"งานเวิลด์เอ็กซ์โป" ถือเป็นภาพประทับและความใฝ่ฝันในใจของชาวไทยจำนวนไม่น้อย
หลายคนหวังที่จะให้ไทยมีโอกาสจัดงานในลักษณะเช่นนั้นบ้าง หลังจากที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมาแล้ว
จากงาน "เวิลด์เทค' 95" ที่ประสบความสำเร็จในแง่ผู้คนอย่างล้นหลาม
หรืออย่างน้อย ๆ หลายโครงการที่มาแสดงในงานก็น่าสนใจและชื่นชม นี่คือจุดเริ่มต้นเพื่อไปสู่ยอดของความใฝ่ฝันระดับโลกได้หรือไม่
1 กันยายน 2535 คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอานันท์ 2 ได้เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์การ
B.I.E. (BUREAU International des Exposition) ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาองค์การสหประชาชาติและมีหน้าที่ควบคุมการจัดงาน
EXPO ของกลุ่มประเทศสมาชิกประเทศไทยจึงมีสิทธิ์ยื่นขอจัดงาน WORLD EXPO ได้นับแต่วันที่
ครม. เห็นชอบ ส่วนจะได้รับโอกาสจัดเมื่อไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แตต่หากประเทศเราต้องการจัดจริง ๆ ก็ต้องรอไปอีก 15 ปี เพราะคิวที่มีอยู่ในปี
คศ. 2000 เยอรมันได้เป็นเจ้าภาพและ คศ. 2005 ญี่ปุ่นได้ไป ดังนั้นตามกติกาที่
B.I.E. กำหนดไว้ ประเทศสมาชิกจะต้องจองล่วงหน้าก่อน ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.
2010 จึงจะเป็นปีชิงดำกันว่าใครจะได้จัด
แต่จากการงานเวิลด์เทค 95 นี้ผู้ใหญ่ในภาครัฐหลายคนพูดกันว่าเมื่อเราจัดเวิลด์เทค
95 ซึ่งเสมือนเป็นพรี-เอ็กซ์ โป ได้ ก็น่าจะสามารถจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปได้
นั่นหมายความว่า ไทยกำลังจัดงานเวิลด์เทค'95 เป็นใบผ่านงาน ซึ่งจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น
รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดงานเวิลด์เทค'95
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มีความเป็นไปได้"
ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ในการที่จะจัดเวิลด์เอ็กซ์โป เพราะคนในภาครัฐต่างขานรับ
และเห็นพ้องกันหลายท่านแล้วจากระยะแรกที่เป็นเพียงการพูดจากันเท่านั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกหลายประการอาทิ
ความพร้อมของรัฐบาลมีมากน้อยแค่ไหน ทั้งเรื่องการสนับสนุนและงบประมาณว่าจริงจังมากน้อยแค่ไหนการอำนวยความสะดวกในพิธีการศุลกากร
การเข้าเมืองการขนส่งและเคลื่อนย้ายที่พัก การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย
การประกันภัย การตรวจโรคพืช ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรซึ่ง
B.I.E. จะมีข้อกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะจัดจะต้องมีโรงแรมอย่างน้อยกี่แห่ง จะต้องมีเส้นทางคมนาคม
เครื่องบินกี่เที่ยว รถไฟกี่เที่ยว รถยนต์กี่เที่ยว ร้านอาหารมาตรฐานมีกี่ร้าน
ระบบสุขาภิบาลเป็นอย่างไร
โดยหากเปรียบเทียบขนาดเวิล์ดเอ็กซ์โปกับเวิลด์เทคที่โคราชขณะนี้ เวิลด์เอ็กซ์โปจะใหญ่กว่าเวิลด์เทค
3-4 เท่าตัวในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ซึ่งหากเราจะจัด รศ. ดร.
