|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
วงการหุ้นแฉไอ้โม่งและพวกใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ฟันกำไรหุ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. กว่า 7 พันล้าน พบพฤติกรรมกระชากสลับทุบแล้วดักซื้อวันเดียว 3 รอบ หม่อมอุ๋ยชี้แจงซ้ำ ยันไม่โง่ ลั่นไม่ได้แทรกแซง ธปท. แต่ "ธาริษา" ขอให้ช่วย เผยยังมีเลขา ก.ล.ต. ที่รู้เรื่องก่อนผ่อนมาตรการฯ ด้านแบงก์ชาติเผยจะใช้มาตรการ 30% ในช่วงสั้นๆ เหตุเงินนอกเริ่มไหลออก-บาทอ่อนค่าแล้ว ส่วนผู้ส่งออกอยากเห็นค่าบาท 38 สนช.ชี้อุ๋ยทำลายแบงก์ชาติ เงินกี่แสนล้านก็กู้ชื่อเสียงกลับมาไม่ได้
แหล่งข่าวจากวงการตลาดหุ้นเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) ทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นไม่ต่ำกว่า 3 รอบ คิดเป็นเงินกว่า 7.2 พันล้าน หรือไม่ตำกว่า 10% ของมูลค่าการซื้อขาย ส่วนกลุ่มที่เสียหายมากที่สุดคือนักลงทุนรายย่อย คนกลุ่มนี้ไม่ใช่นักเก็งกำไรตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พยายามยัดเยียด รายย่อยส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นออมเงินแทนการฝากกินดอกเบี้ยในธนาคารพาณิชย์ การออกมาตรการ 30% และพฤติกรรมของอินไซเดอร์ที่ได้กำไรไปครั้งนี้ นับเป็นการปล้นเงินออมจากนักลงทุนรายย่อยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอ้างว่าต้องการสกัดต่างชาติที่มาเก็งกำไรก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากฝรั่งที่เข้ามาแล้วขายเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. มีต้นทุนต่ำ ส่วนใหญ่จะขายโดยไม่ขาดทุนเหมือนรายย่อย
"วันที่ 19 ธ.ค.ไม่มีคิดจะซื้อหุ้นโดยเฉพาะมีการยืนยันหม่อมอุ๋ยไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งว่าไม่เลิกมาตรการ 30% ดังนั้นคนที่เข้ามาซื้อหุ้นและได้กำไรไปไม่ต่ำกว่า 3 รอบ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.มีอยู่กลุ่มเดียวคือพวกอินไซเดอร์ที่รู้ข้อมูลล่วงหน้าในการบังคับใช้มาตรการกันสำรองเงินต่างประเทศในตลาดหุ้น คนพวกนี้อาจใกล้ชิดกับคนที่มีอำนาจ" แหล่งข่าวกล่าวและว่า จากการตรวจสอบย้อนหลังยังพบว่า 1 สัปดาห์ก่อนออกมาตรการ 30% มีการขายหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์ออกมาล๊อตใหญ่ เหมือนกับการเลี่ยงขาดทุน ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมเงินไว้หากำไรจากรายย่อยที่ถูกเอาเปรียบ
แหล่งข่าวเปิดเผยถึงเหตุการณ์วันที่ 19 ธ.ค.ว่า ทันทีที่เปิดตลาดในเวลา 10.00 น. มีการเทขายทำให้ดัชนีปรับลดลงทันทีจาก 730 จุด ลงมาอยู่ที่ 670 จุด หรือลดลง 60 จุด หลังจากนั้นมีการเข้ามาดันดัชนี ทำให้ดีดกลับขึ้นมาที่ 680 จุด นักลงทุนจึงยังไม่การเทขาย บางรายเข้าซื้อ เพราะเชื่อว่าดัชนีคงไม่ปรับตัวลดลงแล้ว เนื่องจากเพิ่งมีประสบการณ์เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ คมช.ปฏิวัติรัฐประหาร ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงเช่นกันแต่ก็ปรับขึ้นในที่สุด
ปรากฏว่าเหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้นมีการทุบหรือขายออกมารอบที่ 2 จนดัชนีไปอยู่ที่ 630 จุด ลดลงจากตอนเปิดตลาด 100 จุด หรือลดลงจากที่ขึ้นมารอบแรก 50 จุด อย่างไรก็ตามดัชนีที่ 630 จุด คิดเป็นติดลบ 10% ของดัชนี จึงต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราว 30 นาที ตามกฎตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 11.30 น.
"รอบแรกมีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) ที่เปิดตลาดร่วงติดฟลอร์ในรอบแรกกลับปรับตัวขึ้นมาตามดัชนี นักลงทุนจึงคิดว่าดัชนีคงไม่ลงต่ำกว่าจุดต่ำสุดในรอบแรก แต่กลับมีแรงขายอีกรอบจนต้องหยุดพักการซื้อขายให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจ"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทันทีที่เปิดให้มีการซื้อขายในเวลา 12.00 น. ดัชนีได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนไม่มั่นใจแต่หลายรายยังลังเล ปรากฏว่ามีการเทขายที่รุนแรงจนดัชนีไปใกล้แต่ 600 จุด หรือลดลง 130 จุด ช่วงดังกล่าวเป็นเวลาประมาณบ่ายโมง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยืนยันว่า จะไม่ปรับหรือยกเลิกมาตรการ 30% อย่างแน่นอน นักลงทุนจึงแย่งกันขายจนดัชนีร่วงไปอยู่ 588 จุด หรือลดลง 142 จุด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับติดลบ 19% ใกล้ระดับ 20% ที่ต้องหยุดการซื้อขายอีกครั้งตามกฎตลาดหลักทรัพย์
"นักลงทุนเชื่อว่าหากหยุดพักการซื้อขายครั้งที่ 2 เป็นเวลา 60 นาที เมื่อเปิดตลาดคงจะร่วงเหมือเปิดการซื้อขายหลังพักครั้งแรก จึงเทขายเกือบหมด หลายรายไม่เต็มใจขายแต่ถูกบังคับขายตามกฎตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย" แหล่งข่าวกล่าวและว่า พอมีการเทขายครั้งใหญ่ที่ระดับต่ำสุดที่ดัชนี 588 จุด ปรากฏว่าหุ้นไม่ร่วงลงอีก การติดลบครั้งนี้จึงไม่ถึง 20% เพราะมีการเข้ามารับซื้ออีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงบ่าย 2 โมงเป็นต้นไปดัชนีตลาดหลักทรัพย์และราคาหุ้นรายตัวก็ปรับตัวต่อเนื่องไปจนปิดตลาดที่ 622 จุด
“อุ๋ย” ยันไม่โง่-แฉเลขา ก.ล.ต.ก็รู้
บ่ายวานนี้ (21 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงการอ่อนค่าของเงินบาทว่า เป็นไปอย่างที่ต้องการ เพราะก่อนหน้านี้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึง 14% ปัจจุบันอยู่ที่ 12% ทางการต้องดึงให้การส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น เพราะเสียเปรียบมามากแล้ว ตอนนี้เราดึงความเสียเปรียบกลับมา เชื่อว่าผู้ส่งออกคงพอใจ
"การส่งออกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะสูงถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี การส่งออกที่เป็นห่วงก็คือวันที่ค่าเงินบาท 35.11 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ ในแง่จิตวิทยาเท่ากับ 33-34 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกขวัญเสีย เราไม่อยากให้เกิดวิกฤตในภาคส่งออก เพราะการส่งออกหมายถึงเศรษฐกิจทั้งหมด รวมถึงการจ้างงานด้วย ส่วนมาร์เก็ตแคปเดี๋ยวก็จะกลับมาเอง คนที่ลงทุนในระยะยาวจะไม่กลัว พวกนักลงทุนระยะสั้นต่างหากที่เอากำไรเข้าออกเร็วๆ"
ส่วนสาเหตุที่ปรับมาตรการฯ เพราะมีคำสั่งขายเพิ่มเติมอีกมาก เป็นข้อมูลจากโบรกเกอร์มาเล่าให้ฟังว่าอย่าให้ไปอีกเลย เพราะจะกระทบขวัญกำลังใจ ทั้งนี้เรื่องเริ่มจากนักลงทุนต่างชาติ เทขายก่อน ซึ่งตรงนี้ตนไม่รู้สึกอะไร ว่าจะขาดทุนหรือไม่ เพราะกำไรไปมากแล้ว แต่ตอนบ่ายนักลงทุนไทยเริ่มออกมาขายตาม และกลัวว่าอีกวันหนึ่ง นักลงทุนไทยจะเป็นเหยื่อ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.บอกให้ช่วยประกาศยกเลิกมาตรการ 30% สำหรับตลาดหุ้น ตนเห็นว่าทำงานใกล้ชิดกันมา 5 ปี ก็เลยไม่ได้คิดอะไร และก่อนหน้านั้นก็เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ได้พิจารณาดีแล้ว
