สองปีก่อนผมเขียนบทความเรื่อง 'จีนกับ DVD ในสงครามเทคโนโลยี' ลงในนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกันยายน 2547 เพื่อบอกเล่าถึงสถานการณ์และปัญหาที่ผู้ผลิตเครื่องเล่นดีวีดีสัญชาติจีนประสบ ในฐานะของประเทศซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องเล่นดีวีดีมากที่สุดในโลก (ร้อยละ 70) แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ทำให้โรงงานผลิตเครื่องดีวีดีของจีนต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แบบ 'กินเปล่า' ส่งให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเป็นจำนวนเงินมหาศาล ขณะเดียวกันในหมู่ผู้ผลิตจีนเองก็เกิดสภาพการแข่งขันด้านราคา ทำให้กำไรจากการผลิต-จำหน่ายเครื่องดีวีดีนั้นลดต่ำลงเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นศูนย์
สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดีวีดีชาวจีนต้องหาทางออก ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทนเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลดีวีดี (Digital Video Disc หรือ Digital Versatile Disc) เพื่อที่จะทำให้ผู้ผลิตชาวจีนไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับต่างชาติในราคาประมาณ 27.45 เหรียญสหรัฐต่อเครื่อง หรือราวร้อยละ 20-30 ของต้นทุนการผลิต โดยในเวลาต่อมาทางผู้ผลิตชาวจีนก็มีการคิดค้น วิจัยเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลของตัวเองขึ้นมา โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ค่าย คือ EVD, HDV และ HVD
สองปีก่อน ผมคาดเดาไว้ว่า EVD (Enhanced Versatile Disc) ไม่น่าจะแจ้งเกิดได้ในตลาดโลกหรือแม้แต่ในตลาดจีนเอง เนื่องจากผมเห็นว่าบริษัทจีนนั้นยังคงไม่สามารถยกระดับตัวเองให้ก้าวขึ้นไปอยู่ในสถานะของการเป็นผู้กำหนดกระแส-กติกาในเกมเทคโนโลยีในระดับโลกได้ และน่าจะเป็นได้เพียงแค่ผู้ที่เดินตามกระแส-กติกาที่โลกตะวันตกและญี่ปุ่นกำหนดเท่านั้น!
มาถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเคยกล่าวไว้กลับได้รับการพิสูจน์ระดับหนึ่งแล้วว่า "ผิดถนัด" เพราะในช่วงปลายปี 2549 ที่ผ่านมา บริษัทจีนเริ่มทำการเปิดตัวและทำตลาดเครื่องเล่น EVD แล้ว ทั้งยังมีการประกาศขู่ด้วยว่าในปี 2551 (ค.ศ.2008) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดีวีดียักษ์ใหญ่ของจีนจะหยุดการผลิตเครื่องดีวีดีทั้งหมด
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2549 เลขาธิการใหญ่สมาพันธ์อุตสาหกรรม EVD จีนและประธานบริษัท Antaeus Group จางเป่าเฉวียนได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนในจีน โดยเปิดเผยถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวจีนชิ้นนี้ว่า ปัจจุบันสมาพันธ์ EVD สามารถนำเอา EVD, HDV และ HVD ที่แต่เดิมถูกแบ่งเป็น 3 ค่าย รวมเข้ามาเป็นหนึ่งได้แล้วเพื่อต่อกรกับมาตรฐานเทคโนโลยี Blu-ray Disc และ HD-DVD ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น (Blu-ray Disc พัฒนาขึ้นโดยโซนี่ และฟิลิปส์ ส่วน HD-DVD นั้นพัฒนาโดยโตชิบา เอ็นอีซี ซันโย ไมโครซอฟท์ และอินเทล)
