Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2550
ได้เวลาเปลี่ยน             
โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
 


   
www resources

I.S.A. Value Homepage

   
search resources

Canned
I.S.A. VALUE CO.,LTD.




เมื่อก่อนที่นี่ใช้คนเดินเอกสารเดินเวียนไปยังแผนกต่างๆ ใครรับเอกสารก็ต้องเซ็นกำกับ แต่นับจากนี้เพียงแค่คลิกเมาส์ ใส่ข้อมูลเข้าไป ระบบใหม่ที่ติดตั้งก็จะส่งข้อมูลไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกฝ่ายข้อมูลออนไลน์กันทันที

“ซอยม่วงสกุล” อาจจะไม่คุ้นหูชาวบ้านหรือผู้คนที่พำนักอยู่แถวบางขุนเทียน แต่หากบอกว่าจะไป “ซอยปลากระป๋อง” หลายคนพยักหน้า และออกปากว่ารู้จักแทบจะทันทีเลยก็ว่าได้

ด้วยความที่เป็นโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของกรุงเทพมหานคร ทำให้โรงงานปลาทูน่ากระป๋องของ I.S.A.Value เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนแถวนี้ และคนในวงการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง แม้จะเปลี่ยนผ่านมือจากเจ้าของรายเก่ามาอยู่ในมือผู้ถือกรรมสิทธิ์ใหม่แล้วก็ตามที

ใช้เวลาเดินเข้าไปจนเกือบก้นซอย ผู้มาเยือนจะได้เห็นป้ายชื่อบริษัทติดอยู่ทั้งโรงงานผลิต และหน้าออฟฟิศใหม่เอี่ยมอย่างชัดเจน กลิ่นคาวปลาที่ลอยคลุ้งออกมาจากบริเวณโรงงานเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังการผลิตคงมากพอสมควร ถึงได้ส่งกลิ่นคาวอบอวลกินบริเวณกว้างเช่นนี้

I.S.A.Value เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่อยู่ในเครือ ของ Sea Value ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตทั้งหมด 3 แห่ง รวมกำลังการผลิตแล้วกว่ แปดร้อยตันต่อวัน หรือ 8 แสนกิโลกรัมต่อวัน

เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นการส่งออก และรับจ้างผลิตจากผู้ค้าในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด เอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ โดยบริษัทจะรับผลิตตั้งแต่เนื้อปลาทูน่าสำเร็จรูป ก่อนจัดส่งต่อให้ผู้จ้างวานไปผลิตเป็นปลากระป๋องสำเร็จรูปเอง หรือแม้แต่การรับผลิตเป็นทูน่ากระป๋องสารพัดชนิด ทั้งที่ใส่น้ำมัน ใส่น้ำเกลือ น้ำซอส น้ำปรุงรส หรือแม้แต่ปลาทูน่ากระป๋องสำหรับสัตว์เลี้ยงอย่างแมว

กำลังการผลิตที่มากถึง 400 ตันต่อวันเฉพาะใน I.S.A.Value อย่างเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีนับจากนี้ ทำให้เอกสารในการรับออร์เดอร์ หรือแม้แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับกำลังการผลิตทั้งหมดหมุนเวียนได้ไม่คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็น หลายครั้งออร์เดอร์เป็นจำนวนมากที่หลั่งไหล เข้ามาในบริษัทก่อให้เกิดความผิดพลาดในการผลิต เนื่องจากข้อมูลที่ส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตอื่นๆ เป็นแบบกระดาษที่ต้องใช้แรงงานคนเดินถือเอกสารเวียนไปให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเซ็นรับทุกครั้ง เมื่อมีการแก้ไขข้อมูล และส่งข้อมูลกลับไปยืนยันอีกครั้ง บางครั้งก็ยังเกิดการสูญหายในข้อมูลดังกล่าว

