|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
|
มีคำกล่าวว่า "มนุษยชาติ...มีพันธะในการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เด็ก" หากวันเด็กนี้คุณยังไม่รู้จะมอบสิ่งดีอันใดให้กับเด็กน้อยในบ้าน ลองหันมามอบจินตนาการและแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาด้วยการไปสถานที่แห่งนี้...พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร
หลังจากก้าวเข้ามาในบริเวณพิพิธภัณฑ์เด็กฯ เสียงหัวเราะเฮฮาก็แว่วมาแต่ไกล ทำให้ "ผู้จัดการ" อดไม่ได้ต้องหันไปมองหาที่มาของเสียงอย่างรวดเร็ว
หอผจญภัยเต็มไปด้วยเจ้าตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังปีนป่าย ลื่นไถล กระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข ไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของพีระมิดตาข่ายยักษ์สูง 7 เมตร นำเข้าจากเยอรมนี เพื่อให้เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยได้ออกกำลังแขน โหนเชือกไต่ราวเพื่อหาทางขึ้นไปสู่ยอดพีระมิด...แต่ดูเหมือนว่าที่ยอดพีระมิดจะมีแต่คุณพ่อที่กลับเป็นเด็กอีกครั้ง กำลังปีนป่ายไปมาอย่างสนุกสนาน
เมื่ออิ่มเอมกับเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากลานสันทนาการเป็นที่เรียบร้อย "ผู้จัดการ" เข้าสู่อาคารขนาดใหญ่สีขาวที่อยู่ตรงข้ามทางเข้า ชื่อว่าอาคารยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับเด็กวัยอนุบาล
อาคารนี้เป็นที่ตั้งของ "เมืองสายรุ้ง" เมืองแห่งจินตนาการของเด็กเล็ก เป็นเสมือนโลกที่เด็กๆ จะได้ทดลองเล่นบทบาทเป็นผู้ใหญ่ (Role Play)
ที่เมืองจำลอง เราจึงได้เห็นสาวน้อยวัยเพียงปีเศษ กำลังง่วนอยู่กับการจ่ายตลาดซื้อของจนเต็มตะกร้าในร้านค้า เห็นหนุ่มน้อยในชุดนักดับเพลิงกำลังง่วนอยู่กับหัวฉีดบนรถดับเพลิง ภายในคลินิกขนาดย่อม ก็จะเห็นคุณหมอวัยละอ่อนวัยเพียง 2 ขวบกว่า กำลังตรวจคนไข้ตัวน้อยที่นอนโอดครวญอยู่บนเตียงอย่างรู้หน้าที่ ถัดไปก็ยังมีบริกรสาวตัวจิ๋วในชุดกันเปื้อนวุ่นอยู่กับการเก็บโต๊ะและทำอาหาร
ภาพน่ารักๆ เหล่านี้อธิบายด้วยหลักการว่า "การเลียนแบบคือการเรียนรู้ของเด็ก"
ในโลกใบเล็กของเจ้าตัวน้อย ณ อาคารแห่งนี้ยังมี workshop งานประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ สำหรับเด็กที่จะได้ใช้ไอเดียสร้างสรรค์และฝึกพัฒนาการทางกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ เช่น กิจกรรมก้อนหินติดหนึบในห้อง 108 ไอเดีย หรือก้อนดินมหัศจรรย์ ในห้องปั้นแป้งแต่งดิน โดยมีพ่อแม่รับบทเป็นเพียงผู้ช่วย
สำหรับสวรรค์แห่งการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย จะอยู่ภายในอาคาร 1 ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมยอดภายใต้แนวคิดในการจัดการพิพิธภัณฑ์เด็กฯ ที่ว่า พิพิธภัณฑ์เด็กไม่ได้มีหน้าที่ให้ความรู้ แต่ควรจะทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก
สมกับคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่กล่าวไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ความรู้มีขีดจำกัด แต่จินตนาการกว้างไกลไปทั่วโลก"
ในโซนวิทยาศาสตร์ คุณพ่อกำลังง่วนอยู่กับการกดเก้าอี้ลมให้ลูกตัวจิ๋วที่กำลังจ้องเขม็งดูกระบอกจดหมายเคลื่อนอยู่บนอุปกรณ์ ท่อลม ส่งจดหมาย ...เป็นภาพที่เห็นแล้วก็อดหัวเราะไม่ได้ ขณะที่เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งกำลังส่งเสียงผ่านท่อคดโค้งเรียกหาเพื่อน ที่อยู่ปลายทางอย่างสนุกสนาน
อีกฟาก กลุ่มเด็กชายตัวน้อยกำลังตื่นเต้นอยู่กับการทำฟองสบู่ยักษ์ขึ้นมาปกคลุมตัวเอง พร้อมกับเสียงหัวเราะร่าทันทีที่ฟองสบู่แตกกระจายใส่หน้า ...แล้วก็กลับไปเริ่มต้นทำฟองสบู่ใหม่ทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจนเมื่อคิวรอเล่นอุปกรณ์ยาวมากเข้า พ่อแม่จึงต้องกล่อมลูกให้ไปเล่นอย่างอื่นแทน
ถัดไปไม่ไกลเป็นโซนชีวิตของเรา เด็กๆ จะได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของอวัยวะที่เคลื่อนไหว ผ่านชุดอุปกรณ์โครงกระดูกทะเล้น และเอกซเรย์วิเศษ ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือ ชุดอุปกรณ์กลับสู่ท้องแม่ซึ่งเป็นเบาะนั่งสีชมพูอ่อนรูปร่างคล้ายมดลูกที่จะช่วยให้เด็กจินตนาการได้ว่า ตอนอยู่ในท้องแม่รู้สึกเช่นไร
ภาพที่เห็นแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ ก็คือ ภาพผู้ปกครองแอบแย่งเด็กเข้าไปทดลองนั่งเล่นนอนเล่นขยับตัวไปมาอยู่ในเบาะเป็นนานสองนาน...
