สุด
พร้อม ๆ กันนั้น สดาวุธ ก็หันมาทำโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะบ้านจัดสรร
และเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางมากขึ้นโดยในปี 2537-2539 จะเปิดโครงการใหม่
4 โครงการ คือโครงการคันทรี่ วิลเลจ เทพารักษ์ เป็นทาวน์เฮ้าส์ โรางการคันทรี่
วิลเลจ อ่อนนุช โครงการคันทรี่ วิลเลจ แพรกษา โครงการคันทรี่ไทยวิลเลจ ลาซาล
โครงการหัวหินรีสอร์ท ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีมูลค่ารวมโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท
คันทรี่เป็นบริษัทที่มีแลนด์แบงก์ในมือไม่มากนัก คือมีที่ดินทีเชียงราย
70 ไร่ ที่ฉะเชิงเทรา อีกประมาณ 71 ไร่ ส่วนที่ดินซึ่งจะทำโครงการใหม่นั้นเป็นทิดินที่จัดขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น
ในขณะที่สดาวุธ ยังจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินอีกเป็นจำนวนมาก ในการทำโครงการคันทรี่มารีน่า
ส่วนโครงการใหม่กว่าจะเริ่มลงมือขาย และกว่าจะมีรายได้เข้ามาก็ต้องใช้เวลาเป็นปี
งานนี้ถ้ากรรมการชุดใหม่ไม่ระดมสมองช่วยกันอย่างจริงจัง เห็นทีสดาวุธ ต้องเหนื่อยอีกเป็นแน่
เช่นเดียวกับบริษัทบริษัทแผ่นดินทอง พร้อทเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ คุณหญิงศศิมา
ศรีวิกรม ที่ยื่นของเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2534 ใช้เวลาประมาณ
3 ปี ต้องชี้แจงข้อมูล ทำความเข้าใจต่อตลาดหลักทรัพย์และทาง กลตหลายระลอกเช่นกัน
ปะเด็นที่ กลต. ท้วงติงก็คือ รูปแบบโครงการสนามกอล์ฟ วอยาจ พานอรา รีสอร์ท
แอนด์ กอล์ฟ คลับ ที่อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการประเภทที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์
ตามนโยบายของรับบาล เนื่องจากเขาเห็นว่า เป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย และไม่ก่อให้เกิดต่อเศรษฐกิจส่วนรวม
รวมถึงไม่มั่นใจในผลประกอบการว่าจะสามารถทำกำไรได้ตามเป้า ที่วางไว้ ประกอบกับบริษัทมีความเสี่ยงต่อการลงทุน
เนื่องจาการยื่นเสนอไปครั้งนั้น บริษัทมีการพัฒนาโครงกาสรใหญ่เพื่อการลงทุน
เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ แลนด์แบงก์ ของบริษัทส่วนใหญ่ จะอยู่ในต่างจังหวัดแทบทั้งสิ้น
โดยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ 5 จังหวัด คือจังหวัดเชียงราย 766.1 ไร่ เชียงราย
23.1 ไร กระบี่ 152.2 ไร่ นครราชสีมา 2,235.1 ไร่ และประขวบคีรีขันธ์ 212.1
ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 3,389 ไร่
simon lim& Partners co.ltd เคยประเมินราคาที่ดินตามมูลค่าตลาด ของบริษัทแผ่นดินทองไว้เมื่อ
ประมาณเดือนกันยายน 2537 ประมาณ 2,000 ล้านบาท
แต่ในที่สุด แผ่นดินทองก็สามารถเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จนได้
จากการพิสูจน์ที่มาขอเอกสารสิทธิ์ของที่ดินซึ่งครอบครองอยู่อย่างถูกต้อง
และการปรับงบการเงินใหม่
