Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์25 ธันวาคม 2549
มาตรการค่าเงินบาท “หม่อมอุ๋ย” กิน 2 เด้ง             
 


   
search resources

ปรีดิยาธร เทวกุล, ม.ร.ว.
Stock Exchange




* แม้ตลาดหุ้นจะพินาศจากมาตรการค่าเงินบาท
* แต่เมื่อประเมินใครได้ ใครเสีย พบว่า “หม่อมอุ๋ย” กวาด 2 เด้งแบบไม่รู้เนื้อ
* เด้งแรกจัดการกลุ่มอำนาจเก่าที่ดอดเข้ามาปั่นค่าเงินหวังดิสเครดิตรัฐบาล เท่ากับเป็นการทำลายถุงเงินของคู่ต่อสู้ไปในตัว
* เด้งสองคนใกล้ชิดรัฐบาลดอดเก็บหุ้นราคาถูก จนร่ำรวยกันในชั่วข้ามคืน ....

มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาหลังจากตลาดทุนปิดเมื่อ 18 ธันวาคม 2549 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น 19 ธันวาคม 2549 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รูดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 587.92 จุด ลดลง 142.63 จุด หรือลดลง 19.52% จวนเจียนที่ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายหุ้นเป็นรอบที่ 2 ของวัน

นับเป็นครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ใช้มาตรการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเมื่อเวลา 11.29 นาฬิกา หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง 74.06 จุด หรือลดลง 10.14% จึงหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที และเปิดทำการซื้อขายต่ออีกครั้งในเวลา 11.59 นาฬิกา

หลังจากนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลึกถึง 19.52% เกือบที่จะต้องหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง (หยุด 1 ชั่วโมง) แต่ดัชนีได้ดีดกลับขึ้นไปได้และปิดตลาดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 622.14 จุด ลดลง 108.41 จุดหรือลดลง 14.84% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 72,131.55 ล้านบาท หุ้นปรับตัวลดลง 460 หลักทรัพย์ เพิ่มขึ้น 8 หลักทรัพย์ ไม่เปลี่ยนแปลง 13 หลักทรัพย์

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกมา 25,124.97 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,904.92 ล้านบาท ส่วนลูกค้ารายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ 28,029.89 ล้านบาท

ท่ามกลางหน่วยงานต่าง ๆ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะภาคตลาดทุน ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมถึงโบรกเกอร์ได้ออกโรงเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว

มูลค่าของทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเมินกันว่าลดลงไปในวันเดียวราว 8 แสนล้านบาทจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทในวันดังกล่าวผันผวนอย่างมากเริ่มตั้งแต่การอ่อนค่าลงไปถึง 35.95-35.97 บาท กลับขึ้นมาแข็งค่าที่ระดับ 35.50 ก่อนที่จะอ่อนลงไปที่ระดับ 35.85 บาทอีกครั้ง

รู้กระทบหุ้นแต่ต้องทำ

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคตลาดทุนได้พุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงความผิดพลาดของมาตรการดังกล่าวที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบพังทลาย ด้วยการขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว ซึ่งในระหว่างวันผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมายืนยันว่าจะยังคงใช้มาตรการนี้ต่อไป

แต่ภายใต้ภาพของตลาดหุ้นที่แดงฉาน พร้อมด้วยเสียงก่นดาของบรรดานักลงทุนที่เจ็บตัวไปไม่น้อยจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงกราวรูด ด้วยข้อกล่าวหาว่ามาตรการดังกล่าวไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคตลาดทุน ทั้งๆ ที่บรรดานักเก็งกำไรค่าเงินบาทส่วนใหญ่จะพักเงินในตลาดตราสารหนี้ผ่านการซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรเป็นหลัก

