ความปรารถนาที่จะสรรค์สร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับความแออัดของกรุงเทพฯ นั้น
เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว จนล่าสุดแนวความคิดเรื่องเมืองใหม่ผุดขึ้นมามากมายราวดอกเห็ด
แต่แนวความคิดเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำและผลประโยชน์ของผู้ทำงานรอบข้าง
นับแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มบุกเบิกความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ
ไปยังเพชรบูรณ์ เนื่องด้วยได้มีการคาดการณ์แล้วว่ากรุงเทพฯ จะต้องแออัดยัดทะนานอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นั้น
จากจุดนี้เองแนวความคิดเมืองหลวงใหม่ หรือ เมืองใหม่ ก็ได้มีการสืบทอดความคิด
ที่จะขยายความฝันให้เป็นจริงให้ได้ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ณ วันนี้ที่มาเลเซียได้ประกาศ
VISON 2000 ที่จะเนรมิต "ปุตราจายา" ให้เป็นเมืองใหม่ยุคไฮเทคนั้น
แต่เมื่อหวนมาดูเมืองไทยความคิดเรื่องเมืองใหม่ ก็ยังวิ่งไปมาเหมือนวัวพันหลักเช่นเดิม
ความคิดเรื่องเมืองใหม่แม้ว่าจะหยั่งรากมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มเอาจริงเป็นรูปเป็นร่างในสมัยนายธานินทร์
กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้เริ่มศึกษาการตั้งเมืองใหม่ที่ตลิ่งชันและในสมัย
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ขยายความคิดต่อที่จะใช้ อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี
เป็นสมรภูมิเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่แล้วด้วยความแปรผันทางการเมือง ทำให้ความคิดทั้งหลายดังว่า
ถูกใส่ลิ้นชักปิดตายไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดอีกเลย
จนถึงรัฐบาลของชวน หลีกภัย ความคิดเรื่องเมืองใหม่ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
ทั้งนี้เนื่องด้วยมีแรงผลักดันสำคัญจากพรรคความหวังใหม่ โดย พล.อ. ชวลิต
ยงใจยุทธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการเร่งรัดให้กรมที่ดิน
และสำนักผังเมืองซึ่งเป็นกรมการผังเมืองในปัจจุบัน ทอดสายตาไปให้รอบ กทม.ในระยะ
100-200 กม. ว่าที่ใดเหมาะสมจะเนรมิตให้เป็นเมืองใหม่ได้บ้าง
ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่น่าจะเป็น 3 แห่งคือ 1. กำแพงแสน และนครชัยศรี
จ. นครปฐม 2. อ. บ้านนาและองครักษ์ จ. นครนายก 3. อ. สนามชัยเขตและกิ่ง อ.
ท่าตะเกียบ จ. ฉะเชิงเทรา และหลังจากผ่านการพิจารณาด้านต่าง ๆ แล้ว เนื่องด้วย
2 เขตแรกอยู่ในบริเวณภาคกลาง ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ การสร้างเป็นเมืองใหม่ขึ้นมาก็เท่ากับทำลายความอุดมสมบูรณ์เพื่อมาเป็นเมืองใหม่
ซึ่งจะได้ไม่เท่าเสีย จึงเหลือเพียงทางเลือกสุดท้าย คือ อ. สนามชัยเขต และกิ่ง
อ. ท่าตะเกียบซึ่งแม้เขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าเสื่อมโทรม แต่ด้วยความกันดารของพื้นที่ที่มีความคุ้มค่ามากกว่าที่อื่น
สายตาทุกคู่จึงพุ่งเป้ามาที่นี่ โดยหวังว่าเมืองใหม่ที่ตั้งตารอจะเกิดขึ้นได้จริงในครั้งนี้
ความหวังที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงนั้น เนื่องจากกระแสผลักดันจากผู้นำสูงสุดของกระทรวงนอกจาก
พล.อ. ชวลิต แล้วชำนิ ศักดิเศรษฐ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ที่ดูแลงานสำนักผังเมืองและเป็นผู้ผลักดันเรื่องเมืองใหม่มาตั้งแต่ต้น ก็ได้เข้ามาล้วงลูกเรื่องนี้อย่างถึงลูกถึงคน