คุณหญิงศศิมา ตั้งบริษัทแผ่นดินทอง เมื่อพ.ศ. 2521 เดิมใช้ชื่อว่าบริษัท
ทยาการการลงทุน ซึ่งเป็นชื่อบุตรสาวคนเดียวของตน แต่ในระบบเวลานั้น ยังไม่มีการพัฒนา
โครงการใดเลย เป็นเพราะในช่วงเวลาส่วนหนึ่งได้ไปทุ่มให้กับการเล่นการเมือง
แต่หลังจากนั้นประมาณปี 2530 ยุคธุรกิจที่ดินขยายตัว คุณหญิงศศิมา ซึ่งขณะนั้นเริ่มหันหลังให้กับเวทีการเมืองได้เริ่มหันเหชีวิตเข้าสู่สนามการค้าที่ดินอย่างจริงจัง
และในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คุณหญิงได้ร่วมกับเหล่าเพื่อนพ้องเศรษฐีในแวดวงไฮโซ
เช่นคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัตศิริ บุรินทร์ วงศ์สงวน สุขุม นวพันธ์ ได้ขึ้นเหนือล่องใต้
เพื่อกว้านซื้อที่ดิน โดยมีการวางแผนกันว่า เมื่อภาวะการลงทุนดีขึ้นเมื่อไร
จะนำที่ดินเหล่านี้ออกมาพัฒนา
จนปัจจุบัน แผ่นดินทอง จัดได้ว่า เป็นบริษัทที่มีที่ดินซึ่งเป็นแลนด์แบงก์มากบริษัทหนึ่ง
คุณหญิงศศิมา เริ่มงานพัฒนาโครงการแรกบนที่ดินเขาใหญ่ ในโครงการเขาใหญ่ชาเล่ต์
65 ไร่ โครงการแรกนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเป็นช่วงปีทองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ในปี 25345 ได้รวมกิจการของบริษัทในเครือ 3 บริษัท คือ บ้านฉาง เอสเตท
คีรีขันธ์ เอส-เตท และกระบี่ ดอสเตท รวมเข้าเป็นบริษัทเดียวกันภายใต้ชื่อ
บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียน
เป็น 625 ล้านบาท พร้อม ๆ กับยื่นเรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2516 แผ่นดินทองมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น ประมาณ 2,532 ล้านบาท ประมาณการรายได้รวมไว้ที่
491 ล้านบาท กำไรสุทธิ 186 ล้านบาท ในขณะที่ ตัวเลขกำไรสุทธิ ที่เกิดขึ้นจริงในครึ่งปีแรกมีเพียง
46 ล้านบาทเท่านั้น แต่กำไรสุทธิของแผ่นดินทอง ในครึ่งปีแรก ของปี 2537 เพิ่มขึ้น
เป็น 104 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเข้าตลาดหาลักทรัพย์หุ้นแผ่นดินทองก็เกือบทำให้ผู้ถือหุ้นหัวใจวาย
เพราะจากราคาที่ตั้งไว้ 59 บาท ราคาซื้อขายในตลาดสูงกว่า ราคาจองอยู่ได้ไม่กี่วัน
ก็ปักหัวต่ำลงมาโดยตลอด แม้ว่าคุณศิศิมา จะให้สัมภาษณ์นักข่าวอยู่เรื่อย
ๆ ว่า เธอไม่ห่วงเรื่องราคาหุ้นเพราะกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างฐานของบริาทให้เข้มแข็งในราะยะยาวมากว่า
แต่แหล่งข่าวภายในบริษัท เองกัลกล่าวกับ " ผู้จัดการ" ว่า
" คุณหญิงค่อนข้างกังวล ในเรื่องราคาหุ้นพอสมควร บ่อยครั้งที่ทำงานอยู่แล้วเปิดประตูออกมาถามว่า
ราคาหุ้นเป็นเท่าไหร่แล้ว"
ปัจจุบันแฟ่นดินทอง มีแหล่งที่มาของรายได้จาก 3 โครงการ คือ โครงการบ้านฉางวิลเลจ
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชุมชน ชายฝั่งตะวันออก ประกบด้วยที่ดินจัดสรร คอนโดมีเนียมพักอาศัย
และทาวเฮ้าส์ ซึ่งมีมุลค่าประมาณ 284 ล้านบาท
โครงการวอยาจพานอรามา แฟมิลี่ รีสอร์ท ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นรีสอร์ท
