|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
 |

จากธุรกิจเล็กๆ ที่เริ่มต้นเมื่อ 40 ปีที่แล้วด้วยพนักงานเพียง 5 คน PCS ในวันนี้กลายเป็นผู้ให้บริการทำความสะอาดและรักษาความปลอดภัยรายใหญ่ของไทย นอกจากบริการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้วยังขยายออกสู่ต่างประเทศอีกด้วย
สำนักงานใหญ่ของพรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย)หรือที่คุ้นหูกันในชื่อพีซีเอส ที่บริเวณถนนสุขุมวิท 101 มีขนาดไม่ใหญ่โตนักเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานที่มีอยู่เกือบ 24,000 คน แต่ก็ไม่ถือว่าคับแคบ เพราะพนักงานส่วนมากเคยเข้ามาที่สำนักงานเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ที่ทำงานจริงๆ ของพนักงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่กระจายกันอยู่ตามอาคารและสำนักงานของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นอาคารสหประชาชาติที่ถนนราชดำเนิน ห้างแม็คโคร 29 สาขา ครัวการบินไทย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ สนามบินสุวรรณภูมิไปจนถึงคีรีมายาที่เขาใหญ่
เพราะธุรกิจหลักของพีซีเอสคือบริการทำความสะอาดและรักษาความปลอดภัยให้กับลูกค้าที่มีอยู่ร่วม 6,000 รายทั่วประเทศ
พีซีเอสประกาศตัวว่าเป็นผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร นอกจาก 2 บริการดังกล่าวแล้วยังมีบริการอื่นๆ ประกอบด้วยดูแลสวน กำจัดแมลง สุขอนามัยภัณฑ์ ตรวจนับสินค้าและบริการบำรุงรักษาอาคาร ต้นปีนี้ยังเตรียมเปิดบริการใหม่เพิ่มอีก 2 ประเภทได้แก่ บริการทำความสะอาดเครื่องบินและการจัดการโรงอาหารในโรงเรียนหรืออาคารสำนักงาน (catering)
บริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยให้ภาพของพีซีเอสในความรับรู้ของคนทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง จากเดิมที่มักเข้าใจกันว่าบริษัทแห่งนี้ทำแต่ธุรกิจแม่บ้านและ รปภ.ขณะเดียวกันพีซีเอสก็พยายามที่จะลบล้างความเข้าใจดังกล่าว โดยอาศัยจังหวะที่จะครบรอบ 40 ปีในปีนี้ทำการรีแบรนด์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของบริษัท ตั้งแต่โลโก ชุดฟอร์มของพนักงาน ยานพาหนะ และเอกสารต่างๆ
“เราอยากจะเปลี่ยนภาพของเราในตลาด จากเดิมที่มองว่าเราเป็นบริษัทแม่บ้านอย่างเดียว เราอยากให้ลูกค้ามองว่าเราให้บริการครบวงจรเป็น one stop service แล้วแบรนด์ของเรามันนิ่งอยู่ การรีแบรนด์ก็จะช่วยให้บริษัทกระตือรือร้นขึ้นด้วย” เลียม อยุทธ์กิจ ประธานพีซีเอสกล่าว (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ “can do” culture ประกอบ)
จุดเริ่มต้นของพีซีเอสเริ่มขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้วในชื่อเดิมว่าบริษัท แองโกลไทยคอมเมอร์เชียล เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มแองโกลไทย ทำธุรกิจรับกำจัดแมลงเป็นบริการแรกจากการซื้อแฟรนไชส์ของ Rentokil บริษัทขายสารเคมีกำจัดแมลงจากต่างประเทศ เริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 5 คน สำนักงานแห่งแรกเป็นตึกไม้สักบริเวณท่าน้ำสี่พระยา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมรอยัลออคิด
