Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2550
อะไรที่นำกลับมาใช้ได้อีกต้องเอากลับมาให้หมด             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 

   
related stories

ใช่ว่าชื่อ “เครือซิเมนต์ไทย” ทำอะไรก็ง่ายไปทั้งหมด

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์, บมจ.
Pulp and Paper




อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษโดยทั่วไปมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับที่ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ นอกจากไม่ยอมปล่อยให้มีอะไรหลุดออกไปสร้างปัญหานอกโรงงานแล้ว ยังพยายามเอาของเสียทุกชนิดที่ได้จากทุกกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ให้หมด

โรงงานของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ เป็นโรงงาน ผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวเพื่อนำไปใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียน โดยใช้วัตถุดิบคือ ปอแก้ว ไม้ไผ่ กระถินเทพา และยูคาลิปตัส โดยปัจจุบันยูคาลิปตัสถือเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนเยื่อกระดาษจากไม้ประเภทอื่นมีการผลิตบ้างตามแต่ลูกค้าจะกำหนด

เมื่อมีไม้เป็นวัตถุดิบหลัก ดังนั้น นอกจากพื้นที่ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งโรงงานประมาณ 1,000 ไร่แล้ว พื้นที่รอบๆ โรงงานอีก 4,123 ไร่ ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัส ภายใต้การดูแลของโรงงานเอง โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โปรเจค กรีน" เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากไม้ยูคาลิปตัสที่ได้ไปให้การส่งเสริมชาวบ้านปลูกไว้ทั่วภาคอีสาน เพื่อนำมาขายต่อให้กับโรงงานเป็นวัตถุดิบ

เยื่อกระดาษ คือส่วนที่เป็นเส้นใยที่อยู่ในเนื้อไม้ ดังนั้น กระบวนการผลิตจึงต้องนำไม้เข้าไปในเครื่องจักร เพื่อต้มให้เนื้อไม้สลายเหลือแต่ใย และนำใยดังกล่าวไปล้าง ก่อนที่จะนำมาฟอกขาวและอัดให้เป็นแผ่นส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระดาษ

นอกจากไม้แล้ว น้ำจึงเป็นวัตถุดิบสำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะต้องถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการต้มเยื่อ ล้างเยื่อ และฟอกเยื่อ

แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการเหล่านี้คือ น้ำจากลำน้ำพอง

ตลอดกระบวนการตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนจบสายการผลิตในโรงงานฟินิคซฯ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดของเสียขึ้น ซึ่งระบบกำจัดของเสียเหล่านี้ ในปัจจุบันได้ถูกออกแบบมาให้รัดกุมโดยพยายามนำของเสียเหล่านั้นกลับเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ให้มากที่สุด เหลือปล่อยออกสู่ภายนอกให้น้อยที่สุด

กระบวนการเหล่านี้เริ่มตั้งแต่...

เมื่อเกษตรกรนำไม้มาส่งให้โรงงาน ไม้เหล่านี้จะถูกตากให้แห้งก่อนนำเข้าสู่เครื่องปอกเปลือกไม้ และสับไม้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อสะดวกต่อการต้ม

ในกระบวนการปอกเปลือกและสับจะมีฝุ่นละอองเกิดขึ้น โรงงานจะมีเครื่องดักฝุ่นเหล่านี้ไว้ไม่ให้ลอยออกไปสู่บรรยากาศ

เปลือกไม้ที่ถูกปอกออกมารวมกับฝุ่นที่ถูกดักเก็บไว้ในเครื่องดักฝุ่นจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในหม้อต้มไอน้ำ

หลังจากไม้ถูกสับเป็นชิ้นเล็กๆ จะถูกนำส่งไปตามสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการต้มเยื่อและล้างเยื่อ เสร็จแล้วก็จะเป็นกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อ

องค์ประกอบของน้ำยาล้างเยื่อส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ หลังจากที่ผ่านกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกไปแล้ว น้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะถูกนำไประเหยให้เหลือแต่กาก และกากของน้ำยาล้างเยื่อนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มไอน้ำด้วยเช่นกัน

หม้อต้มไอน้ำที่ว่า จะมีบทบาทสำหรับการต้มไอน้ำเพื่อนำไปใช้ปั่นเป็นไฟฟ้า สำหรับใช้ภายในโรงงาน

ที่สำคัญ ส่วนที่เหลือของกากน้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการเผาจะถูกนำไปทำปฏิกิริยากับปูนขาว แล้วสามารถนำกลับมาใช้เป็นน้ำยาล้างเยื่อได้อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่กากปูนขาวหลังจากทำปฏิกิริยากับของกากน้ำยาล้างเยื่อแล้ว หากเป็นกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตที่ 2 ซึ่งใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบสามารถนำเข้าไปสู่หม้อเผาปูนเพื่อเผากลับมาเป็นปูนขาวกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100%