แหล่งข่าวจากกรมการผังเมืองเปิดเผยว่า ในช่วงนั้น รมช. ชำนิจะมาขลุกอยู่ที่กรมเกือบทุกวัน
และให้ความมั่นอกมั่นใจว่าที่ท่าตะเกียบและสนามชัยเขต จะได้เกิดเป็นเมืองใหม่ในยุคของนายกฯ
ที่ชื่อชวน หลีกภัยอย่างแน่นอน
แต่แล้ว รมช. ชำนิก็ต้องแห้วไปตามระเบียบ
นอกจากกระแสผลักดันให้เกิดเมืองใหม่จะมาจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว เมืองใหม่ตามแนวความคิดของหน่วยงานเช่นการเคหะแห่งชาติ
ก็ได้เตรียมผลักดันโครงการเมืองใหม่ กคช. ที่ อ. เมืองฉะเชิงเทราโดยเตรียมเนื้อที่ไว้มากถึง
7-8,000 ไร่ ได้มีการนำเสนอกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่เรื่องจะยังชะงักอยู่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ "สภาพัฒน์"
ก็ได้เตรียมจะผลักดันโครงการเมืองใหม่ที่บริเวณรอบสนามบินแห่งชาติแห่งที่
2 ที่หนองงูเห่า ขณะที่ กทม. เองก็มีโครงการยกฐานะ อ. ชานเมืองหลายจุดให้รวมกันเป็นเมืองบริวาร
(Satellite Town) ในอนาคตอีกด้วย
จากความเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางของการเกิดเมืองใหม่ที่ผ่านมา สามารถสรุปปัจจัยความล้มเหลวได้ว่า
ประการแรกเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์ (Vision) ที่แหลมคมและชัดเจนของผู้นำการเมืองแต่ละยุค
เราจะพบว่าความคิดที่จะสรรค์สร้างเมืองใหม่ในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมานั้น เป็นไปเพื่อสนองตอบแรงผลักดันทางการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น
จะพบว่าสิ่งที่ขาดไปของผู้นำการเมืองทุกยุค คือความกล้าที่จะประกาศวิสัยทัศน์ของตนอย่างแน่ชัดว่าจะยกให้จังหวัดใดเป็นเมืองใหม่
เนื่องด้วยผู้นำเหล่านั้นทราบดีว่า การประกาศออกไปนั้น ย่อมเป็นการผูกมัดตัวเองกับอนาคตที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
แหล่งข่าวผู้คลุกคลีกับโครงการเมืองใหม่ให้ทัศนะว่าผู้นำการเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจ
มักจะถูกมองว่า กำลังจะผลักแรงสนับสนุนไปช่วยจังหวัดที่เป็นฐานคะแนนเสียงของตัวเองหรือไม่
จึงทำให้ผู้นำการเมืองจะต้องชั่งใจให้ดีหากจะเลือกจังหวัดของตนขึ้นมาเป็นเมืองใหม่
"ในช่วงที่ชวน หลีกภัยเป็นนายกฯ นั้น ก็มีการเพ่งเล็งจากสาธารณะอย่างมากกว่า
รัฐบาลชุดนั้นทุ่มงบประมาณไปบำรุงทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรังมากเกินไปหรือไม่
จนนายกฯ ชวนต้องออกมาตอบโต้ทุกครั้งจนไม่กล้าจะมีวิสัยทัศน์เป็นของตัวเอง
ซึ่งตามปกติวิสัยของนักการเมืองทุกคน ก็จะต้องสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นที่เลือกตนขึ้นมาเป็นสำคัญ"
นอกจากการขาด Vision แล้ว ผู้นำการเมืองที่ผ่านมามักจะยึดติดกับการแก้ไขปัญหาเมืองใหม่
เพื่อจะผ่อนคลายปัญหาความแออัด และปัญหาด้านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ
โดยไม่คำนึงหลักการที่ถูกต้องว่าน่าจะเป็นไปเพื่อสร้างเมืองใหม่ เพื่อการเติบโตในแต่ละภูมิภาค
เพื่อให้เมืองใหม่มีความเป็นเอกเทศของตัวเองไม่เกาะติดกับกรุงเทพฯ อีกต่อไป
ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ให้ทัศนะว่า แนวความคิดในการแก้ไขเมืองใหม่ที่ผ่านมานั้นเกิดจากพื้นฐานที่ผิดพลาดดังกล่าวทั้งสิ้น
สิ่งที่ควรจะกระทำนั้นก็คือ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น
เพราะการให้ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเองในระดับสภาตำบลเท่านั้นไม่เพียงพอสำหรับเมืองไทย
