การปรากฏชื่อ "เทมาเส็ก" ที่ทุ่มเงินลงทุนมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท เพื่อแลกกับการเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN รวมถึงบริษัทในกลุ่มอีก 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL, บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL จากครอบครัว "ชินวัตร-ดามาพงษ์"
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเงินทุนที่จะต้องใช้ในการทำรายการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ซึ่งภายหลังการทำรายการดังกล่าวเทมาเส็กต้องใช้เงินถึงกว่า 1.4 แสนล้านบาท เพื่อครอบครองหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 1,742,407,239 หุ้น หรือสัดส่วน 54.53% และบริษัทแอสแพน โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 1,334,354,825 หุ้น หรือสัดส่วน 41.76% รวมทั้งหมด 3,076,762,064 หุ้นหรือ 96.29%
คำถามที่เกิดขึ้นมากมายภายหลังดีลประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ไม่ว่าจะเป็นความชอบธรรมในการขายหุ้นของเอกชนที่ได้รับสัญญาสัมปทานในธุรกิจที่สำคัญต่อภาคธุรกิจจากรัฐบาล หรือความชอบธรรมในประเด็นที่ยังถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องเรื่องการเสียภาษีจากการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ที่มีข้อยกเว้นให้กับบุคคลธรรมดาที่ซื้อขายหุ้นบริษัทจดทะเบียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลธรรมดา ซึ่งช่องโหว่ที่เกิดขึ้นทำให้มีการนำมาใช้เพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีดังกล่าวตัวการขายหุ้น หรือโอนหุ้นในราคาที่ไม่เท่ากับราคาที่ซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์จากนิติบุคคลให้กับบุคคลธรรมดาเพื่อให้เป็นไปตามข้อยกเว้นเรื่องการภาษีของกรมสรรพากร
นอกจากนี้ คำถามที่อยู่ระหว่างการหาคำตอบเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับกรณีการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของบริษัทต่างชาติที่หาช่องโดยการตั้งบริษัทในไทย โดยให้นักลงทุนไทยเข้ามาร่วมถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 50% เพื่อให้คล้ายเป็นบริษัทของคนไทย แต่อำนาจในการบริหารงานรวมถึงอำนาจในการจัดการยังตกอยู่กับผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ รวมถึงผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นไทยและสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมกลับไม่สอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนั้นอย่างชัดเจน
โดยการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ ได้ปรากฎชื่อบุคคลที่เข้ามาเป็นตัวแทนในการถือหุ้นชินคอร์ปหลายคนไม่ว่าจะเป็นนายพงส์ สารสิน นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล หรือดะโต๊ะสุรินทร์ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชี้ชัดว่าการจัดตั้งบริษัท แอสเปน โฮลดิ้งส์ จำกัด, บริษัทซีด้า โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทไซเปรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ถือว่าเป็นการจัดตั้งเพื่อเลี่ยงมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทย ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจอันมิได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจนั้น
**มาดามโฮชิงรับผลขาดทุน
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเข้ามาลงทุนของเทมาเส็กครั้งนี้ ก็ไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลายเสียทีเดียว เพราะนอกจากจะสร้างข้อกังขาในประเด็นต่างๆ แล้ว ราคาและมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของกลุ่มชินคอร์ป ได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของเทมาเส็ก
จนกระทั้ง มาดาม โฮ ชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กองทุนเทมาเส็ก ได้กล่าวยอมรับในระหว่างการประชุมนักลงทุนของมอร์แกน สแตนเลย์ ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาว่า การลงทุนของเทมาเส็กในบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ขณะนี้เทมาเส็กขาดทุนจากการปรับตัวลงของราคาหุ้นบมจ. ชินคอร์ป ประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 55,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน37 บาทต่อดอลลาร์) แต่เทมาเส็กยังเชื่อมั่นว่าบริษัทมีความระมัดระวังกับการลงทุนในไทย จึงต้องฟื้นความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้มั่นคงก่อน