บริษัท I.S.A.Value จึงกลายเป็นบริษัทแรกในเครือที่ตัดสินใจจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว และต้องการให้ระบบการสั่งสินค้าหรือส่งเอกสารออร์เดอร์ทั้งหมดคล่องตัวกว่าเดิม โดยหลังจากใช้เวลากว่าครึ่งปี บริษัทที่มีรายได้กว่า 8,000 ล้านบาทต่อปีแห่งนี้ จึงมาลงเอยที่การเสียเงินในระยะเริ่มต้นจำนวน 15 ล้านบาท ไปกับระบบ ERP หรือโซลูชั่นเพื่อการวางแผนทรัพยากรสำหรับองค์กรของไมโครซอฟท์ ที่ชื่อว่า ไดนามิคส์ เอเอ็กซ์ เวอร์ชั่น 4.0

หากพิจารณาในแง่ของรายได้แล้ว จำนวนมูลค่าการลงทุนเพียง 15 ล้านบาท เทียบกับรายได้ 8,000 ล้านบาท อาจจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวแค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากจะบอกว่าความสำคัญของการลงทุนในระบบใหม่สำหรับองค์กรจะนำมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานอีกหลายประการ รวมถึงรูปแบบของการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ไลน์การผลิตที่จะสอดคล้องกับกระบวนใหม่ในระบบไอทีที่ติดตั้งเข้าไปใหม่ จำนวนเงินก็ดูเหมือนจะไม่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเอ่ยถึงแต่อย่างใด

ในเดือนมกราคมนี้พนักงาน 50 ชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับออร์เดอร์ หรือกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ฝ่ายวางแผน ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายที่ดูแลเรื่องแพ็กเกจจิ้ง หรือแม้แต่ฝ่ายโรงงานผลิตจะทำงานแบบใหม่ทั้งหมด

เริ่มจากฝ่ายวางแผนที่แต่เดิมเมื่อได้รับข้อมูลจำนวนการสั่งออร์เดอร์ของลูกค้าแบบล่วงหน้า 6 เดือนหรือ 1 ปี มาแล้วมักต้องใช้ วิธีการคำนวณด้วยมือถึงจำนวนการใช้วัตถุดิบทั้งกระบวนการ เช่น สมมุติว่าบริษัทต้องขายปลาทูน่า 400 กว่าตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน แต่ละตู้จะประกอบไปด้วยจำนวนของไลน์สินค้าที่แตกต่างกันออกไป และแต่ละชนิดของไลน์สินค้าก็เลือกใช้วัตถุดิบและวัสดุที่แตกต่างกันด้วย ทั้งส่วนผสม แพ็กเกจจิ้งและระบบขนส่ง ทำให้เสียเวลาในการติดต่อประสานงานในแต่ละ station หรือแต่ละแผนกกว่าจะสรุปสุดท้ายแล้วการผลิตสินค้าในแต่ละออร์เดอร์นั้นจะต้องใช้วัตถุดิบเท่าไร ก่อนส่งไปให้ฝ่ายผลิตดำเนินการต่อ

แต่เมื่อลงระบบ ERP ใหม่แล้ว ฝ่ายวางแผนแค่เพียงกรอกจำนวนตัวเลขการสั่งซื้อเข้าไปในระบบ ระบบจะช่วยคำนวณปริมาณของวัตถุดิบที่จะต้องใช้ในการผลิตนั้นๆ ให้อัตโนมัติ ซึ่งขณะเดียวกันตัวเลขดังกล่าวก็จะถูกส่งผ่านไปยังหน้าจอของฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยในเวลาเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องส่งเอกสารเวียนเหมือนก่อนหน้า หรือฝ่ายวางแผนก็ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาคำนวณด้วยมืออีกต่อไป

เช่นเดียวกันเมื่อฝ่ายการตลาดที่จะทำหน้าที่ป้อนข้อมูลการส่งออร์เดอร์ให้กับฝ่ายอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมต้องทำการป้อนข้อมูลเข้าไปในซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่บริษัทจ้างคนนอกเข้ามาเขียน แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรับออร์เดอร์ โดยที่ไม่ได้ลิงค์หรือเชื่อมโยงเข้ากับระบบอื่นๆ เลย

