Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2550
ใช่ว่าชื่อ “เครือซิเมนต์ไทย” ทำอะไรก็ง่ายไปทั้งหมด             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 

   
related stories

อะไรที่นำกลับมาใช้ได้อีกต้องเอากลับมาให้หมด

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์, บมจ.
Pulp and Paper
ธีระศักดิ์ จามิกรณ์




แม้ชื่อเครือซิเมนต์ไทยจะได้รับการยอมรับในวงกว้างเรื่องการค้า ธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชื่อนี้จะขลังจนทุกกิจกรรมที่ทำทุกคนต้องเชื่อมั่นทันทีที่เห็นชื่อ การเข้าไปซื้อกิจการฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่เครือปูนใหญ่ต้องใช้เวลานับปีกว่าคนรอบข้างจะมั่นใจได้ว่าโรงงานที่ซื้อมานี้ปลอดภัยแล้ว

“วันนี้ได้กี่ตัวแล้วล่ะ” ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ถามหนุ่มวัยรุ่นผู้หนึ่งที่กำลังยืนรอทอดแหจับปลาบริเวณข้างถนนริมบึงโจด ช่วงสายวันหนึ่งของกลางเดือนตุลาคม 2549

หนุ่มดังกล่าวไม่ตอบ เขาเพียงฉีกยิ้ม และยกถังพลาสติกสำหรับใส่ปลาที่จับได้ในวันนั้นให้ธีระศักดิ์ดู

ในถังพลาสติกใบเขื่อง มีปลาตัวเล็กตัวน้อยนอนดิ้นอยู่กว่าค่อนถัง

“โอ้” ธีระศักดิ์อุทาน “ได้มาไม่เบาเลยนี่”

ภาพกลุ่มชาวบ้านยืนทอดแหริมบึงโจด กับชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งพายเรือตกปลาในบึงโจด เป็นภาพใหม่ที่เพิ่งปรากฏให้เห็นในช่วงเพียงปีเศษๆ มานี้

บึงโจดเป็นบึงน้ำสาธารณะซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์

บึงแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ รองรับน้ำที่ไหลมาจากห้วยโจด ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำพองช่วงต่อจากเขื่อน อุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ก่อนหน้านี้ ภาพชาวบ้านหาปลาในบึงโจด แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องเพราะสภาพบึงโจดในขณะนั้น เต็มไปด้วยผักตบชวาที่ลอยเบียดเสียด บดบังผิวน้ำมิดชิด แสงแดดไม่สามารถส่องลงไปในน้ำ ทำให้น้ำขาดออกซิเจน จนสัตว์น้ำแทบไม่มีชีวิตหลงเหลืออยู่ได้

สภาพภูมิประเทศรอบๆ บึงช่วงนั้นเต็มไปด้วยป่ารกชัฏ ทางเข้าเป็นเพียงถนนลูกรังที่ชาวบ้านใช้ได้เพียงแค่สัญจรไป-มาเท่านั้น

ยิ่งช่วงก่อนหน้าปี 2537 บึงโจดยังถูกใช้เป็นแหล่งระบายน้ำทิ้งที่มาจากโรงงานของฟินิคซฯ

เมื่อน้ำที่ขาดออกซิเจนอยู่แล้วในบึงโจด ผสมกับน้ำทิ้งจากโรงงานไหลลงสู่ลำน้ำพอง จึงสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่มีเป็นจำนวนมาก ตั้งกระชังเลี้ยงปลาตลอดแนวลำน้ำพอง เพราะปลาที่เลี้ยงไว้เกิดตายชนิดยกกระชัง

กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งก็คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมลำน้ำพองกับโรงงาน

ความขัดแย้งรุนแรงจนหน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามาดูแล และมีคดีฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลหลายคดี ผลของคดีส่วน ใหญ่ฝ่ายโรงงานเป็นผู้แพ้

กรณีการเน่าเสียของน้ำพอง จนทำให้ปลาในกระชังตายตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั้งท้องถิ่นและส่วน กลางต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี ระหว่างปี 2533-2536 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของฟินิคซฯ สูญเสียไปไม่ใช่น้อย ทั้งในสายตาชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกระดับ ตลอดจนผู้คนที่ติดตามข่าวความขัดแย้งนี้มาต่อเนื่อง