**เทมาเส็กเล็งลดสัดส่วนถือหุ้น
ขณะที่นายจิมมี่ ฟุน กรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการลงทุน บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ของกลุ่มเทมาเส็ก ว่าเหตุผลที่สนใจลงทุนในบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่โดดเด่นในภูมิภาค แต่หลังจากการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ SHIN เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นทั่วไปขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้กับกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่คาดหมายไว้ ดังนั้น กลุ่มผู้ลงทุนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SHIN ในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เทมาเส็กยืนยันว่า เทมาเส็ก เคารพในความคิดเห็น และทราบถึงความรู้สึกของประชาชนชาวไทย เทมาเส็กต้องการให้บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ยังไปบริษัทไทยที่เป็นความภูมิใจของประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศต่อไป และมีการบริหารจัดการโดยคนไทยที่มีความเป็นมืออาชีพและมีศักยภาพ
"เทมาเส็กเป็นกลุ่มทุนที่มีฐานอยู่ในเอเชีย เชื่อว่าเป็นการดีที่จะลงทุนในเอเชียเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นจึงตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพและความพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน และแนวการลงทุนของเทมาเส็กยังจะคงดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง"
ในภาคของตลาดทุนมุมมองที่เกิดขึ้นภายหลังบริษัทที่ถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารอันดับ 1 ของประเทศถูกครอบงำด้วยการเข้ามาถือหุ้นจากกองทุนต่างประเทศความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในองค์กร หรือโครงการการแข่งขันที่จะปรับเปลี่ยนไปยังคงต้องใช้เวลาในการตอบคำถามเหล่านี้
ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะความไม่มั่นใจของนักลงทุนหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศภายหลังคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทำการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 และล่าสุด 19 ธ.ค. การประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนส่งผลทำให้ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกือบทุกบริษัทปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงโดยดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 108 จุด ส่งผลทำให้ราคามูลค่าหุ้นและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคปของบริษัทต่างๆ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยมูลค่ามาร์เกตแคปรวมในวันดังกล่าวปรับตัวลดลงกว่า 8 แสนล้านบาท
**เทมาเส็กเจ๊งแสนล้าน
สำหรับราคาหุ้น 5 บริษัทที่เทมาเส็กถือหุ้นทั้งทางตรงและทั้งผ่านจากการที่บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เข้าไปถือหุ้น(ณ 22 ธ.ค.) เปรียบเทียบกับราคาที่เทมาเส็กตกลงซื้อหุ้น SHIN ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ขณะที่บริษัทย่อยเทียบกับราคาปิดเมื่อวันที่มีการทำรายการซื้อขายดังกล่าวโดยราคาหุ้น SHIN ปิดที่ 26.75 บาท ลดลง 22.50 บาท หรือ 45.68%, หุ้น ADVANC ราคาปิดที่ 76 บาท ลดลง 28 บาท หรือ 26.92%, หุ้น SATTEL ราคาปิดที่ 7.05 บาท ลดลง 8.45 บาท หรือ 54.51%, หุ้น CSL ราคาปิดที่ 3.58 บาท ลดลง 0.46 บาท หรือ 11.38%, หุ้น ITV ราคาปิดที่ 1.39 บาท ลดลง 10.51 บาท หรือ 88.31%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลขาดทุนของเทมาเส็กในช่วงเกือบ 11 เดือนที่เข้ามาลงทุนในหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น รวมถึงการได้รับพ่วงบริษัทที่ชินคอร์ป ถือหุ้นอีก 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จำนวน 1,263,712,000 หุ้น หรือ 42.80%, บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL จำนวน 450,870,934 หุ้น หรือ 41.34%,บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV จำนวน 638,603,846 หุ้น หรือ 52.94% และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ซึ่งถือโดยบริษัท ชิน บอรดแบนด์อินเตอร์เนต (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ จำนวน 250,099,990 หุ้น หรือ 40.02%
จากการเปรียบเทียบ พบว่า เทมาเส็กขาดทุนจากการลงทุนใน SHIN บริษัทเดียวถึง 6.922 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าของราคาหุ้นในบริษัทย่อยที่ถือลดลงโดย ADVANC ขาดทุน 3.538 หมื่นล้านบาท, SATTEL ขาดทุน 3.809 พันล้านบาท, CSL ขาดทุน 115.045 ล้านบาทและ ITV ขาดทุน 6.711 พันล้านบาท รวม 4 บริษัทที่ SHIN ถือหุ้นมูลค่าหุ้นลดลงกว่า 4.602 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 5 บริษัท มูลค่าหุ้นที่ลดลงแล้วกว่า 1.15 แสนล้านบาท