การกระจายให้หน่วยงานหลักระดับกระทรวงไปประจำภูมิภาคต่าง ๆ มีอำนาจตัดสินใจเฉพาะภูมิภาคนั้น
ๆ ไปเลย ก็จะเป็นการโยกย้ายข้าราชการส่วนหนึ่งจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคโดยปริยาย
"จุดนี้นอกจากจะทำให้อำนาจส่วนกลางเล็กลงแล้ว การอพยพโยกย้ายครอบครัวของข้าราชการไปสู่ภูมิภาคก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติด้วย
ซึ่งจะส่งผลให้ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะหลั่งไหลไปรองรับ ในขณะที่ราคาที่ดินก็จะต้องแพงขึ้นด้วยอย่างแน่นอน"
ปัจจัยประการต่อมาที่มีผลต่อความล้มเหลวของเมืองใหม่นั้นก็คือ การขาดศูนย์รวมทั้งนโยบายและการปฏิบัติในการสร้างเมืองใหม่เป็นหนึ่งเดียว
โดยขณะนี้โครงการเมืองใหม่ที่อยู่ในมือของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นไปในลักษณะของต่างฝ่ายต่างทำทั้งสิ้น
ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้ขาดทิศทางที่ถูกต้องว่าเมืองใหม่ที่เหมาะกับเมืองไทยนั้นควรจะไปในทิศทางใด
โดยน่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะมีการตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงขึ้นมา ซึ่งเคยมีดำริขึ้นมาก่อนหน้า
อย่างเช่นกระทรวงก่อสร้างและโยธา หรือกระทรวงถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ซึ่งจะรับเรื่องนี้เข้ามาดูแล
มติ ตั้งพานิช ผู้คลุกคลีและผลักดันโครงการเมืองใหม่ที่ท่าตะเกียบมาตั้งแต่ต้นเปิดเผยว่า
ตนเองได้เคยเสนอให้มีการก่อตั้งกระทรวงก่อสร้าง และการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยที่
พล.อ. ชวลิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ถูกบอกปัดมาทุกครั้ง โดยอ้างว่ายังไม่ถึงเวลา
จนเป็นเรื่องธรรมดาที่หน่วยงานที่คุมเรื่องเมืองใหม่จะต้องมีความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง
เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลโดยตรง
โดยที่เห็นเด่นชัดในปัจจุบันคือ ความขัดแย้งระหว่างกรมการผังเมืองและสภาพัฒน์ในโครงการเมืองใหม่ที่ท่าตะเกียบ
ทางสภาพัฒน์ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยที่เมืองใหม่ท่าตะเกียบจะย้ายไปอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ
มากเกินกว่า 200 กม. ในขณะที่สภาพัฒน์เสนอว่าการมีเมืองใหม่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก
โดยอยู่ใกล้เคียงกับสนามบินหนองงูเห่านั้นถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ในความเห็นของสภาพัฒน์
ความขัดแย้งระหว่างสภาพัฒน์และกรมการผังเมืองครั้งนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า
ในภาวะปัจจุบันที่เมืองใหม่ท่าตะเกียบไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากผู้ผลักดันมาตลอดเช่น
พล.อ. ชวลิตไม่ได้ควบคุมโดยตรงในจุดนี้รวมถึงอดีต รมช. ชำนิ ที่ไม่มีบทบาททางการเมืองในช่วงนี้แล้ว
การไม่เห็นด้วยของสภาพัฒน์ต่อโครงการนี้ ก็ทำให้โอกาสเกิดของโครงการนี้เป็นไปยากขึ้นอีก
โดยเป็นที่ทราบกันในวงการว่า การตีตรายางเห็นด้วยกับโครงการใดของสภาพัฒน์
นับว่ามีน้ำหนักเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
จากปัจจัยความล้มเหลวทั้งหลาย หากจะเจาะเข้าไปดูโอกาสเกิดของเมืองใหม่แต่ละที่แล้ว
ในส่วนของเมืองใหม่ที่ท่าตะเกียบซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,084 ตาราง กม. หรือประมาณ
