ศักดิ์ศรีของนายกเทศมนตรี หรือ Mayor ในอเมริกา เทียบเท่า"ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร"
คือ เป็นคนถืออำนาจสูงสุดในการบริหารศาลาว่าการเมือง และวางนโยบายพัฒนาเมือง
นิวยอร์กมีนายกเทศมนตรี ที่ดังที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ รูดอล์ฟ จุยเลียนี่
ไม่ใช่แค่เพราะเขาบริหารเมืองใหญ่ แต่ลีลาการบริหารแบบ "ยอมหักไม่ยอมงอ"
ของเขาเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา
จุยเลียนี่ มีบุคลิกเหมือนตัวโกงในหนัง และมีวิธีการพูด ที่ท้าทายให้ถูกควักปืนยิงได้ง่ายๆ
ในบาร์คาวบอย พวก ที่ไม่ชอบจุยเลียนี่ จับคาแรกเตอร์มาล้อเลียนเขาเกินเหตุ
แต่ก็มีมูล ในทำนองนี้ "ถ้าหัวคะแนนผมบ่นว่าการจราจรแออัดบนสะพานควีนสโบโรผมแก้ปัญหาได้หลายอย่างเช่น
ทำลายสะพาน ปิดสะพาน หรือบังคับให้คนขับรถเลนด่วนหมด ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้
ผมก็จัดการตั้งด่านเก็บเงินตรงหัวสะพานห่า...เสียก็สิ้นเรื่อง"
จุยเลียนี่ เกิดในฝั่งบรู๊คลิน ที่นิวยอร์ก เรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัยจากโรงเรียนกฎหมายนิวยอร์ก
และทำงานให้อัยการที่นิวยอร์ก จนกระทั่งอายุ 29 ปี ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ไปทำงาน
ที่วอชิงตัน เพียงสองปี ก็ย้ายกลับมา ที่นิวยอร์ก เพื่อศึกษากฎหมายในภาคเอกชน
อีก 5 ปีต่อมา เขาก็ได้เลื่อนชั้นเป็นอันดับ 3 ในกระทรวงยุติธรรมของอเมริกา
ที่วอชิงตัน มีหน้าที่ดูแลสำนักงานอัยการทั่วสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานปราบปรามยาเสพย์ติด
และหน่วยทหาร
เมื่อกลับมาอีกครั้ง ที่นิวยอร์ก จุยเลียนี่มีหน้าที่ดูแลเขตใต้
ซึ่งเขาลงดาบปราบปรามอาชญากรรม และข้าราชการคอร์รัปชั่น อย่างที่น้อยคนในกรมอัยการนิวยอร์กได้แสดงประสิทธิภาพขนาดนี้
นคร ที่มีคนกลุ่มใหญ่พูด 2 ภาษาคือ อังกฤษ (ร้อยสำเนียง) และสเปนนิช(แบบการศึกษาน้อย)
กับคนกลุ่มน้อย ที่พูด100 ภาษามีบริษัทขนาดมหึมาของโลกหลายร้อยแห่ง มีตลาดหุ้นกลาง
มีสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง มีคนเดินเข้า เดินออกวันละหลายล้าน และมีคนตั้งหลักปักฐานอยู่อีก
10 ล้าน มีสถิติคนว่างงานกว่า
9 เปอร์เซ็นต์ หรือสองเท่าของสถิติทั้งประเทศ ปัญหาใหญ่คือ
อาชญากรรม ที่ต้องได้คนอย่างจุยเลียนี่ มาเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 107
นิวยอร์กเคยเป็นเมือง ที่ "อันตรายที่สุด" ในช่วงต้นทศวรรษ ที่ 1990 เหตุฆาตกรรมขึ้นขึ้นสุงสุดถึง
2,245 รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 6 ราย จุยเลียนี่ เข้ามาบริหารในปี
1993 กลายเป็นนายกเทศมนตรีคนแรก ที่มาจากพรรครีพับลิกันในรอบ 20 ปี
