หากเอ่ยถึงชื่อ อ. สนามชัยเขต จ. ฉะเชิงเทราในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินไปพร้อมกับเขาอีด่าง
สถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์อพยพของชาวเขมรที่หนีสงครามเข้ามา ด้วยความเป็นอำเภอที่ห่างชายแดนเพียง
50 กม. ภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้อนุรักษ์ขนาดใหญ่ และป่าเสื่อมโทรมที่นำมาทำไร่ได้บ้าง
บวกกับพื้นดินที่เป็นดินร่วนปนทรายเสียส่วนใหญ่ซึ่งเหมาะกับการปลูก "ยูคาสิปตัส"
ต้นไม้ประเภทหนึ่งที่ฮิตเป็นอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นผลเสียกับหน้าดิน
ด้วยความที่ไม่มีสิ่งยั่วยวนใจให้นักธุรกิจไปเพิ่มมูลค่าให้กับดินแดนแถบนี้
ดินแดนแห่งนี้จึงถูกมองข้ามตลอดมา
เมื่อโครงการเมืองใหม่ ได้เล็งมาที่ อ. สนามชัยเขต โดยเฉพาะกิ่งอำเภอท่าตะเกียบที่หมายมั่นปั้นมือจะเนรมิตดินแดนที่ถูกสาปแห่งนี้ให้เป็นสวรรค์บนดินขึ้นมา
ผู้คนชาวท่าตะเกียบจึงร่าเริงแจ่มใส เพราะมีความรู้สึกว่าส้มใบใหญ่ได้หล่นใส่เขาอย่างจังแล้ว
ในช่วงปี 2536 หลังจากที่ได้มีประกาศว่าจะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่กิ่ง อ.
ท่าตะเกียบเท่านั้นปรากฏว่าดินแดนที่ไม่เคยร้อนระอุไปด้วยการเก็งกำไรที่ดิน
กลับอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยนายหน้าค้าที่จากทั่วสารทิศ จนทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกิดการลอบสังหาร
เนื่องด้วยการขัดผลประโยชน์โดยในช่วงแรกมีการลงมือสังหารกันอย่างครึกโครมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันถึง
4 ครั้ง รวมผู้เสียชีวิตถึง 6 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ท่าตะเกียบไม่เคยเกิดการฆ่าฟันขึ้นมาเลย
สาเหตุที่มีการฆ่าฟันกันมากนั้น เป็นเพราะที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
จากเริ่มแรกซึ่งพื้นที่อยู่ติดถนนจะมีราคาไม่เกินหมื่นกว่าบาทต่อไร่ ได้มีการปั่นราคาขึ้นมาจนพื้นที่ที่อยู่ติดหรือตรงข้ามกับที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าตะเกียบได้ขึ้นไปเป็นไร่ละ
1-2 แสนบาทในชั่วพริบตา และมีผู้พร้อมจะปั่นให้สูงขึ้นไปอีก หากมีการปล่อยที่ดินผืนนี้ออกมา
"ร้านอาหารท่าตะเกียบที่อยู่ตรงข้ามศูนย์ราชการอำเภอนี้ ตอนนั้นซื้อขายกันห้องละ
2 แสนบาทแล้ว เจ้าของก็เป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในท่าตะเกียบนี้ ซึ่งหลังจากโครงการเมืองใหม่เงียบไป
ราคาก็ยังไม่ตกลงมา" แหล่งข่าวจากศูนย์ราชการอำเภอเปิดเผย
สำหรับที่ดินในท่าตะเกียบนั้น มักจะมีการซื้อขายโดยผ่านนายหน้า โดยที่สนามชัยเขตนั้น
มักจะใช้เอกสารสิทธิ์ ส่วนที่ท่าตะเกียบนั้นมักอาศัยบารมีเป็นเครื่องรับประกันในการซื้อขาย
เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องที่ โดยเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในสนามชัยเขตก็มีเช่นตระกูลนันทมานพ