และแม้ว่าเทคโนโลยี EVD จะด้อยกว่า Blu-ray Disc และ HD-DVD อยู่บ้างโดยเฉพาะ ในส่วนของความจุ ที่แผ่น EVD (ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนกันกับแผ่นดีวีดีในปัจจุบัน) สามารถจุข้อมูลได้น้อยกว่าเพียง 8.5 GB หรือบรรจุภาพยนตร์ความละเอียดสูง (High Definition) ที่มีความละเอียดเหนือกว่าดีวีดีในปัจจุบัน 5 เท่าได้ประมาณ 105 นาที ขณะที่แผ่น Blu-ray นั้นขั้นต่ำสามารถจุข้อมูลได้ 25 GB หรือเทียบเท่ากับภาพยนตร์คุณภาพระดับ HD ประมาณ 200-250 นาที และแผ่น HD-DVD นั้นขั้นต่ำสามารถจุข้อมูลได้ 15 GB หรือภาพยนตร์ความละเอียดสูง ประมาณ 150-170 นาที แต่ข้อได้เปรียบของ EVD นั้นก็ค่อนข้างเด่นชัดคือ ราคาเครื่องเล่น EVD นั้นคิดเป็นแค่ 1 ใน 14 ของเครื่องเล่น Blu-ray เท่านั้น ทั้งยังถูกกว่าเครื่องเล่น HD-DVD ถึง 10 เท่า
จางเป่าเฉวียนเปิดเผยถึงรายละเอียดของเครื่องเล่น EVD ที่จะถูกวางตลาดในช่วงปลายปี 2549 นี้ว่า จะมีออกจำหน่ายทั้งสิ้น 52 แบบ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 700 หยวน (ประมาณ 3,500 บาท) ขณะที่เครื่องเล่น EVD ที่ถูกที่สุดนั้นอยู่ที่ 598 หยวน หรือประมาณ 3,000 บาท โดยในปี 2550 นี้เครื่องเล่น EVD ที่วางตลาดในจีนจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 100 แบบ ซึ่งผลิตจากโรงงานสมาชิกของสมาพันธ์ที่ล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่วงการดีวีดีในปัจจุบันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Haier, Hisense, Skyworth, TCL, Changhong, Amoi, Malata, Shinco ฯลฯ โดยยักษ์ใหญ่เหล่านี้ปัจจุบันครองสัดส่วนการตลาดของเครื่องเล่นดีวีดีในประเทศจีนถึงร้อยละ 95
ในส่วนของการจัดจำหน่าย กั๋วเหม่ย, ซูหนิง, หย่งเล่อ กลุ่มผู้ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีนนั้นก็ออกมารับหน้าเสื่อแล้วว่า พวกตนจะเป็นผู้ปูพรมวางจำหน่ายเครื่อง EVD ให้ทั่วประเทศจีนเอง
ในด้านซอฟต์แวร์ที่อาจถือได้ว่าเป็น "หัวใจ" ของเทคโนโลยีที่ไม่ว่าจะผลิตเครื่องเล่นมายอดเยี่ยมเพียงใด จำหน่ายราคาถูกอย่างไร แต่หากไม่มีการผลิตแผ่นซอฟต์แวร์-ภาพยนตร์มากเพียงพอเพื่อมาใช้ควบคู่เทคโนโลยีนั้นๆ ก็ถือว่าไปไม่รอด โดยในส่วนนี้สมาพันธ์ EVD จีนก็ประกาศว่าตนได้ทำสัญญากับค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ ละคร และซอฟต์แวร์หลักๆ ภายในประเทศ เช่น จินเตี่ยนหวนฉิว, จงข่ายเหวินฮั่ว, ซีซีทีวีอินเตอร์เนชั่นแนล, FAB รวมทั้งหมด 6 บริษัทไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้สัญญาว่าเมื่อมีเครื่อง EVD เริ่มจำหน่ายแล้วก็จะผลิตแผ่น EVD ป้อนตลาดให้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม สมาพันธ์ EVD ยังได้เปิดตัว 'สถานีเติม EVD' อันเป็นจุดให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ลงแผ่น EVD สู่สาธารณชน โดย 'สถานีเติม EVD' นี้เมื่อดาวน์โหลดเรียบร้อยแล้วก็จะใช้เวลาในการบันทึกภาพยนตร์ลงแผ่นเพียงเรื่องละ 3 นาที เพื่อจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าในราคาแผ่นละ 5-8 หยวน