แต่ว่าก่อนที่จะมีปัญหากับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในช่วงนั้น ภาพลักษณ์ของฟินิคซฯ ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทั้งในสายตาของหน่วยงานรัฐและชุมชนรอบข้าง

บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ตั้งขึ้นในปี 2518 เพื่อทำธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว สำหรับใช้ทำกระดาษ พิมพ์เขียน โดยเข้ามาก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ของนิคมพัฒนาตนเอง เขื่อนอุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และเริ่มเดินเครื่องผลิตในปี 2525

ในช่วงเริ่มต้นโครงการโรงงานแห่งนี้ได้ประกาศตัวว่าเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากปอแก้วแห่งแรกของโลก ถือเป็นโครงการระดับชาติที่มีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย

แต่นับจากเปิดเดินเครื่องในวันแรก โรงงานก็ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี เพราะคาดการณ์ราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกผิดพลาด ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ ที่สำคัญคือมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากต่างชาตินำสินค้าเข้ามาทุ่มขายในประเทศไทยในราคาต่ำ

ฐานะทางการเงินที่ง่อนแง่นตั้งแต่เปิดโรงงานส่งผลถึงการจ่ายเงินเพื่อรับซื้อผลผลิตปอที่ได้ไปตกลงไว้กับชาวบ้านล่าช้า ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีสัญญาไว้กับโรงงานไม่พอใจ เลิกปลูกปอหันไปปลูกอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลแทน

จากโรงงานที่เคยประกาศตัวไว้ว่าจะผลิตเยื่อกระดาษจากปอเป็นแห่งแรกของโลก ต้องเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่แทน

แต่การเปลี่ยนวัตถุดิบกลับยิ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของฟินิคซฯ เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อการรับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้านเป็นแบบไม่เป็นระบบ ไม่ได้เป็นลักษณะสนับสนุนให้มีการปลูกไผ่เพื่อขาย จึงมีการเข้าไปตัดไผ่จากป่ามาส่งโรงงาน จนทำให้เกิดความวิตกกังวลตามมาว่าถ้าเป็นลักษณะนี้แล้ว วันหนึ่งไผ่จะต้องหมดไปจากป่าในภาคอีสาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชาวบ้าน ที่จำเป็นต้องใช้ไผ่มาบริโภคและทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อฐานะทางการเงินของบริษัทเริ่มดีขึ้น จากราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกกระเตื้องขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจ ประเทศไทยเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นในทศวรรษ 2530 ฟินิคซฯ พยายามปรับภาพลักษณ์ของบริษัทใหม่ โดยการเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่กลับต้องตกเป็นจำเลยต่อสังคมอีกครั้ง เมื่อน้ำในลำน้ำพองเน่าจนทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชังของเกษตรกร ตายลอยเป็นแพ

ปี 2535 ฟินิคซฯ ได้ขยายกำลังการผลิต โดยสร้างสายการผลิตที่ 2 เพื่อผลิตเยื่อกระดาษจากต้นยูคาลิปตัส และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อส่งเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างเป็นระบบ

เมื่อสายการผลิตที่ 2 เริ่มเดินเครื่องในปี 2537 ทั้งปัญหาเรื่องวัตถุดิบ และน้ำทิ้งจึงหมดไป เพราะในสายการผลิตใหม่ไม่ได้มีการทิ้งน้ำลงบึงโจดโดยตรงเหมือนสายการผลิตแรก

แต่ภาพลักษณ์ของบริษัทที่เสียไปแล้วกลับกู้คืนมาไม่ได้ ไม่เหมือนกับปัญหาทั้งหลายที่ได้รับการแก้ไขจนแทบลุล่วงไปหมดแล้ว

(รายละเอียดปมปัญหา ตลอดจนความเป็นมาของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ สามารถอ่านได้จากนิตยสาร “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2529 และฉบับเดือนพฤศจิกายน 2531 และใน www.gotomanager.com)

