|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
|
แอปเปิลทรงสวยผลโตสีแดงสดฉ่ำจนดูเด่นสะดุดตากว่าแอปเปิลที่วางในกระบะข้างๆ ที่แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสุดหรูแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานครนั้น มีป้ายเขียนติดไว้ว่า "ฟูจิแอปเปิล" ซึ่งหากใครที่เคยลิ้มลองแล้วคงทราบดีว่า ไม่เพียงแค่อิ่มตากับแอปเปิลผลงามได้ส่วนเท่านั้น รสชาติอันหวานหอมกลมกล่อมและเนื้อที่แน่นกรอบเปี่ยมไปด้วยคุณภาพคับผลนั้น สมกับแบรนด์แอปเปิล "ฟูจิ"
จุดเริ่มต้นจากความพยายามในการปรับปรุงพันธุ์แอปเปิลที่ Tohoku Research Station ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู เมื่อปลายทศวรรษ 1930 ซึ่งประสบผลสำเร็จในการผสมแอปเปิลที่นำมาจากอเมริกา 2 สายพันธุ์ระหว่าง Red Delicious กับ Ralls Genet ออกมาเป็นฟูจิแอปเปิลและในเวลาต่อมากลายเป็นแอปเปิลที่คนทั่วโลกชื่นชอบมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำพันธุ์ฟูจิแอปเปิลไปปลูกกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งของฟูจิแอปเปิลที่บริโภคกันทั่วโลกมาจากญี่ปุ่น อีกประมาณ 30% มีแหล่งปลูกในอเมริกา และอีกราว 20% อยู่ในประเทศจีน มากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตผลแอปเปิลในญี่ปุ่นนั้นมาจากจังหวัดอาโอโมริ ที่ซึ่งเรื่องราวของแอปเปิลยังคงอบอวลมากว่าศตวรรษ
ในสมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศรับวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกนั้น วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมถูกกำหนดเป็นนโยบายควบคู่ขนานไปพร้อมๆ กับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล ต้นกล้าแอปเปิลที่นำมาจากอเมริกาและยุโรป ถูกแจกจ่ายไปทดลองปลูกทั่วประเทศเปรียบเทียบกับแอปเปิลพันธุ์พื้นเมืองตั้งแต่ปี 1874 แต่กว่าต้นกล้าแอปเปิลจะปันมาถึงจังหวัดอาโอโมริก็กินเวลาเกินหนึ่งปี และได้ต้นกล้ามาปลูกลงแปลงที่สวนหน้าศาลาว่าการของจังหวัดเพียง 3 ต้น ก่อนจะได้ต้นกล้ามาเพิ่มอีกหลายร้อยต้นในปีถัดไป ซึ่งทยอยส่งมาปลูกในส่วนอื่นๆ ของจังหวัด น่าเสียดายที่ต้นแอปเปิลนำร่อง 3 ต้นแรกนั้นตายไปจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จึงไม่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน
ในปี 1898 เกิดการระบาดของโรคและแมลงในสวนแอปเปิล ซึ่งลุกลามไปทั่วประเทศ อันเป็นเหตุจำต้องตัดต้นแอปเปิลทิ้งไปจำนวนมาก ในขณะนั้นมีเพียงชาวสวนแอปเปิลในพื้นที่จังหวัดอาโอโมริเท่านั้น ที่เก็บรักษาพันธุ์แอปเปิลเอาไว้และนำกลับมาปลูกใหม่ในปีถัดไป ส่งผลให้อาโอโมริกลายเป็นแหล่งปลูกแอปเปิลที่สำคัญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ภายหลังจากการเผชิญกับภาวะโรคและแมลงรุมเร้าในสวนแอปเปิล นักวิชาการเกษตรที่ไปเล่าเรียนมาจากฝรั่งเศสได้แนะนำเทคนิคการใช้กระดาษห่อผลแอปเปิลเพื่อกันแมลง และการประยุกต์ใช้ผ้าชุบน้ำยา Bordeaux mixture (น้ำยาฆ่าเชื้อราที่ใช้ได้ผลในสวนองุ่น ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ คอปเปอร์ซัลเฟต CuSO4 และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ Ca(OH)2) มาพันห่อรักษาโรคของต้นแอปเปิลเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น