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับราคาแผ่นของ Blu-ray Disc และ HD-DVD แล้วราคาต่อแผ่นของ EVD นั้นนับว่าต่ำกว่ามากคือ อยู่ในช่วง 5-28 หยวน ขณะที่ Blu-ray Disc นั้นราคาแผ่นละ 300 กว่าหยวน ส่วน HD-DVD นั้นราคาแผ่นละ 200 กว่าหยวน
เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า การเปิดตัวเจ้า EVD ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของบริษัทเอกชนจีนเท่านั้น แต่ในส่วนของภาครัฐของจีนก็ยังให้การสนับสนุนเทคโนโลยีภูมิปัญญาจีนอย่างเต็มที่เช่นกัน เนื่องด้วยการกำหนดมาตรฐานของ EVD ขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจของจีนได้หลายประการ คือ ในภาพใหญ่ถือเป็นการเขย่าบัลลังก์ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่แต่ไหนแต่ไรมาผูกขาดการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีโลกมาตลอด นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมจีนจาก 'คนรับจ้างผลิต' ให้กลายเป็น 'เจ้าของเทคโนโลยี' ที่มีสิทธิ์เต็มในสินค้าของตน
อีกด้านหนึ่งการปล่อยสินค้า EVD ออกมาถือเป็นการยุติสงครามราคา ที่แต่เดิมผู้ผลิตเครื่องดีวีดีจีนตัดราคากันเองจนแทบไม่เหลือกำไร ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตเครื่องดีวีดีชาวจีน ที่แต่เดิมต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในเทคโนโลยีให้บริษัทตะวันตกและญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล...
แน่นอนว่าอนาคตของ EVD คงจะไม่โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ โดยปัญหาที่ปรากฏให้เห็นแล้วในปัจจุบันก็คือ จุดอ่อนทางด้านเทคโนโลยีของ EVD ที่ความจุต่ำกว่าเทคโนโลยีของคู่แข่ง และส่งผลมาเป็นปัญหาเชิงรูปธรรมก็คือ แผ่น EVD ที่จุภาพยนตร์ความละเอียดสูงได้ราว 105 นาทีนั้นไม่เพียงพอต่อการบรรจุภาพยนตร์ฮอลลีวูดหนึ่งเรื่องที่มีความยาวเฉลี่ย 120 นาที (ขณะที่เพียงพอต่อการบรรจุภาพยนตร์จีนที่มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 90 นาที) โดยวิธีแก้ปัญหาในจุดนี้นั้นก็อาจจะต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแผ่นระหว่างการรับชม เหมือนกับการชมภาพยนตร์จากแผ่น VCD ซึ่งคนไทยนิยมกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้สมาพันธ์อุตฯ EVD ยังมีปัญหาในการควบรวมเทคโนโลยี EVD เข้ากับ HVD และ HDV ปัญหาในเรื่องซอฟต์แวร์ที่ไม่แน่ว่าบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ ละคร ซอฟต์แวร์ต่างชาติโดยเฉพาะจากฮอลลีวูดจะยอมผลิตสินค้าของตนในรูปแบบ EVD เพื่อนำมาป้อนให้กับตลาดจีนหรือไม่ (สำหรับปัญหานี้ผู้ประกอบการชาวจีนอาจใช้วิธีการแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยวิธีละเมิดลิขสิทธิ์ไปก่อนก็เป็นได้) ฯลฯ
กระนั้น การกล้า 'แข็งข้อ' กับมาเฟียอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบันเทิงโลกของชาวจีนครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าติดตาม เพราะการถือกำเนิดของ EVD อาจกลายเป็นจุดเริ่มของการสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่จะมาสร้างสมดุลและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั่วโลกก็เป็นได้
|