Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2538
"22 ปี ... สิบสี่ตุลา พลวัตจากป่าสู่สภา-ธุรกิจ"             
 


   
search resources

พินิจ จารุสมบัติ
วิรัติ จิระศักดิ์ภาพงศ์
ประสาน มฤคพิทักษ์




"ตายสิบเกิดแสน" จากวันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2538 ยี่สิบสองปีผ่านไป กงล้อประวัติศาสตร์ของขบวนการประชาธิปไตยของกลุ่มผู้นำนักศึกษาอย่างเคยเข้าป่า ใต้ดาวแดงได้แปรภารกิจต่อสู้กับเผด็จการจักรวรรดินิยมที่เคียงป่าเคียงไหล่ประชาชน สู่เงื่อนไขผู้นำยุคใหม่ในโลกไร้พรมแดนวันนี้ "ไม่มีพรรค มีแต่พวก"

พินิจ จารุสมบัติ - ประสาน มฤคพิทักษ์ และวิรัติ จิระศักดิ์ภาพงศ์เป็นกรณีของคนรุ่นหนุ่มเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ที่มีโอกาสเรียนรู้และร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนในเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคที่ไม่มีใครลืม มาถึงยุคเหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากจำ เจ็บเกินไปกว่าคำบรรยาย

"ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั้นย่อมมีการต่อสู้" เป็นบทบาทชูธงประชาธิปไตยในฐานะผู้นำนักศึกษาประชาชนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อย่างรองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งวิรัติ จิระศักดิ์ภาพงศ์ ดำรงตำแหน่งก่อนพินิจ จารุสมบัติ ขณะที่ประสาน มฤคพิทักษ์เป็นกรรมการพรรคสังคมนิยม

ภูมิหลังการศึกษา ประสานและวิรัติเรียนรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ขณะที่วิรัติเรียนปี 1 ประสานก็เรียนอยู่ปี 4 มีตำแหน่งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ทั้งคู่เคยมีบทบาทสำคัญเดินขบวนต่อต้านการคอรัปชั่นในจุฬาฯ ปี 2513 พอปีต่อมาก็เดินขบวนประท้วงคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 สมัยจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเอง และปีที่สามเดินขบวนคัดค้าน ดร. ศักดิ์ อธิการบดีรามคำแหงที่ลบชื่อนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย และปี 2516 ที่เกิดเหตุวันมหาวิปโยคก็เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย

ส่วนพินิจจบนิติศาสตร์ รามคำแหงไม่เคยว่าความสักคดีเดียว ชอบการเล่นการเมืองเป็นชีวิตจิตใจ มีปราศรัยหาเสียงหรือไฮปาร์คที่ไหน พินิจต้องไปที่นั่น เคยเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เลขาธิการพรรคสัจธรรมก่อนที่จะเป็นรองเลขาศูนย์ฯ สมัยที่มีคำนูณ สิทธิสมานรักษาการเลขาธิการศูนย์ฯ

ในครั้งนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเต็มไปด้วยพลังคนหนุ่มสาวอันเร่าร้อนจริงจังในยุคหลัง 14 ตุลา ภาพขบวนการนักเรียนนักศึกษาที่แสวงหาความเป็นธรรม ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับกิจกรรมชุมนุม เดินขบวนวางหรีด ออกค่ายสัมผัสชนบท จัดอภิปรายและนิทรรศการ คุยกันในสภากาแฟและชมรม แจกใบปลิว ติดโปสเตอร์และบ่อยครั้งขัดแย้งกับพ่อแม่อย่างจริงจัง บางทีมีชีวทัศน์โลกทัศน์เยาวชนที่แห้งแล้ง อ่านหนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงหรือเชกูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่และฟังเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน โคมฉาย กรรมาชน ลูกทุ่งสัจธรรม