ขนาดใหญ่ประกอบไปด้วย สนามกอล์ฟ คอนโดทล บ้านเดี่ยว และที่ดินจัดสรร รวมทั้งสปอร์ตคอมเพล็กซ์
และธครงการที่สาม ก็คือโครงการโกลเด้นท์ พาวิลเลี่ยน บิวดิ้ง ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าขนาด
25,000 ตารางเมตร ในซอยมหาดเล็กหลวง 1 ขณะนี้พื้นที่เช่าเต็มหมดแล้ว
และจากแผนการระดับชาติในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลย่านตะวันออก ที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
ทำให้คุณหญิงเจ็บตัวอย่างหนัก กับโครงการที่ บ้านฉาง ขณะนี้จึงได้ชะลอการเปิดเฟสใหม่
ๆ ในโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด มีแต่งานก่อสร้างของเก่าเท่านั้น
สำหรับโครงการวอยาจ พานอรามานั้น ขณะนี้ สนามกอล์ฟ 18 หลุม และคอนโดเทล
4 ชั้น 5 อาคาร ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รายได้จากค่ากรีนฟรี ร้านอาหารเดือนละประมาณ
1 ล้านบาท ก็คุ้มกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ เกิดขึ้นในสนามกอล์ฟแต่ละเดือนเท่านั้น
แต่ตัวที่ทำรายได้เข้ามาจริง ๆ คือการขายที่ดินจัดสรรในเนื้อที่ประมาณ 800
กว่าไร่ เพราะในขณะที่ราต้นทุนประมาณตารางวาละ 100 กว่าบาทเท่านั้น แต่ทางบริษัทกำลังเปิดขายในราคาตารางวาละ
3,000 -4,000 บาท
แต่การขายที่ดินในโครงการสนามกอล์ฟในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนช่วงตลาดบูมเสียแล้ว
ในขณะที่โครงการสนามกอล์ฟชานเมือง กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้ ๆ ยังคงต้องเหนื่อย
แผ่นดินทองเองก็คงต้องวางแผนกันย่างหนัก
แผนการดึงลูกค้านั้น ประภา สมุทรโคจรกรม กรรมการผู้จัดการบริษัท แผ่นดินทอง
เปิดเผยกับ " ผู้จัดการ" ว่าทาง บริษัทกำลังเร่งสร้างคลับเฮ้าส์
และสปอตคอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่ในโครงการ โดยคาดว่าจะเสร็จประมาณ กลางปี 2538
" นอกจากต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อจูงใจลูกค้า
ให้เช่ามา.ซื้อทีดินเปล่าในโครงการแล้ว เรากำลังเตรียมปรับปรุงทีมงานขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คาดว่าภายในปีหน้า เราจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากโครงการนี้มากขึ้นทีเดียว"
ประภากล่าว
ในขณะที่ต้องเร่งสร้างรายได้ในโครงการเดิม แผ่นดินทอง ก็จำเป็นต้องปรับแผนในการทำงานครั้งใหญ่เช่นกัน
จุดหักเหในเรื่องทิศทางเดินครั้งสำคัญ ของแผ่นดินครั้งนี้ก็คือ ชะลอโครงการต่างๆ
ที่จะทำในต่างจังหวัดทั้งหมด หันมาทำโครงการในกรุงเทพ ฯ แทนแต่เมื่อแผ่นดินทอง
ไม่มีที่ดินในเมืองเลย จึงจำเป็นต้องทำโครงการในที่ดิน ให้เช่าแทน เพื่อลดต้นทุนที่ดินโครงการที่ทำในที่ดินเช่าที่เปิดตัวไปแล้ว
2 โครงการ คือ พีระยานุเคราะห์อาคารสำนักงานสูง 17 ชั้น และคอนโดมีเนียม
สูง 32 ชั้น ในพื้นที่ 4.5 ไร่ โดยทำสัญญาเช่า 30 ปีกับมูลนิธิพีระยานุเคราะห์
ซึ่งมีอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานมูลนิธิ โดยจะเริ่มก่อสร้างประมาณ ต้นปี