กลางปี 2544 เครือซิเมนต์ไทยได้เข้าไปซื้อหุ้นฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ต่อจาก Ballapur Group ผู้ถือหุ้นใหญ่ สัญชาติอินเดีย ที่เปลี่ยนนโยบายลงทุนในประเทศไทย และได้ประกาศขายหุ้นออกมา

จากนั้นเครือซิเมนต์ไทยได้ซื้อหุ้นที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายอื่น จนได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปลายปีเดียวกัน และ ได้นำฟินิคซฯ ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีถัดมา

ก่อนหน้าการซื้อหุ้นครั้งนี้ประมาณปี 2528 ปูนซิเมนต์ไทยเคยได้รับการชักชวนอย่างไม่เป็นทางการให้เข้าไปซื้อกิจการของฟินิคซฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงที่บริษัทเปิดดำเนินการใหม่ๆ และกำลังมีปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง จนเจ้าหนี้เริ่มกังวลว่าโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นหนี้สูญ

แต่ครั้งนั้นปูนซิเมนต์ไทยปฏิเสธ

การกลับมาซื้อกิจการฟินิคซฯ ครั้งใหม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเครือซิเมนต์ไทย ที่เกิดขึ้นจากการปรับโครง สร้างธุรกิจครั้งใหญ่ หลังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

โดยยุทธศาสตร์นี้กำหนดให้เครือซิเมนต์ไทยต้องเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจที่ถูกจัดให้เป็นธุรกิจหลัก

ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทย

(อ่านเรื่อง “เยื่อกระดาษสยาม เรายังใหญ่ไม่พอ” นิตยสาร “ผู้จัดการ” ฉบับเดือนมิถุนายน 2545 และใน www.gotomanager.com ประกอบ)

แต่กว่าจะตัดสินใจว่าจะซื้อกิจการฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ได้ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งฝ่ายจัดการ และคณะกรรมการเครือซิเมนต์ไทยต้องใช้เวลาคิดหนักอยู่เช่นกัน

“ในตัวธุรกิจถือว่าไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่คณะกรรมการกังวลที่สุดในการซื้อกิจการนี้ คือเรื่องของภาพลักษณ์ และเรื่องสิ่งแวดล้อม” กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย บอกกับ “ผู้จัดการ”

“จากข่าวสมัยก่อนก็ค่อนข้างชัดเจน เพราะตอนนั้นน้ำพองก็มีโรงงานฟินิคซฯ แห่งเดียว เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาอะไรก็เป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากโรงงานนี้ จริงๆ ปัญหาที่เรารับทราบจากข่าวก็อาจจะเป็นเครื่องจักรมีปัญหา หรือไม่ได้เดิน หรืออะไรก็แล้วแต่” เชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเยื่อกระดาษสยาม บริษัทหลักของกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์เครือซิเมนต์ไทย เสริม

“ตอนที่เสนอซื้อกิจการนี้ก็มีกรรมการหลายท่านซักถามมากว่า ที่นี่เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมไปแล้วจะเสียชื่อเราหรือเปล่า ไปแล้วจะทำให้คนคิดว่าเครือซิเมนต์ไทยไม่รับผิดชอบหรือเปล่า”

ดังนั้นการที่เครือซิเมนต์ไทยกล้าตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของฟินิคซฯ จึงต้องมั่นใจแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของ โรงงานนี้อยู่ในวิสัยที่เครือซิเมนต์ไทยรับมือได้