หากประเมินจากการให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในช่วงค่ำของวันที่ 19 ธันวาคม 2549 หลังจากการยอมยกเลิกไม่ใช้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทกับตลาดหุ้นให้ดีจะพบว่า เรื่องเม็ดเงินของบรรดานักเก็งกำไรค่าเงินบาทแบงก์ชาติทราบดีว่ามีการมาพักเงินไว้ที่ตลาดตราสารหนี้ และก็รับรู้ว่าเม็ดเงินเหล่านั้นเข้ามาพักในตลาดหุ้นไม่มาก เนื่องจากในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าตลาดตราสารหนี้ ที่ได้ดอกเบี้ยต่อเนื่องและมีความเสี่ยงต่ำ

“ค่อนข้างชัดเจนว่าแบงก์ชาติและหม่อมอุ๋ยรู้ดีว่า ในตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่งพักเงินใหญ่ของนักเก็งกำไร แต่ทำไมถึงใช้มาตรการสกัดค่าเงินคลุมทั้งตลาดเงินและตลาดทุนในวันนั้นเพียงวันเดียว ก่อนจะมายกเลิกไม่ใช้กับตลาดทุนในช่วงค่ำของวันนั้น” แหล่งข่าวจากวงการการเงินตั้งข้อสังเกตุพร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติม

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่แบงก์ชาติจะไม่รู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจะออกมาในรูปแบบใด แต่ก็บังคับใช้ แม้จะต้องเสี่ยงกับการถูกด่าจากผู้เสียประโยชน์จากกลุ่มคนในตลาดหุ้น ซึ่งถือว่าการใช้มาตรการในวันดังกล่าวมีนัยยะที่มากกว่าการสกัดกั้นนักเก็งกำไรค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว

เด้งแรกสกัดกลุ่มป่วนรัฐบาล

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกล่าวว่า จุดประสงค์ของมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทนอกเหนือจากเพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนที่จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายอื่นที่แฝงเข้ามาด้วย เรียกว่าออก 1 มาตรการแล้วได้ประโยชน์มากกว่า 1 โดยผลอีกด้านหนึ่งถือเป็นการสกัดกั้นการเข้ามาสร้างความวุ่นวายของกลุ่มอำนาจเก่า

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ถือเป็นวันครบรอบ 3 เดือนของการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพรรคไทยรักไทย เมื่อค่ำของวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีความพยายามของกลุ่มการเมืองเดิมที่จะเข้ามาดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยการเข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า

ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มการเมืองเดิมทราบดีว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นทุกขณะจะทำให้ภาคการส่งออกมีปัญหา หลังจากนั้นก็จะกระทบไปยังกลุ่มเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงที่ยังเหนียวแน่นกับกลุ่มอำนาจเดิม หากทางการไม่ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้ก็จะเสื่อมความนิยม พร้อมทั้งเปิดทางให้มีการเรียกร้องกลุ่มอำนาจเดิมกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง

ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องออกมาตรการที่ค่อนข้างแรงมาสกัดการเข้ามาสร้างความวุ่นวายผ่านตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันแทนที่มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทจะตีกรอบแค่ตลาดเงินเพียงอย่างเดียว กลับไม่ระบุพื้นที่ครอบคลุมของมาตรการ ทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบไปด้วย

หากสังเกตุให้ดีจะพบว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทราบดีว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบกับตลาดหุ้น แต่การประกาศใช้มาตรการที่มีผลต่อตลาดหุ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 นั้น ทำให้ได้ประโยชน์ตามมาเพราะนอกจากจะสกัดกลุ่มที่จะเข้ามาสร้างเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นแล้ว ยังเป็นการสกัดกั้นเส้นทางการเงินของกลุ่มอำนาจเดิมที่มีฐานอยู่ในตลาดหุ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

เห็นได้จากเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคมที่มีการสกัดเส้นทางการเงิน ทำให้การนัดหมายในการชุมนุมในวันนั้นต้องเลื่อนออกไป นั่นคือความสำเร็จของการสกัดกั้นเส้นทางการเงินที่จะมาเป็นตัวหล่อเลี้ยงกิจกรรมการทวงบัลลังก์คืน

ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นทรุดฮวบ แม้จะทำให้นักลงทุนบางรายเจ็บเนื้อเจ็บตัวไปบ้าง แต่ก็ทำให้มูลค่าเงินลงทุนของฐานอำนาจเดิมหายไปไม่น้อย ความต้องการในครั้งนั้นเพื่อให้กลุ่มเดิมคายหุ้นที่ถือผ่านนอมินีในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการคำนวณดัชนีออกมา เพราะในระหว่างวันแบงก์ชาติได้ออกมายืนยันตลอดว่าจะไม่ยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าว

จะเห็นได้ว่ามาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เป็นทั้งของนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มอำนาจเดิมที่มีเงินสกุลดอลลาร์อยู่มากแล้วยังสามารถทลายฐานเงินในตลาดหุ้นของคนกลุ่มนี้ได้อีกทางหนึ่ง

เด้งสองคนใกล้ชิดเก็บหุ้น 300 ล้าน

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ต่างกันเทขายนั้น ในจังหวะนั้นจะมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงลงไปถึง 142 จุดและตีคืนขึ้นมาจนปิดตลาดที่ติดลบ 108 จุด ช่วงที่ดัชนีตีคืนกว่า 30 จุดนี้บางกลุ่มที่กล้าเข้าไปช้อนซื้อ

“มีคนใกล้ชิดกับหม่อมอุ๋ยบางคนเข้าไปซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้ทำการซื้อขายหลังจากหยุดการซื้อขายมา 30 นาที ซึ่งในขณะนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังไหลรูดลงมาเกิน 100 จุด เงินที่ใช้ซื้อหุ้นในครั้งนี้มีไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยซื้อผ่านโบรกเกอร์ใหญ่รายหนึ่งดำเนินการในนามของนอมินีแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้จะต้องทราบข้อมูลดีว่าในวันที่ 19 หลังมาตรการออกฤทธิ์หุ้นจะตกหนัก” เซียนหุ้นรายใหญ่กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขายังมองในแง่ดีว่า มาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาสามารถสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ถือเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือความไม่รอบคอบของแบงก์ชาติเองที่ประเมินผลกระทบจากตลาดหุ้นน้อยเกินไป โดยคาดกันว่าตลาดหุ้นไม่น่าจะลงเกิน 10% หรือประมาณ 70 จุด

“หม่อมอุ๋ย” ตะลึงคำสั่งขายแสนล้านรีบกลับลำ

ทั้งนี้ การกลับลำยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าวกับภาคตลาดหุ้นนั้น เขาเล่าว่าบรรดาโบรกเกอร์ที่เข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเอายอดคำสั่งขายของนักลงทุนต่างประเทศไปให้ดู โดยมียอดสั่งขายออกมาในวันรุ่งขึ้น (20 ธันวาคม) อีกราว 1 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อทางการเห็นยอดคำสั่งขายที่ตั้งไว้ล่วงหน้าดังกล่าวถึงต้องตัดสินใจยกเลิกมาตรการดังกล่าวที่ใช้กับภาคตลาดหุ้น

ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 20 ธันวาคมดีดคืนขึ้นมา 11.16% ปิดตลาดที่ 691.55 จุด เพิ่มขึ้น 69.41 จุด มูลค่าการซื้อขาย 55,217.89 ล้าบาท นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายสุทธิ 2,872.67 ล้านบาท รายย่อยได้โอกาสขายสุทธิ 6,866.06 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,738.73 ล้านบาท

แม้การยกเลิกมาตรการดังกล่าวต่อภาคตลาดทุนยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมสูญเสียเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวไปไม่น้อย และค่าเงินบาทมีความเป็นได้สูงที่จะอ่อนค่าลงเกินกว่าระดับ 36 บาทตามความต้องการในใจของธนาคารแห่งประเทศไทย