2538
และโครงการโกล์ไพน์การ์เด้นท์ สวีท ซึ่งจะสร้างเป็นคอนโดมีเนียม ที่อยู่อาศัยระดับแพง
สูง 23 ชั้น มูลค่าการลงทุน ประมาณ 400 ล้าน ซึ่งจะเริ่มงานก่อสร้างประมาณ
ปลายปี 2537 ที่ดินแปลงนี้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินในระยะเวลา 30 ปี
" ราคาของโครงการในที่ดินเช่าจะถูกกว่าที่ดินขายอยู่ประมาณ 30% และลูกค้าที่ซื้อโครงการเช่าไม่น่าจะคิดว่า
เป็นการเสี่ยงเพราะเป็นการเช่าในระยะเวลา นานถึง 30 ปี" คุณหญิงศศิมา
ให้เหตุผล เพิ่มเติม
ส่วนอีก 2 โครงการ ที่เปิดตัวไปแล้วเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาก็คือ โครงการบ้านสวนสวย
ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยว ตั้งอยู่บ นถนนศรีนครินทร์ ตรงข้ามสวนหลวงร.9 ในเนื้อที่ประมาณ
22 ไร่ ราคาขายตั้งแต่ 4-10 ล้านบาท และโครงการโกล์ไพน์การ์เด้นท์ ในเนื้อที่
3 ไร่ ซอยหลังสวน ซึ่งเป็นคอนโด พักอาศัยขนาด 40-60 ตรม. จำนวน 272 ยูนิต
มูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท
ในช่วงปี 2537-2538 นี้ แผ่นดินทองจึงจำเป็นต้องมีเงินเพื่อก่อสร้างโครงการที่เปิดใหม่ทั้ง
4 โครงการ รวมทั้งคลับเฮ้าส์ในโครงการสนามกอล์ฟด้วย รวมทั้งหมดประมาณ 4,000
ล้านบาท
ในขณะที่รายได้จาการขายโครงการส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการขายที่ดินเปล่าในวอยาจพานอรามา
ค่าเช่าพื้นที่โครงการโกล์เด้นพาวิลเลี่ยน และเงินจองโครงการบ้านสวนสวย
ในครึ่งปีแรก ปี 2537 แผ่นดินทองมีรายได้จาการขายโครงการ 224 ล้านบาท รายได้จาการให้เช่าและบริการ
17 ล้านบาท
การสร้างภาพพจน์องค์กร และผ่าตัดทีมงาน ข้างในบริษัท เป็นเรื่องที่แผ่นดินทองจำเป็นต้องเร่งทำ
การสร้างสร้างพจน์ องค์กรให้ดูยิ่งใหญ่น่าเชื่อถือ ด้วยการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียงเป็นนโยบายอย่างหนึ่งที่สำคัญของกลุ่มแผ่นดินทอง
โดยคราวแรกก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไปร่วมทุนกับกลุ่ม K.Wah Properties
และ New Wold Development Co.Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องอสังหาริมทรัพย์
จากประเทศฮ่องกง และเมื่อต้นเดือนกันยายน 2537 ที่ผ่านมา ก็ได้ร่วมทุนกับบริษัทดีบีเอส
แลนด์ ( DBS LAND) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
มีสินทรัพย์กว่า 3.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ มีบริษัทย่อยในกลุ่มทั้งในประเทศสิงคโปร์และต่างประเทศ
ทั้งสิ้น 48 บริษัท ดำเนินธุรกิจหลักทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการลงทุนและการพัฒนารวมถึงธุรกิจอื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดีบีเอส แลนด์ เข้ามาร่วมลงทุนในเมืองไทย เป็นครั้งแรกกับแผ่นดินทอง โดยร่วมกันตั้งบริษัทสาทรทรัพย์สินทำโครงการอาคารพีระยานุเคราะห์
ในสัดส่วนการถือหุ้น แผ่นดินทอง 51% ดีบีเอส แลนด์ 31% ที่เหลือเป็นของกลุ่มวีระพันธ์