“ฟินิคซฯ กับเราคุยกันมาเป็น 10 ปี ในเรื่องของธุรกิจ เราก็ซื้อเยื่อจากเขาอยู่แล้ว และบางครั้งก็มีการคุยกันถึงขั้นที่ว่าจะมีการขายหุ้นให้กับเราเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราก็รู้จักกับทางฟินิคซฯ พอสมควร ในรอบสุดท้ายนี้เราก็ส่งทีมเข้าไปดูสภาพของเครื่องจักร โรงงานต่างๆ ก็เห็นว่าที่จริงตัวโรงงานได้มีการปรับปรุงมาพอสมควร และเขาได้ลงทุนในระบบบำบัดน้ำเสียระดับใหญ่มาก ฟินิคซฯ มีโปรดักชั่นไลน์อยู่ 2 ไลน์ มีบำบัดน้ำเสียอันเก่าอันหนึ่ง ในการสร้างไลน์ใหม่เขาลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียอันใหม่ที่ขนาดใหญ่เหลือเฟือที่จะสามารถรับทั้ง 2 ไลน์ได้หมด หยุดอันเก่าไปเลย ไปใช้อันใหม่อันเดียวก็เหลืออยู่แล้ว เราดูก็เห็นว่ามีการปรับปรุงมาระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นในแง่พื้นฐานก็สามารถที่จะปรับปรุงได้และอยู่ในวิสัยที่เราจะเข้าไปทำได้ดี อันนั้นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่เราเข้าไป” เชาวลิตให้ข้อสรุป

เครือซิเมนต์ไทยเริ่มส่งคนเข้าไปในฟินิคซฯ อย่างเป็นทางการ ในเดือนมีนาคม 2545 เพื่อดูเรื่องการปรับปรุงเครื่องจักร และกระบวนการผลิต แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับโรงงานนี้มากนัก เพราะอำนาจการบริหารส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของผู้บริหารชุดเดิมที่เป็นชาวอินเดีย

จนปลายปี 2547 เครือซิเมนต์ไทยสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดมาไว้ในมือได้แล้ว ต้นปี 2548 ผู้บริหารเดิมจึงถอนตัวไป เครือซิเมนต์ไทยจึงส่งสมชาติ บารมีชัยเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นคนแรก

สิ่งที่ได้พบจากการได้เข้าควบคุมโรงงานอย่างเบ็ดเสร็จแล้วก็คือ การแก้ปัญหาของฟินิคซฯ ที่ผ่านมาเป็นการแก้กันภายใน แต่ไม่เคยสื่อผลการแก้ปัญหาเหล่านั้นออกไปสู่สังคมภายนอก จึงทำให้ชุมชนรอบข้าง ชาวบ้าน รวมทั้งหน่วยงานราชการแทบทุกแห่งยังไม่มีความเชื่อถือในกระบวนการผลิตของโรงงาน

ตรงกันข้าม ทุกคนยังมีความหวาดระแวง ทุกครั้งที่มีปลาในลำน้ำพองตาย โรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จะต้องถูกมองให้เป็นจำเลยก่อนอันดับแรก ทั้งๆ ที่การที่ปลาตายนั้นมาได้จากหลายสาเหตุ (อ่านล้อมกรอบ “หลากสาเหตุที่ปลาในกระชังตาย” ประกอบ)

การที่สังคมยังคงมองฟินิคซฯ เช่นนี้ เป็นได้จากหลายกรณี

กรณีแรก เป็นเพราะภาพลักษณ์ของโรงงานนี้เสียหายไปแล้วอย่างรุนแรงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับแต่เปิดโรงงาน อีกกรณีหนึ่งเป็นเพราะผู้บริหารชุดเดิมเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งโดยพื้นฐานก็มีปัญหาเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสารและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ 3 เป็นเพราะโรงงานไม่พยายามสื่อความออกไปเท่าที่ควร จนทำให้สังคมรอบด้านมองว่าเป็นโรงงานที่ปิดตัวเองต่อภายนอก

ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่เมื่อถูกมองว่าปิดย่อมต้องถูกสงสัยและระแวงเอาไว้ก่อน

การที่ฟินิคซฯ ได้เข้ามาอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย อาจมีส่วนช่วยลดความหวาดระแวงดังกล่าวลงไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ ทั้งหมด

“เราเข้าไปใหม่ๆ เราก็ไปหาข้อมูลว่าชุมชนเขามองเราอย่างไร ชุมชนไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่อยู่รอบๆ แต่รวมถึง หน่วยราชการต่างๆ เราเข้าไปอธิบายว่าตอนนี้เราเข้ามาบริหารแล้วนะ จะพยายามทำการปรับปรุงต่างๆ ทางหน่วยราชการต้องการให้เราทำอะไรบ้าง ผมจำได้ว่าคุณสมชาติมาเล่าให้ฟังว่าไปพบครั้งแรกก็โดนเป็นชุด เพราะเขาบอกว่า ฟินิคซฯ มาพูดหลายทีแล้ว ไม่เชื่อหรอก พูดว่าจะทำแล้วก็ไม่ทำทั้งราชการ ทั้งชาวบ้านเขาพูดอย่างนี้ เราก็อธิบายว่า เรามารับทราบว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ราชการมองอยู่” เชาวลิตเล่าต่อ