***********

“เทมาเส็ก” เจ๊งแล้วเจ๊งอีก

ภายใต้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกฤทธิ์เมื่อ 19 ธันวาคม 2549 ที่เล่นเอาตลาดหุ้นไทยแดงเถือกตกมากที่สุดเกินกว่า 100 จุด ทำสถิติให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยที่นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นสุทธิออกมากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับหุ้นที่มีการจับตากันกลุ่มหนึ่งคือ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN หลังจากที่มีการเปลี่ยนมือจากตระกูลชินวัตรมาเป็นเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ กลุ่มลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์จากราคาเสนอซื้อที่ 49.25 บาท โดยซื้อต่อจากพินทองทา ชินวัตร พานทองแท้ ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้นหรือ 49.59% มูลค่า 73,271.2 ล้านบาท จากนั้นได้ทำคำเสนอซื้อหุ้น SHIN ทั้งหมด เบ็ดเสร็จเฉพาะส่วนที่ซื้อหุ้นสามัญเทมาเส็กถือหุ้นชิน คอร์ป ภายใต้ชื่อของซีดาร์ โฮลดิ้งส์และแอสเพน โฮลดิ้งส์ รวม 3,076.76 ล้านหุ้น ซึ่งต้องใช้เงินในการซื้อทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 151,530 ล้านบาท และต้องใช้เงินอีกส่วนหนึ่งรับซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ

สถานการณ์ที่เลวร้ายจากตลาดหุ้นในวันที่ 19 ธันวาคมทำให้หุ้นชินคอร์ปปรับลดลงกว่า 24% จนปิดตลาดที่ 22 บาท หากประเมินจากราคาปิดในวันดังกล่าวเทียบกับ ราคาที่ซื้อต่อจากตะกูลชินวัตรและราคาที่ต้องทำคำเสนอซื้อ เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่เคยขาดทุนประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาทเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ที่วันนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 29 บาท

ในวันที่หุ้นไทยตกถล่มถลายนั้น ยิ่งทำให้ “เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์” ขาดทุนในชิน คอร์ปไปแล้วกว่า 81,211 ล้านบาท หรือขาดทุนไปแล้วกว่า 53.59% จากเงินลงทุนทั้งหมด ไม่นับหุ้นบริษัทลูกที่ชิน คอร์ปเข้าไปถือ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ราคาลดลงเกือบ 21% ปิดตลาดที่ 66.50 บาท บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ร่วงมากกว่า 21% ราคาปิดที่ 1.20 บาท บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ปิดที่ 6.50 บาท และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ลดลง 12.17% ปิดตลาดที่ 3.32 บาท

แม้หลังปิดตลาดจะมีการยกเว้นการใช้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้กับตลาดหุ้น จนทำให้หุ้นดีดขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นกับทุนของรัฐบาลสิงคโปร์รายนี้คงต้องกลับไปทบทวนถึงการเข้าซื้อกิจการที่เชื่อมโยงกับภาคการเมืองในประเทศต่าง ๆ

*************

'2 สภาฯ' ชี้ส่งออกไม่ได้รับอานิสงส์ค่าเงินบาท!

“สภาอุตฯ - หอการค้า” ประสานเสียง ชี้ ธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการสกัดค่าเก็งกำไรค่าเงินบาท เผยค่าเงินบาทที่อ่อนลงยังไม่มีผลต่อการส่งออกต้องดูสถานการ์ค่าเงินไปอีก 2-3สัปดาห์ พร้อมย้ำหากมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อาจต้องหยุดกิจการ-ปลดคนงานออก

สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาตรการสกัดค่าเงินบาทวานนี้ (19 ธ.ค.) นั้น ทางสภาอุตฯพอใจในระดับหนึ่งเพราะเป็นมาตรการสกัดการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างประเทศ ถือว่าธปท.ทำถูกต้องแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดทุนเป็นตลาดที่เซนซิทีฟ (sensitive)มากซึ่งอาจจะมีผลกระทบในระยะยาวต่อไปได้ จึงเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะต้องเร่งอธิบายสร้างความเข้าใจนักลงทุนให้ชัดเจนว่ามาตรการที่ออกมานั้นต้องการทำอะไร ต้องการสกัดพวกเก็งกำไรเท่านั้น ใช่ไหม ไม่ใช่ต้องการออกมาตรการแบบเหวี่ยงแหทำให้กระทบต่อนักลงทุนไปหมด ซึ่งสิ่งเหล่าจะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้น