ผู้นำขบวนการประชาชนถูกไล่ล่าฆ่าฟันจากอำนาจรัฐที่ใช้ลักษณะ "ขวาพิฆาตซ้าย" อย่างรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ช่วงเวลาก่อนและหลัง 6 ตุลา ชีวิตของผู้นำนักศึกษาตกอยู่ในอันตรายและไม่มีทางเลือกระหว่าง "การเข้าคุก" กับ "เข้าป่า"

การเข้าป่าของพินิจ ประสาน และวิรัติ เป็นชีวิตขอองคนที่เหมือนมีจังหวะของมัน บางทีพบว่าชีวิตออกจะผันผวนอยู่มาก แต่ก็คุ้ม เพราะมันให้ความรู้สึกที่ดีที่จะเป็นคนที่ไม่ยอมศิโรราบให้กับทรราชย์เผด็จการอย่างกล้าหาญ

"ถ้าการเป็นฝ่ายซ้ายคือคอมมิวนิสต์เลย ผมคิดว่าเราคงไม่ใช่ ผมเข้าไปอยู่ป่าเกือบ 3 ปี ไม่ใช่สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์เพราะการเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขาและชนบทมันได้คุณค่าและประสบการณ์ ได้เรียนรู้ในวิถีทางการต่อสู้ในสภาพแวดล้อมหนึ่งเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้ประยุกต์ประสบการณ์จากป่าสู่เมือง ความแตกต่างมันมีสำคัญอยู่ที่ตัวเราเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมคิดว่าผมก็ยังเป็นผมอยู่" ในสภาผู้แทนราษฎรวันนี้พินิจปฏิเสธคำว่าฝ่ายซ้ายแต่เลี่ยงไปใช้คำว่าผู้รักประชาธิปไตยแทน

นอกจากนี้พินิจยังปฏิเสธข่าวลือช่วงเข้าป่าว่าขายของด้วยว่า เป็นเรื่องไม่จริงเพราะช่วงหนึ่งที่พินิจป่วยจึงถูกย้ายให้มาคุมกองพลาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยเสบียงกรังของกองทัพป่า

"เขาให้ผมไปคุมข้าวของเสื้อผ้า คนมาเบิกของเราก็จ่ายไป ถ้าของยังไม่มาก็รอเที่ยวหน้า เรื่องจะเอาไปขาย ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะวินัยเขาเข้มแข็งมาก ๆ และยิ่งเราเป็นผู้รับผิดชอบจะไปทำแบบไร้หลักการไม่ได้เลย" พินิจเล่าให้ฟัง

แต่สำหรับวิรัติซึ่งอยู่ในป่าร่วม 4 ปี มีชื่อจัดตั้งว่า "อาทิตย์" เคยอยู่แนวหลังซึ่งเป็นฐานที่มั่นช่วงชายแดนระหว่างลาวกับจีนถือว่าเป็นเขตปลอดภัยที่สุด เป็นสำนักแนวร่วมฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนการเมืองการทหารมีผู้นำนักศึกษาที่เคยผ่านสำนักนี้แล้วอย่างธีรยุทธ บุญมี ชำนะ ศักดิ์เศรษฐ ประสาน มฤคพิทักษ์ เสกสรร ประเสริญกุล หมอเหวง โตจิราการ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์

"อุดมคติช่วงนั้นผมต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ผมเข้าป่าเพราะถูกประกาศจับตอนนั้นผมทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยกับ อจ. บุญสนอง บุญโยทยานซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยแล้วถูกลอบยิงตาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและยิ่งทางการประกาศจับทำให้ผมอยู่ไม่ได้แล้ว ทางเลือกจึงมีสองทางคือ ไม่ไปอยู่คุกกับคุณสุธรรมก็ต้องไปเข้าป่ากับคุณไขแสง สุกใสที่ไปก่อนแล้ว" วิรัติได้เล่าให้ฟังถึงสาเหตุการเข้าป่าในครั้งนั้น

ตลอดระยะเวลาที่จรยุทธ์อยู่ในป่า คนอย่างพินิจ ประสานหรือวิรัติ มีบ้างบางเวลาที่ต่างค้นพบในห้วงเวลาสั้น ๆ ว่าตัวเองมีวิธีคิดคนละระบบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อรัฐบาลเปิดนโยบาย 66/23 ผู้รักประชาธิปไตยในป่าก็พลันคิดตก กลับคืนรัง ลงจากภูผาผ่านป่าเขาลำเนาไพรเข้าสู่เมือง ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหน้าจะมีอะไรรอพวกเขาอยู่ ?