ตระกูลดำเนินชาญวณิชย์ผู้ดำเนินการสวนป่ากิตติ และบริษัทในเครือซีพีหรือของตระกูลตันเจริญ
ของรมช. มหาดไทยคนปัจจุบัน ส่วนที่ท่าตะเกียบก็มีของกำนันวีอีกนับหมื่นไร่
หรือของกำนันเป๊าะ สมชาย คุณปลื้มกว่า 100 ไร่
นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่เคยติดต่อเข้าไปซื้อที่ดินแถบสนามชัยเขตและท่าตะเกียบ
ก็มีอีกหลายรายเช่น วัฒนา อัศวเหม หรือ ดร. ประภา วิริยะประไพกิจ ประธานกรรมการบริษัทสหวิริยาโอเอ
ซึ่งในช่วงแรกก็มีข่าวว่า พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ส่งคนไปกว้านซื้อที่ดินแถบนี้ไว้เช่นกัน
ซึ่งปรากฎว่าหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผู้ที่ซื้อที่ดินแถบนี้ หรือกำลังจะเก็งจะซื้ออยู่
ต่างรีบผ่องถ่าย หรือละสายตาไปจากแถบนี้ทันที
การบูมจากที่ดินดังกล่าวได้ส่งผลให้ธุรกิจอื่น ๆ เช่นธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรเช่นธนาคารกรุงไทย
สาขาสนามชัยเขต ซึ่งเป็นธนาคารแห่งเดียวในดินแดนแถบนั้น ซึ่งเปิดสาขามาได้เกือบ
4 ปีแล้ว โดยในช่วงแรกที่เปิดทำการนั้น กิจการยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้แต่เมื่อมีการตื่นเรื่องเมืองใหม่
จนมีเงินสะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการประกาศอนุมัติโครงการเมืองใหม่มีเงินไหลเวียนผ่านแบงก์หลายสิบล้านบาท
แต่หลังจากโครงการไม่มีการเดินหน้าต่อ ธนาคารก็กลับไปสู่ภาวะปกติดังเดิม
แหล่งข่าวจากศูนย์ราชการอำเภอท่าตะเกียบเล่าให้ฟังว่า จากความตื่นตัวโครงการเมืองใหม่นี้เอง
ทำให้มีการเตรียมการยกฐานะกิ่งอำเภอแห่งนี้ ให้เป็นอำเภอภายในปีหน้าที่จะถึงนี้
โดยในระหว่างนี้ได้มีการจัดทำป้ายใหญ่ข้างหน้าโดยใช้คำว่าศูนย์ราชการอำเภอท่าตะเกียบ
ซึ่งถือว่าเป็นที่ว่าการอำเภอแห่งแรกที่ใช้คำนี้
"ในช่วงแรกที่มีการประกาศอนุมัติโครงการมีผู้สนใจภาคเอกชนหลายรายมาขอข้อมูลเกี่ยวกับกิ่งอำเภอนี้บ้าง
แต่พอโครงการไม่เดิน ก็ไม่มีรายใดโผล่มาอีกเลย ในส่วนของรัฐบาลก็ยังไม่มีความแน่ชัดแต่ประการใดว่า
จะย้ายชาวบ้านที่ถูกเวนคืนไปอยู่ที่ใด แต่ทางเราก็มีการมองหาพื้นที่ไว้แล้ว
หากรัฐบาลสั่งการให้หาพื้นที่เราก็พร้อมจัดการให้ทันที"
ชาวบ้านรายหนึ่งของท่าตะเกียบให้ทัศนะว่าในช่วงแรกมีความตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่กิ่งอำเภอแห่งนี้จะได้ลืมตาอ้าปากเสียที
หลังจากแห้งแล้งกันดารมานาน แต่เมื่อไม่มีอะไรคืบหน้าเช่นนี้ ก็ได้แต่เพียงหวังว่า
ทุกอย่างคงไม่เลวร้ายไปกว่าที่เคยเป็นมา
"ชาวบ้านเราหวังให้อย่างน้อยควรจะมีถนนดี ๆ ขนาดไม่ต้องถึง 6 เลนที่บอกไว้ก็ได้ตัดเข้ามาถึงหมู่บ้านเรา
แค่นี้ก็พอใจแล้ว ส่วนที่จะเกิดเมืองใหม่ขึ้นหรือไม่นั้น เราไม่อยากจะคิดถึงมันแล้ว
ท่าตะเกียบวันนี้ จึงยังคงเป็นเมืองใหม่ในกระดาษ ที่ดูจะเป็นการสร้างความฝันที่ไร้ปลายทางให้ประชาชีดีใจชั่วครั้งชั่วคราวดังที่เคยเป็นมาในอดีต