|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
 |

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่เสวนา ประชิต ศิริเผ่าสุวรรณกุล ตัวแทนชุมชนซอยหวั่งหลีได้พา “ผู้จัดการ” โดยสารรถไฟลอยฟ้า BTS จากสถานีสุรศักดิ์มาลงที่สถานีตากสิน เพียงสถานีเดียวก็ถึงชุมชนซอยหวั่งหลีซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 52
ปากซอยเป็นตึกแถวทรงโบราณที่มีชื่อว่า “ร้านประสิทธิ์ผล” ป้าตุ๊กตาได้ชี้ให้ดูบ้านเกิดหลังนี้ พร้อมกับเล่าอย่างภูมิใจว่า เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในยุครุ่งเรืองของกิจการค้าที่ชุมชนแห่งนี้ ที่นี่คือบาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดบริการไว้ต้อนรับทั้งชาวไทย ชาวจีน แขก และฝรั่งต่างชาติ ที่ทำการค้าบริเวณท่าเรือหวั่งหลี คุณพ่อเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตหมายเลข 1 โดยเธอแสดงหลักฐานพร้อมนามบัตรที่ยังคงแสดงภาษาเก่าแก่โฆษณาที่มีอายุกว่า 60 ปี
ขณะเดินไล่เรียงมาตามตึกแถวโบราณอายุ 80 ปีที่ตัวแทนชุมชนอย่างประชิต ศิริเผ่าสุวรรณกุล, พรชัย โล่ห์ชัยชนะ และป้าตุ๊กตา อาศัยอยู่ขณะนี้ บรรยากาศยามพลบค่ำเหมือนความมืดมนที่เข้าครอบงำจิตใจคนที่นี่
สีหน้ากังวลใจของประชิต ศิริเผ่าสุวรรณกุล ตัวแทนชุมชนซอยหวั่งหลี ที่ถือเป็นคนเก่าแก่ในย่านยานนาวา ได้นำหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ ที่บ่งบอกความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ “ท่าเรือหวั่งหลี” ให้ดูที่บ้านซึ่งเป็นตึกแถวดีไซน์ฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 52 และกำลังจะถูกไล่รื้อถอนภายในต้นปี 2550 โดยวัดยานนาวาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแห่งนี้
ที่บ้านของประชิตยังมีหลักฐานเก่าแก่ปรากฏโต๊ะประมูลข้าวไม้สักเก่าแก่ตั้งอยู่ใต้พัดลมไม้โบราณ พื้นที่ภายในตึกที่กว้างขวาง ประตูไม้สักที่มีสลักเหล็กยาวพาดกั้นไว้ เครื่องชั่งตวงวัดข้าวแบบโบราณ รวมทั้งหีบเก่า ขณะที่เพื่อนบ้านยังคงรักษาความสวยงามของพื้นชั้นล่างที่ปูด้วยกระเบื้องเซรามิกลายเก่าแก่ พร้อมด้วยกระจกลวดลายสีเขียว
“บ้านหลังนี้ อาก๊งกับอาม่าเล่าว่า ตอนที่อยู่เมืองจีน อาก๊งเสี่ยงเซี่ยมซีอธิษฐานพบว่าถ้าหากจะเดินทางมาไทยจะโชคดี จึงอาศัยเรือสำเภาเดินทางจากซัวเถามาสามเดือนจึงมาขึ้นที่ท่าเรือนี้ เดิมบริเวณนี้ก็เคยเป็นป่าช้ามาก่อน ต่อมาท่านยี่ก่อฮง ย้ายสุสานไปวัดดอน ทำเป็นท่าเรือเมล์จีน ต่อมาตระกูลหวั่งหลีจ้างช่างฝรั่งเศสมาออกแบบสร้างตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้างในยังมีกรอบไม้สักอยู่เลย พอสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมาสร้างกองบัญชาการ บ้านก็ถูกระเบิดไฟไหม้ แต่ข้างในยังแข็งแรง หลังสงครามโลกคนก็กลับมาอยู่กันคึกคัก ย่านนี้มีทั้งโรงหนังฮ่องกงหรือโรงหนังเฉลิมเวียงที่รื้อไปแล้ว มีตรอกซุง ซึ่งเคยเป็นที่เก็บซุงที่ลากมาจากแม่น้ำ มีบริษัทข้าวไทย มีอู่ต่อเรือหลังบริษัทข้าวไทย มีไซโลของหวั่งหลี เรื่องราวเหล่านี้เรามีหลักฐานแสดง แต่ตอนนี้กำลังจะถูกทำลายไม่เหลือ” ประชิตเล่าให้ฟัง
อีกไม่นานตึกแถวโบราณเหล่านี้จะต้องถูกรื้อถอนเหมือนเช่นตลาดมิ่งเมือง ที่แปรพื้นที่เป็นดิโอลด์สยามพลาซ่า โดยหารู้ไม่ว่า ที่ชุมชนซอยหวั่งหลีแห่งนี้คือสมบัติทางประวัติศาสตร์ธุรกิจชิ้นสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะโบราณกาลมา ท่าเรือแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของย่านธุรกิจและพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคค้าสำเภาเรือ เรื่อยมาถึงศูนย์กลางโรงสีข้าวและธุรกิจท่าเรือส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์เกษตรสู่ต่างประเทศ
นอกจากนี้ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อพสกนิกรไทยคือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทั้งสองพระองค์ได้เคยเสด็จมาลงเรือที่ท่าเรือหวั่งหลีแห่งนี้ เพื่อเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกด้วย
ชุมชนซอยหวั่งหลี ตั้งอยู่บนพื้นที่วัดยานนาวา ซึ่งเป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ สร้างพระเจดีย์รูปเรือสำเภาขนาดเท่าของจริง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดยานนาวา” (เดิมชื่อ วัดคอกกระบือ) และต่อมาในยุคตระกูลหวั่งหลี ได้สิทธิเช่าที่ดินบริเวณนี้และได้พัฒนาที่อยู่อาศัยโดยจ้างสถาปนิกชาวฝรั่งเศสออกแบบตึกแถว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเจดีย์เรือ จึงสร้างแบบตึกแถวให้มีลักษณะคล้ายเรือ โดยตึกแถวแรกสูง 3 ชั้น เป็นหัวเรือ ขณะที่ตึกแถวตรงกลางสูงแค่ 2 ชั้น เป็นระวางเรือ และท้ายเรือเป็นตึกแถว 3 ชั้น ตึกแถวทั้ง 61 ห้องนี้ตั้งอยู่สองฝั่งถนนที่กว้างขนาด 4 เลน ซึ่งถือเป็นซอยที่มีถนนกว้างที่สุด เพราะต้องรองรับปริมาณสินค้าและคนจำนวนมากมายจากการค้าขนส่งที่ท่าเรือหวั่งหลีนี้
รอยเท้าบนท่าเรือหวั่งหลีนี้คือ ก้าวแรกบนแผ่นดินไทยของชาวจีนโพ้นทะเล ที่ล่องเรือแรมเดือนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ท่าเรือแห่งนี้จึงมีเรื่องเล่าในอดีตที่ทรงคุณค่า
