|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550
|
 |

อุตสาหกรรมเพชรมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์กำลังสั่นสะเทือนด้วยปัญหาภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้สินค้าที่หรูหราฟุ่มเฟือยแต่ไม่มีความสำคัญกับชีวิตชนิดนี้ดำรงอยู่ได้
หลังจากที่มีการทำเหมืองเพชรในแอฟริกามาเป็นเวลา 130 ปี อุตสาหกรรมเพชรซึ่งมีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่งจะเริ่มเผชิญกับปัญหาภาพลักษณ์ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมดังกล่าว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในช่วงทศวรรษ 1990 กลุ่มกบฏใน Sierra Leone และ Liberia 2 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้นำเพชรที่ขุดหามาได้จากแม่น้ำในประเทศของตนไปแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธ เพื่อนำมาสังหารผลาญชีวิตผู้คนไปประมาณ 50,000 คน ในช่วงสงครามกลางเมืองที่กินเวลานาน 10 ปี และมีคนอีกหลายพันคนที่ถูกกลุ่มกบฏตัดมือจนต้องกลายเป็นคนพิการ
เพชรที่ถูกกลุ่มกบฏในแอฟริกานำไปแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธนี้ถูกเรียกว่า “เพชรเปื้อนเลือด” (Blood Diamond)
World Diamond Council องค์การที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ผลิตและผู้ค้าเพชรมากกว่า 50 ราย เพื่อหาทางสกัดกั้นการค้าเพชรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จาก De Beers บริษัทเพชรซึ่งเป็นแหล่งผลิตเพชรประมาณร้อยละ 40 ของเพชรที่ผลิตขึ้นมาทั้งหมดในโลกนี้ โดยที่เพชรเหล่านั้นของ Debeers ล้วนมาจากเหมืองเพชรในแอฟริกา พยายามจะชี้ว่า เพชรเกือบทั้งหมดหรือมากกว่าร้อยละ 99 ในขณะนี้มาจากแหล่งที่ไม่มีความขัดแย้ง เหมือนสมัยที่กลุ่มกบฏกำลังอาละวาดในแอฟริกา และขณะนี้ชาวแอฟริกันนับเป็นล้านๆ คน ที่ได้เรียนหนังสือและได้รับบริการสาธารณสุขจากการที่ประเทศของพวกเขามีรายได้จากการค้าเพชร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสงครามกลางเมืองใน Sierra Leone และ Liberia จะสงบลงตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนแต่สงครามในด้าน “การรับรู้” เกี่ยวกับเพชรยังเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
เพชรต่างกับน้ำมันหรือถ่านหิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคน แต่เพชรเป็นของฟุ่มเฟือย ดังนั้นปัญหาเรื่องภาพลักษณ์จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมนี้ และอาจถึงขั้นสามารถทำลายอุตสาหกรรมเพชรลงได้
“จริงๆ แล้ว เพชรไม่มีค่าอะไรเลย” Mordechai Rapaport เจ้าของ Rapaport Group กล่าว รายการราคาเพชรที่จัดทำโดย Rapaport Group ถือเป็นราคาที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมเพชร
Rapaport ชี้ว่า เพชรมีความหมายเป็นเพียง “ตัวแทนความสำคัญ” เท่านั้น อย่างในกรณีแหวนหมั้น คือตัวแทนความสำคัญของชายหนุ่ม ซึ่งเป็นผู้มอบแหวนให้แก่สาวคนรัก ความสำคัญหาได้อยู่ที่เพชร 1 กะรัตนั้น หากแต่อยู่ที่ตัวชายหนุ่มผู้มอบ
และด้วยตรรกเดียวกันนี้ หากแหวนหมั้นนั้นมีเบื้องหลังการได้มาที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด มีคนที่ต้องสังเวยชีวิตให้แก่เพชรเม็ดนั้นแล้ว เพชรนั้นก็จะไม่มีค่าอะไรเลย
แม้กระทั่งในช่วงที่สงครามกลางเมืองในแอฟริกา กำลังอยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่านองเลือดที่สุด ในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ “เพชรเปื้อนเลือด” ซึ่งหมายถึงเพชรที่ค้าโดยกลุ่มกบฏในประเทศต่างๆ ในแอฟริกา คือ Sierra Leone, Liberia, Angola และ Congo ก็มีสัดส่วนเพียงไม่เกินร้อยละ 15 ของเพชรที่ค้ากันทั่วโลกเท่านั้น