เพียง 1 ปีต่อมา อาชญากรรรมทั่วนครนิวยอร์กได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
รวมทั้งย่านบรองซ์ ซึ่งมีสถิติสูงสุดในด้านอาชญากรรม ที่เกี่ยวกับยาเสพย์ติด
แฟลตการเคหะ ที่เคยถูกทิ้งรกร้างเพราะปัญหาอาชญากรรมในชุมชน ได้รับการพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนทำมาหากิน
นิวยอร์กกลายเป็นนครตัวอย่างในการแก้ปัญหาเมือง จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่
ที่น่าอยู่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในตอนท้ายๆ ทศวรรษ ที่ผ่านมาเพราะนายกฯ
นิวยอร์กคนที่ชื่อ "รูดอล์ฟ จุยเลียนี่" ซึ่งคุมตำรวจนครบาลให้แข็งกร้าว
และทำงานหนัก โดยใช้นโยบายเฉียบขาดกับพวกขี้เกียจไม่ยอมทำงาน และคอยรับเงินประกันสังคม
ซึ่งมีมากถึงตัวเลขหลักล้าน รวมถึงการปราบปราม และขับไล่พวกคนจรจัด ซึ่งมักเป็นคนขี้เมา
จุยเลียนี่ทำงานหนักถึงขนาดว่า ถ้าเกิดเหตุยิงกันตายในเขตใดเขตหนึ่ง จากจำนวน76
เขตสถานีตำรวจ เขาจะยกหูโทรถามโรงพักว่า "เกิดเรื่องขึ้นอย่างไร ทำยังไงถึงจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก"
เพียงแค่นี้ทางปลายสายก็ลนลานวิ่งกันพล่านทั้งโรงพักยอดยิง ปล้น จี้ ลดลงวับไปเกือบครึ่ง
แม้แต่พวกพ่นสี ตามข้างทาง ก็ลดลงด้วย เพราะถือว่า ทำแบบนี้ไม่เคารพกฎหมายนครนิวยอร์ก
ในยุคจุยเลียนี่ เป็นยุคที่สิ้นสุดย่าน "อิทธิพลมืด" และคนขายยาเสพย์ติดอย่างเปิดเผย
ในสวนสาธารณะ สมัยก่อนนิวยอร์กมืด และน่ากลัว แม้แต่ย่าน "ไทม์สแควร์" ที่เป็นย่านแสงสี
และโรงละครบรอดเวย์ แต่อยู่ใกล้สถานีรถประจำทางขนาดมหึมา ซึ่งเต็มไปด้วยคนขายยา
และคนจรจัด
แต่ปัจจุบันนั้น ไทม์สแควร์ได้รับการดูแลจนแสงสีเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว ใคร
ที่นอนกินเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล จะถูกผลักดันให้ทำงานหนักบริการสาธารณะ
แทนการรับเงินเฉยๆ จุยเลียนี่ โละพวกคนตกงานให้กลับเข้าทำงานใหม่ ได้ปีละเกือบหนึ่งแสนคนประหยัดเงินภาษีให้ชาวบ้าน
ที่ตรากตรำทำมากิน เขายังใช้นโยบาย ที่ได้ผลทางอ้อม คือ เปลี่ยนชื่อจากศูนย์ประกันสังคม
หรือ Welfare Center เป็นศูนย์หางาน หรือ Job Center
เขาถูกประท้วงมาก และถูกหนังสือพิมพ์ด่าทุกวัน แต่ก็เดินหน้าทำงานต่อ
เขาปรับโครงสร้างตำรวจ ให้รวมขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการคนเดียว และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่
กับกองตำรวจนครบาลนิวยอร์ก จนกระทั่งล่าสุดนี้ได้แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่
ซึ่งมีข่าวว่าทำงานแนวเดียวกัน เป็นพวกปากไม่หวาน แต่ผลงานดี
ใครเรียนรัฐประศาสนศาสตร์น่าลองศึกษากรณีของ
รูดอล์ฟ จุยเลียนี่ ซึ่งถ้าให้เป็นบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในการบริหารท้องถิ่น