“ที่หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล ) ออกมากลับลำตอนเย็นนั้นวานนี้นั้น เข้าใจว่าธปท.มีข้อมูลบางอย่างที่เราไม่รู้ อาจจะมีออเดอร์สั่งเทขายจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาลก็เป็นไปได้ สิ่งที่หม่อมอุ๋ยพูดนั้นถือว่าเป็น การพบกันครึ่งทางระหว่าง ธปท.กับนักลงทุนต่างประเทศ” ประธาน ส.อ.ท. ระบุ

อย่างไรก็ตาม มาตรการของธปท.ที่ออกมานั้นผู้ส่งออกที่ระดมทุนในตลท.จะไม่รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบเข้าไปลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่การเก็งกำไร และค่าเงินบาทก็ไม่ได้อ่อนมากมายแค่ 2% เท่านั้นยังไม่มีผลต่อผู้ส่งออกมากนัก แต่ก็ถือว่าหายใจได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมามีแน้วโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคต และ จากที่คุยกับผู้ประกอบการเบื้องต้นจะรอดูสถานการณ์อีกสัก 2-3 สัปดาห์ว่ามาตรการที่ออกมาภายหลังจากนี้จะช่วยผู้ส่งออกได้หรือไม่ ซึ่งหากปล่อยไว้ให้ค่าเงินบาทแข็งต่อไปผลตามมาที่จะหลีกเลี่ยงไมได้คือส่งผลต่อการลงทุนในการผลิตทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียหาย หรือ อาจจะต้องหยุดกิจการสุดท้ายก็นำไปสู่ปลดคนงานออก

นอกจากนี้แล้วการแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของไทยลดลง เพราะเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งกว่าเท่าตัว จึงต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง

ด้าน ดุสิต นนทะนาคร เลขาธิการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ ธปท.ออกมาตรการดังกล่าวเพราะมีความจำเป็นเพื่อป้องกันค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปให้เกิดความสมดุลที่ไม่ปล่อยให้ค่าเงินแข็งจนเกินไป แน่นอนที่ต้องมีผลกระทบตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะสั้น แต่เชื่อเถอะยังไงนักลงทุนต้องเข้ามาอยู่แล้วหากธปท.ปรับปรุงแก้ไขต่างๆให้เข้าที่เข้าทางแล้วยังไงเขาก็ต้องเข้ามาเหมือนเดิม อย่างไรก็ดีต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะเชื่อว่าธปท.จะมีมาตรการออกมาภายหลังในอีก 2-3วันนี้

สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นจะมีผลให้การส่งออกสดในขึ้นนั้น ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดเพราะค่าเงินยังไม่เสถียรภาพผู้ประกอบการคงต้องรอดูสถานการ์ต่อไปอีกสักพัก

**************

แบงก์ชาติจ่าย “ยาแรง” สกัดค่าเงินบาท

ต้นปี 2549 เงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่าชัดเจนมากขึ้น หลังเงินทุนต่างประเทศเริ่มไหลทะลักเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียและไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและกระทบต่อผู้ส่งออกโดยตรง

การที่ค่าเงินบาทแข็งอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ทุบสถิติเก่าได้ในหลายครั้งหลายครา และล่าสุดทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี แข็งขึ้นจนเกือบหลุดระดับ 35 บาท ร้อนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องอัดยาระงับความร้อนแรงค่าบาทก่อนทำลายสถิติ ทิ้งทวนปีจอ