ห้วงเวลาที่หายไปในป่า เพียงระยะสิบปีที่ผ่านมา โลกภายนอกเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินรุนแรงทั้งเศรษฐกิจและเมือง เช่น กำแพงเบอร์ลินแตก รวมเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก เหตุการณ์โซเวียตล่มสลาย นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่สร้างภาพโลกไร้พรมแดน วิถีชีวิตสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยความหลากหลายและแข่งขันแบบเสรีนิยม ฯลฯ

"เมื่อก่อนนี้เรามีความคิดด้านอุดมคติค่อนข้างจะสูง แต่พอเราโตขึ้นๆ เราก็มองโลกในความเป็นจริง เดี๋ยวนี้ความรู้สึกเป็นทุนนิยม และสังคมนิยมมันจางหายไปแล้ว เส้นแบ่งค่อนข้างจะเลือนราง" วิรัติกล่าว

ด้วยเหตุนี้คนที่ออกจากป่าอย่างพินิจประสานหรือวิรัติซึ่งขณะนั้นอายุ 30 ต้น ๆ จึงต้องเร่งปรับตัวให้อยู่รอด และแสวงหาโอกาสจากระบบที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจการให้ได้ แม้ว่าเบื้องแรกต้องเริ่มนับถอยจากหนึ่งใหม่ แต่ความเอื้ออาทรของมิตรสหายคือกำลังใจ

วิรัติเริ่มต้นชีวิตทำงานถนัดที่ศูนย์ฝึกอบรม บริษัทอินเตอร์ไลฟ์ เนื่องจาก ดร. ทัศนีย์ บุญโยทยานเป็นผู้บริหารศูนย์นี้ ต่อมาได้มาทำเป็นวิทยกรศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพของทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ซึ่งเป็นพี่ชายประสาน และต่อมาได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลังจากใช้เวลาสี่ปี ล่าสุดวิรัติเป็นผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการในกลุ่มซีพีบริหารงานบุคคล ธุรการและประสานงานกับราชการ ส่วนงานการเมืองวิรัติขอเป็นเพียงผู้สนับสนุน

"ผมจะช่วยในขอบเขตที่ช่วยได้เป็นส่วนตัว การจะไปทำกิจกรรมทางการเมืองหวือหวาคงไม่ได้ เพราะผมเป็นลูกจ้างเขาอยู่ บทบาทอาจจะแคบลง" วิรัติเล่าให้ฟัง

ส่วนประสาน มฤคพิทักษ์กับเวลา 5 ปี ในป่า วันนี้เขามีธุรกิจส่วนตัวในนามบริษัท ชีวิตธุรกิจ จำกัด ทำรายการทีวี "ชีวิตธุรกิจ" ช่อง 9 อสมท. ทุกเช้า 6.45 น. ทำฝึกอบรม เขียนหนังสือและผลิตเทปคาสเซท กับเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ล่าสุด ดร. เสรี วงษ์มณฑา ทาบทามประสานเข้าไปร่วมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมของกลุ่มบริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชั่นในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

"ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายเมื่อกลับมาก็ต้องการประกอบสัมมาอาชีพในแนวที่ตัวเองถนัดและมีความสามารถสองอย่างคือ หนึ่ง-พูดและสอง-เขียน จริง ๆ ผมรักการเขียนมากกว่าการพูดด้วยซ้ำไป" ประสานเล่าให้ฟังในงาน "ปิติจากเพื่อนพ้องน้องพี่" ซึ่งเป็นงานสำหรับคนที่เคยอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยทั้งในป่าและในเมือง จัดมาแล้ว 6-7 ครั้งโดยมีประสานเป็นแม่งานใหญ่ในปีนี้ที่โรงแรมสยามซิตี้