และวางแผนจัดการเมืองใหญ่ ถึงแม้ว่าเขายังไม่สามารถชำระปัญหาได้หมด
เช่นปัญหาการขนส่งมวลชน แต่ก็นับว่าเขาแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปมาก
จุยเลียนี่ยังโชคดีได้อยู่ในตำแหน่งยุคที่เศรษฐกิจของเมือง และประเทศดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ยุคที่เศรษฐกิจในอเมริกากลาง
ซึ่งเคยเป็นแหล่งโรงงาน ต่างแห้งแล้ง แต่นิวยอร์กสดชื่น และเติบโตด้วยการเป็นนครศูนย์กลางการเงิน สื่อมวลชน
และธุรกิจ ช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น ว่ากันว่าผลพวงจากเศรษฐกิจ ที่เติบโตนี้
จะทำให้นิวยอร์กคงความเป็นนครหลวงทางการเงินของโลกอีกนาน
ในช่วงสองสามปีหลัง จุยเลียนี่ยังประกาศหั่นงบประมาณแหลก จาก ที่เคยใช้เกิน2,000
ล้านเหรียญมาตั้งแต่ปี 1994 เหลือแค่เพียงปีละไม่เกิน 1,000
ล้าน ซึ่งใช้ได้ผลดีมา 3 ปีแล้ว คำนวณว่าเขาจะประหยัดเงินให้นครนิวยอร์กได้ถึง
10.4 พันล้าน จนถึงปี 2003
จุยเลียนี่เป็นคนกล้าเล่นกับไฟ ล่าสุดเขาลงจัดการกับกลุ่มครูโรงเรียนรัฐบาล
เพราะ ที่อเมริกานั้น โรงเรียนรัฐบาลไม่มีใครอยากส่งลูกเรียน เด็กนักเรียนร้อยชาติพันภาษา
และส่วนใหญ่เป็นลูกชนชั้นล่าง พ่อขี้ยาแม่ขี้เกียจ ต่างก็เฮี้ยวกันสุดฤทธิ์
นิวยอร์กถึงกับต้องจ้างครูจากยุโรปมาสอนเด็กโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กอเมริกันอ่อนมาก
ครู ที่นิวยอร์กทำงานแค่บ่ายสองโมง อาทิตย์ละห้าวัน เงินเดือนสูง งานมั่นคงตลอดกาล
มีกองทุนบำนาญ
จุยเลียนี่บอกว่า ต่อไปต้องมีการทดสอบครู ให้เลื่อนชั้น และเก็บแต่ครู
ที่มีผลงานดีไว้ รวมถึงให้มีชั่วโมงทำงานยาวขึ้น พวกสหภาพแรงงานครูโมโหกันใหญ่ บอกว่า
ลองมาสอนเด็กพวกนี้ดูบ้างสิ ครูในอเมริกานั้น ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต หรือพรรคของ
(อดีต) ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งหนุนหลังให้ท้าย ให้ทำงานสบายๆ
คนหนุ่มสาวเกลียดจุยเลียนี่ สติกเกอร์ติดประกาศด่า มีทั้งเมือง เพราะทั้งวิธีการพูด
ที่ขวานผ่าซาก และนโยบายขับไล่คนจรจัดให้พ้นถนน ถ้าได้ยินผิวเผิน และมองอะไรตื้นๆ
จะรู้สึกทนไม่ได้ แต่หากศึกษาถึงผลงานเห็นชัดหลังการอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน ปิดปากพวกบัวผิวน้ำได้สนิท
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้ง ที่ผ่านมา เขาตัดสินใจไม่ประมือกับไฟแรงอย่างฮิลลารี่
คลินตัน จุยเลียนี่ หลบให้สตรีหมายเลขหนึ่ง โดยใช้เหตุผลทางสุขภาพ จะมีอะไรน่ากลัวไปกว่า
ผู้หญิงสวย มีการศึกษา ที่เพิ่งถูกสามีหยามหน้ากลางเวทีโลก??? นางคลินตัน
ซึ่งทั้งชีวิตไม่เคยอยู่นิวยอร์ก และไม่เคยทำงานการเมือง จึงได้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กไป