เพชรส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในยุคที่กลุ่มกบฏแอฟริกากำลังเรืองอำนาจ จนมาถึงปัจจุบันนี้ยังคงมาจากแหล่งเพชรที่ถูกกฎหมายของบริษัทค้าเพชรระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงบริษัท Koidu Holdings ของ Sierra Leone เอง ซึ่งเปิดตัวในปี 2003 และมียอดส่งออกเพชรเป็นมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
และแม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติจะเพิ่งตรวจสอบพบว่า กลุ่มกบฏใน Ivory Coast ได้ลักลอบส่งเพชรมูลค่านับล้านๆ ดอลลาร์ เข้าไปขายในตลาดโลก โดยผ่าน Ghana แต่ “เพชรเปื้อนเลือด” ก็ยังคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น เมื่อเทียบกับการค้าเพชรทั่วโลกในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนมากหรือน้อยของการค้า เพชรเปื้อนเลือด หากแต่อยู่ที่ว่า ถ้าหากผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจเสียแล้วว่า เพชรที่พวกเขาซื้อเป็นเพชรเปื้อนเลือดหรือไม่ ก็จะทำให้ผู้ซื้อไม่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เพชรสังเคราะห์กำลังมีความใกล้เคียงของจริงมากขึ้นทุกวันอย่างสมัยนี้
เพชรเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย จึงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นศรัทธาของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว “Rory More O'Ferrell” จาก De Beers ชี้ ดังนั้น สิ่งใดที่กระทบความเชื่อมั่นศรัทธาของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่บริษัทเพชรจะละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาด
บรรดาผู้บริหารของบริษัทเพชรจึงจับมือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ และสหประชาชาติ ในปี 2003 เพื่อหาทางขจัดการค้าเพชรเปื้อนเลือดให้หมดไป ซึ่งผลลัพธ์ของความร่วมมือที่ได้คือ ระบบการออกใบรับรองเพชร ที่เรียกว่า Kimberley Process Certification Scheme ซึ่งเป็นโครงการทดลองของอุตสาหกรรมเพชร ในการตรวจสอบการค้าเพชรที่ผิดกฎหมายด้วยตนเอง
โดยชาติสมาชิกทั้ง 71 ชาติ ได้ตกลงที่จะทำการค้าขายกันเฉพาะในหมู่สมาชิกด้วยกันเท่านั้น และแต่ละชาติก็จะช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกัน แล้วจึงออกใบรับรองที่รับประกันว่า เพชรเม็ดนั้นๆ ไม่ได้มาจากแหล่งที่มีความขัดแย้ง
ระบบตรวจสอบแบบนี้จะพยายามติดตามเพชรทุกเม็ด นับตั้งแต่ที่ออกจากเหมืองเพชรไปจนถึงมือของผู้ซื้อ และผู้ใดที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์นี้ก็จะถูกอับเปหิทันที อย่างเช่นคองโกถูกห้ามทำการค้าเพชรในปี 2004 และเวเนซุเอลาถูกเตือนแล้วว่า จะถูกสั่งระงับการค้าขาย หลังจากที่ประเทศนี้รายงานยอดส่งออกเพชรเป็นศูนย์ในปี 2005
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็ยังคงมีความผิดพลาด ปีที่แล้วสหรัฐฯ กลับมียอดส่งออกเพชรมากกว่ายอดนำเข้าถึงกว่า 300,000 กะรัต ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตเพชรเลยแม้แต่กะรัตเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากชาติสมาชิกทั้ง 71 ประเทศ ได้ประชุมกันอีกครั้งที่ Botswana เพื่อหาทางเพิ่มความเข้มงวดกับการค้าเพชรผิดกฎหมาย และเพื่อบีบประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้สามารถค้าเพชรที่มีที่มาไม่ถูกต้องกับใครๆ ได้อีกต่อไป
กระนั้นก็ตาม ระบบตรวจสอบดังกล่าวก็ยังไม่อาจจะเข้าไปถึงละแวกที่เรียกกันว่า Open Yei ในเมือง Koidu ของ Sierra Leone ซึ่งเป็นแหล่งค้าเพชรผิดกฎหมาย แม้ว่าเพชรที่ค้ากันที่นี่จะไม่ได้เป็นเพชรเปื้อนเลือดอย่างในอดีตของแอฟริกา แต่ก็เป็นการค้าเพชรที่ไม่ได้มาจากเหมืองที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตค้าเพชร แต่เมื่อพ่อค้าเพชรเถื่อนขายเพชรที่พวกเขาเที่ยวไปรับซื้อมาให้แก่ผู้ค้าที่มีใบอนุญาตถูกต้อง เพชรเถื่อนเหล่านั้นก็สามารถเข้าสู่ระบบการค้าเพชรที่ถูกต้อง และผสมปนเปไปกับเพชรที่ถูกกฎหมายได้อย่างแยกไม่ออก