วันชัยประมาณคร่าว ๆ ไว้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท งบตัวนี้ไม่เกี่ยวกับงบดำเนินการก่อสร้างอาหาร
หรือค่าสถานที่หรือระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นงบจัดการ (Operation) เท่านั้น
ซึ่งหากคิดทั้งหมดน่าจะอยู่ประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น งบเท่านี้อาจจะเทียบไม่ติดเลย เพราะญี่ปุ่นซึ่งเคยจัดที่โอซาก้า
ใช้ไป 85,000 ล้านบาท มีการทำทางรถไฟใต้ดินวิ่งจากตัวเมืองเข้าไปในงาน เฉพาะทางรถไฟก็
3 หมื่นล้านบาทแล้ว งบประชาสัมพันธ์อีกหมื่นกว่าล้าน ส่วนเกาหลีใต้ซึ่งเคยจัดเช่นกัน
ใช้ไปกว่า 60,000 กว่าล้านบาท เฉพาะบริษัทซันตอรี่เขาลงทุนเป็นร้อยล้าน เพื่อสร้างพาร์วิลเลี่ยนใหญ่
ๆ ไม่มีขายเหล้าแม้แต่ขวดเดียว หรือจำหน่ายสินค้าอะไรทั้งสิ้น ไม่มีโฆษณาซันตอรี่แม้แต่นิดเดียว
มีป้ายซันตอรี่เล็ก ๆ เท่านั้น แล้วภายในอาคารแสดงให้เห็นอีกว่าเราจะต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
อย่างบริษัท มิตซูบิชิก็เช่นกัน มีชื่อบริษัทตัวนิดเดียวข้างในไม่มีตัวหนังสือโฆษณาบริษัทเลย
ซึ่งหากเปรียบกับภาคเอกชนของไทยแล้ว ยังอีกไกล
บริษัทที่จัดแล้วเข้าข่ายเอ็กซ์โปได้ ก็มีอาทิ บริษัทยูโนแคล ซึ่งไม่มีสินค้าของตนอยู่เลย
และบริษัทบุญรอดบิเวอรี่ก็เช่นกัน ส่วนเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมากนั้น
ยังไม่เข้าข่ายเพราะยังมีผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่มาก
ซึ่งเอ็กซ์โปจริง ๆ จะต้อง Insert Opertunity หรือแสดงการหาชีวิตที่ดีกว่าให้แก่ผู้เข้าชมไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการดิ้นรนเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น
การพยายามค้นคว้าเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์ การพยายามสร้างอาหารเพื่อชาวโลก
การพยายามสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นกันในเรื่องระบบสิ่งแวดล้อมที่ดีก็อาจจะมีพาวิลเลี่ยมของสิ่งแวดล้อมต่าง
ๆ ให้ดูโดยมีชื่อผู้ทำติดอยู่นิดเดียวนี่คือ คอนเซ็ปของเอ็กซ์โปทั่วไปเป็น
การสร้างภาพพจน์และความคิดให้กับประชาชน
แล้วไทยจะได้อะไรจากเวิลด์เอ็กซ์โป หากจะจัดกันจริง ๆ ?
ถ้าไม่นับเวิลด์เทค'95 ครั้งนี้ ที่ช่วยสร้างทัศนคติ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนในชาติ
ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอนาคต ในเรื่องของปัญหาสภาพต่าง ๆ โดยการมาดูนิทรรศการ
แต่หากเป็นเวิลด์เอ็กซ์โปนั้น รศ. ดร. วันชัย กล่าวว่า "ไม่ว่าจะคศ.