อานิสงส์จากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 1960 ส่งผลให้แอปเปิลมีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปี 1970 แบรนด์ของแอปเปิลถูกสร้างขึ้นโดยผ่านกลไกการตลาดที่เกิดขึ้นจากย่าน Ginza ซึ่งเป็นศูนย์กลางแหล่งชอปปิ้งชั้นนำของมหานครโตเกียวในห้วงเวลาขณะนั้น รางวัลชนะเลิศการประกวดแอปเปิลแห่งญี่ปุ่นเป็นเสมือนใบรับประกันความอร่อย ที่ขยายชื่อเสียงของแอปเปิลจากฮิโรซากิ (จังหวัดอาโอโมริ) ให้ถูกกล่าวขานไปทั่วญี่ปุ่น
ปัจจุบันเมื่อเอ่ยถึงแอปเปิลจากฮิโรซากิดูเหมือนว่าชื่อแอปเปิลจากสวนของ Akinori Kimura กลายเป็นไอคอนของผลไม้ชนิดนี้และมักจะถูกหยิบยกมากล่าวในฐานะแอปเปิลหมายเลขหนึ่งที่ซื้อหาได้ไม่ง่ายนัก ลูกค้าประจำที่ผูกขาดออร์เดอร์แอปเปิลจากสวน Kimura ตั้งแต่แอปเปิลเพิ่งจะออกดอก ได้แก่ ร้านเค้กชั้นหนึ่งและอาหารฝรั่งเศสชั้นยอด ซึ่งนำไปปรุงเป็นซุปแอปเปิลเมนูเลิศรสเฉพาะฤดูกาลที่มีเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่วัตถุดิบชั้นดี
นอกจากนั้นมักจะมีพ่อค้าคนกลางนำบางส่วนมาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในสนนราคาแสนแพงราวกับเป็นแอปเปิลวิเศษ กระนั้นก็ตามมักจะหมดภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังคงเป็นปริศนาที่นักวิชาการเกษตร ซึ่งขอเข้าไปทำวิจัยเกี่ยวกับแอปเปิลในสวนของ Kimura ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเหตุใดแอปเปิลของ Kimura จึงมีรสชาติที่ดีกว่าทั้งที่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน สภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งพันธุ์แอปเปิลก็ไม่ได้ต่างไปจากแอปเปิลในละแวกใกล้เคียง
Akinori Kimura ปัจจุบันอายุ 57 ปีเติบโตขึ้นจากครอบครัวเกษตรกรในชนบทจังหวัดอาโอโมริ มีความรู้ในระดับการศึกษาภาคบังคับของประเทศญี่ปุ่น เริ่มอาชีพเกษตรกรเต็มตัวเมื่ออายุ 22 ปี ด้วยความที่เป็นคนอัธยาศัยดีและยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปลูกแอปเปิล รวมถึงการกำจัดโรคและแมลงโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้มีชาวสวนแอปเปิลและเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นมาขอคำปรึกษาไม่ขาดสาย
Kimura มักจะเน้นย้ำว่า การใช้รถเป็นเครื่องทุ่นแรงนั้นจะทำให้หญ้าที่ขึ้นตามธรรมชาติในสวนแอปเปิลตาย เกิดปัญหาดินแห้งและสมดุลธรรมชาติในสวนเสียไป อันเป็นสาเหตุเบื้องต้นและที่มาของโรคและแมลง
เมื่อหลายสิบปีก่อน Kimura ก็เคยใช้รถฉีดพ่นยาและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ผลที่ตามมาคือ คนในครอบครัวได้รับผลกระทบจากสารเคมีก่อนที่แมลงจะตายเสียอีก ในขณะเดียวกันผลผลิตก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ แต่โรคและแมลงกลับเพิ่มขึ้นวนเวียนเช่นนี้อยู่ 8 ปีขาดรายได้จนไม่มีเงินพอที่จะจุนเจือครอบครัว
ทางออกสุดท้ายที่ Kimura เลือกคือการเดินเข้าป่าลึกไปหาต้นไม้ใหญ่ๆ สักต้น พร้อมกับเชือกในมือหวังหนีปัญหา แต่บังเอิญไปพบกับแอปเปิลต้นใหญ่ผลดกงามห้อยเต็มต้น ซึ่ง Kimura ใช้เวลาเดินวนดูอย่างพินิจพิเคราะห์อยู่หลายรอบ และได้พบกับทางออกที่แท้จริงของปัญหาภายในสวนแอปเปิล หัวใจของการดูแลแอปเปิล ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ทนต่อโรคและแมลงก็คือ การปรับสภาวะแวดล้อมให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของแอปเปิลตามธรรมชาติ ซึ่งกลายเป็นปรัชญาการเกษตรที่ Kimura ใช้พลิกฟื้นคืนชีพสวนแอปเปิล