"ความผูกพันฉันท์มิตรที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีปัญหาเดือดร้อนเราก็เอื้ออารีต่อกันตามสภาพที่ทำได้ วันนี้มาเจอหน้าทักทายและแสดงความยินดีต่อกัน ส.ส. และเพื่อน ส.ส. หนุ่มสาวที่กะมาร่วมงานประมาณ 25 คน" นี่คือการรวมตัวของกลุ่มการเมืองหัวก้าวหน้าคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะการดึงแนวร่วมใหม่ ๆ อย่างศันสนีย์ นาคพงศ์-อริสมันต์ พงษ์เรืองรองมาด้วย

ความสนใจติดตามทางการเมืองของประสานมีต่อเนื่อง เคยเป็นประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยหลังเกิดเหตุพฤษภาทมิฬปี 2535 ประสานเคยเข้าสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในนามพรรคพลังธรรมที่เขต 1 กรุงเทพมหานครเมื่อคราวที่อากร ฮุนตระกูล ลาออก แต่ประสานก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

"ผมไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ทุกวันนี้เราก็มีความสุขกับงานอาชีพเรา แต่ว่าอนาคตไม่แน่ สมมุติเงื่อนไขการเมืองเปลี่ยนไปเช่นมีการปฏิรูปทางการเมือง ทำให้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ไม่ต้องซื้อเสียง มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต วันแมนวันโหวตและผู้สมัครสามารถสมัครอิสระได้ไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าเงื่อนไขนี้เปิดให้ ก็จะทำให้คนที่ตั้งใจดีและบริสุทธิ์ใจไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียง สามารถที่จะไปนั่งในสภา แต่ถ้าสภาพการเลือกตั้งต้องทุ่มเงิน 10-20 ล้านซึ่งเป็นความจริงของการเมืองไทย เราก็ไม่ทำ" ประสานเล่าให้ฟัง

แต่สำหรับพินิจไม่ธรรมดา เขากลับมาเริ่มต้นที่บ้านเกิด แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ช่วยทางบ้านทำธุรกิจเอเยนต์เก่าแก่ชื่อ หจก. ไทยบำรุงการค้าบุหรี่ค้าเหล้าที่ทำให้ใกล้ชิดกลุ่มเตชะไพบูลย์ กิจการดั้งเดิมมีกิจการโรงสีหลายแห่ง เช่นโรงสีไฟรุ่งเรืองคลองเจ้า โรงสีกิมเซ่งล้ง โรงสีปากคลองพญาสมุทร เป็นต้น พินิจเป็นคนมีเพื่อนมาก ร่วมกับเพื่อนเก่ารับซื้อกุ้งกุลาดำจนกระทั่งปัจจุบันเป็นผู้รับซื้อกุ้งกุลาดำรายใหญ่ตั้งแต่ตราดลงมาถึงแปดริ้ว สมุทรปราการ

แต่ความปรารถนาเป็นนักการเมืองไม่เคยปรานีใคร ปี 2529 และปี 2531 ชื่อพินิจ จารุสมบัติก็ปรากฏลงเลือกตั้งในนามพรรคราษฎรที่ฉะเชิงเทรา แต่พ่ายแพ้ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้ง ๆ ที่ปี 2531 ผองเพื่อนร่วมขบวนการอย่างเช่น ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ อดีต รมช. มหาดไทยและสุธรรม แสงปทุม รองประธานรัฐสภาปัจจุบันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นทั้งคู่

แม้จะอับโชคทางการเมืองปี 2531 แต่พินิจก็โชคดีภายหลังระหว่างปี 2532-34 นับว่าเป็น ปีเงินปีทองของพินิจจริง ๆ

"ผมประสบความสำเร็จและได้เงินได้ทองมากที่สุดคือค้าที่ดินแถวชลบุรีแปดริ้วและระยอง บางแปลงผมซื้อวันเดียวขายไปสามทอดราวกับซื้อขนมซื้อของเล่น" พินิจเล่าให้ฟัง

