สบน.ตั้งเป้าออกพันธบัตรปี 50 กว่า 3.16 แสนล้านบาท ชดเชยขาดดุลและแปลงตั๋วเงินคลังระยะสั้นเป็นพันธบัตร ระบุเดือนม.ค.ได้ข้อสรุปสัดส่วนเงินกู้รูปแบบพันธบัตรและกู้เงินแบงก์ คาดอาจใช้เงินกู้รูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงินขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ขณะที่รัฐวิสาหกิจขอเพิ่มกรอบเงินกู้ในประเทศ 1.3 พันบ้านบาท ส่งผลวงเงินบริหารหนี้ปี 50 รวม 9.8 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สกุลเงินต่างประเทศตั้งเป้าลดสัดส่วนให้เหลือ 8.5% ของพอร์ตหนี้ทั้งหมด
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายหนี้สาธารณะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะปี 2550 จากเดิมที่สบน.มีภาระในการบริหารหนี้สาธารณะวงเงิน 839,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลชุดนี้มีการใช้งบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลจำนวน 146,200 ล้านบาท จึงทำให้สบน.ต้องปรับโครงสร้างการบริหารหนี้สาธารณะโดยมีหนี้สาธารณะที่ต้องบริหารในปีงบประมาณ 2550 วงเงินรวมทั้งสิ้น 986,706.79 ล้านบาท
โดยงบประมาณขาดดุล 146,200 ล้านบาทที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2550 นั้นกระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการออกพันธบัตรออมทรัพย์โดยเป็นพันธบัตรระยะยาวอายุ 7 ปี และ 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับประมาณ 5.0 – 5.1% ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและมาตรการสกัดการเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 0.2%
ซึ่งในเบื้องต้นสบน.จะดำเนินการออกพันธบัตรระยะยาวจำนวน 316,200 ล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรชดเชยการขาดดุล 146,200 ล้านบาทที่ต้องดำเนินการก่อนและแปลงตั๋วเงินคลังระยะสั้นจำนวน 170,000 ล้านบาทให้เป็นพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้กระทรวงการคลังมีวงเงินสำหรับออกตั๋วเงินคลังเพิ่มขึ้น 170,000 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในการบริหารเงินต่อไป
“นอกจากการออกพันธบัตรในวงเงิน 3.16 แสนล้านบาทแล้ว สบน.ยังได้พิจารณาการระดมเงินในรูปแบบอื่นๆ ไว้ด้วย เช่นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐหรือเอกชน โดยจะเปิดให้มีการประมูลหากธนาคารใดคิดดอกเบี้ยต่ำสุดก็จะกู้เงินจากธนาคารนั้น ซึ่งจะเป็นการกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงินหรือพี/เอ็น ทั้งนี้ภายในเดือนมกราคมปีหน้าคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าสัดส่วนในการออกพันธบัตรระยะยาวและการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในสัดส่วนเท่าใด” นายพงษ์ภาณุกล่าว
นายพงษ์ภาณุกล่าวว่า จุดประสงค์ในการกู้เงินในตลาดของสบน.ก็เพื่อต้องการให้ตลาดตราสารหนี้ของประเทศมีการพัฒนาโดยเฉพาะในตลาดรองที่การซื้อขายยังมีปริมาณน้อยมากและยังไม่พัฒนาได้เท่าเทียมกับตลาดทุน แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์จริงก็คงต้องทำซึ่งอาจเป็นการกู้ในระยะเกิน 9 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้จะต้องพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นและผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับ
นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้อนุมัติการปรับแผนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง จำนวน 1,316 ล้านบาท ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 315 ล้านบาท และการประปานครหลวง(กปน.) จำนวน 1,001 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนของรัฐวิสาหกิจเอง โดยวงเงินกู้บริหารหนี้ทั้งหมดของสบน.นั้นยังถือว่าอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังและตั้งเป้าหมายว่าในสิ้นปี 2550 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 41% ของจีดีพีและภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่สัดส่วน 14.63%
นายจักกฤศฎ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักเงินกู้ตลาดเงินทุนต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า แผนการกำหนดความเสี่ยงการบริหารหนี้ต่างประเทศในปี 2550 โดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้สาธารณะในส่วนของหนี้ต่างประเทศลงให้เหลือเพียง 13% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด จากสิ้นปีงบประมาณ 2549 อยู่ที่ 16% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
ทั้งนี้สบน.ได้มีการเสนอแผนการบริหารหนี้ต่างประเทศจำนวน 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะทำการรีไฟแนนซ์จำนวน 2,500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสว็อปประมาณ 2,000 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากสบน.ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ทั้งหมด จะทำให้ลดหนี้ต่างประเทศไปได้ประมาณ 2,570 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศลดลงเหลือ 13% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดได้
|