|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านการเงิน มีความเกี่ยวพันกับการระดมเงินออม ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่ผ่านมา การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นระบบราชการ ทำให้การปฏิบัติภารกิจบางอย่างไม่สามารถทำได้ทันท่วงที ด้วยข้อจำกัดของกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของระบบราชการ
แต่ปัญหาเหล่านี้กำลังจะหมดไป เนื่องด้วยนโยบายรัฐบาลมีความชัดเจนที่จะแยกกรมการประกันภัยให้ไปเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศ มีความคล่องตัวในการบริหารงาน มีการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง และมีผู้มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกันภัยเข้ามาร่วมบริหารจัดการ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยของไทยมีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง
นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา กำหนดรูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยขึ้นมา เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ ได้มีการจัดทำร่างพ.ร.บ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดประชาพิจารณ์การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมนายหน้าประกันภัย สมาคมตัวแทนประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย ผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจประกันภัยในสาขาต่างๆ รวมถึงข้าราชการกรมการประกันภัย ได้มีการแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ
“จะมีการนำผลการประชาพิจารณ์ไปปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมในแต่ละประเด็นเพื่อให้การจัดตั้งสำนักงานฯ มีความสมบูรณ์ที่สุดต่อไป”นางจันทรากล่าว
การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังจากพ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ... ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คือ กรมการประกันภัยจะถูกยุบ และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยขึ้นมาแทนที่ ข้าราชการและลูกจ้างกรมการประกันภัยจะเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด แต่ถ้าใครประสงค์จะไปอยู่สังกัดใหม่ ก็ให้แจ้งความจำนงต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยภายใน 30 วัน
ในระยะเริ่มแรก จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการ ซึ่งในที่นี้คือ อธิบดีกรมการประกันภัย (มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 2 ปี นับจากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้) เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 3 คน ซึ่งกรรมการโดยตำแหน่งข้างต้นเป็นผู้คัดเลือก โดยรัฐมนตรีแต่งตั้ง
หน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชั่วคราวนี้ จะดูแลในเรื่องอัตรากำลังคน อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนอื่น รวมทั้งจะต้องนำบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ประกาศนายทะเบียน คำสั่งนายทะเบียน ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่ออกตามความในพ.ร.บ.ข้างต้นมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับพ.ร.บ.ฉบับนี้
กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของนายทะเบียนให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ และการใดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ เว้นแต่กรณีการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ จนกว่าจะมีกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะ
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการแต่งตั้งคปภ. ตัวจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคปภ. โดยกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 2 คน อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2 คน อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2 คน อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน และอดีตอธิบดีกรมการประกันภัย 2 คน ทำหน้าที่คัดเลือกประธานกรรมการ เลขาธิการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คปภ. ที่จะมาทำหน้าที่ต่อจากคปภ.ชั่วคราวนั้น จะมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเลขาธิการ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย กฎหมาย การบัญชี การบริหารธุรกิจด้านการเงินหรือเศรษฐกิจ ด้านละ 1 คน
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อจัดตั้งสำนักงานฯ และคปภ. แล้ว จะเกิดผลดีหลายๆ ด้าน ได้แก่ ผลดีต่อหน่วยงาน จะทำให้การปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความคล่องตัว รวดเร็ว อิสระและมีประสิทธิภาพ
ผลดีต่อภาคธุรกิจ จะทำให้การดำเนินกิจกรรมกับหน่วยงานมีความคล่องตัว โปร่งใส หน่วยงานลดบทบาทจากการควบคุมเป็นกำกับและส่งเสริม ทำให้มีการกำกับดูแลกันเองมากขึ้น ธุรกิจจะมีความเป็นมืออาชีพ
สุดท้ายจะเกิดผลดีต่อผู้เอาประกันภัย โดยจะได้รับการบริการที่ดี โปร่งใส ยุติธรรม จากบริษัทที่รับประกันภัย มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผู้เอาประกันภัยมีทางเลือก และสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความเชื่อมั่น และมีทัศนคติที่ดีต่อระบบการประกันภัย
|
|
|
|
|