Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2538
"มิติใหม่ "ยูทีวี" ผ่านใยแก้วนำแสง ที่ยังไม่มีอะไรแตกต่าง"             
 


   
search resources

ไอบีซี ซิมโฟนี, บจก.
ยูทีวี
ไทยสกายทีวี
สุภกิต เจียรวนนท์
TV




"วันนี้ เราขอต้อนรับคนกรุงเทพฯ สู่สาระบันเทิง มาตรฐานโลกกับยูทีวีรวม 30 กว่าช่อง สด 24 ชั่วโมง กับข่าวซีเอ็นเอ็น เอชบีโอ แบบชัดใส เอ็มทีวี สะใจวัยแบบนี้...เป็นบริการพิเศษหนึ่งเดียว จากยูทีวีที่คุณกดรีโมตคอนโทรลสั่งได้เลยค่ะ...." เสียงใส ๆ ของโฆษกสาวในส่วนหนึ่งของโฆษณาชุดเปิดตัว ของยูทีวี เคเบิลทีวี ที่ออกอากาศในช่วงไพรมไทม์ ของทีวีช่องต่าง ๆ มาตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยความยาว 60 วินาที

นี่คือ ส่วนหนึ่งของการเปิดมิติใหม่ของเคเบิลทีวีในไทย ที่เป็นการส่งผ่านข่ายใยแก้วนำแสง จากเดิมที่มีการส่งสัญญาณผ่านระบบไมโครเวฟ หรือ MMDS จากสองผู้ให้บริการไอบีซี และไทยสกายทีวี

แม้ว่าการแพร่ภาพและกระจายเสียงเคเบิลทีวีของยูทีวี ถูกกำหนดมาตั้งแต่มกราคม 2538 แต่ที่ผ่านมายูทีวีทำได้เพียงแต่ทดลองให้บริการ เฉพาะบริเวณสุขุมวิทเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ยูทีวีต้องเผชิญ คือ การเชื่อมเครือข่ายเคเบิลทีวี ที่ยูทีวีจะต้องเดินสายเคเบิล COAXIAL จากชุมสายโทรศัพท์ย่อย (RCU) ที่เชื่อมต่อมาจากข่ายสายไฟเบอร์ออปติกมายังบ้านพักอาศัย ซึ่งต้องใช้เวลาในการติดตั้งไม่ใช่น้อยที่จะให้ครอบคลุมลูกค้าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศรวมทั้งการหาซื้อซอฟต์แวร์รายการต่าง ๆ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ ในช่วงเวลาอันสั้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการเคเบิลทีวีทั้งสองรายเดิม ที่เร่งรับมือการเปิดตัวของยูทีวี ด้วยการเร่งควานหาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเข้ามาในเครือข่ายกันเต็มที่

แม้ว่ากำหนดเปิดบริการของยูทีวีจะล่าช้าออกไป แต่คู่แข่งขันต่างก็ประเมินสภาพของยูทีวีค่อนข้างดี เพราะความเป็นยักษ์ใหญ่อย่างซีพี ที่เป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก ที่สามารถให้บริการด้วยลูกเล่นใหม่ เช่น เปย์เปอร์วิว หรือวีดีโอออนดีมานด์ได้ ไม่นับเงินลงทุน ช่องทางจัดจำหน่าย และที่สำคัญการมีพันธมิตรที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์รายการบันเทิงจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีพันธมิตรอย่างไนเน็กซ์ ซึ่งมีข่ายสายในธุรกิจบันเทิงเป็นจำนวนมาก อาทิ เวียคอม บ๊อกซ์บัสเตอร์ เจ้าของธุรกิจเคเบิลทีวี รวมทั้งการมีบริษัทในเครืออย่างเอ็มทีวี ผู้ผลิตรายการเพลงอันลือลั่น

ด้วยการถูกประเมินจากคู่แข่งนี้เอง ทำให้คู่แข่งขันที่ครองตลาดมาดั้งเดิมก็ต้องระแวดระวังมากขึ้น ไอบีซีเคเบิลทีวี ที่แม้จะเป็นอันดับ 1 ในตลาดเคเบิลทีวีอยู่ในเวลานี้ ก็ต้องเร่งไปอีกก้าวด้วยการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจบันเทิงท้องถิ่น แกรมมี่เอ็นเตอร์เม้นท์ และสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี

อย่างที่รู้ว่าแกรมมี่ เป็นค่ายเทปเพลงอันดับหนึ่งของไทย มีธุรกิจบันเทิงอยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต และระยะหลังยังได้หันมาสร้างละคร ที่มีเรตติ้งอยู่ในขั้นดี ส่วนของช่อง 7 ก็ได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ตลอดจนรายการกีฬาต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

การจับมือระหว่างไอบีซี แกรมมี่ และช่อง 7 สี จึงเป็นการผนึกกันระหว่างเจ้าของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์เพื่อเกื้อกูลธุรกิจระหว่างกันอย่างลงตัว

หรือแม้แต่ไทยสกายทีวี ได้มีการปรับปรุงผังรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเน้นไปที่รายการท้องถิ่น คือ การผลิตข่าว และภาพยนตร์ในย่านเอเชีย ซึ่งไม่เป็นที่นิยมจากผู้ชมเท่าที่ควร จนต้องเป็นฝ่ายเดินตามไอบีซีมาตลอด ซึ่งในระยะหลังไทยได้อุดช่องโหว่ของตัวเอง โดยหันไปซื้อรายการดัง ๆ จากต่างประเทศ เช่น ข่าว CNN INTERNATIONAL และ TNT & CARTOON NETWORK