"เมื่อคืนวันที่ 19 ธ.ค. เนื่องจากนางธาริษา ติดธุระที่เชียงใหม่ กว่าจะกลับก็วันที่ 20 ธ.ค. ถึง กทม.เวลา 09.20 น. กว่าจะประชุมเสร็จก็ครึ่งวัน ทุกคนเห็นว่าสายไป" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า วันเดียวกันระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนางธาริษาและนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนได้สอบถามผู้ว่า ธปท. ซึ่งก็เห็นด้วยเพราะไม่ได้หยุดภาพรวม เพราะภาพรวมยังกันไม่ให้เข้าตลาดตราสารหนี้อยู่ เพียงแต่ว่าแน่ใจหรือไม่ว่ากันเงินระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไม่ให้ไหลมาตลาดตราสารหนี้ได้ เพราะปกติจะไหลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในที่สุดพวกโบรกเกอร์และผู้รักษาทรัพย์ บอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะดูแลให้เอง ทุกคนจึงเห็นว่าทำได้ เพราะที่กลัวคือเวลาเงินเข้ามี 3 ช่อง และแต่ละช่องสามารถไหลได้ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าทำได้ ธปท.ก็รับได้
ส่วนที่นักลงทุนต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่ ธปท.กลับมาตรการไปมา กระทบต่อความเชื่อมั่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้กลับมาตรการ ถ้ากลับต้องเลิกทั้งหมด แต่เราไม่ได้เลิกทั้งหมด แต่มีผลข้างเคียงอยู่จุดเดียวมากๆ คือตลาดหลักทรัพย์ พยายามยึดมาตรการเดิมคือกันไม่ให้เงินไหลเข้าและบีบค่าเงินบาท แต่เปิดช่องให้สิ่งที่เป็นปัญหาลดลง ตนคิดว่าคงไม่เป็นไรเพราะยังคงมาตรการใหญ่ไว้ วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ก็ดีขึ้นหน่อย เงินบาทก็ยังอ่อนลงได้อีก เมื่อได้ทั้งสองอย่างก็ถือว่าเกิดประโยชน์กับประเทศ
ต่อข้อถามว่า อย่างนี้ถ้าว่าเป็นค่าโง่หรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า “ไม่โง่หรอกเพราะถ้าไม่ทำ วันนี้คงยุ่งไปแล้ว ค่าเงินบาทคงลดลง 33-34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นก็จะยุ่ง เมื่อเห็นปัญหาแล้วรีบป้องกันดีกว่าให้เกิดปัญหาแล้วมาเสียใจภายหลัง เช่นเดียวกัน เมื่อผมเห็นว่าราคาหุ้นตกเยอะผมก็รีบทำดีกว่ายิ่งผยอง บอกว่าไม่เป็นไร ยึดไว้เดี๋ยวก็เสียเงินอีก เท่านั้นเองทำอะไรให้ประเทศมันได้ดี ตัวเองเสียหน้าหน่อยไม่เป็นไรหรอก”
รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องหาคนรับผิดชอบ เพราะถ้าไม่ออกมาตรการฯ การส่งออกจะมีปัญหาใครรับผิดชอบ ถ้าตนไม่กลับมาตรการฯ ตนก็ต้องรับผิดชอบ ตนก็รีบไปกลับให้อยู่ได้ คือการทำย่อมมีได้มีเสีย แต่ของไทยมันแรงมากเพราะระดับการครอบงำของนักลงทุนต่างชาติในตลาดไทยสูงมากจนทุกคนตกใจ ถึงแม้ฝรั่งจะถืออยู่ร้อยละ 30 ของมูลค่ารวมทั้งหมด แต่เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ที่มีพลัง กลายเป็นพลัง 100 เปอร์เซ็นต์ไป ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยมีต่างชาติครอบงำมากไป ไม่เช่นนั้นผลกระทบจะไม่มากเช่นนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้วยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงกว่า 12 จุด วานนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าไม่นานก็คงจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแน่นอน
"สำราญ" ชี้ “อุ๋ย” ทำลาย ธปท.
วานนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณากระทู้ถามสดของนายสำราญ รอดเพชร สมาชิก สนช.ยื่นถามนายกรัฐมนตรี เรื่องผลกระทบจากการออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท. ว่า เกิดความไม่สง่างาม เพราะรัฐมนตรีไปครอบงำ ธปท.ไปทำลายเกียรติภูมิของ ธปท.ซึ่งรัฐมนตรีอาจไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ในฐานะสมาชิก สนช.ตนเข้าใจได้ แต่รับไม่ได้ แม้เงินจะไกลกลับเข้าประเทศแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถเยียวยาความสง่างามที่เกิดขึ้นได้ ถ้าตนเป็นรัฐบาลหรือเป็น คมช.จะแสดงความรับผิดชอบกับเงินที่วูบไปถึง 8 แสนล้านบาท กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แล้ว โดยส่วนตัวรัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไร
“มีข่าวลือว่าได้ใช้เงิน 1,500 ล้าน เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 37 บาท จริงหรือไม่ และมีเหตุผลอย่างไรที่ใช้มาตรการนี้ มีวาระแฝงเร้นหรือไม่ ถ้าดีจริงถึงเลิกมาตรการเพียงชั่วข้ามคืน”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรชี้แจงว่า การเข้าไปก้าวก่าย ธปท.นั้นเป็นเรื่องสุดท้ายที่ตนจะทำ ตนเคยทำงานอยู่ที่ ธปท.และมีความภูมิใจ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ตนได้คุยกับผู้ว่าการ ธปท.กับเลขาธิการ ก.ล.ต.ตลอด
“ถ้าผมผิดเต็มประตูจะแสดงความรับผิดชอบแน่ ยอมรับว่า มาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันเกิดวิกฤตการส่งออก แต่ผมบอกว่าให้พยายามดูทั้งสองด้าน คือ การบรรเทาปัญหาให้ลดลงด้วย ดังนั้นคงไม่มีอะไรไม่สง่างาม ผมไม่สง่างามไม่เป็นไร แต่ขอให้ประเทศไปรอด”
ธปท.ยันใช้มาตรการ 30% ชั่วคราว
นางธาริษากล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าขึ้นในช่วงนี้ สาเหตุหลักๆ เกิดจากมาตรการสกัดเงินทุนระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ธปท.ออกมาตรการนี้ออกไป อีกทั้งยอมรับว่ามีนักลงทุนต่างชาติบางส่วนได้ทยอยออกไปบาง เนื่องจากมาตรการของเรา อย่างไรก็ตาม ก็มีนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาวได้เข้ามาสอบถามถึงมาตรการดังกล่าว เพื่อที่จะตัดสินใจกลับเข้ามาลงทุนใหม่ในไทยอีกครั้งหนึ่ง
“ขณะนี้แบงก์ชาติยังไม่ได้บอกไม่ได้ว่าตัวเลขเงินลงทุนของต่างชาติไหลออกจำนวนแค่ไหน แต่นักลงทุนต่างชาติที่ขนเงินออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกองทุนต่างประเทศ และพวกที่ขายหุ้นภายหลังจากมาตรการแบงก์ชาติออกไปวันแรก ซึ่งเขาจะได้รับเงินในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามก็มีนักลงทุนหลากหลายรูปแบบก็ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่ต้องการลงทุนระยะยาวก็ได้เข้ามาสอบถามเรา และเข้าใจมาตรการดังกล่าวแล้ว จึงเตรียมจะกลับเข้ามาใหม่ก็มีส่วนนี้ด้วย”
สำหรับประเด็นที่ว่าขณะนี้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้ช้านั้น นางธาริษา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนอะไรก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งขณะนี้ตลาดหุ้นมีการซื้อขายกันน้อยในช่วงปลายปี เพราะอยู่ในช่วงวันหยุด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงต้นปีนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ๆ จะกลับเข้ามาในไทยต่อไป
นอกจากนี้ สำหรับมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสกัดเงินทุนระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ก่อนหน้านี้ธปท.ได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอยู่นั้น อาทิ การถือครองเงินตราต่างประเทศจากเดิมกำหนด 7 วัน มาเป็น 15 วัน และการขยายการลงทุนให้บริษัทหลักทรัพย์เข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ขณะนี้ธปท.กำลังพิจารณาอีกครั้งว่ามีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลดแรงเงินทุนไหลเข้ามายังไทยจำนวนมากเหล่านี้ธปท.ไม่ได้ตั้งใจจะออกมาใช้ในระยะยาว เป็นเพียงการผ่อนผันในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากอยู่ที่ระดับ 35.1-35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงนั้นแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเป็นจริงเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่า ค่าเงินในสกุลภูมิภาคเอเชียกลับแข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินสกุลบาทกลับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยต้องมีมาตรการดังกล่าวออกมาสกัดเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วย