นี่คือส่วนหนึ่งของฐานเงินทุนก้อนใหญ่ของพินิจที่ใช้ในการลงเลือกตั้งในเดือนกันยายน ปี 2535 ซึ่งครั้งนั้นพินิจวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว เห็นว่าควรย้ายไปลงเขตจังหวัดหนองคายในนามพรรคเสรีธรรมซึ่งเป็นพรรคเล็กที่มี ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์เป็นหัวหน้าพรรค ในที่สุดก็สมความปรารถนา ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร และได้รับโควต้าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในชุดรัฐบาลชวน 2 ในปี 2536

ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมที่พินิจได้รับตั้งแต่เป็น ส.ส. สมัยแรกจะเกี่ยวข้องกับสถานะ "ถุงเงินของพรรค" หรือไม่นั้น พินิจปฏิเสธว่า "พรรคเสรีธรรมของเราเป็นพรรคเล็ก เลือกตั้งคราวนี้ได้มา 11 เสียงไม่ใช่ผมเป็นถุงเงินถุงทองของพรรคก็พูดกันไป เพียงแต่เรามีความจริงใจให้กับเพื่อนและผู้สมัคร เมื่อชวนเขามา เราก็ต้องช่วยเหลือเต็มที่ ผมไม่มีสินทรัพย์บารมี เมื่อเป็นรัฐมนตรีก็ปกติธรรมดา ใครจะมาเรียกผมว่าท่าน ๆ ผมยังไม่ชอบเลย หรือเพื่อนฝูงยกมือไหว้ผมยังถามว่าทำไมมึงต้องทำอย่างนั้น ผมรู้ว่าตำแหน่งทางการเมืองเป็นหัวโขนชั่วคราวเป็นสิ่งหลอกลวงไม่เที่ยงแท้ มาวันนี้วันหน้าก็ต้องไป อย่าลืมตัวนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

ในอดีตของนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่รับใช้ประชาชน พินิจเป็นผู้นำการต่อต้านระบอบเผด็จการที่มีต้นตอปัญหาจากจักรวรรดินิยมขุนศึกศักดินา ในฐานะรองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กรณีต่อสู้เรียกร้องในกรณีเหมืองแร่เทมโก้ และการฆ่ายัดถังแดงที่จังหวัดพัทลุง เป็นผลงานเด่นของพินิจกับกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาอย่างเช่น พีรพล ตริยเกษม, สัมภาษณ์ สืบตระกูล

"สหรัฐอเมริกาเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา พร้อมกันนั้นชนชั้นปกครองในระดับสูงของเราหลายคน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งทหารและพลเรือนคอยเป็นสมุนรับใช้อเมริกาตลอดมา การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยผู้บริหารระดับบนทั้งสิ้นแต่ฝ่ายเดียว" บางตอนของคำสัมภาษณ์พินิจในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" รายสัปดาห์เมื่อ 6 มีนาคม 2518

วันนี้บทบาทเปลี่ยน แต่คนไม่เปลี่ยนภายใต้เงื่อนไขต่อสู้เผด็จการสู่ยุคเสรีโลกานุวัตร จากพินิจผู้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ยากไร้ที่ถูกฆ่าคดียัดถึงแดงที่พัทลุง ได้พัฒนาสู่การต่อสู้เพื่อบริการโทรคมนาคมรับใช้ชนชั้นกลางประเภท "ไร้สาย" และ "มีสาย" รวมทั้งต่อรองผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐกับกลุ่มยักษ์ใหญ่ธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่ากลุ่มนายทุนผูกขาดยุคเผด็จการครองเมือง