ทีปสุวรรณ 19%
สำหรับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 กลุ่ม นี้ เกิดขึ้นโดยบริษัทโจนส์แลงก์ วูทธั่น
โบรกเกอร์ ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ รายใหญ่ในเมืองไทย เป็นตัวเชื่อม เพราะทั้งทางดีบีเอส
แลนด์ และแผ่นดินทอง ต่างเป็นลูกค้าของโจนแลงก์ ฯ เมื่อดีบีเอส ต้องการขยายสาขาเข้ามาเมืองไทย
และต้องการพันธมิตรธุรกิจ ในขณะที่แผ่นดินททองในขณะนั้น เองก็มีนโยบายที่ต้องการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ
ที่มีชื่อเสียง การร่วมทุนจึงเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน การที่ขอบข่ายธุรกิจของบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้
องค์กรที่มีอยู่ไม่สมดุลย์กัน การขาดบุคลมืออาชีพเข้ามารองรับงานและเป็นตัวประสานที่ดีเป็นเรื่องจำเป็น
เพราะเป็นที่รู้กันว่าคุณหญิงเป็นคนทำงานค่อนข้างเร็ว การเลือกเฟ้นทีมงานมืออาชีพจึงเกิดขึ้น
ประภา สมุทรโคจร อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกโอลดิ้ง เป็นผู้ที่คุณหญิงให้ความเชื่อมือ
ดึงเข้ามาร่วมงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทแผ่นดินทองคนใหม่ แทนตนเองที่เคยนั่งควบอยู่
2 ตำแหน่ง เพื่อช่วยกันวางแผน ในการทำงานและเสริมสร้างโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประภา ยังได้ดึงลูกน้องเก่า มือดี อีก 2 คน ช่วยงานทางด้านพัฒนาธุรกิจและการเงินคือเจฟฟี่
เจ. แมคโดเวล และเขมดิษฐ เจียรจารุวัฒน์
เจฟฟี่ เคยทำงานอยู่ที่บริษัทเอกโฮลดิ้งเช่นกัน โดยรับผิดชอบทางด้านเป็นผู้จัดการฝ่ายขายโครงการ
แต่เมื่อภาวะออกมาเมื่อประมาณ 2535 เพื่อออกมาทำงานวิจัยทางด้านตลาดของธุรกิจการก่อสร้าง
ทั้ง 3 คน นี้เข้ามาเริ่มทีมงานของบริษัทแผ่นดินทอง ในช่วงระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
" แผ่นดินทองมีข้อดีอย่างมากที่ว่ามีแลนด์แบงก์ ที่ต้นทุนต่ำเป็นจำนวนมาก
และคุณหญิงศศิมา ผู้นำองค์กรเองสามาถปรับตัวพลิกพลิ้วกลยุทธ์ในการทำโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งยังมีบริษัทร่วมทุนที่แข็งมาก แต่ข้อเสียก็คือบริษัทเติบโตเร็วเกินไป
จนองค์กรไม่สมดุลย์กับขอบข่ายธุรกิจที่ขยายออกไป การพัฒนาโครงการจึงอาจจะไม่รวดเร็วเท่าที่คิด"
แหล่งข่าวรายหนึ่ง ในวงการค้าอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์แผ่นดินทอง ให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม ในสนามของการค้าที่อยู่อาศัยในปัจจุบันนี้ เจ้าของโครงการต้องการะดมกลยุทธ์ต่าง
ๆ ที่แปลกใหม่ออกมาใช้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเกมทางด้านการเงิน ดาวน์น้อย ผ่อนนาน
ดอกเบี้ยต่ำ รูปแบบโครงการที่สวยงาม ของแถมที่ล่อใจ และทำเลที่ยอดเยี่ยม
ถ้าทั้งคันทรี่ และแผ่นดินทอง ไม่มีกลยุทธ์ ใหม่ที่เหนือชั้นประกอบกัน
การขายโครง
การให้ประสบผลสำเร็จ เห็นที่จะยาก คงต้องเหนื่อยกันอีกนานเป็นแน่