ธีระศักดิ์ จามิกรณ์เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ฟินิคซฯ ต่อจากสมชาติ โดยเริ่มงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

ธีระศักดิ์เชื่อว่า การลดความหวาดระแวงของชุมชนที่มีต่อโรงงาน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง โดยให้ทุกๆ ฝ่าย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสเข้ามารับรู้ข้อเท็จจริงถึงภายในโรงงาน

“คนคิดว่า ฟินิคซฯ ปิด คนข้างนอกเข้าไม่ได้ เราก็มาคิดว่าเมื่อเราทำดีแล้ว หลังๆ เราก็เปิดมากขึ้น เราก็เชิญพวกกระชังปลาให้มาชมโรงงาน พวกข้าราชการทั้งระดับสูง ประชาชนทั่วไป ใครที่สนใจ ส.ส.ก็ยังเคยมาถามผมเลยว่า ขอเข้าไปดูหน่อยได้ไหม เพราะฟินิคซฯ ปิดจัง ผมบอกว่าไม่ปิด เราเชื่อว่าเราบริหารงานแบบโปร่งใส เราเอาหลักการของเครือเข้าไป ความรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เราก็เชิญเขาเข้าไป อธิบายและเอาเขาไปดูในจุดต่างๆ ให้เห็นว่ากระบวนการเราเป็นอย่างไร ระบบทรีตเมนต์ของเราเป็นอย่างไร พาไปดูระบบบำบัดน้ำเสียก่อนที่น้ำจะลงไปแหล่งน้ำ พาไปดูปลาที่เราเลี้ยงไว้ในน้ำที่เราทรีตแล้ว ปลามันก็อยู่ได้ ชาวบ้านก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น มีบางคนเข้ามาถึงก็ด่าก่อนเลย ผมต้องบอกว่า อย่าเพิ่งด่า ดูก่อน แล้วค่อยด่า คือภาพหรือความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น” ธีระศักดิ์ บรรยาย

นอกจากการเปิดโรงงานให้สาธารณชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้อย่างหมดเปลือกแล้ว จุดที่ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานฟินิคซฯ คือบึงโจด ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการบูรณะปรับปรุงขนานใหญ่

บึงโจด ถูกตั้งชื่อตามชื่อต้นโจด ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นตระกูลกก ที่มีขึ้นอยู่มากในบริเวณนี้ในสมัยก่อน

แต่ในช่วงที่โรงงานฟินิคซฯ มีปัญหา ชื่อบึงโจดถูกบางคนเรียกให้เพี้ยนไปเป็นบึงโจทย์ โดยมีโรงงานฟินิคซฯ เป็นจำเลย

การบูรณะบึงโจดดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่กลับกินความหมายที่ลึกซึ้ง

เหตุเพราะบึงโจดเป็นหนองน้ำสาธารณะแห่งเดียวที่อยู่คั่นระหว่างโรงงานกับลำน้ำพอง ดังนั้นถ้าหนองน้ำสาธารณะแห่งนี้กลายเป็นบึงสวย น้ำใส สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถอาศัยอยู่ได้แล้ว ก็จะเป็นข้อพิสูจน์อย่างเป็นทางการได้ว่า การที่น้ำในลำน้ำพองมีปัญหา หรือเกิดมีปลาตายขึ้นมาในภายหลัง มิได้มีสาเหตุมาจากโรงงานของฟินิคซฯ