บนชั้น 2 เป็นโซนวัฒนธรรมและสังคมซึ่งมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น โรงละครหุ่นที่พ่อแม่กลายเป็นนักชักนักเชิดจำเป็น ครัวน้องน้อยที่เด็กๆ กลายเป็นเชฟตัวจิ๋ว และโซนวัฒนธรรมชนชาติต่างๆ ที่จำลองบ้านไม้ไผ่ยกพื้นของชาวญี่ปุ่น บ้านน้ำแข็งของชาวเอสกิโม บ้านกระโจมชาวอินเดียนแดง ซึ่งกลายเป็นมุมโปรดของเหล่านางแบบนายแบบน้อยๆ ที่สรรหาชุดแต่งกายให้เข้ากับบ้านแต่ละหลังเพื่อแอ๊คท่าถ่ายรูป
เสียงเล็กๆ ของเด็กชายที่ดังเจื้อยแจ้ว เริ่มฟังชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก้าวขึ้นสู่ชั้น 3 ในโซนเทคโนโลยีใกล้ตัว ภาพที่เห็นคือ ดีเจตัวน้อยนาม "น้องไกด์" ใน ห้องจัดรายการวิทยุซึ่งกำลังก้มหน้าก้มตาอ่านสคริปต์อย่างเอาจริงเอาจังไม่แพ้ผู้ใหญ่ ขณะที่ห้องส่งโทรทัศน์ก็เต็มไปด้วยเด็กๆ ที่ต่อแถวรอรับบทยอดมนุษย์ในฉากเหาะเหินเดินอวกาศด้วยเทคนิคบลูสกรีน หรือบทพิธีกรรายการ "ระเบียง ข่าวเด็ก"
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังจะได้รู้จักกลไกการทำงานของรถยนต์ เรียนรู้ว่าไฟฟ้ามาจากไหน และได้สัมผัสและเรียนรู้จักคอมพิวเตอร์ในแง่มุมที่สร้างสรรค์ สมกับคำคมของซิดนีย์ เจ แฮริส ที่แปะอยู่หน้าห้องว่า "อันตรายที่แท้จริงมิใช่อยู่ที่ว่าคอมพิวเตอร์จะเริ่มคิดเหมือนมนุษย์ แต่อยู่ที่ว่า มนุษย์จะเริ่มคิดเหมือนคอมพิวเตอร์"
ไม่เพียงวิทยาศาสตร์ สังคมและเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ยังมี "อาคารถ้ำ" ซึ่งเป็นโซนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักและเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างปรองดองกับธรรมชาติ
เมื่อเข้าไปภายในถ้ำ น้องๆ จะเจอกับคำถามมากมายเพื่อกระตุ้นความใคร่รู้ เช่น เชื่อหรือไม่ ในผืนดินไม่กี่ตารางเมตรมีสิ่งมีชีวิตนับล้านอาศัยอยู่? ยิ่งลึกยิ่งปลอดภัย อะไรนะ? คอนโดใต้ดิน มีจริงหรือ? บ้านหลังใหญ่ อาศัยเป็นแสน คือตัวอะไร? อยากรู้ไหม ปลามีจมูกรึเปล่า?...