ในขณะที่รัฐบาล Sierra Leone เอง มีผู้ตรวจสอบการค้าเพชรเพียง 200 คนทั่วประเทศ และมีรถจักรยานยนต์เพียง 10 คัน ที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐฯ เท่านั้น สำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่มีทางที่จะจับได้ไล่ทันพ่อค้าเพชรเถื่อนรายย่อยๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเมือง Koidu แหล่งเหมืองเพชรสำคัญของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ค้าเพชรมักจะอวดว่า Sierra Leone เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของระบบออกใบรับรอง Kimberley Process โดยชี้ว่ายอดส่งออกเพชรอย่างเป็นทางการของประเทศนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น จากระดับใกล้ศูนย์ในปี 1999 เป็น 142 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งชี้ว่าการลักลอบค้าเพชรผิดกฎหมายได้ลดลงอย่างมาก
แต่ Jan Ketelaar ผู้จัดการเหมืองของ Koidu Holdings และอดีตที่ปรึกษาด้านการค้าเพชรของประธานาธิบดี Seirra Leone ชี้ว่า ตัวเลขของทางการอาจไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นจริงได้ ขณะที่ทูตจากชาติตะวันตกในเมือง Freetown ชี้ว่า ยอดส่งออกเพชรของ Sierra Leone ในปีนี้ อาจจะลดลงถึงร้อยละ 10 ซึ่งแสดงว่ามีเพชรที่ถูกค้าอย่างผิดกฎหมายในปริมาณที่มากขึ้น ส่วนเหมืองเพชร Alimany Wurie ยอมรับว่าการลักลอบค้าเพชรผิดกฎหมายกำลังขยายตัว โดยอาจจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสามของการค้าเพชรทั้งหมดใน Sierra Leone
ในขณะที่การเอาผิดในทางกฎหมายเกือบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อประเทศนี้มีพรมแดนติดกับ Liberia ซึ่งถูกวงการค้าเพชรของโลกตัดขาด แต่มีช่องทางการลักลอบค้าเพชรอยู่มากมาย มีจุดผ่านแดนเพียง 3 แห่งเท่านั้น ในทั้งหมด 36 แห่งที่เข้าไปสู่ Guinea ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำ
แม้ว่าการค้าเพชรผิดกฎหมายในขณะนี้จะไม่ใช่เพชรเปื้อนเลือดอย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อน และการที่ในขณะนี้แอฟริกาตะวันตกเริ่มมีสันติภาพเกิดขึ้น จึงชวนให้เชื่อว่า เรื่องของเพชรเปื้อนเลือดคงจะกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว
แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยดีกับเหตุการณ์นองเลือดในแอฟริกาชี้ว่า เป็นความผิดพลาดหากจะคิดเช่นนั้น เพราะความขัดแย้งในแอฟริกายังมีทีท่าว่าจะปะทุขึ้นได้อีกในอนาคต และเมื่อถึงเวลานั้น เพชรก็จะยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนที่สุดในการนำไปแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธ
“เพชรเป็นเชื้อเพลิงที่หล่อเลี้ยงสงคราม แต่ไม่ใช่รากเหง้าของปัญหา” ทูตจากชาติตะวันตกคนหนึ่งในประเทศแอฟริกาชี้ และเสริมต่อไปว่า รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในแอฟริกา ยังคงอยู่ที่การคอร์รัปชั่น การว่างงาน และความยากจน จึงไม่ยากที่ในอนาคตจะเกิดการค้าเพชรเปื้อนเลือดในแอฟริกาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทเพชรก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ริเริ่มความพยายามที่จะลงมือชิงแก้ปัญหารากเหง้าของเพชรเปื้อนเลือดเหล่านั้นเสียก่อน อย่างเช่นปัญหาความยากจน ข้อมูลจาก Global Witness ของอังกฤษ ซึ่งสำรวจวิจัยเรื่องเพชรเปื้อนเลือดจนเชี่ยวชาญ ระบุว่า มีชาวแอฟริกัน 1 ล้านคน ที่มีรายได้เพียงไม่กี่เพนนีต่อวัน ในการทำงานในเหมืองเพชรที่แสนจะหนัก และอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่แสนจะเลวร้าย โดยที่ความหวังที่จะได้เจอเพชรนั้น แทบจะไม่มีเอาเลย รายได้มหาศาลของอุตสาหกรรมเพชรที่สร้างขึ้นมาจากการค้าเพชรที่ได้มาจากเหมืองเพชรในแอฟริกานั้น แทบจะไม่เคยตกไปถึงมือของชาวแอฟริกันเลย
