|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
“เกริกไกร” ยันไม่ปรับเป้าหมายส่งออกแม้บาทแข็งโป๊ก แนะผู้ส่งออกพัฒนาคุณภาพสินค้าสู้ อย่าทำแค่ลดราคาไปแข่ง หอการค้าไทยหนุนมาตรการ ธปท. ทำบาทอ่อนค่าลงทันที ผู้ส่งออกยิ้มได้ พร้อมแนะหากมีการเก็งกำไรอีกปรับสำรองเพิ่มเป็น 40-50% ยอมรับตลาดหุ้นไม่ชอบแน่ ผู้ส่งออกชี้รัฐให้ยาแรง แต่ช้าไปนิด ต้องรอผล 2-3 วันถึงจะชี้ชัดได้ เผยจากนี้ไปจะรู้ว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจริงหรือไม่ หรือแค่ภาพลวง นักวิชาการแนะธปท.ผ่อนคลายมาตรการ
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2550 ว่าจะมีอัตราการขยายตัว 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นเดิม เพราะไม่จำเป็นต้องปรับ แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น และอยากบอกตลาดอย่าตกใจ และไม่ควรตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทให้เข้าสู่จุดสมดุลอยู่
“มีคนเรียกร้องไม่อยากให้ค่าเงินแข็งขึ้น เพราะการเก็งกำไร ถ้าต่างประเทศเห็นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเราดีจริง และค่าเงินแข็งขึ้น เราควรจะดีใจ และต่อไปการแข่งขันต้องแข่งขันที่คุณภาพของสินค้า ไม่ใช่ลดราคาไปแข่ง แต่การที่ค่าเงินแข็งขึ้นขณะนี้ เพราะการเก็งกำไร มาตรการที่รัฐบาลออกมา จะทำให้การเก็งกำไรลดลงหรือหมดไป”นายเกริกไกรกล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยพอใจกับมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมา เพราะเป็นมาตรการที่ได้ผล โดยขณะนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไป 40-50 สตางค์แล้ว
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น โดยการที่ดัชนีปรับลดลงอย่างรุนแรง จะเป็นการปรับฐานดัชนีไปในตัวและส่งผลดีในระยะยาว เพราะหากภาคการส่งออกเดินหน้าต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้น และมีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในอนาคต
“ต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทต่อไป เพราะหากยังมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่ เชื่อว่าธปท.คงเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการที่ให้สถาบันการเงินกันเงินตราสำรองต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากสัดส่วน 30% เป็น 40-50% แต่ไม่ใช่การออกมาตรการใหม่ ด้านผลกระทบต่อตลาดหุ้น รัฐบาลคงต้องเลือกว่าจะช่วยอะไรระหว่างผู้ส่งออกและนักลงทุน ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้แน่นอนคนเล่นหุ้นต้องไม่ชอบ แต่สำหรับภาคส่งออกที่มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมอยู่ด้วย ก็จะได้ผลดี”นายพรศิลป์กล่าว
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ดี แม้จะออกมาบังคับใช้ช้าไปหน่อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการไหลเข้าของเงินต่างประเทศจำนวนมากจนเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า และทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหากธปท.ออกมาตรการเร็วกว่านี้ คาดว่าผลกระทบไม่น่าจะมากเช่นนี้
“ถือว่าเป็นยาแรงมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐรู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร อย่างที่รมว.อุตสาหกรรมบอก ว่ามีการไหลเข้ามาของเงินที่ผิดปกติ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ค่าเงินบาทเป็นปกติได้ แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดคงต้องดูอีก 2-3 วัน”นายเดชกล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังใช้มาตรการเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่คงจะไม่อ่อนค่าลงไปถึง 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐยังคงอ่อนตัวอยู่
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการส่งออก โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มคงต้องมีการประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังเชื่อว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 4-5%
นางวิไล เกียรติศรีชาติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จะทำให้เห็นภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยว่ามีเสถียรภาพจริงจนทำให้เงินบาทแข็งค่าสูงเหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในแง่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและค่าเงินบาท
“สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการคืออัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพไม่ใช่พลิกผันไปมาจนให้การส่งออกชะลอตัวเช่นที่ผ่านมา และหลังมาตรการนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ทั้งลูกค้าในต่างประเทศและผู้ส่งออกกล้าตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมาลูกค้า จะ wait and See ค่าเงินบาท จนทำให้การส่งออกชะลอตัว จากเดิมที่คาดว่า ปี 2549 ส่งออกอาหารสำเร็จรูปจะขยายตัว 12-15% ก็เหลือแค่ ไม่เกิน 10% " นางวิไลกล่าว
สำหรับค่าเงินบาทหลังการประกาศใช้มาตรการฯ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นและลดลงจากนี้ 1 บาท แต่ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากอัตราแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคนี้ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการส่งออกจากมาตรการนี้ฯ จะใช้เวลาพิจาณาสักระยะ เพราะต้องประเมินหลังจากมีการชำระเงินค่าสินค้าจริง โดยเงินบาทแข็งค่าเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะสะท้อนผลกระทบในช่วงไตรมาส 1 ปี 2550
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งผิด และเหมาะสมสำหรับการดูแลเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร แต่ปัญหาคือ เป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ต้องการเงินบาท และทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบด้วย เพราะเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นเงินระยะสั้น ซึ่งธปท.น่าจะปรับปรุงมาตรการใหม่ โดยดำเนินการแบบผ่อนคลายมากขึ้น
“หากดำเนินมาตรการรุนแรงเกินไป เงินทุนต่างประเทศก็จะหายไปหมด ที่สำคัญเงินทุนระยะสั้นไม่ใช่จะเลวทั้งหมด เงินทุนที่ดีๆ ก็มี ดังนั้น ธปท.จึงน่าจะปรับมาตรการ โดยปรับลดเงินที่ถูกหักสำรองลงเหลือ 3-5% และมุ่งไปที่เงินที่ถือครองไม่เกิน 3-6 เดือนจะดีกว่า ส่วนตลาดหุ้นคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบตลอดระยะเวลาที่ธปท.ใช้มาตรการนี้อยู่ แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการเมือไร ตลาดหุ้นก็น่าจะดีขึ้น” นายตีรณกล่าว
|
|
 |
|
|