หลังจากที่ป้อนข้อมูลเสร็จ ก็จะทำการสั่งพิมพ์เอกสารการสั่งงานดังกล่าวออกมา และทำสำเนาเอกสารเป็นจำนวนมากก่อนส่งต่อไปยังแผนกต่างๆ ทั้งฝ่ายวางแผน ฝ่ายผลิต และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีระบบใหม่ ข้อมูลที่ฝ่ายการตลาดป้อนเข้าไป ก็จะถูกส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูล และเปิดทางให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ในเวลาเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องเวียนเอกสารอีกต่อไป

สมบัติ จันทร์ศศิธร รองประธานบริษัท I.S.A. Value บ่นเปรยๆ ว่า “เรามีถึงขนาดว่ามีเอกสารไปแล้ว มีใบเซ็นรับข้อมูลด้วย เพราะแต่ก่อนเอกสารไปแล้วหลายคนบอกไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ขณะที่บางฝ่ายอาจจะพลาดการรับข้อมูลที่ผ่านการแก้ไขไปบ้างก็มี บางคนยังถือข้อมูลที่เป็นมาสเตอร์อยู่ในมือ ขณะที่ Memo ที่แก้ไขแล้วกลับไม่ได้รับ ทำให้ข้อมูลที่ต้องทำงานยังเป็นแบบเดิม หลายครั้งก็ผิดพลาดในการรับผลิตได้ ยิ่งเป็นฝ่ายผลิตการที่ข้อมูลดังกล่าวหลุดไปยิ่งเสียหายในแง่ของการผลิตมากมาย”

แต่ถึงแม้อย่างนั้น สมบัติเองตั้งความหวังเอาไว้ไม่น้อยว่า หลังจากที่ทดสอบระบบไปอีกสักระยะ จนถึงกลางปีหน้า เขาและทีมงานจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้จากระบบดังกล่าว และประเมินพบว่าระบบดังกล่าวทำงานได้ดี ก็มีสิทธิ์ไม่น้อยที่อาจจะต้องทยอยติดตั้งระบบใหม่ให้กับบริษัทในเครืออื่นๆ บ้าง

เพราะแม้จะเป็นบริษัทในเครือแต่ฝ่ายวางแผนและฝ่ายการตลาดที่ทำหน้าที่รับออร์เดอร์จากลูกค้า ก็เป็นศูนย์กลางเดียวกัน ก่อนกระจายข้อมูลให้กับบริษัทหรือโรงงานในเครือรับหน้าที่ผลิตต่อไป การเชื่อมโยงเข้าถึงกันทั้งหมดระหว่างบริษัทในเครือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทต้องการจะให้เกิดขึ้น

ในวันที่ “ผู้จัดการ” เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้ พนักงานที่เกี่ยวข้องเริ่มหมุนเวียนสับเปลี่ยนแผนกมาอบรมการใช้งานระบบใหม่ และหากนับวันเวลาตามที่ได้พูดคุยกับสมบัติ จนถึงวันนี้ก็เป็นวันที่พนักงานได้ทดลองใช้ระบบจริงๆ แล้ว

ที่ปรึกษาโครงการที่เข้ามานั่งศึกษากระบวนการผลิตของบริษัททั้งหมดจะทำหน้าที่ช่วยเหลือและแก้ไขการทำงานภายใต้เงื่อนไขความต้องการของบริษัทไปอีก 6 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่จะประเมินผลการใช้งานกันอีกครั้ง

ความไม่คุ้นเคยในการใช้ระบบใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่หลายองค์กรจะประสบเมื่อต้องเปลี่ยนจากการใช้งานหรือทำงานด้วยมือมาเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนชีวิตประจำวันจากถือเอกสารมาเป็นการเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อดูข้อมูลการสั่งออร์เดอร์ เป็นสิ่งที่พนักงานที่นี่ต้องปรับตัวและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรอย่าง I.S.A.Value ต้อง แก้ไขให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

“เมื่อถึงเวลาที่จะโตยิ่งกว่าเดิม ก็ต้องเปลี่ยนระบบไอทีให้รองรับ และก็ต้องยอมรับเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” เป็นคำพูดซึ่งดูเหมือนจะเหมาะกับ I.S.A.Value ที่เวลานี้ตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้แค่โปรแกรมสร้างตารางหรือสร้างเอกสารมาเป็นระบบที่ใหญ่กว่าอย่าง ERP ยิ่งนัก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us