ค่าเงินบาทไม่ใช่เริ่มแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมเท่านั้น แต่เงินบาทส่งสัญญาณการแข็งค่าตั้งแต่กลางปี 2548 หากแต่ระยะเวลาดังกล่าวยังไม่รุนแรงหรือส่อแววว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ถึงขั้นที่ ธปท.ออกโรงประกาศมาตรการช่วยเหลือดูแลค่าบาท แม้ผลกระทบส่วนหนึ่งเริ่มตกสู่กลุ่มผู้ทำธุรกิจส่งออกบ้างแล้วก็ตาม

ผู้ชำนาญทางเศรษฐศาสตร์หลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นเกิดจากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง และแนวโน้มดังกล่าวก็เห็นได้อย่างชัดขึ้นเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ราคาพุ่งขึ้นถึงขีดสูงสุดจนบางเบาใกล้สู่ฟองสบู่ที่พร้อมแตกได้ทุกเมื่อ ทำให้นักลงทุนนักเก็งกำไรทั้งหลายที่ทิ้งเม็ดเงินมหาศาลไว้ในสหรัฐฯ เริ่มขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงพาเหรดถอนเม็ดเงินมาลงภูมิภาคเอเชียแทน

สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นชัดในปลายปี 2548 จนปี 2549 วัดระดับความรุนแรงนั้นอยู่ในขั้นของการทุบสถิติ แบบรายสัปดาห์ และรายเดือน โดย ธันวาคม 2548 เงินบาทแข็งสุดในรอบสัปดาห์ 6 เดือน ซึ่งแตะอยู่ที่ระดับ 40.83บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังเห็นว่าค่าบาทยังไม่หลุดจาก 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั้งปลายเดือนมกราคม 2549 ค่าเงินบาทวิ่งไต่ขึ้นมาระดับ 39.12บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 เดือน

ตอนนั้นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล่าว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรค่าเงินด้วย ไม่ใช่เงินที่ไหลเข้ามาเพื่อลงทุนระยะยาวเพียงอย่างเดียว พร้อมกับยอมรับอีกว่าในบางช่วงได้เข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินแข็งขึ้นเร็วเกินไป

แต่ความร้อนแรงของเงินบาทที่แข็งค่าก็ยังไต่ระดับต่อเนื่อง แต่ยังนับว่าโชคดีที่ค่าเงินที่แข็งขึ้นนั้นได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าทั้งภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ไทยก็เป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ ผลจากตรงนี้ทำให้ความกังวลของภาคส่งออกยังไม่ถึงจุดตรึงเครียด เพราะระดับการแข่งขันยังไม่เสียไปตราบใดที่ภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบเยี่ยงเดียวกัน

จะมีบ้างก็ความกังวลหากค่าเงินบาทแข็งค่าสูงกว่าค่าเงินอื่นๆ ภูมิภาคเอเชีย ผลจากตรงนี้กระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทยและทำให้เสียเปรียบคู่แข่งทางการค้ายิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ค่าเงินบาท เมื่อ 9 มกราคม 2549 อยู่ที่ระดับ 39.775 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น0.73% ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 1.77% เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 1.06% เงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 1.16% และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 0.75% ก็จะทำให้การค้าขายของไทยไม่เสียเปรียบคู่แข่งมากนัก

ปัญหาของผู้ส่งออกไทยหลังค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่องนั้น คือความสูญเสียที่ไม่สามารถรักษาระดับกำไรของผู้ประกอบการได้นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะว่า ควรนำเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่าง ๆ มาใช้ โดยรูปแบบที่ง่ายสุด คือการกระจายแหล่งตลาดส่งออก และลดการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

การทำลายสถิติของค่าเงินบาทยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน 2549 ค่าบาทแตะ 37.96 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี ความกังวลของภาคธุรกิจ และรัฐเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น จากปลายปี 2548 ค่าเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มาเดือนเมษายน กระโดดมาอยู่ที่ 37.96บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงขึ้นถึง 8%เลยทีเดียว และเป็นการเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