แต่หากเป็นปูนขาวที่เกิดจากสายการผลิตแรกซึ่งใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบไม่สามารถนำไปเผากลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะกากปูนส่วนนี้จะมีสารซิลิกา ซึ่งผสมอยู่ในเนื้อไม้ไผ่ปนเปื้อนออกมา หากนำกลับไปเผา อาจสร้างความเสียหายให้ผนังอิฐภายในหม้อเผาปูน จึงต้องนำไปทิ้งด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักวิชาการ

โดยแต่ละปี ฟินิคซฯ ต้องฝังกลบกากปูนขาวส่วนนี้ประมาณปีละ 7 หมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฟินิคซฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิธีการแยกสารซิลิกาออกจากกากปูนขาว เพื่อจะนำกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรกกลับมาเผาใช้ใหม่ ไม่ต้องนำไปทิ้งเหมือนที่เคยทำอยู่

ทุกวันนี้ หม้อต้มไอน้ำเพื่อใช้ปั่นไฟฟ้าของฟินิคซฯ ใช้กากของน้ำยาล้างเยื่อเป็นเชื้อเพลิงถึง 75% ส่วนเชื้อเพลิง ที่เหลือจะใช้เปลือกไม้ 10% และฝุ่นที่ดักได้อีก 5% โดยเหลือ เป็นน้ำมันเตาที่ต้องซื้อจากภายนอกเพียงแค่ 10%

ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานได้จากหม้อต้มไอน้ำที่ปั่นไฟมาใช้เองถึง 85% ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เหลืออีก 15% ค่อยซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หลังผ่านกระบวนการแยกเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อแล้ว เยื่อที่ถูกแยกออกมาก็จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการฟอกเยื่อให้เป็นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำมาอัดเป็นแผ่นพร้อมส่งให้กับโรงงานผลิตกระดาษ

ในกระบวนการฟอกเยื่อจะมีน้ำเสียออกมา คือน้ำที่ผ่านกระบวนการฟอกเยื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งองค์ประกอบของน้ำเสียเหล่านี้เป็นน้ำที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์ จึงจำเป็นต้องนำน้ำเสียส่วนนี้ส่งต่อไปยังบ่อบำบัด

วิธีการบำบัดน้ำเสีย ใช้วิธีการนำจุลินทรีย์เข้าไปกินสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ แล้วปล่อยให้จุลินทรีย์เหล่านั้นตกตะกอน น้ำส่วนบนที่ผ่านการบำบัดแล้วจะค่อยๆ ล้นออกมาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย และถูกส่งลงไปยังบ่อพัก

ซึ่งบ่อพักนี้มีการปล่อยปลาลงไปเลี้ยงเอาไว้เพื่อพิสูจน์ให้คนที่เข้ามาชมกระบวนการผลิตเห็นว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว ปลาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

ฟินิคซฯ เริ่มปล่อยปลาลงไปเลี้ยงในบ่อพักน้ำเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มีปลาทับทิม ปลาไนทอง และปลานิล จากช่วงเริ่มต้นที่ปล่อยปลาลงไป 80 ตัว แต่ปัจจุบันจากการประมาณการคร่าวๆ ด้วยสายตา จำนวนปลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ่อพักน้ำมีเพิ่มขึ้นมาจากเมื่อ 4 ปีก่อนหลายเท่าตัว

ทุกวันนี้น้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการฟอกเยื่อมีปริมาณวันละ 2.1 หมื่นลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานสามารถรองรับน้ำเสียได้ถึงวันละ 6 หมื่นลูกบาศก์เมตร ส่วนบ่อพักน้ำเสียมีจำนวนถึง 5 บ่อ สามารถรองรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ถึง 1.23 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงเวลา 60 วัน

ส่วนน้ำจากบ่อพักน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 100% จะไม่มีการปล่อยออกไปสู่แหล่งน้ำภายนอก แต่จะถูกสูบออกไปใช้เลี้ยงต้นยูคาลิปตัสที่ถูกปลูกไว้ในพื้นที่กว่า 4 พันไร่ ในโปรเจคกรีน

ต้นยูคาลิปตัสเหล่านี้ได้รับการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักที่ทำมาจากตะกอนของจุลินทรีย์ที่ได้มาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย

หากประมาณการจากกระบวนการผลิตทั้งหมด โรงงานฟินิคซฯ จะมีขยะอุตสาหกรรมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน แต่ทุกวันนี้ฟินิคซฯ ทิ้งขยะเหล่านี้ออกไปเพียงปีละ 7 หมื่นตัน ก็คือกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรก

ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 แสนตัน ฟินิคซฯ ได้นำกลับเข้ามาใช้ซ้ำอีกครั้งในกระบวนการผลิตทั้งหมด

ถือเป็นโรงงานที่มองเห็นคุณค่าของขยะอย่างแท้จริงเลยทีเดียว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us