หลังจากทำธุรกิจได้ไม่กี่ปีก็เลิกราจาก Rentokil มาทำเองประกอบกับในช่วงนั้นมองเห็นโอกาสในธุรกิจทำความสะอาดจึงเริ่มให้บริการในด้านนี้ควบคู่ไปด้วยจึงมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นพีซีเอสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ช่วงปี 2521 เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับบริษัทแม่ เมื่ออินช์เคปเข้ามาซื้อกิจการแองโกลไทย ทำให้พีซีเอสกลายเป็นบริษัทในเครือของอินช์เคปไปด้วย
บริการทำความสะอาดของพีซีเอสเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม จังหวะนั้นประเทศไทยเริ่มมีการขยายตัวมีการก่อสร้างอาคารมากขึ้น พร้อมๆ กับการนำวัสดุใหม่ๆ มาใช้ในการตกแต่ง อาทิ หินอ่อน หินแกรนิต ซึ่งวัสดุเหล่านี้ต้องการการดูแลพิเศษ จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัททำความสะอาดเช่นพีซีเอส ทำให้ธุรกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นจาก 5 คนจนมีถึง 1,700 คน
จำนวนพนักงานที่เพิ่มมากขึ้นทำให้พีซีเอสเริ่มมาถึงทางตัน เมื่ออินช์เคปบริษัทแม่ซึ่งทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้ามองว่า ธุรกิจของพีซีเอสไม่ใช่ธุรกิจหลัก จึงไม่ต้องการจะขยายงานมากไปกว่านี้
“สมัยนั้นเรื่องสหภาพแรงงานกำลังมาแรง ธุรกิจของเราก็เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก บริษัทแม่เขาก็เลยกังวลเรื่องนี้” เลียมให้เหตุผล
นโยบายของอินช์เคปสวนทางกับความคิดของเลียมซึ่งในเวลานั้นเป็นกรรมการผู้จัดการ มองว่าโอกาสของพีซีเอสยังมีอีกมาก เพราะนอกจากตลาดในกรุงเทพฯ แล้วยังมีความต้องการในต่างจังหวัดอีกด้วย
หลังจากเจรจากันพักใหญ่อินช์เคปตัดสินใจขายกิจการพีซีเอสให้กับไอเอสเอส บริษัททำความสะอาดจากเดนมาร์ก ซึ่งในเวลานั้นกำลังมองหาโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจในไทยพอดี อย่างไรก็ตาม ดีลนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายอินช์เคปเสนอขายพีซีเอสให้กับเลียมแทน
“ตอนแรกผมไม่คิดจะซื้อ ไม่มีเงิน ตอนหลังก็เอา กัดฟันซื้อ เอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมด เงินสะสม เงินโพรวิเดนท์ฟันด์ที่มีอยู่ผมโอนให้หมดเลย แล้วก็เรียกเพื่อนมาช่วยกันซื้อ ผมก็เป็นหุ้นใหญ่แล้วเชิญคุณชายคึกฤทธิ์มาเป็นประธาน” เลียมเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในปี 2531
ประสบการณ์ร่วม 20 ปีในธุรกิจนี้ทำให้เลียมเห็นว่าตลาดยังมีโอกาสอยู่อีกมาก พีซีเอสต้องขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรต่างชาติเพื่อเป็นเครดิตในการหาลูกค้าใหม่ๆ รวมทั้งโนว์ฮาวในการเปิดบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เขาจึงเจรจาดึงบริษัทโอซีเอสที่ทำธุรกิจเดียวกันจากประเทศอังกฤษเข้ามาร่วมถือหุ้นตั้งแต่ปี 2532
“โอซีเอสก็เป็นเพื่อนกันแล้วปรัชญาของบริษัทเขาในขณะนั้นก็ตรงกับของเรา ผมเลยเป็นคนไปชวนเขาเข้ามาเอง”
ปัจจุบันพีซีเอสมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ถือหุ้นใหญ่ โดยบริษัทโฮลดิ้งที่เลียมถือหุ้นข้างมากคือ ศุภนรินทร์ จำนวน 82.74% รองลงมาเป็นโอซีเอส 12.01% และเลียม 4.73%