***ผลงานไตรมาส 3 ทรุดฮวบ
ด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มชินคอร์ปในไตรมาส 3/49 ซึ่งปรับตัวลดลงจนอาจจะสะท้อนได้ว่าการเทขายหุ้นออกมาของตระกูล"ชินวัตร-ดามาพงษ์" เป็นการผลักภาระ ฉวยโอกาสในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ รวมถึงการรู้ถึงแนวโน้มธุรกิจว่าธุรกิจสื่อสารใกล้ถึงจุดที่เรียกว่าอิ่มตัวหลังจาการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ SHIN ในไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 855.43 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.27 บาทเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,876.56 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.63 บาทลดลงจากปีก่อน 1,021.13 ล้านบาท คิดเป็น 54.42% ขณะที่งวด 9 เดือนกำไรสุทธิ 4,680.32 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.51 บาทลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 6,583.06 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.20 บาทหรือกำไรสุทธิลดลง 1,902.74 ล้านบาท คิดเป็น 28.90%
โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ลดลงกว่า 54.42% เกิดจากส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียลดลง 978.26 ล้านบาท จากไตรมาส3 ปี 2548 จำนวน 1,874.09 ล้านบาท เหลือ 895.83 ล้านบาท หรือลดลง 52.20%
ทั้งนี้ จากการพิจารณากำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียของ SHIN ปรากฏว่าลดลงทุกบริษัท เช่น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำนวน 1,561 ล้านบาท ลดลง12.84% บมจ.ชิน แซทเทลไลท์ -309 ล้านบาท ลดลง 598.39% บมจ. ไอทีวี 26 ล้านบาทลดลง 61.76% อื่นๆ -382 ล้านบาท ลดลง 712.77%
สำหรับสาเหตุที่กำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียของ SHIN ลดลงเกิดจากบริษัทย่อยที่ SHIN ถือหุ้นอยู่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ลดลงเกือบทุกบริษัทโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกิดจากกลุ่มชินคอร์ปไม่ได้การเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหลังจากหมดยุคสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC กำไรสุทธิ 3,653.31ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.24 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,178.48ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.42 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 525.17 ล้านบาท คิดเป็น12.57% บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL กำไรสุทธิ 62.95 ล้านบาทกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.10 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 41.71 ล้านบาทกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 50.92%
บมจ.ไอทีวี หรือ ITV กำไรสุทธิ 88.75 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น0.07 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 168.46 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 บาทหรือลดลง 47.32% และบมจ.ชินแซทเทลไลท์ หรือ SATTEL ขาดทุนสุทธิ746.82 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 154.43ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.14 บาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 583.60%
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ยากที่จะสรุปได้ว่าการเข้ามาลงทุนของ "เทมาเส็ก" ในรอบนี้ถือว่าได้หรือเสีย เนื่องจากมูลค่าการลงทุนที่ลดลงไปค่อนข้างจากวันที่เริ่มเข้ามาลงทุนจนถึงปัจจุบันอาจจะสะท้อนถึงเม็ดเงินลงทุนที่ลดลงแต่หากจะมองถึงสิ่งที่เทมาเส็กได้รับมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และยากที่จะประเมินค่า คือ สัญญาสัมปทานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสื่อสารและเทคโนโลยีของประเทศที่ต้องตกไปอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารงานของกองทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติคงต้องใช้ประกอบในการพิจารณาเลือกลงทุนในแต่ละประเทศหลังจากนี้ นอกเหนือจากความน่าสนใจทางธุรกิจ โอกาสในการเติบโตแล้ว อำนาจของผู้บริหารประเทศกับความเกี่ยวข้องในธุรกิจนั้นๆ จะต้องใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อลงทุนด้วย
|