|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
|
นอกจากหนังสือความรู้ประเภทต่างๆ แล้ว หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่เลียมชอบอ่านคือเรื่องของประวัติศาสตร์ และศิลปะ
ภาพอีกด้านหนึ่งของเขายังเป็นนักสะสมของเก่า นาฬิกา และงานศิลป์ประเภทภาพวาดตัวยง
“เรื่องศิลปะนี่ชอบมาตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นแล้ว ชอบมาตลอด แต่มาเล่นเป็นเรื่องเป็นราวตอนมีเงินสะสม เราไม่มีเงิน เราก็สะสมไม่ได้ แล้วผมเป็นคนที่วาดรูปไม่เป็น ก็ต้องซื้อของคนอื่น ช่วงแรกเริ่มที่มาเมืองไทยตอนอายุ 18 ก็ไปดูนิทรรศการที่ซอยอโศก ตอนนั้นยังเป็นซอยอยู่”
เขาเริ่มซื้อภาพเขียนชิ้นแรกตอนอายุ 28
“ชิ้นแรกที่ซื้อมา คิดว่าเป็นของประพันธ์ ศรีสุภา เป็นงานภาพพิมพ์ รูปยังอยู่ ประพันธ์ ศรีสุภาเขาจะทำเรื่องชาวบ้านเป็นขาว-ดำ เป็น woodcut คือมันดีตรงที่เขาบันทึกหมดเลย วิธีกินอยู่ของชาวบ้าน เด็กเล่น ของเด็กเล่น ละเอียดมาก คือบ้านนอกเขาจะแกะไม้ มีเด็กขี่ม้า มันก็จะอยู่ในนั้นหมดเลย เหมือนกับบันทึกการกิน การอยู่ ของคนชนบท การแต่งกาย บ้านช่อง อะไรมันก็อยู่ในนั้น ก็ซื้อมา มีหลายรูปของประพันธ์”
เมื่อเขาเริ่มมีฐานะดีขึ้น เขาก็ซื้อภาพ และงานศิลป์ของศิลปินดังๆ เก็บสะสมไว้ตลอด ทั้งงานเขียนของศิลปินรุ่นเก๋าอย่างถวัลย์ ดัชนี จนศิลปินหัวรุนแรงอย่างวสันต์ สิทธิเขตต์
และยังสนับสนุนงานของศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียง ซึ่งหากเขาได้เห็นภาพแล้วชอบ เขาก็ซื้อ
“ใครจะไปรู้ เมื่อก่อนนี้ผมเคยไปเปิดงานของเด็กช่างศิลป์คนหนึ่ง เขาไม่มีใครซื้อ ผมก็ซื้อเอง ซื้อรูปเองรูปละ 2,000-3,000 บาท ตอนหลังก็มารื้อๆๆ ดู นี่รูปของทินกร สระประยูร นี่งานที่เราไปเปิดเองนี่ ตอนนี้ทินกรขายรูปละเท่าไรล่ะ เราซื้อ 2,000-3,000 เป็นกำลังใจให้เด็ก ตอนนี้ทินกรเขาดังมาก ทุกงานที่เขามีเขาจะส่งสูจิบัตรมา แล้วก็เขียนด้วยลายมือของตัวเองมาให้ผม เขาไม่เคยลืม”
หากนับเป็นจำนวนชิ้น งานศิลปะที่เลียมสะสมปัจจุบันมีประมาณ 400-500 ชิ้น
เขาเก็บงานเหล่านี้จำนวนหนึ่งไว้ที่ทาวน์เฮาส์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เขาซื้อมา เพื่อใช้เป็นที่เก็บงานศิลปะโดยเฉพาะ
ส่วนงานอีกจำนวนหนึ่ง เขานำไปไว้ที่พัทยา ซึ่งเขาเพิ่งเปิดแกลเลอรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่าเลียม แกลเลอรี
นอกจากจะเป็นแกลเลอรี เพื่อแสดงภาพเขียนที่เขามีแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดนิทรรศการศิลป์ของศิลปินต่างๆ
ตั้งแต่เปิดแกลเลอรีเมื่อเดือนมีนาคม 2549 เป็นต้นมา แกลเลอรีของเลียมใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการมาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยพื้นที่ผนังของทาวน์เฮาส์ ซึ่งถูกแต่งให้เป็นแกลเลอรี สามารถแขวนงานเขียนได้ประมาณ 200 ภาพ ไม่รวมพื้นที่ว่างที่สามารถใช้แสดงงานศิลป์ประเภทอื่นๆ
นอกจากนี้เขายังกันพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นห้องสมุด โดยเขาได้นำหนังสือกว่า 1,000 เล่ม ที่เขาเก็บไว้มาจัดเรียงไว้ที่นี่ เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาอ่านฟรี
เขาให้เหตุผลที่ทำห้องสมุดแห่งนี้ว่า หนังสือที่อ่านแล้ว เก็บเอาไว้คนเดียวก็ไม่มีประโยชน์ คนอื่นน่าจะมีโอกาสได้เข้ามาอ่านหนังสือเหล่านั้นบ้าง
“ผมก็คิดว่าของพวกนี้ ถ้าผมตายไปจะทำยังไง จะเผาเหรอ ผมอยากให้คนมาอ่าน คือ ผมชอบหนังสือ แต่จะเอาหนังสือมาหมกไว้แล้วไม่ให้ใครรู้เลย จะเอามาทำไม”
ห้องสมุดในเลียมแกลเลอรี มีหนังสือทุกประเภท โดยบางเล่มมีอายุเก่าแก่นับ 30 ปี และบางเล่มมีราคาสูงถึง 8 หมื่นบาท
นอกจากนี้เขายังสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารชื่อดังจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนิตยสารด้านศิลปะ ให้ส่งมายังห้องสมุดแห่งนี้อีกประมาณ 20 เล่มต่อเดือน
“ผมบอกกับเด็กๆ ว่าเรื่องหนังสือนี่จะดูเมื่อไร ดูทั้งวันก็ได้ จะเปิดแอร์ให้ดู ขออย่างเดียว อย่าเอาคัตเตอร์เข้ามาก็แล้วกัน”
|
|
|
|
|