ล่าสุดผลงาน 17 โครงการสมัยที่พินิจอยู่ในตำแหน่ง รมช. คมนาคมใน 1 ปี 10 เดือน พินิจคุยว่า "ผมมีผลงานมากที่สุดในกระทรวง" เช่น โครงการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 10,000 วงจร, สร้างศูนย์โทรคมนาคมที่บางรัก 30 ชั้นมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท, วางเคเบิลใยแก้วเชื่อมทุกจังหวัด, โครงการวีแซทเสรี, โครงการอินเตอร์เนต, โครงการอัพลิงค์ ดาวน์ลิงค์, โครงการอีเรเดียมของยูคอม, โครงการอิมาแซทพีของชินวัตร, โครงการทรังค์เรดิโอของสหวิริยา,โครงการลดราคาบริการมือถือ 50 บาท, โครงการเร่งรัดติดตั้งเบสสเตชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ, โครงการปรับปรุงการบริหารความถี่, โครงการวิทยุร่วมพลเรือน, โครงการเพจเจอร์ข้าราชการ, โครงการร่วมทุนระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยกับบริษัททีเอไปต่างประเทศ และโครงการพยากรณ์อากาศเพื่อพัฒนาประเทศ

แต่ละโครงการล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ที่น่าจับตา พินิจซึ่งจะต้องต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก ซึ่งพินิจอ้างประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อนอันดับหนึ่ง บ้างก็เล่าลือถึงความเป็นถุงเงินถุงทองของพรรคเสรีธรรมในฐานะเลขาธิการพรรคฯ บางคนก็ร่ำลือถึงความร่ำรวยผิดปกติสมัยเป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้พินิจปฏิเสธทันควันว่า

"ไม่จริง เสียงเล่าลืออาจจะมาจากเสียงอิจฉาริษยาก็มี หรืออาจจะมาจากความไร้เดียงสา รู้ไม่จริง ซุบซิบนินทา ตามสังคมเก่า ผมไม่หงุดหงิด ผมบอกว่าเป็นนโยบายว่า ไม่มีใครจ้างเราได้ ให้ผลประโยชน์เรา เราไม่รับ หรือเราก็ไม่ไปเรียกร้องผลประโยชน์ แม้แต่ทีมงานของผม ผมจะสั่งหมดทุดคน เอกชนไม่ต้องเสียค่าน้ำร้อนน้ำชา เขาก็เกิดความพึงพอใจแต่ถ้าหากเขาอยากจะช่วยเราในฐานะเป็นนักการเมืองที่มีหลักการดีมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง เขาก็มาสนับสนุนช่วย ระหว่างเลือกตั้ง เป็นการช่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรืออนุญาตใด ๆ"

สินทรัพย์ที่พินิจเปิดเผยให้ฟังมีบ้านอาศัยอยู่หลังเดียวที่กรุงเทพ ส่วนที่ดินที่ซื้อไว้ส่วนตัวที่กรุงเทพฯ บางแปลงและแปลงที่ยังไม่ได้ขายอีกที่แปดริ้ว ส่วนธุรกิจกุ้งกุลาดำยังเป็นธุรกิจหลักที่ร่วมกับเพื่อน เป็นคนกลางรับซื้อเข้าห้องเย็น "ผมไม่ได้ตั้งบริษัท อย่างที่แปดริ้ว ในนามของพินิจคนก็รู้แล้ว เป็นเครดิตส่วนตัวไม่รู้สิว่าเป็นเจ้าพ่อหรือเปล่า ?"

วันนี้ดาวแดงอาจอับแสง จักรวรรดินิยมแปลงรูป เปลี่ยนสัญชาติป่าที่เคยอยู่อาจเป็นรีสอร์ท ทุนนิยมยังยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง และ "พวกเขา" อาจถูกมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

แม้ว่าบทบาทและภาระหน้าที่ในสังคม "พวกเขา" จะตรงกันข้ามกับในอดีต แต่ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต "พวกเขา" คือคนที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ และเป็นคนหนุ่มสาวที่อาจหาญเสียสละและเป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลังนับไม่ถ้วน

อย่างน้อย ๆ ภาพบันทึกและความทรงจำอันงดงามเมื่อ 22 ปีที่แล้วในตัวพวกเขายังคงอยู่ ....

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us