|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
|
ฉบับนี้ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยเรื่องราวของแนนซี่ เพอโลซี่ (Nancy Pelosi) ประธานสภา (Speaker of the House) หญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ นอกจากนี้เธอยังดำรงตำแหน่งผู้นำเสียงข้างมาก (Majority Leader) ในสภาอีกด้วย นับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอเมริกาทีเดียว ซึ่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมาในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรคเดโมแครต (Democrat) หลังจากที่ปล่อยให้พรรครีพับลิกัน (Republican) ครองเสียงข้างมากในสภามานานถึง 12 ปี
แนนซี่ เพอโลซี่ ถือเป็นนักการเมืองหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียคนแรกของระบอบการเมืองอเมริกาที่เข้ารับตำแหน่งสูงที่มีอำนาจเป็นอันดับ 3 ในระดับบริหาร รองจาก ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช และรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนนีย์ ตามลำดับ ซึ่งหากมีอะไรเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เธอจะเข้ารับหน้าที่เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ทันทีโดยอัตโนมัติ ตามพระราชบัญญัติการสืบช่วงต่อตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1947 (The Presidential Succession Act of 1947)
แนนซี่ เพอโลซี่ สาวใหญ่ใจเสรี เชื้อสายอิตาเลียน-อเมริกัน เธอมีชื่อเต็มว่า แนนซี่ แพทริเซีย ดี อเลซานโดร เพอโลซี่ (Nancy Patricia D'Alesandro Pelosi) เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1940 ณ เมืองบัลทิมอร์ มลรัฐแมริแลนด์ เธอเป็น ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเขต 8 มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งครอบคลุมซานฟรานซิสโกเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ปี 1987 นับเป็นเวลานานถึง 20 ปีแล้วที่เธอดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพอโลซี่ สืบสายเลือดทางการเมืองจากบิดาของเธอคือ โทมัส ดี อเลซานโดร จูเนียร์ (Thomas D'Alesandro, Jr.) ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. สังกัดพรรคเดโมแครตเช่นกัน โดยประจำมลรัฐแมริแลนด์ ทั้งยังดำรงตำแหน่งอดีตผู้ว่าการเมืองบัลทิมอร์อีกด้วย
ในปี 1962 เธอสำเร็จการศึกษาจากไตรนิทีย์ คอลเลจ (Trinity College) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นไตรนิทีย์ วอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ (Trinity Washington University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ณ ที่นี่เองที่เธอพบกับคู่ชีวิตพอล เพอโลซี่ (Paul Pelosi) นักลงทุน ซึ่งมีรกรากอยู่ในซานฟรานซิสโก เมื่อทั้งคู่แต่งงานแล้วได้ย้ายมาปักหลักที่บ้านเกิดของพอล และ ณ เมืองซานฟรานซิสโกนี่เองที่แนนซี่ เพอโลซี่ เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองอย่างเต็มตัว
ในปี 1987 หลังจากที่ ซาลา เบอร์ตัน (Sala Burton) ส.ส. ประจำเขต 8 คนก่อนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างการดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 แนนซี่ เพอโลซี่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อจากเบอร์ตัน จากการเลือกตั้งกรณีพิเศษของพรรคเดโมแครต และในปีถัดมา เธอก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเต็มเทอมใหม่ ต้องยอมรับว่าแนนซี่ เพอโลซี่ เริ่มต้นชีวิตการเมืองในเขตที่ปลอดภัยสำหรับเดโมแครตคือ ซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีหัวก้าวหน้า และพรรคเดโมแครตก็ครองเขตนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
ในปี 2001 เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาฝ่ายพรรคเดโมแครต ต่อมาในปี 2004 เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาอย่างเต็มตัว และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2006 เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา ซึ่งยังไม่มีสตรีอื่นที่มีตำแหน่งทางการเมืองสูงเท่าเธอในขณะนี้
เพอโลซี่เป็นขวัญใจชาวเกย์-เลสเบี้ยน นักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งที่สนับสนุนการวิจัยสเตมเซลล์ที่ใช้ตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการรักษาโรค เมื่อปี 2001 เธอโหวตให้ออกกฎหมายคุ้มครองสตรีมีครรภ์ที่ถูกทำร้ายจนบุตรในครรภ์เสียชีวิต ให้ผู้กระทำผิดต้องด้วยอาญา ซึ่งถือให้เป็นคดีอาญา แต่ร่างกฎหมายนั้นไม่ผ่านมติสภา ต่อมาในปี 2004 สภานำร่างนี้มาโหวตอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอโหวตต่อต้าน เพราะมีสมาชิกสภาบางคนแก้ร่างกฎหมายด้วยการครอบคลุมกรณีการทำแท้งว่าเป็นการกระทำคดีอาญาด้วย ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะรวมเอากรณีการทำแท้งมารวมไว้ในร่างกฎหมายนี้ ขณะนี้ร่างฯ นี้ก็ยังคงไม่ผ่านมติสภา
บุคลิกสาวใหญ่ใจนักเลง โผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่เกรงใคร เธอภูมิใจในความเป็นนักเสรีนิยมอย่างสุดขั้ว หวังว่าจะนำพาให้เธอสามารถใช้อำนาจในการบริหารประเทศให้เริ่มหมุนเคลื่อนต่อไปข้างหน้าในระดับหนึ่ง หลังจากที่อเมริกาอยู่ในภาวะเคลื่อนถอยหลังมานานกว่า 10 ปี ยิ่งกว่านั้น หากเธอสามารถนำพาและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของพรรคเดโมแครตให้แข็งแกร่ง จะยิ่งทำให้การบริหารงานของประธานาธิบดีบุชในช่วง 2 ปีหลังนี้ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีสงครามอิรัก ที่แม้ว่าขณะนี้เธอยังไม่มีท่าทีที่จะผลักดันการถอนทหารจากอิรักในทันที แต่เชื่อว่า เธอและเดโมแครตคงมีกลยุทธ์อยู่ในใจ
จุดเปลี่ยนนี้ทำให้การเมืองอเมริกันในศักราชใหม่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ จากประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณว่า ระบอบการเมืองสหรัฐฯ เปิดทางให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในระดับสูงแล้ว และในอีกไม่นาน เราคงได้เห็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกาก็เป็นได้
|
|
|
|
|