โครงการรักษ์บึงโจดจึงเริ่มต้นขึ้นหลังเครือซิเมนต์ไทยเข้ามาบริหารฟินิคซฯ อย่างเต็มตัวในปี 2548 โดยการลอกผักตบชวาที่ลอยอยู่เต็มบึงโจดขึ้นมาเกือบหมด เหลือไว้เพียงบางส่วนที่ควบคุมได้ เพื่อให้ผักตบได้เป็นตัวปรับสมดุลทางธรรมชาติของน้ำในบึง

ทัศนียภาพรอบบึงถูกปรับปรุงใหม่ มีการจัดสวนอย่างสวยงาม ถนนทางเข้าถูกลาดยาง โดยมีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อใช้เป็นทางสัญจรข้ามห้วยโจดขึ้นมาใหม่

มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงน้ำ และฟินิคซฯ ยังทำกระชังทดลองเพื่อเลี้ยงปลาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อสาธิตให้ชาวบ้านได้เห็นว่า บึงโจดได้กลายเป็นบึงสะอาดที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้ แม้แต่ปลาในกระชัง

จากบึงโจดที่เคยมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ มีแต่ผักตบชวาขึ้นเต็มแน่นหนองน้ำ กลายเป็นบึงสวย น้ำใส เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่คนในชุมชนรอบข้างสามารถมาเที่ยวชม พักผ่อนหย่อนใจ และได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่

งบประมาณในโครงการรักษ์บึงโจดมูลค่าหลายล้านบาท ฟินิคซฯ โดยเครือซิเมนต์ไทย เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

นอกจากนี้ฟินิคซฯ ยังได้ทำบันทึกความตกลง 3 ฝ่าย กับกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่กับกรมชลประทาน ผู้ดูแลแหล่งน้ำว่า ฟินิคซฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล ปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่บึงโจดอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาระหว่างฟินิคซฯ และผู้นำชุมชนรอบข้าง เพื่อวางแผนพัฒนา และหา ประโยชน์จากบึงโจด

วันที่ 2 ธันวาคม 2548 เครือซิเมนต์ไทยได้มีพิธีเปิดโครงการรักษ์บึงโจดอย่างเป็นทางการ โดยส่งมอบสวนสาธารณะบึงโจดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เรียบร้อยแล้วให้กับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้รับมอบ

นอกจากนี้เครือซิเมนต์ไทยยังได้ลงทุนต่อเรือขึ้นมาอีก 1 ลำ ตั้งชื่อเรือว่า “รักษ์น้ำพอง” เพื่อทำหน้าที่กำจัดผักตบชวา และวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตขึ้นมาภายหลังจากที่ น้ำในบึงเริ่มสะอาดขึ้นมาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้พืชน้ำเหล่านี้ กลับมาสร้างปัญหาให้กับบึงโจดอีกครั้ง

พิธีมอบเรือรักษ์น้ำพองให้กับจังหวัด ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 โดยฟินิคซฯ รับเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษาเรือดังกล่าวตลอดอายุการใช้งานอีกเช่นกัน (อ่านล้อมกรอบ “ที่มาของเรือรักษ์น้ำพอง” ประกอบ)

ทุกวันนี้ ชาวบ้านใน 11 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายรอบโรงงานฟินิคซฯ เริ่มมีความรู้สึกที่ดีขึ้นเมื่อพูดถึงโรงงานฟินิคซฯ

“ผมว่าคนจะเริ่มเชื่อเราจริงๆ ก็ตอนที่เห็นบึงโจดนี่แหละ พอเห็นเราทำจริงและเปิดตัวพาเขาเข้ามาชม มันเป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากบึงโจด พอเราเปิดตรงนั้นแล้ว เราก็เปิดตัวเองมากขึ้น เชิญใครมาหรือใครติดต่อมาเราก็รับ ทำให้คนเห็นจริงๆ ว่า เราทำอะไรไปบ้าง” เชาวลิตบอกถึงความเชื่อมั่น

เพราะนอกจากชาวบ้านจะได้บึงน้ำเป็นแหล่งทำมาหากินแหล่งใหม่ มีสวนสาธารณะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่แล้ว ผักตบส่วนหนึ่งที่ลอกขึ้นมายังนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ของแม่บ้านในชุมชนเหล่านี้ ที่ฟินิคซฯ เป็นผู้สนับสนุนให้มีขึ้น โดยพากลุ่มแม่บ้านไปดูงานการทำเครื่องจักสานจากผักตบชวาในจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และชัยนาท รวมถึงจัดวิทยากรมาอบรม สอนวิธีการทำ ที่สำคัญยังช่วยหาตลาดให้กับสินค้าจักสานเหล่านี้