เมือง Koidu ในภาคตะวันออกของ Sierra Leone มีการทำเหมืองเพชรมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 แต่ทุกวันนี้ชาว Sierra Leone ยังคงมีรายได้เฉลี่ยเพียง 220 ดอลลาร์ต่อปี และมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 39 ปี
อุตสาหกรรมค้าเพชรสามารถสร้างรายได้เป็นพันล้านดอลลาร์ จากเพชรที่ได้มาจาก Sierra Leone ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนในประเทศนี้ก็ยังคงไม่มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบ่อน้ำ
ตระกูล Rapaport ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายการราคาเพชร ที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมเพชร กำลังพยายามจะริเริ่มจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตเพชรที่ทำการค้าอย่างเป็นธรรม โดยยึดตามแบบที่สตาร์บัคส์ทำอยู่ โดยสตาร์บัคส์จะซื้อเมล็ดกาแฟโดยไม่มีการกดราคาเกษตรกรผู้ปลูก แต่จะให้ราคาอย่างดี เพื่อนำมาทำกาแฟขายให้แก่ลูกค้าที่มีสำนึกต่อส่วนรวม และเต็มใจที่จะยอมจ่ายแพง
Rapaport คาดว่า อีกไม่นานผู้บริโภคจะตั้งคำถามกับผู้ค้าเพชร เกี่ยวกับที่มาของเพชรก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ทว่า ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ค้าเพชรในสหรัฐฯ 40 รายใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน โดยองค์การนิรโทษกรรมสากลและ Global Witness ของอังกฤษ กลับปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้แทบจะไม่มีรายใดเลยที่มีนโยบายต่อต้านเพชรเปื้อนเลือด Rapaport เชื่อว่า ผู้บริโภคจะเต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นอีกนิด เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้ซื้อเพชรที่มาจากเหมืองในแอฟริกา ที่มีการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
ในเมือง Koidu ซึ่งเป็นแหล่งเพชรของ Sierra Leone โครงการที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ โครงการหนึ่ง กำลังฝึกให้นักขุดหาเพชรรู้จักวิธีดูเพชร คัดเกรดและประเมินคุณค่าเพชรที่พวกเขาขุดพบ เพื่อไม่ให้ถูกพ่อค้าเพชรเอาเปรียบ ส่วนในปีที่แล้ว De Beers ร่วมกับองค์กรนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศชื่อ Diamond Development Initiative เพื่อฝึกอบรมนักขุดหาเพชรในด้านความปลอดภัยและด้านเศรษฐกิจ และพยายามจะชักจูงให้พวกเขาหันไปเป็นเกษตรกรแทน โดย De Beers ได้เริ่มทำโครงการฝึกอบรมนำร่องแบบนี้ใน แทนซาเนียและถ้าสำเร็จ ก็จะนำไปทำในประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาต่อไป
แต่ความพยายามของบริษัทเพชรอย่าง De Beers จะเป็นจริงได้แค่ไหนนั้น ยังไม่แน่ Sahr Amara หนุ่ม Sierra Leone วัย 18 เห็นว่า โครงการเหล่านั้นไม่อาจจะเป็นจริงได้ พ่อแม่ของเขาก็ทำไร่ทำสวน แต่ไม่มีเงินพอแม้จะซื้อหนังสือเรียน หรือจ่ายค่าเล่าเรียนให้เขา Amara จึงต้องออกร่อนหาเพชรทุกวัน แม้จะได้ค่าจ้างเพียงวันละ 7 เซ็นต์ ซึ่งเพียงพอที่จะซื้อแค่ข้าวต้มถ้วยเดียวเท่านั้น
แต่ความหวังของ Amara คือ หากได้เจอเพชรสักเม็ดและนำมันไปขาย เขาก็จะมีเงินกลับไปเรียนหนังสือ เขาไม่สนใจโครงการพัฒนาของบริษัทเพชร และถ้าหากเขาไม่สามารถเจอเพชรในที่ที่เขากำลังหา เขาก็อาจจะย้ายเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็ไปหางานทำที่อื่น เพื่อตามหาฝันของเขา ซึ่งเป็นฝันเดียวกับที่ชาวแอฟริกันอีกนับล้านคนที่ยังคงร่อนหาเพชรอยู่ทุกวันกำลังตามหาอยู่
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 11 ธันวาคม 2549
|
|
 |
|
|