ความเคลื่อนไหวของไอบีซี และไทยสกายคอม เป็นสิ่งที่ยูทีวีไม่สามารถมองข้ามได้เลย

1 กันยายน หลังการรอคอย ยูทีวีดีเดย์เปิดตัวด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือ การยกเว้นค่าติดตั้ง ในราคาปกติ 3,700 บาท ให้กับผู้สมัครสมาชิกในช่วงเดือนกันยายน แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่บริการ ซึ่งผู้บริหารยืนยันว่า ติดตั้งข่ายเคเบิลไปแล้ว 70% ของพื้นที่เป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนค่าบริการรายเดือน จะเริ่มจัดเก็บในอัตรา 800 บาท เท่ากับไอบีซีเคเบิลทีวี

ส่วนรายการที่ยูทีวีนำเสนอ จากที่โฆษณาไว้ว่าจะมี 30 กว่าช่อง ในช่วงเปิดตัวจะมีเพียง 10 ช่อง แบ่งเป็นช่องมาตรฐาน 8 ช่อง ซึ่งมีทั้งภาพยนตร์ ข่าวต่างประเทศ กีฬา และช่องพิเศษอีก 2 ช่อง คือ ข่าวซีทีเอ็น ภาษาจีนกลาง สำหรับคนจีนที่อาศัยอยู่ในไทย และช่องเพลงคันทรี เพื่อเจาะตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

การเปิดตัวของยูทีวีมีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ค่าเช่าเครือข่ายเคเบิล ที่ยูทีวีจะต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับซอฟต์แวร์รายการทั้ง 10 ช่อง ที่ยูทีวีนำมาเสนอให้กับลูกค้าไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากรายการที่ไอบีซี และไทยสกายทีวีนำเสนออยู่ในเวลานี้ เท่าใดนัก

ยูทีวี มีข่าวซีเอ็นเอ็น ไอบีซี และไทยสกายทีวีก็มี ซึ่งฝ่ายหลังมีทั้งแปลเป็นภาษาไทย และช่องภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน ยูทีวีมีช่องภาพยนตร์จาก HBO เหมือนกับไอบีซี ยูทีวีมี TNT & CARTOON NETWORK ที่ไทยสกายทีวีก็แพร่ภาพไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ มิวสิกวิดีโอจากทั่วโลกที่ไม่ได้แตกต่างไปจากกันนัก และดูเหมือนว่า ไอบีซี และไทยสกายทีวี อาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นสมาชิก เมื่อเปรียบเทียบราคาปกติของทั้งสามค่ายแล้ว ราคาของยูทีวีแพงกว่าสองค่าย

การเปิดตัวของยูทีวี จึงทำให้คู่แข่งขัน ทั้งไอบีซีและไทยสกายทีวี เบาใจลงไปเป็นกอง

สุภกิต เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทายาทของธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งถูกมอบให้ดูแลธุรกิจอาหารสมอง ที่ธนินท์เคยนิยามให้ กล่าวยอมรับว่า รายการของยูทีวีไม่ได้แตกต่างไปจากทั้งสองรายจริง ๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ความคมชัด และการมีบริการเปย์เปอร์วิว การจากสถานีได้เปย์เปอร์วิว เป็นรายการพิเศษนอกเหนือจากปกติ ที่สมาชิกสามารถเลือกชมรายการตามต้องการ โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลากำหนด เหมือนเป็นโรงภาพยนตร์ส่วนตัว ที่สมาชิกสามารถกดรีโมตคอนโทรล เพื่อเลือกดูภาพยนตร์ หรือรายการบันเทิงจากจอทีวีได้ทันที

ภาพยนตร์ที่นำมาฉายในเปย์เปอร์วิว จะต้องเป็นหนังชนโรง หรือหนังชุดที่ฉายในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีฉายในไทยเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพราะบริการนี้ลูกค้าจะต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งยูทีวีประมาณไว้ว่าจะเก็บเรื่องละ 50 บาท

เปย์เปอร์วิว จึงเป็นจุดขายเดียวที่ผู้บริหารยูทีวีพยายามนำเสนอ เพราะคู่แข่งขันทั้งสองราย แม้จะปรับเปลี่ยนไปใช้การส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม หรือระบบดีทีเอชแล้วก็ตาม แต่กว่าจะให้บริการเปย์เปอร์วิวได้ก็คงอีกนาน

แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า บริการเปย์เปอร์วิวยังไม่ได้เปิดให้บริการได้ในวันนี้ตามที่โฆษณาไว้แต่อย่างใด โดยผู้บริหารของยูทีวียืนยันเพียงว่า จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี เพราะอยู่ระหว่างเจรจากับค่ายหนังใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และก็มีวี่แววว่าบริการเปย์เปอร์วิวคงจะถูกเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับการเปิดให้บริการหรือไม่

ที่สำคัญมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เปย์เปอร์วิว แม้จะเป็นบริการแปลกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกให้มากขึ้น แต่เป็นบริการเสริมที่จะดึงดูดลูกค้าได้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น เพราะการที่สมาชิกต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงเรื่องละ 50 บาท

ยามนี้คงได้แต่รอคอยว่า ยูทีวีจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ มานำเสนอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 135,000 ราย ตามที่กำหนดไว้ได้หรือไม่เท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us