|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
|
ครั้งแรกที่เห็นกำหนดการที่จั่วหัวว่า "Jim Thompson กลับมาแล้ว" โดยมีนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นผู้นำมาส่งที่บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2 ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมีทั้งตื่นเต้นดีใจระคนปนกับความไม่แน่ใจ พร้อมคำถามคาใจว่า "จิม ทอมป์สัน หายไปทำอะไรที่ไหนมาเกือบ 40 ปี?"
"ผู้จัดการ" จึงออกเดินทางไปยังบ้านไทยจิม ทอมป์สัน อย่างรวดเร็ว
เมื่อก้าวขึ้นไปยังชั้น 2 สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือ "ราชาไหมไทย" ที่ดูแก่ขึ้นสมกับวัย 100 ปี กับนกแขกเต้าคู่ใจ นั่งยิ้มแย้มดีใจที่ได้กลับมายังบ้านไทยหลังนี้และได้กลับมากรุงเทพฯ หลังจากไปผจญภัยแล้วหายตัวอย่างไร้ร่องรอยในป่าคาเมรอน ไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย มาตั้งแต่ปี 2510
ทว่า มร.จิมที่เห็นเป็นเพียงหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริง ที่มีนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นผู้ปั้นแต่งขึ้นอย่างบรรจงและใส่ใจ ใช้เวลานานร่วม 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ใส่หรือนาฬิกาที่ข้อมือหุ่น ล้วนแต่เป็นข้อมูลจริงที่นาวินได้มาจากการสัมภาษณ์คนสนิทของจิม ทอมป์สัน
หุ่นขี้ผึ้งนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะสื่อผสม "หลงกรุง (Lost in the city)" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี หาก มร.จิมยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเขาในฐานะผู้มีส่วนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตผ้าไหมของไทย และทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก
นิทรรศการฯ นี้เป็นการยกเอาถนนสายหนึ่งที่ประปรายด้วยขยะปฏิกูลมาจำลองไว้ โดยนาวินตั้งสมมุติให้เป็นซอย "หลงกรุง 21" ภายใต้บรรยากาศของกรุงเทพฯ ในยุค 40 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังรุ่นเก่า ป้ายโปสเตอร์ขายหนังยุคเก่า หรือรถขายสินค้ายุคเก่า ผสมกับภาพวาดฝาผนังที่สะท้อนเหตุการณ์กรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน
ภาพม็อบเสื้อเหลือง ภาพโสเภณีกระเทย ภาพศูนย์การค้าสยามพารากอน ภาพช้างในเมือง ภาพดอนเมืองปิดดำเนินการ ภาพ รถเมล์ทับเด็ก ภาพรถติดยาวเหยียด ฯลฯ ภาพเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ขันเสียดแทงที่อาจทำให้ชาวกรุงเทพฯ หลายคนขำไม่ออก
จิตรกรรมฝาผนังที่สอดแทรกทัศนคติของนาวินที่มีต่อความเปลี่ยนแปลง (เชิงลบ) ของกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ศิลปินจินตนาการถึงความรู้สึกของราชาไหมไทยคนนี้ ถ้าเขากลับมากรุงเทพฯ ณ วันนี้ นั่นคือความตกใจ เสียใจ และเสียดายบรรยากาศดีๆ แบบเดิมๆ ของกรุงเทพฯ ที่หายไปแล้ว เพราะความเจริญทางโครงสร้าง อันเป็นความรู้สึกที่เขาคาดว่าคงไม่ต่างจากตัวเอง เพราะนาวินเองก็ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก นานๆ จึงกลับมาเมืองไทย
ภายในนิทรรศการนี้ยังมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นและการ์ตูนเล่มละบาท ที่เล่าเกี่ยวกับการเดินทางของ มร.จิม ในกรุงเทพฯ ให้ผู้ชมได้สนุกกับจินตนาการของศิลปินกันต่อ รวมทั้งยังมีหุ่นกระบอกแสดงเรื่องขโมยขึ้นบ้านของ มร.จิม ซึ่งเปรียบได้กับกรณีการเวนคืนที่ดินชุมชนบ้านครัว
สุดท้าย ผู้ชมยังสามารถมีส่วนร่วมกับนิทรรศการครั้งนี้ได้ ด้วยการเขียนข้อความถึง มร.จิม หรือเขียนถึงสิ่งที่หายไป หรือจะเขียนถึงสิ่งใหม่ที่พบในกรุงเทพฯ รวมทั้งยังสามารถฝากข้อความถึง มร.จิมผ่านตู้โทรศัพท์ที่ยกมาตั้งไว้ในงานได้อีกด้วย
นิทรรศการศิลปะสื่อผสมร่วมสมัยที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน และยังกระตุกต่อมคิดของผู้ชมครั้งนี้ เปิดให้เข้าชมฟรีถึง 22 มีนาคมนี้ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น.
|
|
|
|
|