เอกชนประสานเสียง "บาท 38"
นายดุสิต นนทะนาคร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2550 ผู้ส่งออกต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการที่ธปท.ให้สถาบันการเงินหักเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ 30% ถือเป็นมาตรการที่ดี เพราะสามารถดูแลค่าเงินได้ แต่ต้องการให้ดูแลค่าเงินอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกในปีหน้า
“หากรักษาระดับค่าเงินบาทให้แข็งค่าในระดับที่เหมาะสมและแข็งค่าใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาคการส่งออกไทยก็ยังไปได้อยู่ และมีผลผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2550 เติบโตได้ในกรอบ 4-5%” นายดุสิตกล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 36.10 บาท/เหรียญสหรัฐ จากมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท. แต่ภาคเอกชนต้องการให้อ่อนค่าลงมาอีกประมาณ 5% หรือประมาณ 2 บาท คืออยู่ที่ระดับ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ เพราะหากเปรียบเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคแล้ว เงินบาทไทยยังแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่ถึง 13.3% โดยอินโดนีเซีย 7% เวียดนาม 1.9% มาเลเซีย 5.4% ฟิลิปปินส์ 6.9% จีน 3.1% และอินเดีย 0.6% สหภาพยุโรป 10%
“ค่าเงินที่อ่อนค่าลงมาแตะระดับ 36.10 บาท/เหรียญสหรัฐ ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะที่ผ่านมาเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้าของไทย หากไม่ดูแลค่าบาท การส่งออกจะโตลำบาก เพราะตลาดส่งออกเป็นของผู้ซื้อ ถ้าสินค้าของไทยราคาสูงกว่า ผู้ซื้อก็จะไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง”
ทั้งนี้ ประเมินว่าการส่งออกปี 2550 จะโตระดับ 9-11.5% แต่ถ้าไม่ดูแลค่าเงินบาทก็จะเติบโตในระดับเลขตัวเดียว แต่ขีดความสามารถของผู้ส่งออกไทยจะลดลง
นายสุเมธ เหล่าโมราพร ผู้แทนสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท. ยังไม่น่าจะเพียงพอ เพราะเงินบาทในระดับ 36.10 บาท/เหรียญสหรัฐ ถือว่ายังแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ดังนั้น สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการคือดูแลระดับเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจากคู่แข่งมากนัก เพราะขณะนี้ไทยได้สูญเสียตลาดส่งออกข้าวขาวให้กับประเทศเวียดนามไปแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาค่าเงินบาททำให้สินค้าไทยแข่งขันกับจีนได้ยาก โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอ เพราะเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมา 13% ขณะที่จีนแข็งค่าขึ้นเพียง 3% ทำให้สินค้าจากจีนได้เปรียบไทยอยู่ 10% และคงไม่มีผู้ส่งออกคนไหนปรับราคาสินค้ารวดเดียวได้ 10% ภายในไม่กี่เดือน ซึ่งทางผู้ส่งออกเห็นว่ามาตรการที่ธปท.ใช้เมื่อ 2 วันก่อนช่วยได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ปัญหาค่าเงินบาทเริ่มจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้า ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น ผ้าผืน เพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกกลุ่มสิ่งทอไทยอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท/ปี นำเข้า 1 แสนล้านบาท/ปี ถือเป็นกลุ่มที่ได้ดุลการค้ามาโดยตลอด แต่จากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้สัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ตลาดโบ๊เบ๊และสำเพ็งกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก มีการนำเข้าสิ่งทอจากจีนเข้ามาจำนวนมาก
|
|
 |
|
|