ถ้าสังเกตดีๆ ยังมีคำถามอีกหลายร้อยคำถามที่ถูกตั้งเอาไว้อยู่ในโซนต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ทั้งนี้ก็เพื่อจูงใจให้เด็กๆ สนใจและสงสัย ใคร่รู้ นำไปสู่การสังเกต สัมผัส สำรวจ สืบค้นเสาะหาข้อมูลด้วยตนเอง ก่อนจะนำไปสู่การสั่งสมความเข้าใจจนเข้าถึงการสรุปผล
เพราะเชื่อว่าข้อสรุปใดที่เกิดจากการสรุปจนเข้าใจสิ่งใดด้วยตัวเอง เด็กๆ ก็จะจดจำและเรียนรู้สิ่งนั้นตลอดชีวิต ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของแนวคิด Discovery Learning Process (DLP) ที่พิพิธภัณฑ์ฯ ยินดีจะอบรมให้กับผู้ปกครองที่ต้องการสวมบทผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของลูกอย่างจริงจัง
"ถ้าเรากระตุ้นให้เด็กสงสัยอยากรู้ ให้เวลาเด็กได้สังเกตและสำรวจอย่างละเอียด เด็กก็จะดูปลามากกว่าที่เป็นปลา ดูใบไม้มากกว่าที่เป็นใบไม้ เขาจะเริ่มเรียนรู้รายละเอียดที่เยอะขึ้น มีจินตนาการมากขึ้น แต่ถ้าเราแค่บอกให้เขาดูปลาหรือใบไม้ แรกๆ เขาก็จะตื่นเต้นนิดหน่อย แต่พอดูแล้วก็แล้วไป" สุจิตรา วุฒิธำรง กรรมการผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เด็กฯ อธิบายผลดีเกินคาดของกระบวนการ DLP
ทั้งนี้ เด็กๆ ที่เข้ามาที่นี่จะได้เรียนรู้ผ่านการทดลองและมีส่วนร่วม สมดั่งถ้อยคำจากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่พิพิธภัณฑ์ได้อัญเชิญมาไว้ที่ด้านหน้า "ฉันได้ยินและฉันลืม ฉันอ่านและฉันจำ ฉันทำและฉันเข้าใจ"
หลังจากเดินจนเหงื่อซึม "ผู้จัดการ" จึงเลือกหลบร้อนเข้ามาในห้องสมุดเด็กเล็ก "พ่อสอนให้อ่าน" ซึ่งภายในจำลองเป็นป่าแห่งจินตนา การ และความรู้ ตกแต่งด้วยสีสันสดใส ตรงกลางเป็นต้นไม้ยักษ์ที่ออกดอกใบเป็นหนังสือที่น่าสนใจนานาประเภท
คุณแม่ลูกอ่อนนั่งอ่านหนังสือให้ลูกเล็กในที่นั่งหนอนยักษ์ เด็กน้อยแทรกตัวหลบอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ คนเดียวในบล็อกชั้นล่าง ลูกน้อยนอนอ่านหนังสืออย่างตั้งใจอยู่ข้างๆ คุณพ่อบนต้นไม้...
อันที่จริงภาพที่น่าประทับใจของบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันภายในครอบครัวเช่นนี้ สามารถเห็นได้ในหลายๆ มุมของพิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งนี้
"มาที่นี่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก สิ่งที่เราให้เด็กๆ ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความประทับใจและแรงบันดาลใจ ที่นี่เราพยายามทำให้เด็กสนุก มีความสุขและประทับใจ พอเขาประทับใจก็จะมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ และมีจินตนาการในการหาคำตอบ เดี๋ยวสักวันเขาก็จะหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ตราบที่เขาต้องการรู้"
นี่คือสิ่งที่สุจิตราต้องคอยอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะพ่อแม่หลายคนที่มักคาดหวังว่า ลูกๆ จะต้องได้ความรู้อย่างเป็นการเป็นงาน สมกับมูลค่าเงินที่จ่ายผ่านประตูในอัตรา(เพียง)เด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 70 บาท
สำหรับวันเด็กที่จะถึงนี้ พิพิธภัณฑ์เด็กฯ ได้ทุ่มทุนกว่า 10 ล้านบาท นำเข้านิทรรศการการแสดงหุ่นยนต์สัตว์ระดับโลก (Robot Zoo) มาจากอเมริกาเข้ามาเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เด็กๆ จะได้เรียนรู้กลไกระบบการทำงานของภายในร่างกายของสัตว์ต่างๆ เช่น กิ้งก่าเปลี่ยนสี หุ่นยีราฟคอยาว หุ่นแรดจอมพลัง และแมลงวัน เป็นต้น จะเริ่มแสดงในวันเด็กเป็นวันแรกจนถึง 29 เมษายนนี้
และภายในปีหน้า พิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งนี้ยังจะได้เปิดตัว "อาคารภัยธรรมชาติใกล้ตัว" ที่ซึ่งรวบรวมเอานิทรรศการเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่กำลังเป็นภัยพิบัติของประเทศและของโลกในวันนี้ ซึ่งเด็กๆ ควรได้รู้จักและเรียนรู้ เช่น สึนามิ อุทกภัย ภูเขาไฟ และแผ่นดินไหว เป็นต้น
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งนี้จะตั้งอยู่ใจกลางเมืองอย่างด้านหลังตลาดนัดจตุจักรในบริเวณพื้นที่ของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ แต่น่าเสียดายที่พ่อแม่หลายคนกลับพาลูกไปไม่ถึงสถานที่ดีๆ เช่นนี้ เพราะมัวแต่พาลูกๆ (ลุ่ม) หลงอยู่ในศูนย์การค้าและแหล่งชอปปิ้งอยู่เป็นวันๆ !?!
|
|
|
|
|