หลังจากเปลี่ยนสถานภาพจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของ เลียมตัดสินใจรุกออกตลาดต่างจังหวัดตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นบริษัทในเครือของอินช์เคป โดยเริ่มแห่งแรกที่เชียงใหม่ เนื่องจากที่นั่นเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือประกอบกับความคุ้นเคยพื้นที่จากการที่เขามีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่มาก่อนแล้วหลายปี
ธุรกิจที่เชียงใหม่ในช่วงแรกไม่ดีนักเนื่องจากพีซีเอสจ่ายค่าแรงให้พนักงานสูงกว่าคู่แข่ง จนต้องคิดค่าบริการสูงกว่าตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพีซีเอสที่เชียงใหม่ประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์ของพีซีเอสที่ภาคเหนือและกลายเป็นสาขาที่สำคัญแห่งหนึ่งมีจำนวนพนักงานถึง 1,500 คน
หลังจากเชียงใหม่แล้วพีซีเอสขยายออกภูมิภาคอื่นตามมาด้วยนครราชสีมา ขอนแก่น แล้วลงใต้ไปที่หาดใหญ่ และภาคตะวันออกที่ศรีราชา ตามลำดับ การมีสาขาที่พร้อมให้บริการทั่วประเทศกลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของพีซีเอส เพราะสะดวกต่อลูกค้าที่มีสาขาทั่วประเทศ เช่น ห้างแม็คโครที่ใช้บริการพีซีเอสทั้งการทำความสะอาดและ รปภ. หรือโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ทั้งที่กรุงเทพฯ พัทยา ระยอง และสมุย
“ปีที่แล้วเนสท์เล่จ้างเราไปนับไอศกรีมในตู้ของเขาทั้งหมดทั่วประเทศ มีประมาณ 15,000 ตู้ บางตู้อยู่ในห้างใหญ่ บางตู้อยู่ในร้านเล็กๆ ต่างจังหวัด เราก็มีเจ้าหน้าที่ของเราไปนับทั่วทั้ง 76 จังหวัด” อาร์โนด์ เบียเลคกิ กรรมการพีซีเอสเล่าถึงบริการหนึ่งของบริษัท
ถึงแม้สาธารณชนจะนึกถึงธุรกิจแม่บ้านเมื่อพูดถึงพีซีเอส แต่ธุรกิจที่ทำรายได้มากที่สุดของพีซีเอสในปัจจุบันกลับเป็นบริการรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีหลัง จนสามารถทำรายได้แซงบริการทำความสะอาดได้ในปีที่แล้ว รวมถึงในปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าบริการรักษาความปลอดภัยจะทำรายได้ในสัดส่วน 47% ส่วนบริการทำความสะอาดจะมีสัดส่วน 46%
สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการก่อวินาศกรรมในต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้ ทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัวและให้ความสำคัญกับบริการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากธุรกิจในประเทศไทย พีซีเอสได้ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยเข้าไปที่มาเลเซียตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีพนักงาน 500 คน ให้บริการทำความสะอาด กำจัดแมลง ดูแลสวนและสุขอนามัยภัณฑ์ รวมทั้งยังมีที่บังกลาเทศที่ทำมาแล้ว 4 ปีกว่า มีพนักงาน 600 คน ลูกค้าสำคัญที่นี่เป็นโรงพยาบาลนานาชาติ และขณะนี้กำลังหาโอกาสในการเข้าสู่ประเทศเวียดนามและจีน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการตั้งบริษัทขึ้นใหม่หรือการเข้าร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นแล้วแต่ว่าทางเลือกใดจะเหมาะสมที่สุด โดยตลาดที่เวียดนามจะเป็นกรุงฮานอยและโฮจิมินห์ ส่วนที่จีนมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่เซี่ยงไฮ้
|
|
 |
|
|