การสังเกตและเรียนรู้วิถีธรรมชาติจากประสบการณ์ตรงนี้เอง ที่เป็นเสมือนคัมภีร์ที่ใช้จัดการภายในสวนของ Kimura ซึ่งปลอดทั้งสารเคมีและไม่มีเครื่องทุ่นแรงประเภทรถ
ทุกวัน Kimura จะเดินเข้าสวนไปดูแลรดน้ำพรวนดินต้นแอปเปิลทั้ง 600 ต้น พร้อมกับเคล็ดลับสำคัญคือการทุ่มเทและให้ "ความรัก" ต่องานที่ทำ Kimura มักจะพูดกับต้นแอปเปิลทุกต้นราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะช่วงที่แอปเปิลเริ่มผลิดอก
ว่ากันว่าหากมองลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ที่บินอยู่เหนือละแวกสวนแอปเปิลของอำเภอฮิโรซากิในเดือนพฤษภาคม ก็จะรู้ทันทีว่าสวนของ Kimura อยู่ตรงไหน เนื่องจากดอกแอปเปิลสีขาวในสวน Kimura จะผลิดอกอย่างงดงามสีขาวโพลนราวกับปุยหิมะยิ่งไปกว่านั้น Kimura จะพูดให้กำลังใจในยามที่ต้นแอปเปิลกำลังติดผลทุกต้นหลังการรดน้ำประจำวัน รวมทั้งกล่าวขอบคุณก่อนจะเก็บผลแอปเปิลออกไปขายด้วย
ทุกวันนี้นอกจาก Akinori Kimura จะมีรายได้จากการจำหน่ายแอปเปิลและน้ำแอปเปิลแล้ว ยังมีรายได้ตลอดปีจากการปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นโดยทำการเกษตรแบบครบวงจร และประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรได้ แม้ไม่มีใบปริญญาทางเกษตรศาสตร์
คงไม่ต้องกล่าวถึงประเทศที่ไร้ระบบกษัตริย์ เพราะไม่มีประชาชนประเทศไหนในโลกโชคดีเท่ากับคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยชี้แนะ "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ มาเผยแพร่ ณ ที่นี้อีกสักครั้ง
"ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การที่จะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมี พอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมาย ความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้" ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540
"มีบางคนพูดบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเขาพูดแต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้เข้าใจแค่ไหนไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตามเศรษฐกิจพอเพียงนี้ขอย้ำว่าเป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือเกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดีถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมาคือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำก็จะเป็นการกระทำที่ดีและผลของการกระทำนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข" ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543
"นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่าต้องรู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็วช้าไปก็ไม่พอเพียงต้องให้รู้จักก้าวหน้าโดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียงคงได้ศึกษามาแล้ว เราพูดมาแล้ว 10 ปีต้องปฏิบัติด้วย" ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2546
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ถือเป็นโอกาสดีที่พสกนิกรของพระองค์จะนำแนวคิดนี้ไปไตร่ตรองและปฏิบัติอย่างจริงจังให้เกิดประโยชน์และความสุขกันถ้วนหน้า
|
|
|
|
|