ปลายเดือนตุลาคม 2549 มาทุบสถิติเก่าอีกครั้ง ค่าบาทแตะที่ 36.86บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี และศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2549 ทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยในส่วนของภาคเอกชน และตลาดหุ้น มูลค่าสุทธิ 370,000 ล้านบาท ในขณะที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 อยู่ที่ 180,000 ล้านบาท ดังนั้นเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างถล่มทลายเช่นนี้จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหมือนได้ใจ ค่าเงินบาทยังคงแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำลายสถิติอีกครั้งในรอบ 9 ปี ที่ 35.26บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและกลายเป็นว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วขึ้นมาจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ เป็นทุนระยะสั้นที่มีการเคลื่อนย้ายอย่างผิดปกติ

เพราะทันทีที่ ธปท.ออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรระยะสั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หลังตลาดหุ้นปิดทำการ ในวันรุ่งขึ้นมาตรการดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากนักลงทุนในตลาดหุ้นทัน โดยเทขายหุ้นจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงลง 62 จุด ในช่วง 5 นาทีแรกของการซื้อขาย ด้วยแรงเทขายหุ้นทุกตัวในกระดานในมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นโดยเคลื่อนไหวต่ำสุดที่ 665.09 จุด ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อย มาเคลื่อนไหวติดลบประมาณ 50 จุด

ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเสียยิ่งกว่าการปฏิรูปการเมือง ยึดอาจรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ขนาดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องใช้มาตรการห้ามการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาทีในช่วงเวลา 11.29-11.59 น.

ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ยังบอกด้วยว่า มาตรการของ ธปท.ค่อนข้างรุนแรงมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจึงอยากให้มีการทบทวนมาตรการใหม่ โดยเน้นใช้มาตรการกับตลาดเงิน ตลาดทุน ที่พบการเก็งกำไรชัดเจนเป็นหลัก

เช่นเดียวกับ วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลท. ที่เห็นตรงกันว่า มาตรการของธปท. ล่าสุดนั้น มีผลอย่างมากต่อตลาดหุ้น พร้อมเล่าเพิ่มเติมว่า ทำให้กองทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน ตลท.หายไป เนื่องจากมาตรการแบงก์ชาติมีข้อจำกัดต่อการลงทุน ทำให้การหาส่วนต่างผลตอบแทนเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีความสำคัญสำหรับตลาดหุ้นไทย เพราะจากข้อมูลของ ธปท.มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์

โดยมาตรการล่าสุดที่ ธปท. ออกมาเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรระยะสั้น จนทำให้ค่าบาทแข็งมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน คือ การให้สถาบันการเงินตั้งสำรองเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 30% ส่วนอีก 70% แลกเป็นเงินบาท ซึ่งลูกค้าที่สถาบันการเงินกันเงินไว้ จะขอคืนเงินได้เมื่อครบกำหนด 1 ปี หากจะนำเงินกลับคืนก่อน จะได้รับเงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของเงินที่กันไว้ แต่ได้ยกเว้นให้แก่ผู้ส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศเมื่อนำเงินเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวแม้จะได้ผลดีแต่อาจกระทบการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ค่าบาทจำต้องใช้มาตรการดังกล่าว

"เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้แบงก์ชาติออกมาควบคุมเพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพ หลังจาก พบการนำเข้าเงินทุนระยะสั้นเพื่อการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นมาก โดยในเดือนพฤศจิกายน มีเงินทุนเข้าประเทศจากสัปดาห์ละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคมทำให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ และยังมีความผันผวน จึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ตามมาตรการณ์ที่ออก หากแต่มาตรการนี้ยกเว้นกับเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก หรือเงินที่นิติบุคคลไทยได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ"

ส่วนก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทมาก่อนแล้ว ด้วยการห้ามสถาบันการเงินขายตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ให้กับผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (นอน-เรสซิเดนต์) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นที่ร่วงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้ายที่สุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ตัดสินใจไม่นำเอามาตรการนี้มาใช้กับตลาดหุ้น คงไว้ควบคุมเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในตลาดพันธบัตรเท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us