ส่วนผักตบชวาที่เหลือจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ที่คณะกรรมการบึงโจดได้ตั้งโรงงานเล็กๆ ขึ้นมาผลิตเพื่อจำหน่ายหารายได้เป็นทุนให้กับชุมชนอีกส่วนหนึ่ง

ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นมาได้มีผู้ซื้อรายใหญ่รออยู่แล้ว คือฟินิคซฯ ที่จะมอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกต้นยูคาลิปตัสส่งเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานอีกต่อหนึ่ง

แต่ความเชื่อมั่นของชาวบ้านและหน่วยราชการที่เริ่มเพิ่มขึ้นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าภาพลักษณ์ของฟินิคซฯ นั้นดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะจากสายตาของผู้ที่ติดตามกรณีของฟินิคซฯ มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่

ช่วงเริ่มต้นโครงการรักษ์บึงโจดในปี 2548 นอกจากการขุดลอกผักตบชวาและปรับปรุงทัศนียภาพรอบบึงแล้ว ฟินิคซฯ ยังได้ทำหนังสือผ่านสภาหอการค้าไทยถึงมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อขอสนับสนุนกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งในบึงโจดประมาณ 5 เครื่อง

มูลนิธิชัยพัฒนาแทงหนังสือมาถึงคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มาดูว่าปัญหาภาพลักษณ์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมของฟินิคซฯ ขณะนั้นเป็นเช่นไร ก่อนทำความเห็นเสนอกลับไปยังมูลนิธิฯ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่อีกครั้ง

“มูลนิธิฯ แทงหนังสือมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเลย บอกว่าให้ช่วยไปดูว่าฟินิคซฯ ตอนนี้ภาพลักษณ์ อะไรต่างๆ น้ำนั้นดีแล้วหรือไม่ ถึงจะให้กังหัน” ธีระศักดิ์บอก

ในพิธีเปิดโครงการรักษ์บึงโจดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แจ้งกับธีระศักดิ์อย่างไม่เป็นทางการว่าให้รออีกประมาณ 2 ปีให้ภาพลักษณ์ของโรงงานดีขึ้นอีกหน่อย ค่อยได้รับกังหัน

แต่จากกิจกรรมที่ฟินิคซฯ พยายามทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนต่อเรือรักษ์น้ำพอง ทำให้ล่าสุด กลางปี 2549 มูลนิธิชัยพัฒนาได้ตอบรับกลับมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะสนับสนุน โดยมอบกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งไว้ในบึงโจด คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้แล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2550

หากนับจากจุดเริ่มต้นในปลายปี 2544 ที่เครือซิเมนต์ไทยได้เข้าไปซื้อกิจการของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ และเริ่มส่งคนเข้าไปในเดือนมีนาคม 2545 และเข้าไปรับช่วงการบริหารงานอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2548

การได้รับกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งไว้ในบึงโจด ถือเป็นบทพิสูจน์ที่แน่ชัดข้อหนึ่งว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือขึ้นมาแล้ว

ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงการยอมรับในวงกว้างจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาและเอกชน ในอนาคต

กรณีของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ นั้นถือเป็นกรณีที่เครือซิเมนต์ไทยต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเต็ม ทำกิจกรรมหลาย อย่างที่ไม่ใช่งานด้านวิศวกรรมที่เครือฯ ถนัดโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากสังคม ลดความระแวงสงสัยของชุมชน ที่มีต่อกิจการหนึ่งที่เครือฯ เพิ่งไปซื้อเข้ามา

สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะได้ชื่อว่าเข้ามาอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย แต่ก็ใช่ว่าจะทำอะไรสำเร็จโดยง่ายไปเสียทั้งหมด

กรณีของฟินิคซ พัลพฯ กับเครือซิเมนต์ไทย จึงเป็นกรณีที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us