677,500 ไร่ ในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติแควระบบสียัด ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ
1.7 ล้านไร่ และเป็นป่าเสื่อมโทรมมากกว่าร้อยละ 50 และมีประชากรปัจจุบันประมาณ
34,000 คนนั้น ถือได้ว่ามีข้อมูลเพียบพร้อมในการเกิดเป็นเมืองใหม่ได้แห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ได้มีการเตรียมพร้อมนโยบายหลายประการไว้รองรับความเป็นเมืองใหม่ในอนาคต
เช่นด้านสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดให้เป็นเมืองที่มีการนำเอาสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ได้อีก
และได้กำหนดหลักการสำคัญให้ใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay
Principle) มีแนวความคิดใหม่ในการวางผังเมืองที่จะประสมประสาน การใช้ที่ดินในส่วนที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นมากเข้าด้วยกัน
กำหนดให้มีศูนย์กลางชุมชน 3 รูปแบบคือ ศูนย์กลางเมือง ศูนย์กลางรอง และศูนย์กลางระดับเล็กสุด
การคมนาคมขนส่งเป็นหัวใจหลักประการสำคัญของเมืองใหม่เช่นท่าตะเกียบ การกำหนดโครงข่ายระบบทางหลวงพิเศษ
(Motor Way) หรือทางหลวงสายหลักเส้นใหม่ โครงการข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ต่อเชื่อมกับโครงข่ายเดิมจากกรุงเทพฯ-มาบตาพุด
รวมถึงสนามบินภายในระดับประเทศ
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้มีการกำหนดให้มีระบบสาธารณูปโภคต่าง
ๆ เข้าไปอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน โดยเป็นการวางเครือข่ายให้เชื่อมโยงตามแนวอาคาร
มีศูนย์กลางพลังงาน ที่เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ การเผาขยะ
หรือโรงผลิตน้ำเย็นโดยใช้ความร้อนที่เหลือใช้จากการผลิตไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีโรงบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
ศักดา ทองอุทัยศรี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาเมือง และโครงการเมืองใหม่
กรมการผังเมืองเปิดเผยว่า แผนงานและนโยบายทั้งหมดได้มีการวางไว้เรียบร้อย
ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ต้องมาติดขัดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
"ในส่วนของกรมการผังเมืองพร้อมจะร่วมผลักดันทางด้านปฏิบัติอย่างเต็มที่ในฐานะผู้ปฏิบัติ
โดยคงต้องรอให้ทางการเมืองตัดสินเสียก่อนว่าจะเอาเช่นไร แต่ต้องยอมรับว่าการขาดช่วงในการพัฒนาไป
มีผลให้นักลงทุนที่เคยติดต่อและสนใจจะเข้ามาร่วมทำโครงการในส่วนของภาคเอกชนนั้น
ซบเซาไปด้วย"
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว ณ พื้นที่ท่าตะเกียบเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ได้มีการเตรียมการจะผลักดันเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีในเร็ว
ๆ นี้ โดยสุชาติ ตันเจริญซึ่งมีตำแหน่งเห็น รมช. กระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันและเป็น
ส.ส. ของจังหวัด ซึ่งมีบ้านเกิดที่แถบอำเภอสนามชัยเขตด้วยนั้น พร้อมจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ในส่วนของเมืองใหม่แห่งอื่นเช่นของการเคหะแห่งชาตินั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมการจัดซื้อที่ดิน
จากผู้เสนอขายทั้งสิ้น จำนวน 3 แปลง บริเวณอำเภอเมือง จ. ฉะเชิงเทรา รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ
7-10,000 ไร่ ซึ่งด้วยความคล่องตัวของการเคหะฯ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงทำให้การเคหะฯ
สามารถดำเนินเป็นแผนต่อเนื่องได้และเนื่องด้วยเป็นโครงการที่ค่อนข้างชัดเจน
การแทรกแซงทางการเมืองจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
แต่เนื่องด้วยเมืองใหม่ของการเคหะฯ เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้อาศัยเท่านั้น
จึงไม่ค่อยตรงกับแนวความคิดเมืองใหม่สมบูรณ์แบบมากนัก จึงบรรเทาปัญหาความคับคั่งไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
ส่วนเมืองใหม่ของสภาพัฒน์ และเมืองบริวารของ กทม. นั้นก็เป็นโครงการในกระดาษ
ที่จะต้องรอการผลักดันอีกหลายยก โดยในส่วนของเมืองใหม่ที่หนองงูเห่าเท่านั้น
แม้ว่าจะมีธนาซิตี้ไปปูทางไว้ให้แล้ว แต่การปลุกปั้นให้สนามบินหนองงูเห่าเสร็จโดยเร็ว
ก็จะช่วยให้การตัดสินใจของนักลงทุนที่จะไปพัฒนาที่ดินแถบนั้นรวดเร็วตามไปด้วย
ส่วนเมืองใหม่ของ กทม. นั้น เนื่องด้วยโครงการในมือของ กทม. มีอีกมากมาย
ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัญหาจราจรที่จะต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล การริเริ่มที่จะสร้างเมืองใหม่ซึ่งเป็นโครงการใหญ่เช่นกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
โดยเฉพาะในช่วงที่ ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบันจะนั่งในเก้าอี้ไปอีกไม่เกิน
1 ปี การเริ่มต้นงานใหม่ขนาดใหญ่เช่นนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
ข้อสำคัญก็คือ เมืองใหม่ทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากเมืองใหม่ของการเคหะฯ
แต่อย่างใดที่จะไว้รองรับความต้องการของที่อยู่อาศัยและโครงการของภาคเอกชนเท่านั้น
แต่รูปแบบเมืองใหม่เช่นนี้ อาจจะเป็นรูปแบบที่เราต้องทำใจยอมรับก็เป็นได้
เนื่องจากโครงการเมืองใหม่เต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นรูปแบบที่น่าจะเป็นไปได้ของเมืองใหม่แบบไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นก็คือ
การผสมผสานระหว่าง Vision และผลประโยชน์ของนักการเมืองรวมถึงภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมโครงการให้พอเหมาะ
นั่นหมายถึงการเป็นเพียง "เมืองใหม่เฉพาะกิจ"
มติ ตั้งพานิชให้คำนิยามเกี่ยวกับเมืองใหม่เฉพาะกิจว่า เมืองใหม่ในอนาคตไม่ควรกำหนดลงไปตายตัวว่า
จะต้องเป็นเมืองข้าราชการรวมภาคเอกชนสมบูรณ์แบบ อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
โดยแต่ละเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องทดแทน (Complement) ส่วนที่ขาดของเมืองอื่นได้ด้วย
โดยอาจจะมีการแบ่งเมืองเป็นเมืองอุตสาหกรรม, เมืองเงิน, เมืองวัฒนธรรม หรือแม้แต่เมืองทางด้านการสื่อสาร
"จนถึงวันนี้ผมท้อพอสมควรแล้วกับการผลักดันเรื่องเมืองใหม่เกือบ 3
ปีที่ผ่านมา แล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้ามีคนตั้งข้อสังเกตว่า คงต้องรอให้พลเอกชวลิตขึ้นเป็นนายกฯ
ก่อน เมืองใหม่สมบูรณ์แบบจึงจะได้เกิดขึ้น แต่ผมรู้ว่าถ้าหากพลเอกชวลิตได้ขึ้นเป็นนายกฯ
จริงแล้ว ท่านต้องมี Vision เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเด่นชัดแน่นอน"
เมืองใหม่ของไทยในวันนี้ จึงยังไม่บรรลุซึ่งความสำเร็จแม้แต่ในเรื่องแนวคิดให้ตรงกัน
จนเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่า เมื่อถึงปี 2000 ในขณะที่มาเลเซียฉลองเปิดเมืองใหม่ที่ปุตราจายานั้น
เราได้เริ่มเดินหน้าเรื่องเมืองใหม่กันแล้วยัง