ศันสนีย์ ธัญมันตา คุณป้าวัย 65-66 ปี เล่าว่าเธอเกิดที่ซอยหวั่งหลีนี้ พ่อเป็นจีนแต้จิ๋วที่เดินทางด้วยเรือสำเภามาจากเมืองจีน และอาศัยอยู่ที่นี่ ทำมาหากินกับบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งทุกวันพ่อจะหิ้วกระเป๋าไปเดินแถวๆ ถนนสุริวงศ์ ซึ่งมีชาวต่างประเทศอยู่มาก และเลยไปถึงสำเพ็งที่เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ตกเย็นเมื่อถึงบ้าน ก็จะเทกระเป๋าที่เต็มไปด้วยเงินให้ลูกๆ นับกันจนเบื่อ เสร็จแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เซฟ ฐานะทางบ้านที่ดีทำให้เธอได้เงินวันละ 1 บาทไปโรงเรียน ซึ่งนับว่ามากเกินหน้าเกินตาเด็กทั่วไป ต่อมาต้องล้มละลายเนื่องจากพิษสงครามโลก ที่ทำให้เงินทองที่เก็บไว้ลดค่า เช่น พ่อเอาเงินสะสมไปแลกเป็นธนบัตรพันบาทรุ่นแรกที่รัฐบาลนำออกมาใช้ แต่ต่อมาทางคลังได้เปลี่ยนอัตราแลกธนบัตรพันบาทเหลือค่าเพียง 100 บาท ทำให้ขาดทุนมหาศาล จนทำให้พ่อเสียสติเอาแบงก์ไปเผาก็มี
ขณะที่พรชัย โล่ห์ชัยชนะ เป็นอีกคนหนึ่งที่สู้เพื่อบ้านเกิดแห่งนี้ เขาเล่าว่า ครอบครัวของเขาเป็นช่างกลึง ซึ่งถือเป็นงานฝีมือของชาวกวางตุ้ง ตลอดหลายชั่วอายุคน เขาได้รับรู้จากบรรพบุรุษถึงความรุ่งเรืองของย่านนี้ ซึ่งสมัยนั้นโรงสีข้าวจำนวนมากตั้งอยู่เรียงรายเจ้าพระยา และเครื่องจักรแต่เดิมเมื่อเสียก็ต้องนำเข้าอะไหล่จากเมืองนอก แต่เมื่อมีโรงกลึงของชาวจีนกวางตุ้ง ซึ่งเป็น craftsman ที่มีทักษะและฝีมือกลึงเกิดขึ้นก็สามารถทดแทนและลดต้นทุนการซ่อมบำรุงได้ดีกว่า จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ การผลิตและสีข้าวเปลือกได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ความสำคัญของโรงสีข้าวใหญ่ในกรุงเทพฯ ลดลง ต่อมามีท่าเรือคลองเตย ก็ยิ่งลดความสำคัญของท่าเรือโบราณแห่งนี้ไป แต่ถึงกระนั้นทุกครอบครัวก็ยังอาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้และปรับตัวปรับอาชีพให้อยู่รอด จนกระทั่งเกิดเหตุวัดจะไล่รื้อถอนสิทธิผู้เช่า พรชัยในฐานะตัวแทนได้พยายามยื่นข้อเสนอว่า
“พวกเรายอมให้วัดขึ้นค่าเช่า และเมื่อจัดงานประจำปีในชุมชน ขายของที่ระลึกได้ ก็จะนำรายได้มอบวัด ขณะเดียวกันก็เสนอให้ทำพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ท่าเรือแห่งนี้ที่สร้างขึ้นในปี 2451 ด้วย และขอให้พัฒนาทางเดินเชื่อมต่อริมน้ำระหว่างวัด ชุมชนและ BTS ด้วย” นี่คือแนวทางที่ตัวแทนชุมชนอย่างพรชัยจะทำได้ภายใต้วิกฤตของชุมชนและสังคมไทย
“เราต้องร่วมมือกันรักษาชุมชนนี้ไว้ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น แต่เพื่อลูกหลานไทยจีนจะได้รู้ประวัติศาสตร์และถิ่นฐานแรกเริ่มของบรรพบุรุษจีน ซึ่งตอนนี้มีลูกหลานเป็นคนไทยไปแล้ว เราต้องรักษามรดกของกรุงเทพฯ นี้ไว้” นี่คือการต่อสู้ยุคสุดท้ายของคนในชุมชนท่าเรือหวั่งหลีแห่งนี้
|
|
 |
|
|