2010 หรือปีใดก็ตาม หากเราได้จัด มันจะถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเลยทีเดียว
มันจะช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติได้อย่างหนึ่ง เพราะรัฐบาลจะต้องขวนขวายทำอะไรให้ดีขึ้นเป็นตัวอย่าง
ทว่าก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน ซึ่งในแง่ชื่อเสียงและการท่องเที่ยวแล้วถือว่าคุ้มค่า
เพราะประเทศนั้นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มั่นคงทางการเมือง ประชาชนนั้นพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อสังคมเพราะการจัดเอ็กซ์โปนั้นภาคเอกชนจะต้องพร้อมด้วย"
และที่สำคัญที่ รศ. ดร. วันชัยไม่ได้กล่าวถึงนั่นคือ มันจะถือเป็นการเพิ่มช่องว่างทางการทำธุรกิจให้กับนักลงทุนทางธุรกิจได้อย่างแรง
ผลประโยชน์สูงสุดเกิดอยู่กับประเทศไทย ผู้คนตื่นตัว กระตือรือร้น การปรับตัวดีขึ้น
ในกรณีมี 2 ประเทศเสนอตัวจัดเอ็กซ์โปปี 2010 พร้อมกัน ทาง B.I.E. ก็จะดูความพร้อมของประเทศที่เสนอมาจะไม่ให้จัดพร้อมกัน
2 ประเทศ จะให้เวียนไปประเทศสมาชิกทุก ๆ 5 ปี แล้ว แต่ใครจะจองคิวได้ นี่คือกฎของเขา
เพื่อให้สมาชิกประเทศ อื่นเข้ามาร่วม เข้ามาชมในที่แห่งเดียวไม่เช่นนั้นเอ็กซิบิเตอร์ที่มีกว่า
40 กว่าประเทศก็จะเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณก็เป็นได้
"เวิลด์เอ็กซ์โปนี่เป็นความฝันสูงสุดของประเทศไทยเลยนะครับ ฉะนั้นเมื่อเป็นงานระดับโลก
รัฐจะต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเอกชนในประเทศต้องพร้อมที่จะมาจัดสิ่งก่อสร้างและสิ่งแสดงด้วยอีกทั้งต้องพร้อมที่จะตอบคำถามคน
300-400 ล้านคนทั่วโลก เพราะเวิลด์เอ็กซ์โปไม่ได้ใช้เวลาแค่ 43 วันเหมือนเราเขาจัดกันยาวนานถึง
6 เดือนกันเลย" ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดงานเวิลด์เทค' 95
แจง
แม้ว่ายังไม่มีการสนทนากันถึงเรื่องเวิลด์เอ็กซ์โปกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง
แต่ทุกคนก็เห็นพ้องกันว่าไม่น่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ หรือโคราชอีกต่อไป เพราะจะกลายเป็นการเองงบประมาณมาลงไว้ในจุด
ๆ เดียวไม่เป็นการกระจายความเจริญออกไปในที่อื่น แม้ว่าจะสามารถทำได้เพราะยังมีพื้นที่ที่จะขยับขยายออกไปได้ก็ตาม
ความเหมาะสมที่หลายคนคิดเอาไว้ คือต้องเป็นเมืองไม่ค่อยเจริญเท่าไรนัก
หรืออาจจะเจริญบ้างแต่ต้องไม่เจริญเท่าเชียงใหม่ หรือภูเก็ต
บริเวณทางเหนือแถบพิษณุโลก หรืออีสานตอนลึก ๆ ที่ยังไม่ถึงอุบลราชธานี
คือจุดที่หลายคนพูดกันมากที่สุดซึ่งไม่ว่าจะแห่งใด ผลกระทบที่จะเกิดแน่นอนคือ
เมืองบริวารรอบข้างเกิดการพัฒนาตามกัน ดั่งเช่นงานเวิลด์เทคนี้ จะสังเกตว่าเมื่อโคราชโตแล้ว
บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์หรือจังหวัดรอบข้างก็โตตามกันไป อีกทั้งเมื่อสร้างเสร็จก็อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ไปเลยก็ได้
ดั่งที่เกิดมาแล้วที่ญี่ปุ่น คือ เสร็จงานแล้วก็กลายเป็นมหาวิทยาลัยซูโคบะ
เป็นสวนสาธารณะของประชาชน หรือเป็นศูนย์วิจัยไปเลย